การอ้างอิง: มณีรัตน์ องค์วรรณดี และ พงศธร ชมดี. (2563). การประเมินประสิทธิภาพของวัสดุทำหน้ากากสำหรับกรองฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (Evaluation of face mask materials for trapping particulate matter less than 2.5 micron). วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 3).


บทความ: การประเมินประสิทธิภาพของวัสดุทำหน้ากากสำหรับกรองฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (Evaluation of face mask materials for trapping particulate matter less than 2.5 micron)

มณีรัตน์ องค์วรรณดี 1,* และ พงศธร ชมดี
1 ภาควิชาการบริหารและจัดการเมือง วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 
* Email: maneerat.ong@nmu.ac.th
2 ภาควิชาเทคโนโลยี วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 
Email: pongsathorn.cho@nmu.ac.th


บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดประสิทธิภาพของวัสดุที่ทำหน้ากากในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนในบรรยากาศ โดยจำลองการสวมหน้ากากกับใบหน้าของหุ่นฝึกทางการแพทย์ให้แนบสนิท ใช้เครื่องดูดเสมหะดูดอากาศด้วยอัตรา 15 ลิตรต่อนาทีผ่านหน้ากากที่ทดสอบ ได้แก่ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากาก N95 และหน้ากากผ้าฝ้ายสองชั้นเสริมไส้กรองต่างๆ ผลการทดสอบพบว่าหน้ากาก N95 ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีประสิทธิภาพการกรอง 78 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีประสิทธิภาพ 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับหน้ากากผ้าที่ใช้หน้ากากอนามัยดังกล่าวเป็นไส้กรองหรือใช้แผ่นกรองฝุ่นระดับ MERV 11 จำนวน 3 แผ่นซ้อนกัน ในขณะที่การใช้หน้ากากผ้าฝ้ายเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิภาพเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ และการใช้กระดาษทิชชูเป็นไส้กรองไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ ทั้งนี้ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองของหน้ากากเมื่อสวมใส่จริงอาจมีค่าต่ำกว่าที่วัดได้ซึ่งขึ้นกับความแนบสนิทกับใบหน้าของผู้ใส่ สำหรับการฆ่าเชื้อโรคบนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ด้วยการพ่นเอทานอล 70 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ทำให้โครงสร้างทางกายภาพและเคมีของเส้นใยโพลีโพรพิลีนของหน้ากากแปลงเปลี่ยนไปจากเดิม จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับยืดอายุการใช้งานหน้ากากอนามัยในช่วงขาดแคลน เช่น การระบาดของโรคโควิด-19

คำสำคัญ: หน้ากาก; หน้ากากอนามัยทางการแพทย์; ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน; ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละออง

1. บทนำ
เนื่องด้วยประเทศไทยเผชิญปัญหาวิกฤตฝุ่นจิ๋วหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ช่วงมกราคมถึงมีนาคมเป็นประจำทุกปี [1] ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจึงต้องหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น โดยหน่วยงานราชการแนะนำให้ใช้หน้ากากประเภท N95 ซึ่งสามารถกรองอนุภาคแขวนลอยในอากาศขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแอโรไดนามิก (Aerodynamic diameter) 0.3 ไมครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ [2-3] อย่างไรก็ดีหน้ากากประเภทนี้มีราคาค่อนข้างสูงและสวมใส่ไม่สบาย จึงทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical face mask) แทน ประกอบกับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ตั้งแต่มีนาคม 2563 เป็นต้นมาทำให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดแคลนอย่างหนัก [4] ประชาชนบางส่วนจึงเลือกใช้หน้ากากผ้าที่ทำขึ้นเองหรือหน้ากาก N95 ที่ซื้อจากต่างประเทศ รวมทั้งการหาวิธีการนำหน้ากากอนามัยมาใช้ซ้ำโดยเฉพาในช่วงโรคโควิดระบาด [5]

หน้ากากประเภทที่ใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลทางระบบทางเดินหายใจหรือที่เรียกว่า Respirator ซึ่งปิดคลุมมิดชิด สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามลักษณะการปิดคลุมใบหน้า ได้แก่ (1) Quarter mask คือหน้ากากปิดจมูกและปากแต่ไม่คลุมถึงใต้คาง (2) Half mask คือหน้ากากปิดจมูกและปากคลุมถึงใต้คาง และ (3) Full facepiece คือหน้ากากปิดคลุมตั้งแต่โคนผมจนถึงใต้คาง สำหรับหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองในบรรยากาศที่ประชาชนทั่วไปใช้ เช่น N95 เป็นแบบ Quarter mask [2] สำหรับมาตรฐานประสิทธิภาพของหน้ากากกรองฝุ่นละอองตามระเบียบข้อบังคับรัฐบาลกลางประเทศสหรัฐอเมริกา (US Code of Federal Regulations, CFR) แบ่งเป็น 9 ชั้นคุณภาพ คือ N95, N99, N100, R95, R99, R100, P95, P99 และ P100 สัญลักษณ์ N ระบุถึงหน้ากากกรองอนุภาคที่ไม่ใช่น้ำมัน ในขณะที่ R และ P สามารถกรองอนุภาคที่เป็นน้ำมันได้ ส่วนตัวเลขหลังตัวอักษรระบุถึงประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนได้ไม่ต่ำกว่า 95, 99 และ 99.97 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ [3]

หน้ากากประเภทหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ชนิดใช้ครั้งเดียวผลิตจากโพลีโพรพิลีนหรือพีพีแบบไม่ถักเส้นใย (Polypropylene nonwoven) มีสามชั้น ใช้ป้องกันสารคัดหลั่งในขณะทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทางกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าสามารถใช้ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากละอองน้ำลาย (Droplet) ขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอนได้ 99 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า 3 ไมครอน [6] ส่วนหน้ากากผ้านั้นเริ่มเป็นที่นิยมใช้ของประชาชนช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยแนะนำผ้าที่เหมาะสมใช้ทำหน้ากาก 2 ชั้นป้องกันละอองน้ำลาย ได้แก่ ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้านาโน ผ้าฝ้ายดิบ ผ้ายืด และผ้าสาลู [7] อย่างไรก็ดี ยังไม่มีงานวิจัยในประเทศไทยที่ทำการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองของหน้ากากชนิดต่างๆ ที่ประชาชนนิยมใช้

ดังนั้นงานวิจัยนี้มุ่งทดสอบเพื่อหาประสิทธิภาพของวัสดุที่นำมาผลิตหน้ากากในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนในบรรยากาศ โดยทดสอบหน้ากากที่ขายในท้องตลาดและหน้ากากผ้าที่ประดิษฐ์ขึ้นรวมทั้งหมด 13 รูปแบบ อย่างไรก็ดีงานวิจัยนี้ไม่ได้ทดสอบประเด็นความแนบสนิทของหน้ากากเข้ากับใบหน้าผู้สวมใส่แต่อย่างใด (Fit test) ดังนั้นค่าประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองที่วัดได้ในงานวิจัยนี้จึงเป็นการวัดความสามารถของวัสดุที่ใช้ทำหน้ากากในการกรองฝุ่นละอองเท่านั้น ผลที่ได้จากการทดลองนี้ยังสามารถใช้ระบุถึงประสิทธิภาพของวัสดุหน้ากากแต่ละแบบในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าที่อยู่ในละอองน้ำลายซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอน

2. อุปกรณ์และวิธีการ
2.1 ชนิดของหน้ากากที่ทดสอบ
หน้ากากที่ทดสอบการกรองฝุ่นละอองประกอบด้วย หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียว หน้ากาก N95 หน้ากากผ้าฝ้ายดิบที่ทำขึ้นเองและมีการดัดแปลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกรองโดยการใส่ไส้กรองแบบต่างๆ ได้แก่ หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และแผ่นกรองฝุ่นระดับ MERV 11 ระหว่างหน้ากากผ้าสองชั้น (หมายเหตุ MERV คือ Minimum Efficiency Reporting Value เป็นมาตรวัดประสิทธิภาพของระบบฟอกอากาศที่ใช้เส้นใยกรองดักจับฝุ่นละออง กำหนดขึ้นโดย  American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers (ASHRAE) ซึ่งมีสเกลตั้งแต่ 1 ถึง 16) สำหรับแผ่นกรอง MERV  11 มีประสิทธิภาพสูงในการดักจับฝุ่นละอองช่วง 1.0-3.0 ไมครอน งานวิจัยนี้ยังได้ทดสอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เมื่อฉีดพ่นด้วยแอลกอฮอล์ในรูปของสารละลายเอทานอล (C2H5OH) ความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์จนเปียกชุ่มเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจสะสมบนหน้ากากซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการใช้หน้ากากอนามัยซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง นอกจากนี้ได้ศึกษาโครงสร้างทางกายภาพของหน้ากากอนามัยที่ฉีดพ่นแอลกอฮอล์ด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราด (Scanning electron microscope, SEM) และโครงสร้างทางเคมีพื้นผิวด้วยการวิเคราะห์กลุ่มฟังก์ชันด้วยเครื่องฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรด (Fourier transform infrared spectroscope, FTIR) ในช่วงการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดในช่วง 400-4000 ซม.-1 เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงลักษณะเส้นใยที่อาจปรากฏ รายละเอียดของหน้ากากที่ทดสอบในงานวิจัยนี้แสดงในตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 หน้ากากที่ทดสอบ

หมายเหตุ ลำดับที่ 5-10 เป็นหน้ากากผ้าชนิดเดียวกัน

2.2 ระบบและขั้นตอนการทดลอง
รูปที่ 1 แสดงระบบการทดลองประกอบด้วยหุ่นฝึกปฏิบัติการทางการแพทย์ ครอบหน้ากากที่ต้องการทดสอบประสิทธิภาพการกรองฝุ่นเข้าที่บริเวณจมูกและปากของหุ่นฝึกตามลักษณะการสวมใส่ของคน จากนั้นใช้เทปกาวกระดาษปิดขอบหน้ากากที่สัมผัสกับใบหน้าของหุ่นให้แนบสนิทเพื่อป้องกันอากาศรั่วไหล และปิดช่องเปิดที่เชื่อมต่อช่องจมูกและปากของหุ่นทุกช่องด้วยเทปกาวกระดาษ ยกเว้นท่อจากช่องคอหุ่นท่อหนึ่งถูกเชื่อมต่อกับสายยางเข้าเครื่องดูดเสมหะ (Suction unit) ยี่ห้อ Kataspir เพื่อจำลองการหายใจของผู้สวมใส่โดยตั้งอัตราการดูดอากาศด้วยความดันคงที่ 6 เซนติเมตรของปรอท หรือเทียบเท่าอัตราการหายใจ 15 ลิตรต่อนาที ใช้เครื่องวัดฝุ่น PM2.5 ยี่ห้อ SNDWAY รุ่น SW-825 เซ็นเซอร์วัดฝุ่น PLANTOWER Laser จำนวน 2 เครื่อง โดยวางในขวดดูดเสมหะเพื่อวัดความเข้มข้นของฝุ่นในอากาศที่ดูดผ่านหน้ากาก และอีกเครื่องวางด้านนอกเพื่อวัดฝุ่นในบรรยากาศขณะทำการทดสอบ ทำการทดสอบหน้ากากทีละชนิดด้วยระยะเวลาการทดสอบ 5-10 นาทีเพื่อให้ได้ระดับฝุ่นในขวดดูดเสมหะคงที่ การทดลองทำในห้องปฏิบัติการแบบพื้นที่เปิดในอาคารที่มีระดับฝุ่น PM2.5 ค่อนข้างคงที่ ควบคุมอุณหภูมิด้วยเครื่องปรับอากาศที่ 27-28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์


รูปที่ 1 ระบบการทดลองประกอบด้วยหุ่นฝึกปฏิบัติการทางการแพทย์ครอบจมูกด้วยหน้ากากที่ต้องการทดสอบและเครื่องดูดเสมหะจำลองการหายใจ

3. ผลการทดลองและวิจารณ์ 
3.1 ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละออง
ตารางที่ 2 แสดงประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 ของวัสดุทำหน้ากากที่ทดสอบทั้ง 13 รูปแบบ โดยความเข้มข้นของ PM2.5 ก่อนและหลังผ่านการกรองแสดงเป็นค่าเฉลี่ยที่ได้จากการวัดในช่วงเวลาที่ทดสอบ

ตารางที่ 2 ประสิทธิภาพของวัสดุหน้ากากในการกรองฝุ่น PM2.5

ผลการวัดประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 ด้วยหน้ากากแต่ละชนิดที่สวมครอบแนบสนิทกับใบหน้าหุ่นฝึกปฏิบัติพบว่า หน้ากาก N95 ของบริษัท 3เอ็ม จำกัด มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 สูงสุดเท่ากับ 78 เปอร์เซ็นต์ (ลำดับที่ 4) ในขณะที่หน้ากาก N95 อีกยี่ห้อซึ่งจำหน่ายในต่างประเทศกลับมีประสิทธิภาพเพียง 42 เปอร์เซ็นต์ (ลำดับที่ 3) หมายเหตุงานวิจัยนี้ไม่ได้ใช้วิธีการทดสอบมาตรฐานการกำหนดชั้นคุณภาพหน้ากากประเภท Respirator ตามข้อกำหนดของ 42 CFR Part 84 [3] จึงไม่สามารถใช้ค่าประสิทธิภาพที่วัดได้ไปเทียบเท่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาคเฉลี่ย 0.3 ไมครอนที่ถูกกำหนดไว้ 95 เปอร์เซ็นต์สำหรับหน้ากากระดับชั้น N95 อย่างไรก็ตามผลการทดลองที่ได้ชี้ให้เห็นว่า หน้ากาก N95 สองยี่ห้อที่ทดสอบด้วยวิธีเดียวกันมีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 แตกต่างกันค่อนข้างมากทั้งที่หน้ากากทั้งสองยี่ห้อถูกระบุฉลากว่าเป็นประเภท N95  สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ครอบสนิทกับใบหน้ามีประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ การฉีดพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อบนหน้ากากแล้วทิ้งให้แห้ง (ลำดับที่ 11-13) ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการกรองฝุ่นแต่อย่างใด เส้นใยโพลีโพรพิลีนที่ใช้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีคุณสมบัติต้านทานสารละลายแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ [8] ซึ่งสามารถยืนยันได้ด้วยภาพกำลังขยายสูงและการวิเคราะห์พื้นผิวทางเคมีของเส้นใยที่ทำหน้ากากในหัวข้อ 3.2 ส่วนหน้ากากอนามัยแบบคาร์บอนให้ประสิทธิภาพการกรองต่ำกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แต่มีข้อดีด้านการดูดซับกลิ่นและความชื้น

สำหรับหน้ากากผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายดิบสองชั้นนั้นมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากช่องเปิดระหว่างเส้นใยมีขนาดใหญ่กว่าขนาดของฝุ่น [9] แต่เมื่อเสริมด้วยแผ่นกรองที่นิยมใช้ในเครื่องฟอกอากาศระดับ MERV 11 จำนวน 1 ชั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกรองเป็น 28-29 เปอร์เซ็นต์ (ลำดับที่ 6 และ 7) แต่ยังคงต่ำกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และเมื่อเสริมแผ่นกรอง MERV 11 ซ้อนกัน 3 ชั้นช่วยให้ประสิทธิภาพการกรองเพิ่มขึ้นเทียบเท่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์ (ลำดับที่ 8)  ส่วนการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เป็นไส้กรองระหว่างหน้ากากผ้าสองชั้น (ลำดับที่ 9) ให้ประสิทธิภาพการกรองเท่ากับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ในขณะที่การใช้กระดาษทิชชูเป็นไส้กรอง (ลำดับที่ 10) ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่นขนาดเล็กได้แต่อย่างใด

3.2 โครงสร้างทางกายภาพและเคมีของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
ตารางที่ 3 แสดงภาพถ่ายกำลังขยาย 100 เท่าด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราดของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นในที่สัมผัสใบหน้าผู้ใส่ รูปแบบที่ 1 คือหน้ากากอนามัยใหม่ที่ไม่ได้ฉีดพ่นสารละลายเอทานอล รูปแบบที่ 2 คือหน้ากากอนามัยฉีดพ่นสารละลายเอทานอล 70 เปอร์เซ็นต์แล้วปล่อยทิ้งไว้ 5 นาที และรูปแบบที่ 3 คือหน้ากากอนามัยฉีดพ่นสารละลายเอทานอลแล้วปล่อยทิ้งไว้ 60 นาที 

ตารางที่ 3 ลักษณะเส้นใยของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่กำลังขยาย 100 เท่า

จากภาพถ่าย SEM เห็นได้ว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ผลิตจากเส้นใยที่พาดสานกันไปมาในทุกทิศทางซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตผ้าที่เรียกว่า Nonwoven fabric เป็นการขึ้นรูปจากเส้นใยโพลีโพรไพลีนเป็นแผ่นโดยตรง แล้วมีการเชื่อมยึดเส้นใยในแผ่นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของแผ่น [10] การฉีดพ่นแอลกอฮอล์ในรูปของสารละลายเอทานอล 70 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ทำให้โครงสร้างของเส้นใยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใดทั้งแผ่นชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ในขณะที่ผลการตรวจสอบพื้นผิวทางเคมีของหน้ากากอนามัยด้วยเครื่อง FTIR แสดงสเปกตรัมการดูดกลืนแสงดังรูปที่ 3 (ในที่นี้แสดงในช่วง 1500-4000 ซม.-1)


รูปที่ 2 สเปกตรัมการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่พ่นและไม่พ่นสารละลายเอทานอล 70 เปอร์เซ็นต์

การวิเคราะห์พบการดูดกลืนรังสีที่ 2870 และ 2950 ซม.-1 ชี้ให้เห็นถึงการสั่นแบบ Stretching ของหมู่ฟังก์ชันเมธิล -CH3 ซึ่งเป็นองค์ประกอบโครงสร้างทางเคมีของโพลีเมอร์ประเภทโพลีโพรพิลีน คือ Poly(1-methylethylene) [11] เมื่อฉีดพ่นหน้ากากอนามัยด้วยเอทานอลแล้วทิ้งไว้ 5 นาทีพบการดูดกลืนรังสีชัดเจนที่ 3391 ซม.-1 แสดงถึงการสั่นแบบ Stretching ของพันธะ O-H ในโครงสร้างของเอทานอล [12] และเมื่อทิ้งไว้ 10 นาทีกลับไม่พบการดูดกลืนรังสีในช่วงดังกล่าว ซึ่งเป็นไปได้ว่าสารละลายเอทานอลบนหน้ากากระเหยหมดไป ในขณะที่สเปกตรัมการดูดกลืนรังสีของโพลีโพรพิลีนไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ถึงแม้ผ่านการสัมผัสกับเอทานอลก็ตาม จึงเป็นข้อยืนยันอีกประการหนึ่งว่าการใช้สารละลายเอทานอลฉีดพ่นไม่สามารถสร้างความเสียหายให้กับเส้นใยโพลีโพรพิลีนทั้งทางกายภาพและทางเคมี อย่างไรก็ดีควรมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคบนหน้ากากอนามัยด้วยการฉีดพ่นสารละลายแอลกอฮอล์ต่อไป

 

สรุปผล  
งานวิจัยนี้ทดสอบวัสดุที่ทำหน้ากากชนิดต่างๆ เพื่อวัดประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน โดยใช้หุ่นฝึกปฏิบัติการทางการแพทย์จำลองสภาพการใส่หน้ากากที่แนบสนิทกับใบหน้าไม่มีการรั่วไหลของอากาศ  ประสิทธิภาพของหน้ากาก N95 บริษัท 3เอ็ม จำกัด กรองฝุ่น PM2.5 ได้สูงสุด 78 เปอร์เซ็นต์ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบสามชั้นกรองฝุ่นได้ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อใช้ทำหน้าที่เป็นไส้กรองของหน้ากากผ้าฝ้ายดิบสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกรองของหน้ากากผ้าเทียบเท่าหน้ากากอนามัย จึงอาจเป็นวิธีหนึ่งในการยืดอายุการใช้งานหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ในขณะที่การฉีดพ่นด้วยแอลกอฮอล์ในรูปสารละลายเอทานอลเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจสะสมบนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับโครงสร้างของเส้นใยโพลีโพรพิลีนที่ทำหน้ากาก จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกันในการยืดอายุการใช้งานในช่วงที่มีการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เช่น ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น ส่วนการใช้แผ่นกรองฝุ่นระดับ MERV 11 เป็นไส้กรองของหน้ากากผ้าควรใช้จำนวน 3 แผ่นซ้อนกันจึงจะให้ประสิทธิภาพการกรองเทียบเท่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ในขณะที่วัสดุทำหน้ากากจากผ้าฝ้ายดิบหรือการใช้กระดาษทิชชูเป็นไส้กรองของหน้ากากผ้าไม่มีความสามารถในการกรองฝุ่น PM2.5  การทดสอบทั้งหมดในงานวิจัยนี้ควบคุมสภาพการสวมหน้ากากที่ทดสอบเข้ากับใบหน้าหุ่นฝึกให้แนบสนิท ดังนั้นหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าที่เมื่อบุคคลสวมใส่จริงจะไม่แนบสนิทกับใบหน้าเท่ากับการใส่หน้ากาก N95 จึงจะทำให้ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นของหน้ากากทั้งสองต่ำกว่าค่าที่วัดได้ในงานวิจัยนี้เพราะการรั่วไหลของอากาศบริเวณหน้ากากที่ไม่แนบสนิทกับใบหน้า อย่างไรก็ดีคุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำหน้ากากมีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ซึ่งเห็นได้จากหน้ากากที่ติดฉลาก N95 บางยี่ห้อกลับมีประสิทธิภาพการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพึงระวังในการซื้อสินค้าที่อาจไม่มีคุณภาพตามที่แจ้ง


กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณ คุณธีระพันธ์ จำเริญพัฒน์ และ คุณทับทิม ชาติสุวรรณ์ ศูนย์เครื่องมือกลางมหาวิทยาลัยมหาสารคามสำหรับการวิเคราะห์ภาพถ่าย SEM และการวิเคราะห์ FTIR



เอกสารอ้างอิง 
[1] วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์. (2561). อันตรายของฝุ่น PM2.5 แหล่งที่มาและแนวทางควบคุม. วิศวกรรมสาร, 71(1), 9-17.
[2] อัจฉรา ทองภู, จารุวรรณ ศรีอาภา, อุมาพร สดับธรรมารักษ์, สมิง เก่าเจริญ, และธวัชชัย ชินวิเศษวงศ์. หน้ากาก ป้องกันอันตรายจากสารพิษ. จุลสารพิษวิทยา, 11(1), 6-10.
[3] CDC. (2020). 42 CFR Part 84 Respiratory Protective Devices. Retrieved 22 April 2020 from https://www.cdc.gov/niosh/npptl/topics/respirators/pt84abs2.html. Centers for Disease Control and Prevention, USA. 
[4] บีบีซี ไทย. (2563). ไวรัสโคโรนา : ดรามาหน้ากากอนามัย ขาดตลาด-แจกฟรี-รีไซเคิล. สืบค้น 1 เมษายน 2563, จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-51717574.
[5] บีบีซี ไทย. (2563). ไวรัสโคโรนา : 5 คำถามเรื่องหน้ากากอนามัย บีบีซีมีคำตอบ. สืบค้น 1 เมษายน 2563, จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-51311296
[6] กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. (2563). Fact sheet การเลือกและการใช้หน้ากาก N95 ที่ถูกต้อง : ความรู้สําหรับประชาชน. สืบค้น 1 เมษายน 2563, จาก http://nih.dmsc.moph.go.th/data/data/fact_sheet/2_62.pdf.
[7] กระทรวงสาธารณสุข. (2563). คลังความรู้สุขภาพ: ทำหน้ากากอนามัยแบบใช้เอง. สืบค้น 1 เมษายน 2563, จากhttp://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=687.
[8] Cober, M.P., & Johnson, C.E. (2007). Stability of 70% Alcohol Solutions in Polypropylene Syringes for Use in Ethanol-Lock Therapy. American Journal of Health-System Pharmacy, 64(230), 2480–2482. doi.org/10.2146/ajhp070233.
[9]  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. (2563). Texture ของหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า. สืบค้น 1 เมษายน 2563, จาก https://www.tistr.or.th/tistrblog/?p=5907.
[10] จุรีรัตน์ ประสาร. (2552). นอนวูฟเวน: ผ้าไม่ถักไม่ทอ. วารสารเทคโนโลยีวัสดุ, 57(ตุลาคม-ธันวาคม 2552), 21-27. 
[11] Fang, J., Zhang, L., Sutton, D., Wang, X., & Lin, T. (2012). Needleless Melt-Electrospinning of Polypropylene Nanofibres. Journal of Nanomaterials, doi.org/10.1155/2012/382639.
[12] NIST Chemistry WebBook. (2018). Ethanol. Retrieved 22 April 2020 from https://webbook.nist.gov/cgi/cbook.cgi?ID=C64175&Type=IR-SPEC&Index=2.