1. บทนำ

หนึ่งแนวทางในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้มีอาหารเพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลกคือ การนำสารเคมีมาใช้ในกิจกรรมทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม สารเคมีเหล่านั้นสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของเกษตกร ครอบครัว และชุมชน โดยผลกระทบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้สารเคมีและมูลค่าทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับ ดังนั้น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม โดยประยุกต์ใช้แนวทางและเครื่องมือที่หลากหลายเพื่อระบุ คาดการณ์ และพิจารณาถึงผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา คุณค่าหรือความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีร่วมกันของทุกภาคส่วนและเป็นข้อมูลหลักฐานประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายสู่หลักการและวิธีปฏิบัติที่ดีในการผลิตทางการเกษตร

2. ที่มาและความสำคัญของปัญหา

การเกษตรถือเป็นภาคการผลิตพื้นฐานหลักของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้จะมีการปรับเปลี่ยนภาคการผลิตบางส่วนสู่ภาคอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม (สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2563) การกำหนดนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่หลากหลายของภาครัฐก่อให้เกิดรูปแบบการเกษตรที่มีการมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรซึ่งนำไปสู่การใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากและมีการใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ความเสื่อมโทรมของดินทั้งความหนาแน่นและความเป็นกรด-ด่างที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในแหล่งน้ำและอากาศโดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (Alhashim, Deepa and Anandhi, 2021) โดยผลกระทบในแหล่งน้ำเกิดจากการพัดพาอนุภาคดินที่ดูดซับสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคหรือบริโภคได้ นอกจากนี้ สารเคมีเหล่านั้นยังถูกสะสมในสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำโดยจะสะสมได้มากในพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่หน้าดินหรือท้องน้ำ เช่น หอยและตัวอ่อนแมลงปอ เป็นต้น โดยสัตว์เหล่านั้นสามารถสะสมสารพิษได้มากถึง 10 - 10,000 เท่า (สุธาสินี อั้งสูงเนิน, 2558) ส่วนผลกระทบต่ออากาศเกิดจากการพ่นสารเคมีในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความเร็วลม อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ ทำให้ละอองสารเคมีจากการฉีดพ่นปลิวปะปนอยู่ในอากาศ บางส่วนอาจปลิวไปตกในแหล่งน้ำหรือบ้านเรือนที่พักอาศัย และถ้าหากการใช้สารเคมีมีการทำให้เป็นละอองฝอยที่เล็กลงสำหรับการฉีดพ่นหรือโปรยทางอากาศ สารพิษเหล่านั้นจะสามารถปลิวปะปนอยู่ในอากาศได้มากยิ่งขึ้น (นวลศรี ทยาพัชร, 2543) นอกจากสารเคมีแล้ว กระบวนการผลิตทางการเกษตรยังสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการผลิตลำไยนอกฤดูที่มีความซับซ้อนตั้งแต่การเตรียมต้นลำไย การใช้สารเคมีเร่งการออกดอก การดูแลรักษาระหว่างการออกดอกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ต้องทันต่อสถานการณ์ราคาลำไยในท้องตลาด ซึ่งกระบวนการดังที่กล่าวมาได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรสูงอายุที่ไม่สามารถเข้าร่วมปฏิบัติกิจกรรมเหล่านั้นในชุมชนได้อันเป็นเหตุให้เกษตรกรสูงอายุบางคนขาดการปฏิสัมพันธ์ในชุมชน นอกจากนี้เกษตรกรสูงอายุบางคนยังเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานในสวนและยังรวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรด้วย (สามารถ ใจเตี้ย, 2564) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการเกษตรดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การที่จะให้เกษตรกรและชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการลดและป้องกันผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการผลิตทางการเกษตร การนำเสนอรูปแบบที่เหมาะสมในการปฏิบัติผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมโดยมีการประยุกต์ใช้แนวทางและเครื่องมือที่หลากหลายในการระบุ คาดการณ์ และพิจารณาถึงผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วกับประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากข้อเสนอหรือการดำเนินนโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นการสนับสนุนการตัดสินใจอันเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างเสริมและการคุ้มครองสุขภาพประชาชนทุกกลุ่ม ผลลัพธ์ของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเป็นคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะที่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน (evidence – based recommendations) ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางและคุณค่าหรือความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีร่วมกันของสังคมสำหรับประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย (Cameron, Ghosh, and Eaton, 2011) โดยคำแนะนำเหล่านั้นจะมุ่งสนับสนุนผลกระทบทางบวกต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากข้อเสนอเชิงนโยบายและมุ่งขจัดหรือลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจึงเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์จากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งจากรัฐและเอกชนเพราะเป็นกระบวนการที่ช่วยสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและขจัดหรือยับยั้งการดำเนินการที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ (WHO, 1999) กระบวนการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพอาจนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของเกษตรกรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการผลิตทางการเกษตร รวมถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนได้

3. การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตทางการเกษตร

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตทางการเกษตรสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของการผลิตและความสัมพันธ์ในช่วงเวลาของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ โดยการออกแบบกระบวนการประเมินต้องสามารถคาดการณ์ผลกระทบทางสุขภาพได้ล่วงหน้าและกำหนดกรอบเวลาให้สอดคล้องกับกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมนั้น (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, 2559; Pope et al., 2016) ทั้งนี้แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ ขั้นตอนการกลั่นกรอง (Screening) เป็นการดำเนินการเพื่อพิจารณาว่ากิจกรรมการผลิตทางการเกษตรในลักษณะใดมีความจำเป็นหรือมีความเหมาะสมที่จะทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ เพราะผลกระทบทางสุขภาพสามารถเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และไม่มีลักษณะของความสัมพันธ์เป็นเส้นตรงกับขนาดของกิจกรรม นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงโอกาสความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการใช้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายหรือการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงควรระบุถึงประเภทของการดำเนินการประเมินผลกระทบทางสุขภาพด้วยว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด ขั้นตอนการกำหนดขอบเขต (Scoping) เป็นการกําหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพชุมชน ซึ่งหมายถึง การประเมินว่ากิจกรรมการผลิตทางการเกษตรนั้น ๆ ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัจจัยกำหนดสุขภาพหรือไม่ ถ้าหากมีผลกระทบ ผลกระทบนั้นเป็นผลกระทบทางบวกหรือผลกระทบทางลบ มีขอบเขตในด้านพื้นที่ ระยะเวลา และระดับความรุนแรงของผลกระทบมากน้อยเพียงใด ขั้นตอนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Assessing) เป็นขั้นตอนในการวิเคราะห์ ประมาณการ และคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามขอบเขตและแนวทางที่ได้วางไว้ในขั้นตอนที่ผ่านมาซึ่งจะนำไปสู่ผลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ทั้งนี้ การวิเคราะห์และการร่างรายงานผลการประเมินควรดำเนินการโดยคณะบุคคลเดียวหรือหลายคณะบุคคลเพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์หรือการประเมินผลกระทบที่ถูกต้อง เชื่อมโยงเป็นองค์รวมและพร้อมที่จะรับฟังการพิจารณาร่างรายงานโดยสาธารณะ ในขั้นตอนนี้ต้องให้ความสำคัญกับความถูกต้องและความเหมาะสมของการใช้เครื่องมือที่กำหนดไว้ในขอบเขต รวมถึงจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และชุมชนอย่างต่อเนื่อง ขั้นตอนการทบทวนร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Review) เป็นขั้นตอนที่ผู้ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้ร่วมกันกลั่นกรองความถูกต้อง และความครบถ้วนของข้อมูลและข้อสรุปในรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งผู้ประเมินควรนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาอย่างเปิดเผย ครบถ้วน เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากทุกภาคส่วน และรับฟังความเห็นด้วยด้วยใจที่เปิดกว้าง ทั้งนี้ในขั้นตอนนี้ควรร่วมกันเสนอแนะแนวทางเพื่อผลักดันผลการประเมินเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ และให้ได้มาซึ่งข้อตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมที่สามารถยอมรับร่วมกัน (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, 2563) รายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพยังช่วยสนับสนุนการวิจัย การสร้างนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สุขภาพ และกระตุ้นการผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชนภายใต้กฎหมายของท้องถิ่นนั้น (Forbes et al., 2013) ขั้นตอนการผลักดันสู่การตัดสินใจ (Influencing) เป็นการนำเสนอผลการศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและทางเลือกในการดำเนินการลดและป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตทางการเกษตรมาสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ได้มาซึ่งข้อตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรในชุมชนที่สามารถยอมรับร่วมกันสู่แนวทางปฏิบัติในการผลักดันข้อตัดสินใจดังกล่าวไปยังผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการติดตามและประเมินผลโดยสาธารณะ (Public Monitoring and Evaluation) เป็นขั้นตอนของการติดตาม ตรวจสอบว่ากิจกรรมการผลิตทางการเกษตรนั้น ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็นผลทางบวกหรือผลทางลบต่อสุขภาพตามที่ได้คาดการณ์ไว้หรือไม่ และ/หรือส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ควรมีการออกแบบแนวทางในการติดตามและประเมินผล รวมถึงกำหนดคณะทำงานและขอบเขตหรือประเด็นที่ควรทำการติดตามและประเมินผลอย่างแท้จริง ซึ่งผลลัพธ์ของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจะมีประโยชน์คุ้มค่าก็ต่อเมื่อมีการนำเอาผลการประเมินไปปรับเปลี่ยนการปฏิบัติหรือนโยบายซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มากถ้าใช้กระบวนการประเมินผลกระทบที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้และร่วมประเมินผลกระทบตลอดทั้งกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ โดยผลสำเร็จเหล่านี้อาจสะท้อนจากการนำผลลัพธ์ของการประเมินผลกระทบไปประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยในระดับครอบครัว ชุมชน และการออกแบบหลักสูตรในโรงเรียน (The Kohala Center, 2012) โดยการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตทางการเกษตรสามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตทางการเกษตร

351.jpeg

4. ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

ผลลัพธ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจะนำมาซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนอันเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาพร้อมกับการให้คุณค่าของมิติสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น การสังเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตลำไยนอกฤดู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มีรายละเอียดดังนี้ 1) ผลกระทบทางสุขภาพด้านร่างกาย มีสาเหตุหลักมาจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการผลิตลำไยนอกฤดูที่เพิ่มขึ้นและปัญหาการยศาสตร์จากการนั่งคัดเกรดผลลำไย การปีนต้นลำไย การขนส่งผลผลิต และการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยมีข้อเสนอแนะคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดและป้องกันปัญหาการยศาสตร์ ส่งเสริมการใช้สารชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น กิ่ง ใบ และผลผลิตที่ตกเกรด การอบรมเชิงปฏิบัติการที่หน่วยงานดำเนินการอยู่ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและให้หน่วยงานภายนอกพื้นที่ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกรและผู้สนใจ 2) ผลกระทบทางสุขภาพด้านจิตใจและสังคม โดยเฉพาะความวิตกกังวลจากการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวเป็นผลกระทบทางสุขภาพที่หน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ควรมีการสร้างระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เช่น การจัดระเบียบอย่างเข้มข้นโดยการลงทะเบียนแรงงานและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตโดยการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกร เช่น การปรับแต่งทรงพุ่มเตี้ย การตลาดออนไลน์ และการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อควบคุมการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ระบบการเพาะปลูกพืชด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการยังเสนอแนะให้หน่วยงานด้านการเกษตรลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการผลิตลำไยนอกฤดูที่ถูกต้องเนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ตัดสินใจดำเนินการผลิตด้วยตนเองหรือรับฟังข่าวสารมาจากสื่อวิทยุ นอกจากนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะต้องเข้าถึงเกษตรกรและแรงงานที่รับจ้างในสวนลำไยโดยตรงเพื่อสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นอันจะส่งผลต่อการเฝ้าระวังและเป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรมเพื่อลดและป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตลำไยนอกฤดูต่อไป (สามารถ ใจเตี้ย, 2564) นอกจากนี้กระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพยังนำมาใช้เพื่อบูรณาการกับการจัดทำนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม เช่น การถอดบทเรียนชุมชนในการลดใช้สารเคมีทางการเกษตรสู่กรอบนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในพื้นที่เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า กรณีศึกษากิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ได้สะท้อนแนวคิดของการมีสุขภาพดีด้วยการลดและงดการใช้สารเคมีในการปลูกพืช โดยให้ความสำคัญกับการใช้สารชีวภาพทดแทน รวมถึงพยายามแสวงหารูปแบบการผลิตพืชผักที่ใช้ปัจจัยการผลิตที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและที่สำคัญเกษตรกรเหล่านี้ได้สร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรด้วยกันเองและประชาชนที่สนใจ ซึ่งถ้ามีระบบการจัดการที่เหมาะสม มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดการใช้สารชีวภาพทดแทนสารเคมีทางการเกษตรนี้จะช่วยลดการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในการปลูกพืชไร่ในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ ข้อจำกัดของการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเป็นเกษตรปลอดภัยนั้นต้องปลดภาระหนี้สินของเกษตรให้ปลอดหนี้อย่างแท้จริงและภาครัฐต้องมีนโยบายจำกัดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรอย่างเข้มงวด จากข้อมูลการถอดบทเรียนชุมชนนำไปสู่ขั้นการพัฒนากรอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพด้านการเกษตร นอกจากนี้ผู้วิจัยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้นำข้อมูลจากการศึกษารายกรณีนำเสนอในเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการและได้ร่วมกันร่างกรอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพมีรายละเอียดดังนี้ 1) ด้านการใช้สารชีวภาพทดแทนสารเคมีทางการเกษตรให้ภาครัฐและเทศบาลส่งเสริมการใช้สารชีวภาพทดแทนสารเคมี โดยให้การสนับสนุนองค์ความรู้ ผลักดันการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องการใช้สารชีวภาพและสร้างกิจกรรมที่ให้ประชาชนและเกษตรกรมีโอกาสพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน 2) ด้านความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเทศบาลและชุมชน ผู้นำชุมชนทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร และต้องพยายามแสวงหาเครือข่ายและสร้างโครงการที่เกี่ยวข้อง สำนักงานเกษตรอำเภอควรออกตรวจเยี่ยมและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องตามสภาพและบริบทความเป็นจริงของพื้นที่ ส่วนหน่วยงานสาธารณสุข (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม) ควรให้ความรู้เกี่ยวกับอันตราย และการป้องกันตัวเองขณะใช้สารเคมีทางการเกษตร ทั้งนี้ กระบวนการดำเนินงานต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ในการประยุกต์การทำเกษตรด้วยวิธีที่เหมาะกับสภาพของพืชที่ปลูก ปรับเปลี่ยนจากเกษตรเพื่อการค้าเพียงอย่างเดียวเป็นการเกษตรเพื่อการพออยู่พอกินอย่างยั่งยืนไม่เน้นการแข่งขันเพียงอย่างเดียว โดยทุกฝ่ายควรร่วมกันแสดงความเห็นและเสนอแนะหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน (สามารถ ใจเตี้ย, 2555) อย่างไรก็ตาม การก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานกระบวนการปฏิบัติตั้งแต่การค้นหาปัญหา การร่วมกันเรียงลำดับความสำคัญของปัญหา การแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการติดตามประเมินผลตามกรอบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจะก่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตทางการเกษตรที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

5. บทสรุป

การเรียนรู้เพื่อแสวงหาทางเลือกในการลดและป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากการผลิตทางการเกษตรผ่านกระบวนการประเมิน 6 ขั้นตอน ได้แก่ การกลั่นกรอง การกำหนดขอบเขต การประเมินผลกระทบ การทบทวนร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลโดยสาธารณะ การผลักดันสู่การตัดสินใจ และการติดตามและประเมินผลโดยสาธารณะจะนำไปสู่ข้อมูลในการสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสาธารณะอันเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างเสริม การคุ้มครองภาวะสุขภาพ และการสร้างการรับรู้ของเกษตรกร ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทางการเกษตรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง

นวลศรี ทยาพัชร. (2543). เกษตรกรรมและการใช้สารเคมีการเกษตร.นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.

สามารถ ใจเตี้ย. (2555). การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการปลูกพืชไร่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน. ราชพฤกษ์ 10(1), 81 – 85.

สามารถ ใจเตี้ย. (2564). ผลกระทบสุขภาพจากการผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกร อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน. วารสารควบคุมโรค, 47(2), 313 – 322.

สามารถ ใจเตี้ย. (2564). ปัจจัยพยากรณ์คุณภาพชีวิตเกษตรกรสูงอายุจากการผลิตลำไยนอกฤดู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน. วารสารงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ, 8(2), 54 – 65.

สุธาสินี อั้งสูงเนิน. (2558). ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช.วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 9(1), 50-63

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ. (2559). หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 2 .นนทบุรี: สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ.

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ. (2563). HIA มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง. สืบค้น วันที่ 16 มกราคม 2566 จาก https://infocenter.nationalhealth.or.th/node/28254

สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2563). สรุปข้อมูลสถิติการเกษตรและสหกรณ์ที่สำคัญ. สืบค้นวันที่ 21 มกราคม 2566 จาก https://www.opsmoac.go.th/nakhonsithammarat-dwl-files-421191791137

Alhashim, R., Deepa, R, and Anandhi, A. (2021). Environmental impact assessment of agricultural production using LCA: A review. Climate 9, 164.

Cameron, C., Ghosh, S., and Eaton, SL. (2011). Facilitating communities in designing and using their own community health impact assessment tool. Environ Impact Asses Rev, 31(4), 433 – 437.

Forbes, J., Hill, J., Hoff, C., and VanKerkhoff, M. (2013). Health impact assessment report: Proposed food + farm ordinance to support locally grown food in Kane County. https://www.countyofkane.org/FDER/Documents/Food%20Hub/Growing%20for%20Kane%20-%20HIA%20Report.pdf

Pope, S., Rhodu, J., FulK, F., Mintz, B., and O’Shea, S. (2016). The health impact assessment (HIA) resource and tool compilation: a comprehensive toolkit for new and experienced hia practitioners in the U.S. U.S. Environmental Protection Agency: Washington, DC.

The Kohala Center. (2012). Health impact assessment 2010 hawai‘i county agriculture development plan. https://www.kohalacenter.org/pdf/ HIAFullReportFinalWeb.pdf

World Health Organization. 1999. Health impact assessment: main concepts and suggested approach European Centre for Health Policy. Copenhagen: WHO Regional Office for Europe.