บทคัดย่อ
การพัฒนาเมืองในปัจจุบันและแนวโน้มในการพัฒนาเมืองในอนาคต มักมุ่งเน้น ความหรูหรา ความทันสมัย การออกแบบภูมิทัศน์ของเมืองจึงมักเป็นไปในรูปแบบของรูปทรงที่ล้ำสมัย จนทำให้ เมืองแลดูไม่มีชีวิตชีวาและขาดการเชื่อมโยงกับรากเหง้าของชุมชน วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและรากเหง้าของเมือง ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองตามภูมิวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของเมือง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกริก กิตติคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์เมือง จะมาร่วมพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ ภูมิลักษณ์ และจิตวิญญาณของเมือง รวมทั้ง ประเด็นปัญหาและข้อจำกัดในการพัฒนาเมืองตามแนวคิดดังกล่าวของประเทศไทย
เสาวนีย์ วิจิตรโกสุม . (2561). บทสัมภาษณ์: การพัฒนาเมืองตามอัตลักษณ์และภูมิวัฒนธรรมของเมือง. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 1), 46-55.
บทสัมภาษณ์:
การพัฒนาเมืองตามอัตลักษณ์และภูมิวัฒนธรรมของเมือง
บทสัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เสาวนีย์ วิจิตรโกสุม
การพัฒนาเมืองในปัจจุบันและแนวโน้มในการพัฒนาเมืองในอนาคต มักมุ่งเน้น ความหรูหรา ความทันสมัย การออกแบบภูมิทัศน์ของเมืองจึงมักเป็นไปในรูปแบบของรูปทรงที่ล้ำสมัย จนทำให้ เมืองแลดูไม่มีชีวิตชีวาและขาดการเชื่อมโยงกับรากเหง้าของชุมชน
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและรากเหง้าของเมือง ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองตามภูมิวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของเมือง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกริก กิตติคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์เมือง จะมาร่วมพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ ภูมิลักษณ์ และจิตวิญญาณของเมือง รวมทั้ง ประเด็นปัญหาและข้อจำกัดในการพัฒนาเมืองตามแนวคิดดังกล่าวของประเทศไทย
อัตลักษณ์และภูมิวัฒนธรรมของเมืองคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
อัตลักษณ์เมือง ดูเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยกันนักสำหรับคนทั่วไป และเป็นคำที่มักใช้กันเฉพาะในวงวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม หากอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ อัตลักษณ์ของเมือง จะหมายถึง คุณค่าของความเป็นตัวตน ที่แสดงลักษณะเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งสะท้อนคุณค่าของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สรรค์สร้าง ปรากฏความสำคัญทางประวัติศาสตร์ การอยู่อาศัย ประเพณี และวัฒนธรรม ที่มีการสืบทอดมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของผู้คนแต่ละบริบทเชิงพื้นที่
นอกจากนี้ อัตลักษณ์เมือง มักเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับคำว่า "ภูมิทัศน์เมือง" ซึ่งเป็นคำแปลที่มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Urban Landscape" หรือ "Townscape" ที่เกิดจากการรวมกันของคำว่า Urban หรือ Town ที่แปลว่า "เมือง" ซึ่งเป็นคำที่ใช้แสดงลักษณะพื้นที่หนึ่ง ๆ ที่ถูกล้อมรอบด้วยกำแพง หรือ เป็นพื้นที่ในเขตรัศมีที่แยกตัวจากพื้นที่ชนบท รวมทั้ง เป็นพื้นที่ที่มีแบบแผนในการจัดองค์กรบริหารจัดการภายในพื้นที่อย่างเป็นระบบ และคำว่า Landscape ที่แปลว่า "ภูมิทัศน์" หมายถึง การรับรู้สภาพแวดล้อมภูมิประเทศ ทั้งที่ปรากฏตามจริงและภาพลักษณ์ในจิตใจของมนุษย์ที่รู้สึกได้
ในต่างประเทศ เมืองท่องเที่ยวมักมีอัตลักษณ์เมืองที่แตกต่างกันเพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยว รวมทั้งเมืองเก่าหลายแห่งในยุโรป ที่เน้นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม การผังเมือง และวิถีชุมชนเมือง เพื่อให้เกิดภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สร้างบริบทเมืองที่ชัดเจน ส่วนในประเทศไทย การสูญเสียอัตลักษณ์เมืองเกิดจากกระแสการพัฒนาที่มีมากกว่าความต้องการในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและความเป็นมาของชุมชน ความเป็นบริบทเมืองที่เชื่อมโยงกับรากเหง้าของชุมชนจึงเลือนหายไป เมืองต่าง ๆ จึงให้ความรู้สึกหรือสะท้อนภาพที่เห็น ที่ไม่มีความแตกต่างกันของเมืองต่าง ๆ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เมื่อเราพิจารณาอัตลักษณ์เมืองเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ จึงพบ การสร้างกระแสวิถีการท่องเที่ยวแบบจัดฉาก การสร้างให้เมืองมีวิถีชีวิตแบบย้อนยุค ท่ามกลางสถาปัตยกรรมเก่าที่หลงเหลืออยู่ โดยใช้คำว่า พิพิธภัณฑ์มีชีวิต มากกว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนในพื้นที่ ดังนั้น การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองที่จัดฉากขึ้น จึงเป็นเพียงอัตลักษณ์ที่ฉาบฉวย และขาดความยั่งยืน
การพัฒนาเมืองตามอัตลักษณ์ของเมืองที่คำนึงถึงมรดกทางสถาปัตยกรรม ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่ล้ำค่าของบรรพบุรุษ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตส่งทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเอกลักษณะเฉพาะตามบริบทของเมืองและชุมชนที่มีความแตกต่างกันไป
หลายเมืองในประเทศไทยเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีคติความเชื่อในการสร้างเมืองและการวางผังเมือง เช่น เมืองในล้านนา การสร้างบ้านแปงเมืองเชียงใหม่ เมืองในภาคอีสานที่ได้รับอิทธิพลของขอม เป็นต้น อัตลักษณ์แต่ละเมืองจึงสะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมของชุมชน ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน แต่ละความเชื่อของกลุ่มคน และแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่าง เมืองเชียงราย จากประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงราย ที่การสร้างบ้านแปงเมืองของพญามังรายในบริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำกกนั้น เมืองเชียงราย จึงมีความหมายว่า เมืองของพญามังราย การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ปรากฏลักษณะงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้านนา ซึ่งมีความเฉพาะ สามารถระบุตัวตนและความเป็นมาของชุมชนได้ ต่อมา เมื่อได้รับอิทธิพลจากมิชชันนารีสอนศาสนา งานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียน จึงส่งผลให้ภูมิทัศน์และอัตลักษณ์ของเมืองเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับ การเปลี่ยนแปลงบทบาทของเมืองเชียงรายให้เป็นเมืองชายแดนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่ 3 ชุมชน คือ ชุมชนเมืองเชียงของ ชุมชนเมืองเชียงแสน และชุมชนเมืองแม่สาย โดยออกแบบเมืองชายแดนเชียงของ ในลักษณะ “หนึ่งเมืองสองระบบ” คือ เมืองเก่า-เมืองใหม่ ที่มีการพัฒนาและการอนุรักษ์ในกรอบทิศทางที่สมดุล มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ในเมืองเก่า กับ ทิศทางการพัฒนาเมืองใหม่รองรับการคมนาคมขนส่งทางรถไฟ เชื่อมโยงกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 ที่อำเภอเชียงของ ส่วนเมืองชายแดนเชียงแสน กำหนดให้มีการสร้างรูปแบบเมืองให้มีชีวิตชีวา เหมือนเป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิตของเมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์” ที่ชุมชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โบราณสถานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในขณะที่ เมืองชายแดนแม่สาย มีแนวคิดการพัฒนาเมืองให้เป็น “เมืองการค้าเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการกับประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพเมียนมาร์ ดังนั้น การวางผังเมืองชายแดนดังกล่าว ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอาคารประเภทบ้านพักอาศัย ถูกรื้อทำลายเพื่อสร้างใหม่ตามกระแสนิยม มรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทต่าง ๆ ในเมืองจึงถูกเปลี่ยนไปสู่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ทำให้เมืองในจังหวัดเชียงรายมีภาพของเมืองที่เหมือนกับเมืองอื่น ๆ ไม่มีสิ่งใดที่แสดงตัวตนของความเป็นอัตลักษณ์เมืองได้ ที่เหลืออยู่ปรากฏเพียงอาคารประเภทศาสนสถานบางหลัง ที่ยังคงร่องรอยแบบล้านนา เท่านั้น การเปิดวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อรับการพัฒนา ก็เท่ากับเป็นการเริ่มกระบวนการแตกสลายของอัตลักษณ์เมืองตามมา
ความเป็นอัตลักษณ์ของเมือง ๆ หนึ่ง ทำให้เมืองนั้น ๆ มีภาพที่ชัดเจนซึ่งนับเป็นจุดขายที่สำคัญในมิติด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยการสร้างสรรค์อัตลักษณ์เมือง ใช้แนวคิดการควบคุมการพัฒนาที่สมดุล ควบคู่กับ การอนุรักษ์เมืองหรือฟื้นฟูเมืองให้กลับคืนสภาพที่ดี ซึ่งหากพิจารณาในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมือง จะเห็นได้ว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองเกิดบนฐานชุมชน (Community Based Tourism) โดยเป็นการพัฒนา ควบคู่กับ การอนุรักษ์ การสร้างเรื่องราว (theme/story) ให้เกิดคุณค่าเชิงพื้นที่ โดยการฟื้นฟูวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนให้เป็นจุดขาย รวมถึง การสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งยังก่อให้เกิดการเพิ่มรายได้และการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย
แลนด์มาร์ค (landmark) แสดงอัตลักษณ์ของเมืองเชียงราย ออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
จากความเป็นอัตลักษณ์ของเมืองที่ส่งผลให้การพัฒนาเมืองเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้ ในกรณีดังกล่าว เทศบาลนครเชียงรายและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จึงได้ริเริ่มโครงการการฟื้นฟูเมือง (Urban Renewal) การอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความหมายและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงราย และการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมล้านนาในย่านเมืองเก่าของเมืองเชียงราย เช่น อาคารเก่าในเขตเมือง และกลุ่มอาคารในพื้นที่ศาลากลางหลังเก่า เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าและความหมายของความเป็นมาและรากเหง้าของชุมชน โดยเป็นการฟื้นฟูสถาปัตยกรรมเก่าและการพัฒนาเมืองให้มีความสวยงาม พร้อมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้สอยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในการดำเนินการได้สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อความยั่งยืนของเมืองและสุขภาวะของผู้คนที่อยู่อาศัยในเมือง โครงการในการพัฒนาเมือง เพื่อการอนุรักษ์สภาพทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเป็นแนวทางในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบการพัฒนาเมือง ได้ออกข้อบังคับเทศบัญญัติ ในการควบคุมรูปทรง สี วัสดุ และความสูงของสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เมือง เพื่ออนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม และสภาพแวดล้อมของชุมชนที่เหมาะสมกับบริบทของเมืองเชียงราย
ซ้าย: การปรับศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ให้เป็นพื้นที่ข่วงวัฒนธรรม โดยตัวอาคารบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์เชียงราย
ขวา: ศาลากลางในอดีต, ภาพโดย จักรพงษ์ คำบุญเรือง
ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุกว่า 100 ปี ในสมัยของพระพลอาษาเป็นข้าหลวงเมื่อเชียงราย ออกแบบและก่อสร้างโดย นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ (Dr. William A. Briggs) แพทย์ชาวอเมริกันในนามคณะมิชชันนารี อเมริกันเพรสไบทีเรียน
การกำหนดรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เหมาะสม ในเขตพื้นที่เมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน
ข้อจำกัด/ปัญหาในการพัฒนาเมืองตามอัตลักษณ์ของเมือง สำหรับประเทศไทย คืออะไร
หากพูดถึงข้อจำกัด และ/หรือปัญหาในการพัฒนาเมืองตามอัตลักษณ์ของเมืองสำหรับประเทศไทย คือ การทำงานแบบแยกส่วนกันของหน่วยงานราชการ ทั้งแยกส่วนกันภายในหน่วยงานราชการเดียวกัน และการทำงานแยกส่วนกันระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเอง ทั้งในหน่วยงานระดับเดียวกัน และหน่วยงานต่างระดับกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเช่น ในการพัฒนาพื้นที่เมืองแห่งหนึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการพัฒนาเมืองทำตามยุทธศาสตร์ของตน ส่วนในระดับจังหวัด มีการดำเนินการอีกอย่างตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทั้งสองแนวทางไม่สอดคล้องกัน หรือในกรณีเป็นพื้นที่ในเขตโบราณสถาน จะมีหน่วยงานกรมศิลปากรเข้ามาดูแล ซึ่งจะมีการดำเนินการในการพัฒนาอีกแบบ
ในหลายพื้นที่การพัฒนาเมืองที่เราจะเห็นตัวอย่างในลักษณะดังกล่าวชัดเจน เช่น การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ ซึ่งมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเป็นจำนวนมาก ทั้งหน้าที่ดูแลในฐานะของการเป็นหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่น กรมเจ้าท่า หรือหน่วยงานดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน สำนักงานจังหวัด และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเทศบาล ซึ่งต่างมีหน้าที่ในความรับผิดชอบที่แตกต่างกันในพื้นที่เดียวกัน รวมทั้ง อาจมีนโยบายและแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ที่แตกต่างกัน ตามภารกิจของหน่วยงานด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพื้นที่นั้น ๆ มีปัญหาหรือกรณีพิพาทเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการบุกรุกพื้นที่ของประชาชนด้วย จะส่งผลให้การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นไปตามกรอบและทิศทางในการวางผังเมือง หรือเป้าประสงค์ในการพัฒนาเมืองให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ของเมืองนั้น ดำเนินการไปได้ลำบาก
นอกจากนั้น ข้อจำกัดเดิม ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ หรือพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของประเทศเรา คือ การขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการนำอัตลักษณ์เมือง เข้าสู่กระบวนการพัฒนาเมือง และไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาเมืองที่กำหนดไว้ ดังนั้น การพัฒนาเมืองตามอัตลักษณ์ของเมือง มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างชุมชน กับ หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐที่มีบทบาทในการจัดการภูมิทัศน์เมือง เพื่อให้ทั้งสองภาคส่วนเล็งเห็นเป้าหมายเดียวกัน รวมทั้ง รับรู้ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นและที่จะได้รับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงสามารถขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ในการพัฒนาเมืองให้เกิดขึ้นได้ และมีความยั่งยืน
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมและการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการและควบคุมภูมิทัศน์เมือง ซึ่งเป็นกลไกของภาครัฐเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสภาพภูมิทัศน์เมือง โดยการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่กำหนดรูปแบบและประเภทของอาคารไว้เป็นการเฉพาะ นอกเหนือจากบทบัญญัติในกฎหมายอาคารที่ใช้บังคับทั่วไป รวมทั้ง การใช้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ เช่น การวางผังเมืองเฉพาะ และการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติ การจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 เพื่อรักษาบรรยากาศของความเป็นย่านเมืองเก่าให้คงอยู่
ในต่างประเทศ มีเมืองใดบ้างที่มีการพัฒนาเมืองตามอัตลักษณ์ของชุมชน/เมืองที่น่าสนใจและประสบผลสำเร็จบ้าง
ตัวอย่างของเมืองในต่างประเทศ ที่สร้างคุณค่าของสิ่งที่ควรอนุรักษ์ที่มีเอกลักษณ์ (Uniqueness) ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะในการสร้างจิตวิญญาณแห่งสถานที่ (Spirit of place) ตามลักษณะเฉพาะของเมือง (Character of town) เช่น เมืองบาธ (Bath) เมืองเก่าบนเกาะอังกฤษที่ยังคงมีกลิ่นอายของโรมันอยู่ทั่วไปในเมือง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage) ใน ปี ค.ศ. 1987 เป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการภูมิทัศน์ของเมืองที่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของเมืองไว้
เมืองบาธ ตั้งอยู่ในบริเวณหุบเขาของแม่น้ำเอวอน มีฐานะเป็นนครในมณฑลซอมเมอร์เซท (Somerset) ในประเทศอังกฤษ อยู่ห่างจากนครลอนดอนไปทางทิศตะวันตกประมาณ 156 กิโลเมตร ปัจจุบัน เมืองบาธเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศอังกฤษ ด้วยความสวยงามของสถาปัตยกรรมในยุคโรมันที่ยังคงความสมบูรณ์และสวยงาม อาทิ มหาวิหารบาธ (Bath Abbey) โรงอาบน้ำ (Roman Bath) The Circle & Royal Crescent โรงละคร (the Theater Royal) และ สะพาน Pulteney เป็นต้น
ถึงแม้ว่า เมืองบาธ จะเป็นเมืองที่เคยประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ทั้งภัยจากน้ำท่วม ไฟไหม้ และการถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่จากแนวทางการฟื้นฟูและการบริหารจัดการเมือง ยังคงสามารถรักษาร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์และอารยธรรมเก่าแก่สมัยโรมันไว้ได้ การจัดการเมืองที่เน้นการใช้ประโยชน์จากอาคารเก่าและกิจกรรมที่แสดงรูปแบบ และลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของแต่ละยุคสมัยเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง และมีการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนในการจัดตั้งและดำเนินการโครงการอนุรักษ์เมือง เช่น การให้คนในชุมชนเป็นผู้นำชมโบราณสถานในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและความรู้สึกของการเป็นเจ้าของให้คนในชุมชน เป็นต้น เมืองบาธจึงเป็นหนึ่งในจุดหมายของการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
Bath Abbey หรือ มหาวิหารบาธ เป็นมหาวิหารแบบกอธิก (Gothic) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ มหาวิหารบาธ เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของเมือง มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ก่อสร้างในปี ค.ศ. 1499 และแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1611, ที่มา : บริษัท ไอดีลเอ็ดดูเคชั่น จำกัด (2559)
มหาวิหารบาธ เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของเมือง Bath Abbey หรือชื่อเต็มว่า Abbey Church of Saint Peter and Saint Paul ปัจจุบัน วิหารแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยสถานที่แห่งนี้ได้รับการบูรณะและต่อเติมหลายครั้ง แต่ยังคงรักษารูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยมีการบูรณะให้เป็นรูปแบบ Victorian Gothic ในช่วงปี ค.ศ. 1864 – ค.ศ. 1874 ภายในมหาวิหารแห่งนี้ มีสถาปัตยกรรมภายในที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นศิลปะแบบกอธิคที่มีความสวยงามที่สุดในทวีปยุโรป โดยสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของพื้นที่ ได้แก่ เพดานพัด (Fan Vault) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบกอธิคที่มีเฉพาะในประเทศอังกฤษเท่านั้น และห้องใต้ดินที่เป็นพิพิธภัณฑ์ Heritage Vaults Museum ที่แสดงเรื่องราวในอดีต และประวัติความเป็นมาของมหาวิหารแห่งนี้ บริเวณจัตุรัสด้านหน้า จะเป็นพื้นที่สำหรับแสดงศิลปะต่าง ๆ ของชาวเมืองบาธ โดยรอบยังคงมีแผ่นหินรำลึกซึ่งบางส่วนแสดงเรื่องราวของทหารหาญและคำอุทิศให้กับทหารที่เสียชีวิต
Roman Bath หรือ โรงอาบน้ำร้อนในสมัยโรมัน สิ่งก่อสร้างสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีอายุกว่า 2,000 ปี
ที่ยังคงสภาพความสวยและความสง่างาม ในรูปแบบจอร์เจียน และวิคตอเรียน (Georgian and Victorian)
Roman Bath แสดงรูปแบบและลักษณะทางศิลปกรรมของยุคสมัย ผ่านทางสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้าง ที่สะท้อนภูมิลักษณ์ของเมืองที่เป็นเมืองที่เป็นแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติ ความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้น ๆ ที่มีวัฒนธรรม “Thermae Bath Spa” ซึ่ง Roman Bath ได้รับการก่อสร้างขึ้นโดยชาวโรมันในคราวที่ยกพลขึ้นเกาะอังกฤษในปี ค.ศ. 60 ต่อมา สถานที่แห่งนี้ได้ถูกชาวโรมันทิ้งร้างไว้ จวบจนศตวรรษที่ 12 อังกฤษจึงได้มีการปรับปรุง Roman Bath ขึ้น โดยในการปรับปรุงนั้น มุ่งเน้นการแก้ไขตัวอาคารให้มีความแข็งแรงและคงทนด้วยวัสดุสมัยใหม่ หากแต่ยังให้คงรูปแบบและลักษณะของสถาปัตยกรรมในรูปแบบดั้งเดิมไว้ ส่งผลให้ Roman Bath ในปัจจุบันจึงยังคงให้ภาพและความรู้สึกเหมือนยังคงอยู่ใน Roman Bath ในยุคก่อสร้าง ปัจจุบัน Roman Bath เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนทั่วไปและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้
นอกจากนั้น การบริหารจัดการเมืองที่ผนวกเรื่องราวที่แสดงอัตลักษณ์ของเมือง และยังคงประโยชน์ใช้สอยได้จริงในปัจจุบัน นำมาซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากของเมืองบาธ เช่น ศูนย์เจนออสติน สถานที่จัดแสดงชีวิตและการทำงานของ เจน ออสเตน (Jane Austen) นักเขียนนวนิยายซึ่งถือกันว่าเป็นต้นแบบของผู้หญิงยุคใหม่ และเป็นที่มาของแนวคิด สตรีนิยม (Feminism) และ สิทธิสตรี ในเวลาต่อมา เมืองบาธ มีการจัดเทศกาลเจน ออสเตน ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี โดยเป็นงานเฉลิมฉลองจำนวน 10 วันที่มีกิจกรรมในธีมสมัยรีเจนซีรอบตัวเมืองบาธ หรือ พิพิธภัณฑ์แฟชั่น (Fashion Museum) ซึ่งใช้สถานที่จริงทางประวัติศาสตร์ในการสร้างการจัดแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าใจถึงศิลปวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย
เมืองที่น่าสนใจอีกแห่ง ที่ถึงแม้ว่าจะประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในปี พ.ศ. 2558 แต่ยังคงสามารถฟื้นฟูเมืองให้คงไว้ตามอัตลักษณ์ของเมือง คือ เมืองภักตะปุร์ (Bhaktapur) ประเทศเนปาล เมืองสำคัญซึ่งอยู่ในเส้นทางการค้าระหว่างเนปาลไปสู่ทิเบตและจีนในอดีต ส่งผลให้เมืองแห่งนี้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่หลากหลายผสมผสานได้อย่างลงตัว ภักตะปุร์ เป็นเมืองเก่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก 1 ใน 7 แห่งของประเทศเนปาล
ที่มา : Anil Blon (2013)
ภักตะปุร์ (Bhaktapur) แปลว่า เมืองที่ผู้คนภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ตั้งอยู่ในหุบเขากาฏมาณฑุ ซึ่งโดยสภาพของเมืองเป็นเนินสูง มีสภาพแวดล้อมที่ยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ได้ ถึงแม้ว่า กระแสการท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้าสู่เมืองมาโดยตลอด
เมืองภักตะปุร์ ยังคงเป็นเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ในยุคกลางถึงแม้ว่าจะล่วงเลยมานานหลายร้อยปีก็ตาม ภักตะปุร์ยังมีร่องรอยความรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรมในอดีตอย่างชัดเจน โดยชุมชนมีส่วนร่วมกับโบราณสถาน ผู้คนในเมืองยังคงสามารถดำเนินชีวิตตามปกติ และยังแสดงออกถึงความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยังคงได้รับการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งกลมกลืนกับอัตลักษณ์ของเมือง ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเมืองเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากบริเวณจตุรัสภักตะปูร์ (Bhaktapur Durbar Square) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวเนปาลี ทั้งการประกอบพิธีกรรมสำคัญ เช่น พิธีตีจ (Teej) การขายสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ เช่น ผ้าพาสมินา (Pashmina) หมวกภาทคาวันโตปี (Bhadgaonle Topi) ถ้วยรักซี งานแกะสลักไม้ ซึ่งการทำเครื่องปั้นดินเผา งานถักทอ และงานแกะสลักเป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมที่สำคัญของเนปาล เป็นต้น
ที่มา : Euro-Asia (n.d.)
ซ้าย: อาคารเก่าถูกดัดแปลงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ในเชิงพาณิชกรรม
ขวา: ชาวเนปาลียังคงดำเนินวิถีชีวิตปกติ ภักตะปุร์จึงเสมือน "พิพิทธภัณฑ์ที่มีชีวิต" สร้างคุณค่าอัตลักษณ์เมืองที่เด่นชัดทางวัฒนธรรม
นอกจากนั้น การวางผังเมืองของภักตะปุร์ซึ่งผูกพันกับความเชื่อของชาวเมือง โดยการจัดวางผังรูปหอยสังข์ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของพระวิษณุ (Vishnu) แกนของสังข์เป็นถนนสายหลักของเมืองที่เชื่อมจตุรัสดูร์บาร์และจตุรัสภักตะปูร์ ถนนสายเล็ก ๆ เชื่อมระหว่างถนนสายหลักของเมือง จะเป็นที่ตั้งของพระราชวัง และศาสนสถานต่าง ๆ ในปัจจุบัน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่โบราณสถาน ยังมีการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างสอดคล้องและเหมาะสม นักท่องเที่ยวสามารถพักในเขตโบราณสถานและเลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองในราคาถูกที่เกิดจากผลผลิตของชุมชน และเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนท้องถิ่นได้โดยตรง
----------------------------------------------------------------------------------------
ผศ. ดร. เกริก กิตติคุณ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิทัศน์เมือง
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปริญญาโทด้านการวางผังเมือง จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกด้านการศึกษาและพัฒนา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย