การอ้างอิง: รชกร วชิรสิโรดม, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์, เบญจวรรณ ชัยศรี, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ. (2564). สภาพภัยแล้งและการจัดการในพื้นที่กรณีศึกษาจังหวัดเพชรบุรี. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 4).
บทความ: สภาพภัยแล้งและการจัดการในพื้นที่กรณีศึกษาจังหวัดเพชรบุรี
รชกร วชิรสิโรดม 1, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์ 2, เบญจวรรณ ชัยศรี 2, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์ 3, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ 2
1 สาขาวิชาการจัดการชุมชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
1. สภาพปัญหา
ปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นคุณภาพชีวิต การใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำ รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนและสังคมในมิติต่าง ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความผันผวนทางภูมิอากาศนับเป็นประเด็นที่สร้างความท้าทายและความเสี่ยงที่สำคัญต่อความถี่และความรุนแรงของปัญหามากขึ้น ทั้งนี้ การขาดแคลนน้ำที่สืบเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาลและภาวะฝนทิ้งช่วง การขยายตัวของชุมชนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังส่งผลต่อระบบนิเวศของลุ่มน้ำ และศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาต้นทุนแหล่งเก็บกักเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ฝาย หนองบึงและสระเก็บน้ำซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการของชุมชนโดยรอบ เกษตรกรในพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ เกิดการตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับสภาพปัญหาที่พบในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี รวมถึงชายฝั่งทะเลตะวันตก ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งพบปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งในส่วนน้ำดิบสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในหลายพื้นที่ รายละเอียดพื้นที่ภัยแล้งทั้งระดับลุ่มน้ำเพชรบุรีจำแนกโดยสำนักงานบริหารชลประทาน กรมชลประทาน และพื้นที่ภัยแล้งในจังหวัดเพชรบุรีจำแนกโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ พื้นที่อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านลาด และอำเภอเขาย้อยแสดงไว้ในรูปภาพที่ 1 และ ตารางที่ 1
รูปที่ 1 (ก) แผนที่แม่น้ำเพชรบุรี (ข) พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี
ที่มา (ข): สำนักงานบริหารชลประทาน กรมชลประทาน: แนวทางและแผนงานบรรเทาภัยแล้ง
ลุ่มน้ำเพชรบุรี (รหัสลุ่มน้ำ 19)
ตารางที่ 1 การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ปัจจัยเสี่ยงและความเปราะบางจำแนกรายอำเภอของจังหวัดเพชรบุรี
ที่มา: แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2558 ฉบับปรับปรุง ประจำปี พ.ศ. 2563
2. ทรัพยากรน้ำในพื้นที่
แหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีประกอบด้วยแหล่งน้ำธรรมชาติและโครงการชลประทานที่สำคัญดังต่อไปนี้
1) แม่น้ำเพชรบุรี เป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดเพชรบุรี ไหลผ่าน 5 อําเภอในพื้นที่จังหวัด ได้แก่ อําเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อําเภอบ้านลาด อําเภอเมืองเพชรบุรี และไหลลงสู่อ่าวไทยที่อําเภอบ้านแหลม พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของจังหวัดอยู่ที่บริเวณฟากฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรี มีความยาวประมาณ 210 กิโลเมตร (รูปภาพที่ 1ก)
2) แม่น้ำบางกลอย มีความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร โดยมีต้นกําเนิดในเขตอําเภอหนองหญ้าปล้องไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเพชรบุรีที่อําเภอแก่งกระจาน
3) แม่น้ำปราณบุรี มีความยาวประมาณ 160 กิโลเมตร โดยมีต้นกําเนิดอยู่ในอําเภอแก่งกระจานไหลออกสูทะเลที่อําเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
4) แม่น้ำบางตะบูน มีความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ส่วนหนึ่งเป็นคลองขุดแยกจากแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งไหลย้อนไปทางเหนือผ่านอําเภอบ้านแหลม และยังมีคลองจากอําเภออัมพวาไหลมาสมทบออกสู่อ่าวไทยที่อําเภอบ้านแหลม
5) ห้วยแม่ประจันต์ มีต้นกําเนิดในจังหวัดราชบุรี ไหลผ่านอําเภอหนองหญ้าปล้องมาบรรจบกับแม่นํ้าเพชรบุรี มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร
6) ห้วยผาก มีต้นกําเนิดในเขตอําเภอแก่งกระจานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเพชรบุรี มีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร
7) ห้วยแม่ประโดน มีความยาว 56 กิโลเมตร โดยมีต้นกําเนิดระหว่างอําเภอหนองหญ้าปล้องกับอําเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีและไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณเขตอําเภอแก่งกระจาน
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมีโครงการชลประทานที่สำคัญและมีศักยภาพกักเก็บน้ำหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอชะอำ ดังแสดงรายละเอียดไว้ใน ตารางที่ 2
ตารางที่ 2 โครงการชลประทานในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี
3. ปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาภัยแล้งในพื้นที่
ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศร้อนทําให้เกิดความแห้งแล้ง รวมไปถึงปัจจัยอื่นที่สำคัญดังนี้ 1) ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีปริมาณน้อยเนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตอับฝน 2) ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าไม้ 3) ลักษณะพื้นที่ลาดชันและมีความยาวของลำน้ำสั้น ดังนั้นเมื่อฝนตกลงมาจึงไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็วจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ 4) สภาพดินในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายไม่อุ้มน้ำ 5) หลายหมู่บ้านในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพพอที่จะสร้างระบบประปาหมู่บ้านเพื่อการอุปโภค 6) ศักยภาพน้ำใต้ดินมีจํากัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการ 8) ความต้องการน้ำสำหรับอุตสาหกรรมมีมาก (อ้างอิงจากข้อมูลสำนักงานบริหารชลประทาน กรมชลประทาน แนวทางและแผนงานบรรเทาภัยแล้งลุ่มน้ำเพชรบุรี) ขณะเดียวกัน การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ยังพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนรายปี เขตชลประทานและแหล่งน้ำ แหล่งน้ำใต้ดิน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ความลาดชัน เนื้อดิน (สภาพการระบายน้ำ) และพืชปกคลุมดิน ตามลำดับ โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนบริหารจัดการภัยแล้งในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่มุ่งเน้นความพร้อมของแผนการรับมือ แผนการจัดการพื้นที่ภัยแล้ง การเฝ้าระวัง การเตือนภัย และส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้เกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล จัดทำแผนที่เพื่อใช้ในการจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่ รวมถึงการวางแผนรับมือและแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนสำหรับประชาชนในช่วงภัยแล้งครอบคลุมมิติต่าง ๆ
4. ผลกระทบชุมชน/การจัดการชุมชนในพื้นที่
สภาพปัญหาภัยแล้งและการจัดการในกรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พบว่าส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน เนื่องจากการประกอบอาชีพของชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ตามการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งที่มีปัจจัยเสี่ยงและความเปราะบางจำแนกรายอำเภอของจังหวัดเพชรบุรี พบว่าสภาพปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบทางตรงต่อการดำรงชีพของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และพึ่งพาระบบชลประทานรวมถึงการพึ่งพาน้ำฝน และแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อทำการเกษตรดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลหรือสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุของความแห้งแล้ง ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งในการอุปโภคและบริโภค จากสภาพภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำให้ต้องมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบทางตรงต่อปริมาณผลผลิตที่พึงได้ของประชาชนในพื้นที่ แต่วิธีการจัดการและการปรับตัวของแต่ละพื้นที่มีความจำเพาะ บางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้เช่นเดิมจึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยหรือย้ายฐานการผลิต ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับฤดูกาลหรือช่วงเวลา มีการปรับเปลี่ยนชนิดพันธุ์พืชที่ทนฝนหรือทนแล้งได้มากขึ้น โดยในระดับชุมชนมีการบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมทั้งในระดับครัวเรือน มีการทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการใช้น้ำ รวมถึงมีการขุดบ่อน้ำในแปลงการเกษตรเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการทำการเกษตร รวมถึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างเป็นระบบ
5. แผนการบรรเทาปัญหาภัยแล้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตารางที่ 3 แสดงข้อมูลแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2558 (ฉบับปรับปรุง ประจำปี พ.ศ. 2563) ที่กำหนดแนวทางการจัดการสาธารณภัยระดับจังหวัดเชื่อมต่อภารกิจในทุกระดับพื้นที่ สำหรับการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงและจัดการปัญหาแบบบูรณาการในทุกมิติ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนสามารถปรับตัวและนำองค์ความรู้วิถีพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ให้สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่กับสถานการณ์สาธารณภัยได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการจัดการสถานการณ์ภัยแล้งจะมุ่งเน้นแผนงานด้านการป้องกันและลดผลกระทบเป็นหลัก ได้แก่ การสร้างฝาย เขื่อน พื้นที่แก้มลิง เพื่อเก็บกักน้ำและหาพื้นที่แหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม เป็นต้น ขณะเดียวกัน ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี ได้กำหนดแผนป้องกันและเผชิญเหตุภัยแล้งจังหวัดเพชรบุรีปี 2562 ครอบคลุมแผนป้องกัน เผชิญเหตุและฟื้นฟูพื้นที่เสี่ยงด้านการเกษตรโดยครอบคลุมการประเมินความเสี่ยง การป้องกันและลดผลกระทบ การจัดการในภาวะฉุกเฉินและการฟื้นฟูที่ดีกว่าเดิม ดังแสดงรายละเอียดไว้ในตารางที่ 4
ตารางที่ 3 แผนการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่
ที่มา: แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2558 ฉบับปรับปรุง ประจำปี พ.ศ. 2563
ตารางที่ 4 แผนป้องกันและเผชิญเหตุภัยแล้งระดับจังหวัดสำหรับพื้นที่การเกษตร (พืช)
ที่มา: แผนป้องกันและเผชิญเหตุภัยแล้งจังหวัดเพชรบุรีปี 2562 (ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี)
กิตติกรรมประกาศ
ผลงานวิจัยฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพลตฟอร์มด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Sustainable Environment Research Platform) (รหัสโครงการ 764002-ENV) โครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ”