การอ้างอิง: กาญจน์นภา พงศ์พนรัตน์. (2562). “เฮมพ์” กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 3).


ส่วนใบของเฮมพ์ โดย ดร.รุ่งทิพย์ ลุยเลา


เรื่องจากปก: “เฮมพ์” กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

กาญจน์นภา พงศ์พนรัตน์
วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ประเทศไทยมีการวางแผนและพัฒนาเพื่อตอบสนองและรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด และความเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการอันเป็นภาคส่วนหลักในการพัฒนาของประเทศ จากสภาวะการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเร่งพัฒนา ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ทั้งด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งเศรษฐกิจของชุมชน

มีการถกเถียงกันในวงกว้างถึงแนวทางในการลดทอน และบรรเทาผลกระทบในแง่ลบที่เกิดขึ้นโดยการนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับใช้เป็นแนวทางหลักในการวางแผนพัฒนาและดำเนินโครงการต่าง ๆ มากขึ้นในปัจจุบัน โดยดำเนินตามแนวทางที่องค์กรสหประชาชาติจัดทำขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือที่เรียกว่า Sustainable Development Goals (SDGs)  ซึ่งกำหนดกรอบในการพัฒนาที่มีมิติครอบคลุมหลากหลายด้านเพื่อบูรณาการในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยมีการนำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์เข้ากับแผนพัฒนาประเทศ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นอันเป็นรากฐานสำคัญของประเทศผ่านกระบวนการนวัตกรรมทั้งด้านการบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ และการส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา โดยยังคงอนุรักษ์ระบบนิเวศ วิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรมและประเพณี ภูมิปัญญา ความเชื่อ ค่านิยม อีกทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนต่าง ๆ ผ่านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของชุมชนและขยายฐานตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ของคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ดังนั้น แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงนับว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการพัฒนาผ่านการทำความเข้าใจด้วยการนำวัฒนธรรมมาเป็นฐานในการคิดและต่อยอดการพัฒนาโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า ผ่านความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบให้เกิดนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบใหม่

ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนนับว่าเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 (2560-2564) ที่มุ่งให้เกิดการยกระดับประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมเน้นการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติและคุณภาพของสิ่งแวดล้อม มีการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อลดอัตราการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง และเน้นการพึ่งพาตนเองซึ่งเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข็มแข็ง โดยผลิตภัณฑ์ชุมชนจะเป็นส่วนช่วยในการเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชน ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมการสร้างงานให้กับคนในชุมชม ส่งผลให้เกิดรายได้ ตลอดจนการสร้างเป้าหมายร่วมกันของคนในชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

เมื่อพิจารณาถึงภาคการเกษตรอันเป็นรากฐานหลักในการพัฒนาของประเทศไทยโดยนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดังที่กล่าวในเบื้องต้นมาปรับใช้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันในหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้มีการส่งเสริมการปลูกกัญชง หรือ เฮมพ์ “Hemp” ซึ่งเป็นพืชในตระกูลเดียวกับกัญชา โดยในปัจจุบันมีกฎหมายให้เปลี่ยนชื่อจากกัญชงเป็น “เฮมพ์”เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของประชาชนระหว่างกัญชงกับกัญชาซึ่งเป็นสารเสพติด และในกระบวนการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองนั้นต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

โดยมีการอนุญาตให้หน่วยงานรัฐปลูกกัญชงแล้วใน 6 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง อ.แม่ริม อ.สะเมิง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, อ.เทิง อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สาย จ.เชียงราย, อ.นาหมื่น อ.สันติสุข อ.สองแคว จ.น่าน, อ.พบพระ จ.ตาก, อ.หล่มเก่า อ.เขาค้อ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์, อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีการนำเส้นใยของเฮมพ์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพราะเส้นใยของเฮมพ์มีความเหนียวและทนทาน อีกทั้งเมื่อพิจารณาตามข้อมูลทางวิชาแล้วนั้น พบว่าประโยชน์ของเฮมพ์มีหลายประการ นอกจากเส้นใยเฮมพ์นับว่าเป็นเส้นใยที่เหนียวที่สุดในโลก สามารถนำมาทอผ้าทำเป็นเครื่องนุ่งห่มหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ได้แล้ว เมล็ดเฮมพ์ยังมีโปรตีนสูงซึ่งถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าโปรตีนที่มาจากถั่วเหลือง นม ไข่ ประกอบกับมีปริมาณเส้นใยสูงและมีราคาที่ถูกกว่า (กัญชง-กัญชา, 2544 หน้า 25)

นอกจากนี้ ยังพบว่า เฮมพ์ มีคุณสมบัติในการดึงดูดและสะสมโลหะหนักได้ โดยเฉพาะพื้นที่ปนเปื้อนโลหะหนักในดิน (พันธวัศ สัมพันธ์พานิช, 2558) เฮมพ์จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจในการทำการศึกษา และพัฒนาในลักษณะและกระบวนการต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่และศักยภาพในการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างกรณีชาวม้งกับวิถีชีวิตการปลูกเฮมพ์เพื่อนำเส้นใยมาทอผ้าใช้สอยภายในครัวเรือนในชีวิตประจำวันและงานประเพณี จนกลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มและของใช้เพื่อจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ เป็นการเพิ่มรายได้นอกเหนือจากภาคการเกษตรอันเป็นอาชีพหลักของชาวม้งอยู่เดิม

ท่ามกลางกระแสการแข่งขันทางเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบันที่เน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมต่าง ๆ ผสมผสานกับทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ในกรณีของเฮมพ์ หากมีการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกเฮมพ์และนำมาแปรรูปเป็นรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และมีการจัดการความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อส่งต่อสู่ชุมชนและเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านรายได้และความเป็นอยู่ในเวลาเดียวกัน

หากดำเนินการได้ตามแนวทางนี้ก็นับว่าเป็นการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนได้ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเพราะเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคน  ตามเป้าหมายที่วางไว้ในระดับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติได้อย่างชัดเจน อยู่ที่ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมกันพิจารณา ส่งเสริมสนับสนุน ศึกษาค้นคว้า ออกแบบสร้างสรรค์ และทำให้เกิดขึ้นได้จริงต่อไป


กิตติกรรมประกาศ
บทความฉบับนี้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการวิจัย เรื่อง “การปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ที่ปลูกในดินปนเปื้อนแคดเมียม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (RDG62T0053)” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2562 อันเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้


เอกสารอ้างอิง
พันธวัศ สัมพันธ์พานิช. 2558. การฟื้นฟูโลหะหนักด้วยพืช. 1,000 เล่ม, พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ. 2544. กัญชา-กัญชง.