อุ่นเรือน เล็กน้อย. (2561). ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมสำหรับประเทศไทย. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 2), 30-36.
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
เพื่อสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมสำหรับประเทศไทย
อาจารย์ ดร. อุ่นเรือน เล็กน้อย
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทนำ
จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่ภาพรวมแล้วพบว่า มีความเสื่อมโทรมลง ทั้งคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมลง สถานการณ์คุณภาพอากาศที่พบ ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ครอบคลุมในหลายจังหวัด ทั้งยังพบปัญหาในการจัดการขยะที่มีจำนวนขยะเกินค่ามาตรฐาน และขาดการกำจัดขยะที่ถูกต้อง (กรมควบคุมมลพิษ, 2559) ในขณะที่ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐยังคงมีข้อจำกัดอีกหลายประการ กอปรกับ ภาคประชาชนที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ จึงขาดการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว
หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จึงเป็นที่น่าคิดว่า ในอนาคตฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมโดยภาคประชาชนสำหรับประเทศไทย เพราะความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นของประชาชนทุกคน การปฏิรูปการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างกลไกการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม จึงมีความจำเป็นต่อความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ความมหัศจรรย์ของการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมจากประชาชน
การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในประเด็นปัญหาที่ต้องการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ปัญหาในอนาคต จึงอาจกล่าวได้ว่า การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมเป็นการสุ่มเก็บตัวอย่างของตัวบ่งชี้คุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อวิเคราะห์ และสังเกตคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เฝ้าระวัง ตัวอย่างเช่น การเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำและอากาศ คือ การสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำ และอากาศ เพื่อนำมาวิเคราะห์และสังเกตคุณภาพน้ำและอากาศในพื้นที่เฝ้าระวัง (Artiola et al., 2004)
สำหรับความหมายของการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมนั้น สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากภาพจำลองพระอาทิตย์และฝน ดังนี้
พระอาทิตย์: รถบัสคันหนึ่งกำลังพาผู้คนเพื่อเดินทางไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ทุกคนบนรถมองออกไปนอกหน้าต่าง สังเกตเห็นภูเขาสองข้างทาง และป้ายจราจร พร้อมทั้งมองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนไปกลางท้องฟ้า การเฝ้ามองและรวบรวมข้อมูลบนรถนี้ ช่วยให้พวกเขารู้ว่า พวกเขากำลังมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก FAO CORPERATE DOCUMENT REPOSITORY, n.d.
จากภาพจำลองข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมนั้น จะให้ภาพต่อเนื่องที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ในช่วงต้น และมองเห็นปัญหาและหาวิธีแก้ไขได้ทันที ถือเป็น “การเตือนภัยล่วงหน้า” ซึ่งการเห็นปัญหาในระยะเริ่มต้น จะช่วยแก้ปัญหาได้ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายออกไป ทำให้เกิดการรักษาสภาพแวดล้อมที่คงมาตรฐานที่ดีไว้ เนื่องจากสามารถชี้ให้เห็นได้ว่า การป้องกันและการจัดการที่ผ่านมามีเพียงพอหรือไม่ รวมถึงเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทราบถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินการที่ให้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น และช่วยทำให้มองเห็นภาพสุดท้ายจากประสบการณ์ในอดีตที่ยังไม่มีการเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วม เปรียบเทียบกับการเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งอาจขยายให้เกิดผลประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะกลายเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลจริงและสามารถแสดงแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตได้
7 ขั้นตอนสำคัญ สู่การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม
7 ขั้นตอนสำคัญของการสร้างการเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วมซึ่งเป็นข้อมูลจากเอกสารคู่มือการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน: แนวคิด วิธีการ และเครื่องมือ ของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization; FAO) (FAO, n.d.) ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
ขั้นแรก: อภิปรายถึงเหตุความจำเป็นของการเฝ้าระวังร่วมกัน
ในขั้นตอนแรกนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า “คนใน” ได้ร่วมกันพิจารณาถึงประโยชน์และวัตถุประสงค์ของการเฝ้าระวังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป้าหมายที่สำคัญของขั้นตอนนี้ คือ เพื่อให้ “คนใน” สามารถตัดสินใจเองว่า การเฝ้าระวังจะมีประโยชน์และช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่นหรือไม่
ขั้นที่สอง: กำหนดเป้าหมายและกิจกรรมการเฝ้าระวังโดย “คนใน”
เป้าหมายสำคัญในขั้นตอนนี้ คือ การชวนให้ “คนใน” และ “บุคคลภายนอก” ร่วมกันถกแถลงถึงวัตถุประสงค์และกิจกรรมในการเฝ้าระวังว่า มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หากวัตถุประสงค์และกิจกรรมการเฝ้าระวังที่ทั้งสองกลุ่มต้องการนั้น มีความแตกต่างกันมาก การกำหนดให้คนในได้มีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์และกิจกรรมในการเฝ้าระวังเอง จึงนับได้ว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ขั้นที่สาม: ตั้งโจทย์ ในการเฝ้าระวัง
ภายหลังจากการกำหนดวัตถุประสงค์และกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว จำเป็นต้องทบทวนให้ดีว่า กิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ออกแบบไว้นั้น จะดีหรือไม่ ผ่านการตั้งโจทย์คำถามและร่วมกันตอบคำถามต่อไปนี้
“เราต้องการรู้อะไร?” และ “สิ่งที่เราจะเฝ้าระวังนั้น จะบอกอะไรแก่เรา?”
ทั้งสองคำถามจะช่วยทำให้การออกแบบกิจกรรมการเฝ้าระวังเกิดขึ้นได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้
ขั้นที่สี่: กำหนดตัวชี้วัดในการเฝ้าระวัง
ขั้นตอนที่สี่ เป็นการกำหนดตัวชี้วัดที่จะทำการเฝ้าระวัง โดยในการกำหนดตัวบ่งชี้นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงตัวชี้วัดทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะทำให้สามารถตอบคำถามการเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นที่ห้า: ตัดสินใจเลือกเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลที่ต้องการ
ขั้นที่ห้า เป็นเวทีของการอภิปรายและแลกเปลี่ยนกันในประเด็นการเลือกเครื่องมือในการเก็บข้อมูลตัวบ่งชี้แต่ละตัวให้เหมาะสม ทั้งนี้ พึงระลึกถึงไว้เสมอว่า “เครื่องมือหนึ่ง ๆ มีข้อเด่นและข้อด้อยที่แตกต่างกัน”
ขั้นที่หก: กำหนดตัวผู้รับผิดชอบ
ในการเก็บข้อมูลตัวบ่งชี้แต่ละตัว มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ผู้รับผิดชอบจำเป็นต้องเป็นคนที่มีทักษะเฉพาะ มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับข้อมูลและตัวบ่งชี้ในประเด็นนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลนั้นต้องมีเวลา ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องมีการชดเชยสำหรับผู้ที่เสียสละ รวมถึงอาจนำเด็กและเยาวชนในชุมชนมาช่วยได้ โดยให้สิ่งจูงใจตอบแทน
ขั้นที่เจ็ด: วิเคราะห์ผลและนำเสนอผลการเฝ้าระวัง
เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลตามช่วงเวลาที่ระบุในกิจกรรมการเฝ้าระวังถือเป็นสิ่งสำคัญ การวิเคราะห์ข้อมูลและพูดคุยถึงผลที่เกิดขึ้นในที่ประชุมของชุมชน จะทำให้ทราบว่า กิจกรรมการเฝ้าระวังต่าง ๆ นั้น ดำเนินไปตามแผนงานหรือไม่ หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับเปลี่ยนแผนงานอย่างไร ต่อไป
จากทั้ง 7 ขั้นตอนของการสร้างการเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วมสรุปได้ว่า การออกแบบขั้นตอนการดำเนินงานอยู่ภายใต้หลักการของการเน้นให้เกิดสำนึก “ความเป็นเจ้าของเรื่อง” และ “ความรับผิดชอบ” ให้แก่ “คนใน” บนพื้นฐานศักยภาพและข้อจำกัดของคนในชุมชนโดยแท้จริง ในขณะเดียวกัน บุคคลภายนอก หรือหน่วยงานภายนอก ที่เข้ามาส่งเสริมกระบวนการนั้น จะรับบทบาทนำในแง่การเป็นพี่เลี้ยงและฝ่ายอำนวยการให้กระบวนการได้เกิดขึ้นไปตามธรรมชาติของชุมชนเอง ภายใต้รูปแบบของการทำงานร่วมกันในแนวระนาบที่มีความเท่าเทียมกันทั้งจากคนในด้วยกันเอง และบุคคลหน่วยงานภายนอกที่จะเป็นหุ้นส่วนในการทำงานร่วมกัน ต่อไป
กลไกการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมโดยประชาชนที่มีอยู่ในสังคมไทย
ในการทบทวนข้อมูลกลไกการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยพบว่า นอกเหนือจากกลไกของหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มประชาสังคม (NGOs) ที่ถือว่า เป็นกลไกที่สำคัญแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญในการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกจัดตั้งโดยหน่วยงานรัฐ ในรูปแบบของอาสาสมัครภาคประชาชนซึ่งรู้จักกันดีในนาม “ทสม.” หรือ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (Natural Resources and Environmental Protection Volunteer; NEV) โดยมีระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. 2550 เป็นกลไกรองรับและสนับสนุนการทำงานของ ทสม. และเครือข่าย ทสม. อย่างเป็นรูปธรรม (ระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. 2558, 2558) โดยมีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการรับผิดชอบดูแลและสนับสนุนการทำงานของ ทสม.
ทสม. มีบทบาทเป็นผู้นำในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในชุมชน และเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลและประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่น องค์กรชุมชน กับ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึง การมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ทั้งนี้ รูปแบบการทำงานของ ทสม. ถูกออกแบบให้เป็นการทำงานแบบเครือข่ายที่มีโครงสร้างชัดเจน โดยมีคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. เป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการบริหารจัดการ โดยเครือข่าย ทสม. แบ่งเป็น เครือข่ายระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ มีคณะกรรมการบริหารเครือข่ายและคณะกรรมการอำนวยการเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายในภาพรวม (รูปภาพที่ 1)
รูปภาพที่ 1 โครงสร้างคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.
ที่มา: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, มปป
อย่างไรก็ดี จากรูปแบบการทำงานของเครือข่าย ทสม. ที่มีโครงสร้างอำนาจของการทำงานในแนวตั้งที่ค่อนข้างชัดเจน อาจเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างสำนึก “ความเป็นเจ้าของเรื่อง” และ “ความรับผิดชอบ” ให้เกิดขึ้นกับ “คนใน” ได้ ทั้งนี้ สอดคล้องกับรายงานการศึกษาการพัฒนาศักยภาพการทำงานด้านอาสาสมัครสิ่งแวดล้อมและการสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในระดับภูมิภาค ที่ระบุถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพของ ทสม. ที่ต้องเร่งดำเนินการในระยะต่อไป คือ
1) การปรับเชิงโครงสร้าง โดยกระจายอำนาจการบริหารในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น
2) การพัฒนาความรู้ ความสามารถเชิงวิชาการ เช่น การจัดฝึกอบรมทางวิชาการ การสร้างชุมชนอาสาสมัครต้นแบบ |
3) การยกระดับกระบวนทัศน์ต่องานอาสาสมัคร (อุ่นเรือน เล็กน้อย และคณะ, 2557)
การทำงานของ ทสม.ที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นกลไกในการนำนโยบายในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม มีความโดดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการจัดตั้งทสม. ดังนั้น หากสังคมไทยใช้กลไกของทสม. มาสร้างเป็นฐาน (platform) ของการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมโดยภาคประชาชนแล้ว จะทำให้เกิดการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมโดยประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่กว้างขวางที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะกลายเป็นพลังและเงื่อนไขที่สำคัญของความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อไป
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมสำหรับประเทศไทย
จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอข้างต้น จึงนำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมสำหรับประเทศไทย โดยใช้กลไก ทสม. และเครือข่าย ทสม. ที่มีอยู่เดิม ดังนี้
1. พัฒนาให้ ทสม. เป็นกลไกในระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ในการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมประสานให้ ทสม. และเครือข่าย ทสม. เป็นภาคีการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2. ปรับวิธีคิดและรูปแบบการทำงานของ ทสม. ให้มีมิติในแนวระนาบที่เท่าเทียมกันกับหุ้นส่วนความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งจากภายในเครือข่ายด้วยกันเอง และบุคคลภายนอก รวมทั้ง การเปิดเวทีให้เกิดการออกแบบกระบวนการทำงานที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติ ข้อจำกัด และศักยภาพของ ทสม. และบริบทของพื้นที่เอง
3. ขยายผลการนำ 7 ขั้นตอนการสร้างการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ลงสู่การทำงานในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ผ่านกลไก ทสม. ในพื้นที่ พร้อมกับ การขยายผลไปยังกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่น ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นพลังทางสังคม
4. เสริมศักยภาพให้กับ ทสม. ให้เท่าทันกับสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมและความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพในการสืบค้นข้อมูลผ่านเครือข่ายข้อมูลดิจิทัล (digital platform) ที่สามารถสร้างการเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้
เอกสารอ้างอิง
1. กรมควบคุมมลพิษ. (2560). รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2559. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก: http://infofile.pcd.go.th/mgt/Thailand_state_pollution2017%20Thai.pdf?CFID= 2279069&CFTOKEN=23165631.[19 กันยายน 2560]
2. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. (2557). ยุทธศาสตร์การดำเนินงานเครือข่าย ทสม. ปี 2557-2560. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม.
3. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. (2559). คู่มือการคัดเลือกคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ตามระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. 2558. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก: http://www.deqp.go.th/media/37226/ค-ม-อค-ดเล-อกคณะกรรมการเคร-อข-าย-ทสม_web.pdf. [19 กันยายน 2560]
4. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). เอกสาร “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล กับเครือข่าย ทสม.”. อัดสำเนา.
5. ระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. 2558. (23 พฤศจิกายน 2558). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนพิเศษ 305 ง. หน้า 1-9.
6. อุ่นเรือน เล็กน้อย และคณะ. (2557). รายงานการวิจัยเรื่องการพัฒนาศักยภาพการทำงานด้านอาสาสมัครสิ่งแวดล้อมและการสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายในระดับภูมิภาค. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
7. Artiola, J.F., Pepper, I.L. & Brusseau, M. (Eds.). (2004). Environmental Monitoring and Characterization. Burlington, MA: Elsevier Academic Press.
8. FAO CORPERATE DOCUMENT REPOSITORY. (n.d.). The community's toolbox: The idea, methods and tools for participatory. [Online], Available from: http://www.fao.org/ docrep/x5307e/x5307e05.htm [19 กันยายน 2560]
สนับสนุนโดย