บทความ: กรอบวิเคราะห์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

บทคัดย่อ

" เพื่อปรับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวของไทยให้สูงขึ้น โดยเฉพาะความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่มาของการให้บริการระบบนิเวศ บทความนี้จึงนำเสนอกรอบวิเคราะห์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) โดยนำแนวคิดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) บูรณาการเข้ากับแนวคิด DPSIR: พลังขับเคลื่อน (D: Drivers หรือ Driving Forces) แรงกดดัน (P: Pressures) สภาวะ (S: State) ผลกระทบ (I: Impact) ตอบโจทย์ (R: Responses) เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการปัจจัยด้านอุปสงค์และปัจจัยด้านอุปทานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในแต่ละพื้นที่ให้สอดรับกัน "


การอ้างอิง: ภิษฐ์วลัญต์ กรพิพัฒน์. (2562). กรอบวิเคราะห์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 1).


บทความ: กรอบวิเคราะห์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ภิษฐ์วลัญต์ กรพิพัฒน์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศิลปากร


บทนำ
การเดินทางและการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนหนึ่งของภาคเศรษฐกิจที่ทุกประเทศทั่วโลกผลักดันและส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้และการจ้างงาน ในปี ค.ศ. 2017 ประเทศไทยมีรายได้จากการเดินทางและการท่องเที่ยว 36.4 พันล้าน US$ สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และมีสัดส่วนใน GDP ร้อยละ 9.3  สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก [รองจากมอลตา (ร้อยละ 15.1) และโครเอเชีย (ร้อยละ 10.1)] และมีการจ้างงานมากกว่า 2.4 ล้านคน (World Travel & Tourism Council (WTTC), 2018)

เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum (WEF), 2017) ได้จัดทำดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ของ 136 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจากกลุ่มปัจจัยและนโยบายที่จะพัฒนาภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืน พบว่า TTCI ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น (อันดับที่ 4) ฮ่องกง (อันดับที่ 11) สิงคโปร์ (อันดับที่ 13 ) จีน (อันดับที่ 15) เกาหลีใต้ (อันดับที่ 19) และมาเลเซีย (อันดับที่ 26) 

ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันการเดินทางและการท่องเที่ยว วัดจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) สภาพแวดล้อมสนับสนุน (2) นโยบายเดินทาง-ท่องเที่ยวและเงื่อนไขสนับสนุน (3) โครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพ  และ (4) ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม  ซึ่งแต่ละปัจจัยมีตัวชี้วัด ดังปรากฏในรูปที่ 1


รูปที่ 1: ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวของไทย
ที่มา : World Economic Forum (2017) 


จาก TTCI ดัชนีกลุ่มนโยบายเดินทางท่องเที่ยวและเงื่อนไขสนับสนุนของประเทศไทย พบว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอยู่อันดับที่ 122 ถือว่าเป็นอันดับท้าย ๆ ของการจัดอันดับของสมาชิกทั่วโลก โดยบริบทความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ความเข้มงวดเกี่ยวกับกฎระเบียบสิ่งแวดล้อม การบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การให้สัตยาบันสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม การตัดไม้ทำลายป่า ภาวะขาดแคลนน้ำ การคุกคามสายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ (Particulate Matter) และการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาการบริหารจัดการปัจจัยด้านอุปทานของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งว่ามีขีดจำกัดของความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ เศรษฐกิจ-สังคมในระดับที่แตกต่างกัน

แต่หากย้อนกลับมาพิจารณาด้านอุปสงค์การท่องเที่ยว นโยบายรัฐบาลยังคงมุ่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยยังให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาด้านอุปทานไม่มากเท่าที่ควร จึงส่งผลให้สภาพปัญหาข้างต้นยังคงอยู่และถือว่าเป็นการบั่นทอนความยั่งยืนการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ดังนั้น เพื่อปรับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวของไทยให้สูงขึ้น โดยเฉพาะความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่มาของการให้บริการระบบนิเวศ บทความนี้จึงนำเสนอกรอบวิเคราะห์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) โดยนำแนวคิดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) บูรณาการเข้ากับแนวคิด DPSIR: พลังขับเคลื่อน (D: Drivers หรือ Driving Forces) แรงกดดัน (P: Pressures) สภาวะ (S: State) ผลกระทบ (I: Impact) ตอบโจทย์ (R: Responses) เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการปัจจัยด้านอุปสงค์และปัจจัยด้านอุปทานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในแต่ละพื้นที่ให้สอดรับกัน โดยบทความนี้จัดลำดับการนำเสนอเป็น (1) ที่มาของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (2) ประเด็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (3) ห่วงโซ่มูลค่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (4) กรอบแนวคิด DPSIR (5) DPSIR กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ (6) แนวทางบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ความเป็นมาของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  

การท่องเที่ยวแบบทั่วไป (Mass Tourism) ทำให้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่เคยสวยงามเสื่อมโทรมลงในทศวรรษ 1970s  ทศวรรษ 1980s เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเดิมไปสู่ทางเลือกใหม่ ทางเลือกหนึ่งซึ่ง Hector Ceballos-Lascurain บัญญัติศัพท์ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1983 คือ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" (Ecotourism) และ ได้รับการยอมรับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาว่าเป็นปรัชญา แนวคิด และขบวนการทางสังคมในการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีวิวัฒนาการมากกว่า 30 ปี และประเทศต่างๆนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในกลางทศวรรษ 1980s (Weaver, 2007)

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่าเทียมกัน  การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism) และการท่องเที่ยวธรรมชาติ (Nature Tourism) เป็นแบบอย่างของวิถีทางที่ยั่งยืนในการเดินทางไปยังพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติ เป็นการท่องเที่ยวบนฐานชุมชนท้องถิ่น สร้างประโยชน์ให้แก่คนท้องถิ่น และคนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พื้นที่วัฒนธรรมและพื้นที่ธรรมชาติ (Drumm et al., 2002, 2004, Hirotsune, 2011, Ly and Bauer, 2014)

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ใช้คำว่า "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" อย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2541 และนิยามว่า "การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษา ชื่นชม และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพธรรมชาติ สภาพสังคม วัฒนธรรม และชีวิตของคนในท้องถิ่น บนพื้นฐานความรู้และความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ" (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, 2546)  โดยสรุปแล้ว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีองค์ประกอบ 5 ประการที่สัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน ดังนี้ (1) พื้นที่เป็นแหล่งธรรมชาติและแหล่งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น (2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (3) การให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (4) การมีส่วนร่วมและประโยชน์ที่ได้รับของชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่น (5) การสร้างความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ทั้งนี้ เมื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศขยายตัว สิ่งที่ต้องพิจารณาและให้ความสำคัญตามมา คือคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ องค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะศูนย์กลางเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Center for Ecotourism and Sustainable Development: CESD, 2006) ได้แนะนำหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้เข้าใจในหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบรับรองคุณภาพและมาตรฐาน โดยสามารถยื่นใบสมัครตามประเภทธุรกรรมกับเครือข่าย CESD ที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

กรณีประเทศไทยในปัจจุบันมีมูลนิธิใบไม้เขียว (Green Leaf Foundation) ที่ได้ออกเกียรติบัตรใบไม้เขียว (Green Leaf Certification) จำกัดอยู่ในแวดวงโรงแรมและรีสอร์ทที่ผ่านเกณฑ์ (สมาคมโรงแรมไทย, 2554) ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเท่านั้น ที่เป็นดังนี้เพราะบทบาทภาครัฐและภาคธุรกิจในธุรกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากและยังไม่ได้ตระหนักถึงมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (Phormupatham, 2013) ถึงแม้ว่ากรมการท่องเที่ยว (2557) ได้ออกคู่มือการตรวจประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวปฏิบัติแล้วก็ตาม การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปสู่สากลจำเป็นต้องคลี่คลายปัญหาที่โยงใยกันในหลาย ๆ ด้าน

แหล่งทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ทางราชการจึงมุ่งเน้นการอนุรักษ์มากกว่าการใช้ประโยชน์ โดยการอนุรักษ์ทรัพยากรมากเกินไปทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่เพียงพอกับคนท้องถิ่นและคนในพื้นที่ใกล้เขตที่ได้รับการคุ้มครอง ท้ายสุดส่งผลให้ทรัพยากรหมดไปและระบบนิเวศถูกทำลายจากความจำเป็นในการดำรงชีพของคนท้องถิ่น

ในอีกด้านหนึ่งการตักตวงผลประโยชน์หรือผลกำไรจากทรัพยากรมากเกินกว่าระบบนิเวศรองรับได้ก็จะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและสายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่าและเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว บ่อยครั้งมีการนำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดโดยติดป้าย "eco" แต่ในทางปฏิบัติผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจำนวนไม่น้อยขาดจริยธรรมและความรับผิดชอบในการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การศึกษาวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เกือบทั้งหมดเป็นการศึกษาด้านอุปสงค์มากกว่าด้านอุปทาน และเป็นการศึกษาแบบแยกส่วน (Sangpikul, 2015)  ซึ่งแท้จริงแล้วทุกๆส่วนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นทุกๆส่วน โดยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้นอาจส่งผลกระทบต่อทางด้านสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงทางด้านสังคมและวัฒนธรรม พอๆกับการท่องเที่ยวแบบทั่วไป (Mass Tourism) 

การทำความเข้าใจระบบที่ซับซ้อนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนี้สามารถอธิบายได้โดยห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Christian et al., 2011)

ห่วงโซ่มูลค่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain: VC) สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยระบุองค์ประกอบของชุดกิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางและตลอดห่วงโซ่มูลค่านี้ยังสามารถระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจกรรมหรือธุรกรรมต่างๆที่สัมพันธ์กันในห่วงโซ่ (Full Range of Activities) 

VC ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงและโจทย์ที่สำคัญในการจัดสรรรายได้จากนักท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่และการกระจายรายได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตลอดห่วงโซ่ การจัดสรรและการกระจายรายได้ไปยังผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีความยั่งยืน 

โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นและบริเวณใกล้เคียงเขตพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองอันเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยว (ด้านอุปทาน) ควรได้รับผลประโยชน์จากทางเศรษฐกิจที่เพียงพอในการนำรายได้ไปอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล (รูปที่ 2) เนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นพลังขับเคลื่อน (Driving Forces: D) ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญ กรอบ DPSIR จึงสามารถนำมาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์โจทย์ความยั่งยืนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อเนื่องจาก VC เพื่อเสนอทางออกหรือทางเลือกให้กับท้องถิ่นได้ในลำดับถัดไป


รูปที่ 2  ห่วงโซ่มูลค่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ที่มา: ปรับปรุง จาก Bilgen Mete and Elif Acuner (2014)

 

กรอบแนวคิด DPSIR

กรอบ DPSIR เป็นเครื่องมือที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป (European Environment Agency: EEA) ได้ทำการพัฒนาเพื่อวางระบบการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล  วิเคราะห์และจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Kristensen, 2004, Bradley and Yee, 2015, Baldwin et al., 2016) กรอบ DPSIR อธิบายวิวัฒนาการสังคมมนุษย์ที่มีการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการผลิตและการบริโภคเพื่อการดำรงอยู่ (Survival) โดยมีจุดเริ่มต้นจากปัจจัยที่เป็นพลังขับเคลื่อน (Driving Forces) ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่ลงตัวและไม่ลงตัว ส่งผลให้เกิดแรงกดดัน (Pressures) ต่อดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม ผลที่ตามมาก็คือสภาวะ (State) ของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป และเมื่อเกินกว่าที่องค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจะรองรับได้ ผลกระทบ (Impacts) ที่เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ก็จะปรากฏออกมา สังคมมนุษย์จึงต้องคิดค้นเครื่องมือที่รองรับผลกระทบดังกล่าว (Response) เพื่อฟื้นฟูดุลยภาพที่สูญเสียไป

กรอบ DPSIR ถูกนำไปประยุกต์ใช้วิเคราะห์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและระบบนิเวศทั่วโลก เช่น ความยั่งยืนด้านการเกษตร ได้แก่ ดิน น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรประมง ทรัพยากรทางทะเล ฯลฯ สำหรับประเทศไทย การใช้กรอบ DPSIR ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเนื่องจากต้องใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาและโจทย์ที่ทำการศึกษาในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นการยากในการประยุกต์ใช้กรอบ DPSIR ได้อย่างสมบูรณ์โดยคนคนเดียว  รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงที่เป็นเหตุเป็นผลของแต่ละตัวอักษรของ DPSIR โดยความหมายของแต่ละตัวอักษรสรุปไว้ในตารางที่ 1


รูปที่ 3 กรอบ DPSIR
ที่มา: ปรับปรุงจาก Kristensen (2004) 

ตารางที่ 1 ความหมายของ DPSIR

DPSIR ความหมาย
(Driving Forces: D) ความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นแต่ก็ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ รวมถึงทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยการใช้ STI (Science Technology และ Innovation) ในการยกระดับความเป็นอยู่และฐานะทางสังคม
แรงกดดัน
(Pressures: P)
กระบวนการที่เกิดต่อเนื่องจากพลังขับเคลื่อนที่กดดันต่อระดับการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและการบริโภค รวมไปถึงการปล่อยของเสียจากกระบวนการดังกล่าว ได้แก่ สารปนเปื้อน ของเสีย เสียงรบกวน ฯลฯ สู่อากาศ ดิน และน้ำ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สภาวะ
(State: S)
ปริมาณและคุณภาพขององค์ประกอบในส่วนต่างๆของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่หลากหลาย ได้แก่ อากาศ น้ำ ดิน ฯลฯ ที่ประสานสัมพันธ์ในการทำหน้าที่ของสิ่งเหล่านี้และแสดงถึงขีดความสามารถของทรัพยากรเหล่านี้ในการรองรับ (Carrying Capacity) กิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ซึ่งค่าหรือตัวเลขที่แสดงออกมาจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับที่เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ หากค่าหรือตัวเลขนั้นสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล
ผลกระทบ
(Impact: I)
ความต่อเนื่องที่ส่งต่อมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของประเด็นปัญหาและโจทย์ที่ต้องการพิจารณาและต้องวิเคราะห์ ได้แก่ สถานภาพที่เปลี่ยนไป สุขภาพคน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งผลกระทบอาจมีทั้งด้านบวกและด้านลบ
ตอบโจทย์
(Responses: R)
เป็นส่วนของการค้นหาหรือคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ข้างต้น โดยกำหนดเป็นนโยบาย มาตรการหรือกฎกติกาทั้งในเชิงบังคับและให้สิ่งจูงใจต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อปรับสมดุลของระบบนิเวศให้กลับคืนมาสู่ความยั่งยืนในความหมายที่ว่า "สุขภาพคนต้องเคียงคู่ไปกับสุขภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ"

ที่มา: ปรับปรุงจาก Carr et al., (2007)  

DPSIR กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เมื่อนำกรอบ DPSIR (รูปที่ 3) มาประยุกต์ใช้กับประเด็นความยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รูปที่ 3 ก็จะถูกนำมาปรับและเติมเต็มให้สอดคล้องกับบริบทและปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ดังตัวอย่างในรูปที่ 4 

ซึ่งเป็นการนำกรอบ DPSIR มาวิเคราะห์ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยตั้งเป็นสมมติฐานทั่วไป (Generic Hypothetical Ecotourism) อย่างไรก็ตาม สถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะ เช่น อุทยานทางทะเล  หาดทราย ชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน อุทยานแห่งชาติ ป่าไม้ ภูเขา ลำธาร ความหลากหลายทางชีวภาพ โบราณสถานและโบราณวัตถุ ฯลฯ 

ดังนั้นจึงต้องระบุรายละเอียดและปัจจัยที่สำคัญของแต่ละพื้นที่ลงไปใน DPSIR จากนั้นจึงทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิและปฐมภูมิทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในพื้นที่ทั้งด้านอุปทาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการของระบบนิเวศโดยเฉพาะศักยภาพขีดความสามารถในการรองรับทางด้านกายภาพ เคมีและชีวภาพที่ส่งผลกระทบทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพต่อคนและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ และด้านอุปสงค์ ได้แก่ ความต้องการ วัตถุประสงค์ ความรู้ความเข้าใจ ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศฯลฯ 

รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอด VC ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโลจิสติกส์ (Logistics) ในการนำนักท่องเที่ยวมาถึงแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายระดับความลึกและความกว้างในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในหลายสาขาวิชาเข้ามาร่วมงานศึกษาวิจัยในประเด็นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและระบบนิเวศในพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีขนาดต่างๆ กัน ได้แก่ เล็ก กลาง ใหญ่ (ด้านอุปทาน) ซึ่งการศึกษาวิจัยตามแนวทางนี้ยังมีน้อยมาก

การศึกษาตามแนวทางดั้งเดิมมักมุ่งเน้นเฉพาะขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity: CC) ซึ่งไม่ครบองค์ประกอบ DPSIR นอกจากนี้การเปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศใหม่ในหลายพื้นที่ไม่สอดรับกับประกาศการบังคับใช้ผังเมืองรวมของแต่ละจังหวัดและไม่ได้มีการศึกษาประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นเพื่อเตรียมการรองรับปัญหา  ในทางตรงกันข้ามกลับมีการผลักดัน ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เพื่อขยายตัวด้านอุปสงค์ผ่านสื่อสมัยใหม่ รูปแบบใหม่ต่างๆ ดังนั้น จึงพบแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลายแห่งเสื่อมโทรมจากการเสียสมดุลทางธรรมชาติ เนื่องจากการดูแลที่ไม่ทั่วถึงในการบริหารจัดการด้านอุปทานให้สอดรับกับทางด้านอุปสงค์

การวางระบบเฝ้าระวังติดตาม (Monitoring) การเปลี่ยนแปลง (DPS) อย่างต่อเนื่องก่อนที่จะไปถึงผลกระทบหรือมีการจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ในส่วนนี้ และเร่งดำเนินการแก้ไขก่อนที่ผลกระทบ (I) จะตามมาโดยเฉพาะทางด้านลบ จะทำให้ผลกระทบบรรเทาลงและไม่รุนแรง แน่นอนว่าผลกระทบมีทั้งด้านบวกและด้านลบ กลุ่มที่ได้รับผลด้านบวกก็จะสนับสนุน ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านลบก็จะต่อต้านและเป็นที่มาของความขัดแย้งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสองกลุ่มซึ่งพบเห็นบ่อยครั้งในแหล่งท่องเที่ยว

การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) ก็จะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องที่ตามมา (R) กระบวนการทั้งหมดที่นำเสนอนี้ชี้ให้เห็นว่า กรอบ DPSIR เป็นเครื่องที่นำมาใช้ในเชิงตั้งรับ (Reactive) มากกว่าเชิงรุก (Proactive) แต่หากเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงได้ในขั้นตอนการจัดการการเปลี่ยนแปลง (DPS) ก็แสดงนัยยะการทำงานเชิงรุกได้ในลักษณะ "กันดีกว่าแก้"


รูปที่ 4 กรอบ DPSIR เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ที่มา : ประมวลและเรียบเรียงโดย ภิษฐ์วลัญต์ กรพิพัฒน์  

กรอบ VC และ DPSIR นอกจากเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ตัวชี้วัดความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบที่เชื่อมโยงครบวงจร (Loop) แล้ว ยังเป็นการกระบวนการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลรองรับการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปสู่สากล เมื่อมีการติดตาม (Monitoring) DPS อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถชี้นำการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมตามเวลาและสถานที่ (Time/Space)

ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในการจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ของ DPS เพื่อบรรเทาผลกระทบ (Impact) ที่ตามมา เป็นการลดความขัดแย้งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะคนในพื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยว ทำให้การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) ยุ่งยากน้อยลง

และหากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยึดความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการให้บริการของระบบนิเวศเป็นที่ตั้ง การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในลักษณะที่เป็นการปรับอุปสงค์ (กิจกรรมที่เกี่ยวกับการรับรองนักท่องเที่ยว) และอุปทาน (ขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว (Site/Destination) ซึ่งเป็นการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ) ให้สอดรับกันโดยใช้กรอบ VC บูรณาการเข้ากับกรอบ DPSIR ก็จะได้ชุดเครื่องมือที่ช่วยนำทางไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถนำไปตอบโจทย์ (Response) การปรับกลไกทางด้านอุปสงค์และอุปทานเพื่อนำความยั่งยืนของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกลับคืนมาหรือเข้าสู่ดุลภาพใหม่ ผ่านกระบวนการทำงานที่มีลักษณะประนีประนอมหรือฉันทามิติ (Compromising/Consensus) จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการมีส่วนร่วม (Participation) ของชุมชนท้องถิ่นและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

และการที่จะทำให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ในระยะยาวจะต้องยกระดับจากการมีส่วนร่วมไปสู่การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยทดลองทำเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดำเนินการ และขยายผลของโครงการนำร่องให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ก็จะมีส่วนช่วยปรับอันดับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมใน TTCI ของประเทศไทยให้สูงขึ้น


เอกสารอ้างอิง
กรมการท่องเที่ยว. (2557). คู่มือการตรวจประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.
สมาคมโรงแรมไทย. (2554). Green Leaf Foundation / มูลนิธิใบไม้เขียว. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 จากเว็บไซต์  
http://www.thaihotels.org/16782254/green-leaf-foundation-มูลนิธิใบไม้เขียว.
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2546). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ.สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 จากเว็บไซต์  http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.
php?book=27&chap=3&page=t27-3-infodetail01.html.
Baldwin, C., Rebecca L. Lewison, Scott N. Lieske, Maria Beger, Ellen Hines, Phil Dearden, Murray A. Rudd, Christian Jones, Suvaluck Satumanatpan and Chalatip Junchompoo. (2016). Using the DPSIR framework for transdisciplinary training and knowledge elicitation in the Gulf of Thailand, Ocean & Coastal Management, vol. 134, pp. 163-172.Retrieved October 6, 2018, from http://eprints.whiterose.ac.uk/110706/1/OCMA-D-16-00107R1%20%282%29.pdf.
Bradley, P. and Susan Yee. (2015). Using the DPSIR Framework to Develop a Conceptual Model :
Technical Support Document. US Environmental Protection Agency, EPA/600/R-15/154. Retrieved May 31, 2017, from https://cfpub.epa.gov/si/si_public_file_download.cfm?p_download_id=527151.
Carr E. R., Philip M. Wingard, Sara C. Yorty, Mary C. Thompson, Natalie K. Jensen and Justin Roberson. (2007) Applying DPSIR to sustainable development. International Journal of Sustainable Development & World Ecology, vol. 14, pp. 543–555. Retrieved October 16, 2018, from 
https://www.researchgate.net/publication/228618840_Applying_DPSIR_to_sustainable_development.
Center on Ecotourism and Sustainable Development (CESD). (2006). A SIMPLE USER’S GUIDE TO CERTIFICATION FOR SUSTAINABLE TOURISM AND ECOTOURISM, A HANDBOOK 1, 3rd Edition.  Retrieved January 22, 2019,  from https://www.responsibletravel.org/docs/Ecotourism_Handbook_I.pdf.
Christian, M., Karina Fernandez-Stark, Ghada Ahmed and Gary Gereffi. (2011). The Tourism Global Value Chain: Economic Upgrading and Workforce Development. Center on Globalization, Governance & Competitiveness, Duke University. Retrieved October 24, 2018, from https://gvcc.duke.edu/wp-content/uploads/2011-11-11_CGGC_Ex.Summary_Tourism-Global-Value-Chain.pdf.
Drumm, A. and Alan Moore. (2002). Ecotourism Development- A Manual for Conservation Planners and Managers Volume 1 An Introduction to Ecotourism Planning. The Nature Conservancy, Arlington, Virginia, USA. Retrieved November 2, 2018, from https://www.researchgate.net/publication/277786951_Ecotourism_
Development_-_A_Manual_for_Conservation_Planners_and_Managers_Volume_I_-_An_Introduction_to_Ecotourism_Planning.
Drumm, A., Alan Moore, Andrew Soles, Carol Patterson and John E. Terborgh. (2004). Ecotourism Development–A Manual for Conservation Planners and Managers Volume II : The Business of Ecotourism Management and Development. The Nature Conservancy, Arlington, Virginia, USA. Retrieved November 2, 2018, from https://www.researchgate.net/publication/261634491_Ecotourism_Development_A_Manual_for_Conservation_Planners_and_Managers_Volume_II
The_Business_of_Ecotourism_Development_and_Management.
Hirotsune, K. (2011). Tourism, Sustainable Tourism and Ecotourism in Developing Countries. Graduate School of International Development, Nagoya University, Paper for ANDA International Conference in Nagoya, 5 - 7 March 2011. Retrieved November 7, 2018, from  https://www2.gsid.nagoya-u.ac.jp/blog/anda/files/2011/08/4-kimura_hirotsunee38080.pdf.
Kristensen, P. (2004). The DPSIR Framework. National Environmental Research Institute, Denmark, Paper presented at the 27-29 September 2004 workshop on a comprehensive / detailed assessment of the vulnerability of water resources to environmental change in Africa using river basin approach. UNEP Headquarters, Nairobi, Kenya. Retrieved January 14, 2018, from https://wwz.ifremer.fr/dce/content/download/69291/913220 /file/DPSIR.pdf.
Ly, T. P. and T. Bauer. (2014). Ecotourism in Mainland Southeast Asia: Theory and Practice. Tourism, Leisure and Global Change, volume 1, p. 61-80. Retrieved  November 10, 2018, from https://www2.nau.edu/nabej-p/ojs/index.php/igutourism/article/view/315/173.
Mete, B. and Elif Acuner. (2014). A Value Chain Analysis of Turkish Tourism Sector. International Journal of Business and Management Studies, pp. 499-506. Retrieved January 22, 2019, from http://universitypublications.net/ijbms/0302/pdf/V4NA243.pdf.
Phormupatham, N. (2013). Issues in developing a sustainable ecotourism certification framework : The case of Chiang Mai, Thailand, University of Canberra, Australia, p. 103-117.  Retrieved July 17, 2018, from http://www.interjournal.cmru.ac.th/social/paper/009.pdf.
Sangpikul, A. (2015). An Analysis of Ecotourism Studies in Thailand. SUTHIPARITHAT, Vol.29, p. 272-290. Retrieved November 23, 2018, from http://www.dpu.ac.th/dpurc/assets/uploads/magazine/tc1qifhxwfkssk0okw.pdf.
Weaver, B., David, J. Lawton, Laura David, B. Weaver and Laura J. Lawton. (2007). Twenty years on: The state of contemporary ecotourism research, Tourism Management, School of Hotel, Restaurant and Tourism Management, University of South Carolina, Columbia. Retrieved July 17, 2018, from https://researchrepository.griffith.edu.au/ bitstream/handle/10072/26545/51660_1.pdf?sequence=1.
World Economic Forum (WEF). (2017). The Travel & Tourism Competitiveness Report 2017: Paving the Way for a More Sustainable and Inclusive Future. Retrieved October 23, 2018, from http://ev.am/sites/default/files/WEF_TTCR_2017.pdf.
World Travel & Tourism Council (WTTC). (2018). Travel & Tourism Economic Impact 2018 World. Retrieved October 23, 2018, from https://www.wttc.org/-/media/files/reports/economic-impact-research/regions-2018/world2018.pdf.
World Travel & Tourism Council (WTTC). (2018). Travel & Tourism Economic Impact 2017 THAILAND. Retrieved October 23, 2018, from https://www.wttc.org/-/media/files/reports/economic-impact-research/countries-2017/thailand2017.pdf.

 

 

 


บทความอื่นๆ

คำแนะนำสำหรับผู้เขียน

แนวทางการเขียนบทความ สิ่งแวดล้อมไทย

1

ขอบเขตของเนื้อหา

สิ่งแวดล้อมไทย เป็นวารสารที่นำเสนอบทความวิชาการทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเนื้อหาความรู้ทางวิชาการที่ไม่เข้มข้นมากนัก เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคลทั่วไป รูปแบบของการเขียนบทความเป็นในลักษณะดังนี้

  1. หากเป็นการนำเสนอความรู้ที่ได้จากผลงานวิจัย ควรประกอบด้วย ความสำคัญและที่มาของปัญหา วัตถุประสงค์ การรวบรวมข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้อง วิธีการศึกษาในรูปแบบของหลักการศึกษาพอสังเขป ผลการศึกษาพร้อมการอภิปรายผลผล สรุปนำเสนอความรู้ที่ได้จากการวิจัย
  2. หากเป็นบทความเชิงวิจารณ์ บทความวิชาการ ซึ่งเรียบเรียงจากความรู้ต่าง ๆ และ ผลงานวิจัยของผู้อื่น ควรประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ การวิเคราะห์และวิจารณ์ ซึ่งมีการนำเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมถึงแนวโน้ม หรือข้อดีและข้อเสีย หรือข้อสรุปอย่างชัดเจน

2

ความยาวของบทความ

ควรมีความยาวของบทความขนาดไม่เกิน 10 หน้า (รวมรูปภาพและตาราง) โดยการใช้ font ประเภท Thai Saraban ขนาดตัวอักษร 16 Single space

3

รูปในบทความ

ให้ส่งไฟล์รูปภาพ ที่มีขนาดรูปเท่าที่ต้องการนำเสนอจริง และมีความละเอียดไม่น้อยกว่า 300 dpi หรือ ไฟล์ภาพต้นฉบับ

  1. หากเป็นรูปที่นำมาจากแหล่งอื่นต้องอ้างอิงแหล่งที่มา
  2. หากเป็นรูปที่ถ่ายมาเอง ให้ระบุชื่อเป็นของผู้เรียบเรียงบทความ

4

การอ้างอิงทางบรรณานุกรม

กำหนดให้ผู้เขียนบทความใช้ระบบ APA 6th ed โดยการอ้างอิงในเนื้อหาเป็นแบบ “ผู้แต่ง, ปีพิมพ์” และมีวิธีการเขียนรายการเอกสารอ้างอิง ดังนี้

  1. หนังสือ
    ชื่อผู้แต่ง. (ปีที่พิมพ์). ชื่อเรื่อง(ตัวเอียง) ครั้งที่พิมพ์. สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์.
  2. บทความในหนังสือ บทในหนังสือ
    ชื่อผู้เขียนบทความ. (ปีพิมพ์). ชื่อบทความ. ใน ชื่อบรรณาธิการ (บรรณาธิการ), ชื่อหนังสือ(ตัวเอียง) (ครั้งที่พิมพ์), เลขหน้าที่ปรากฏบทความ(จากหน้าใดถึงหน้าใด). สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์
  3. วารสาร
    ชื่อผู้เขียนบทความ. (ปีพิมพ์). ชื่อบทความ. ชื่อวารสาร(ตัวเอียง), ปีที่ (ฉบับที่), เลขหน้าที่ปรากฎ.
  4. วิทยานิพนธ์
    ชื่อผู้เขียนวิทยานิพนธ์. (ปีพิมพ์). ชื่อวิทยานิพนธ์(ตัวเอียง). (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตหรือวิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต,ชื่อสถาบันการศึกษา).
  5. สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์
    ชื่อผู้เขียน (ปี,เดือน วันที่). ชื่อเนื้อหา. [รูปแบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ เช่น PowerPoint Facebook Website]. สืบค้นจาก http:/.....

FAQ

เกี่ยวกับวารสาร

สิ่งแวดล้อมไทย (Thai Environmental) เป็นวารสารที่ดูแลโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วารสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นวารสารที่เผยแพร่ข่าวสารและองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในบริบทของประเทศไทยออกสู่สาธารณชน ครอบคลุมในประเด็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการเมือง การจัดการของเสียและขยะ การป้องกันและควบคุมมลพิษ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม นโยบายสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ

สิ่งแวดล้อมไทยเผยแพร่เนื้อหาของบทความในลักษณะ Open Access โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย นักศึกษา และผู้ที่สนใจในด้านสิ่งแวดล้อมสามารถนำเสนองานวิจัย บทความวิชาการ และบทความที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและระดับสากล วารสารนี้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ และผู้ที่สนใจในเรื่องนี้

สิ่งแวดล้อมไทย หรือในชื่อเดิม วารสารสิ่งแวดล้อม เริ่มเผยแพร่ในแบบรูปเล่มฉบับแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 และเปลี่ยนการเผยแพร่เป็นรูปแบบออนไลน์ในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ผ่านเวปไซต์ http://www.ej.eric.chula.ac.th/ โดยดำเนินการเผยแพร่วารสารราย 3 เดือน (4 ฉบับ/ปี) กำหนดเผยแพร่ทุกต้นเดือนมกราคม เมษายน กรกฎาคม และ ตุลาคม และได้รับการจัดอันดับในฐานข้อมูลการจัดทำดัชนี Thai-Journal Citation Index (TCI) ระดับ Tier 3 โดยวารสารสิ่งแวดล้อมมีเลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร หรือเลข ISSN (PRINT) : 0859-3868 และ ISSN (ONLINE) : 2586-9248

ในปี พ.ศ. 2566 วารสารสิ่งแวดล้อมได้ปรับปรุงการเผยแพร่บทความ เพื่อมุ่งสู่ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index; TCI) ที่สูงขึ้นในระดับ Tier 2 ซึ่งประกอบด้วย การปรับความถี่ในการเผยแพร่เป็น 2 ฉบับต่อปี คือ ฉบับที่ 1 (มิถุนายน) และ ฉบับที่ 2 (ธันวาคม) และการปรับปรุงการจัดส่งบทความจากเดิมที่เป็นการจัดส่งต้นฉบับทางอีเมล์ eric@chula.ac.th เป็นจัดส่งผ่านระบบ Thai Journals Online (ThaiJO) ซึ่งเป็นระบบการจัดการและตีพิมพ์วารสารวิชาการในรูปแบบวารสารออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Journal) พร้อมเพิ่มเติมขั้นตอนการประเมินบทความในลักษณะ Double blind review จากผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 ท่านก่อนการเผยแพร่ ซึ่งการประเมินจะมีความเข้มข้นและมีระบบระเบียบมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย

สิ่งแวดล้อมไทย เป็นชื่อใหม่ของวารสาร เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2567 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI ซึ่งได้กำหนดให้วารสารต้องมีเลข ISSN ที่จดทะเบียนตามชื่อภาษาอังกฤษที่ถูกต้องตามหลักสากล และเพื่อให้วารสารได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

สิ่งแวดล้อมไทย ISSN : 2686-9248 (Online)
ความถี่ในการเผยแพร่ : 2 เล่ม/ปี (มกราคม-มิถุนายน และ กรกฎาคม-ธันวาคม)
สำนักพิมพ์ : สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเทศไทย
ฐานข้อมูลการจัดทำดัชนี : Thai-Journal Citation Index (TCI), Tier 3

สิ่งแวดล้อมไทย (Thai Environment) เป็นวารสารที่เผยแพร่ข่าวสารและองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในบริบทของประเทศไทยออกสู่สาธารณชน โดยเนื้อหาครบคลุมทั้งในมิติของนโยบาย กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การจัดการ รวมถึงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อม หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับวารสารมีดังต่อไปนี้

  • การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • การจัดการเมือง
  • การจัดการของเสียและขยะ
  • การป้องกันและควบคุมมลพิษ
  • การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
  • นโยบายสิ่งแวดล้อม
  • สิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ

เกณฑ์หลักสำหรับการตีพิมพ์ คือ คุณภาพของข้อมูลและเนื้อหาที่เหมาะกับผู้อ่านทั่วไป

หัวหน้ากองบรรณาธิการ

ณัฐพงศ์ ตันติวิวัฒนพันธ์
ภุมรินทร์ คำเดชศักดิ์

กองบรรณาธิการ

ธวัลหทัย สุภาสมบูรณ์
นันทมล ลิมป์พิทักษ์พงศ์
บัวหลวง ฝ้ายเยื่อ
วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์
วัชราภรณ์ สุนสิน
ศีลาวุธ ดำรงศิริ
อาทิมา ดับโศก
กิตติวุฒิ เฉลยถ้อย

ที่ปรึกษา

ปกฉัตร ชูติวิศุทธิ์

บทความที่ส่งมายังสิ่งแวดล้อมไทยต้องไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนและต้องไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในที่อื่น หลังจากส่งบทความ บทความนั้นจะถูกประเมินว่าตรงตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร รูปแบบ และดัชนีความคล้ายคลึงกับการตีพิมพ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ บทความที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำทั้งหมดจะถูกประเมินโดยผู้ตรวจสอบอิสระอย่างน้อย 2 ท่านเพื่อประเมินคุณภาพของข้อมูลและการเขียนบทความ

วารสารนี้ใช้กระบวนการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิแบบปกปิดสองฝ่าย โดยบรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการยอมรับ แก้ไข หรือปฏิเสธบทความทั้งหมด และการตัดสินใจของบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด

หลังจากที่ได้รับการตอบรับการตีพิมพ์แล้ว บทความจะถูกดำเนินการเพื่อการผลิตและการตีพิมพ์ ผู้เขียนจะได้รับแบบฟอร์มข้อตกลงการโอนลิขสิทธิ์บทความ และจะถูกขอให้โอนลิขสิทธิ์บทความให้กับผู้จัดพิมพ์ในระหว่างกระบวนการพิสูจน์อักษร นอกจากนี้ ทางวารสารจะมีการกำหนดหมายเลขประจำเอกสารดิจิทัล (Digital Object Identifier; DOI) ให้กับบทความทั้งหมดที่กำหนดให้ตีพิมพ์ในฉบับ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการบรรณาธิการแสดงดังแผนผังด้านล่าง

สำหรับสำนักพิมพ์

สิ่งแวดล้อมไทยเป็นวารสารวิชาการที่เข้าใจถึงความสำคัญของจริยธรรมในการตีพิมพ์ทางวิชาการ ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเผยแพร่ควรปฏิบัติตามแนวทาง “คณะกรรมการจริยธรรมในการเผยแพร่ (COPE)” (https://publicationethics.org/) เครื่องมือตรวจจับการลอกเลียนแบบ “อักขราวิสุทธิ์” จะถูกใช้เพื่อรับรองความเป็นต้นฉบับของต้นฉบับที่ส่งมาทั้งหมด ต้นฉบับใด ๆ ที่มีดัชนีความคล้ายคลึงกันมากกว่า 30% จะถูกส่งกลับไปยังผู้เขียนเพื่อแก้ไขและชี้แจงหรือปฏิเสธ หากไม่ปฏิบัติตามจะส่งผลให้ต้นฉบับถูกปฏิเสธโดยทันที ซึ่งมีผลต่อการยุติกระบวนการประเมินบทความ นอกจากนี้ เพื่อป้องกันอคติและความขัดแย้งทางผลประโยชน์ วารสารจึงปฏิบัติตามนโยบายการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิโดยปกปิดทั้งสองด้าน (Double-blind peer review) สำหรับต้นฉบับทั้งหมดที่วารสารได้รับ

สำหรับบรรณาธิการ

บรรณาธิการจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าต้นฉบับจะได้รับการยอมรับหรือปฏิเสธตามข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของผู้ประเมินบทความ กองบรรณาธิการประกอบด้วยหัวหน้ากองบรรณาธิการบริหาร และกองบรรณาธิการ โดยทั่วไปหัวหน้ากองบรรณาธิการจะให้คำแนะนำและแนวปฏิบัติด้านวิชาการ กองบรรณาธิการทำหน้าที่ในการเชิญผู้ประเมินเพื่อพิจารณาบทความซึ่งจะเรียกว่าบรรณาธิการประจำบทความ และอาจทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินด้วย กองบรรณาธิการประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในสาขาการวิจัยต่าง ๆ ที่ครอบคลุมตามหัวข้อต่าง ๆ ของวารสาร จากขอบเขตการวิจัยของต้นฉบับที่ส่งมา หัวหน้าบรรณาธิการจะมอบหมายต้นฉบับให้กับกองบรรณาธิการที่เหมาะสม บรรณาธิการประจำบทความมีหน้าที่ส่งต่อต้นฉบับให้กับผู้ประเมินที่มีความสนใจและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม และจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายสำหรับการพิจารณษบทความที่มีศักยภาพในการตีพิมพ์ ยกเว้นในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการตีพิมพ์ บรรณาธิการวารสารทุกคนควรปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

  • บรรณาธิการจะต้องยึดถือหลักจริยธรรมในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับวารสาร
  • บรรณาธิการจะต้องเลือกผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องและไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับผู้เขียนต้นฉบับ
  • บรรณาธิการจะต้องไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ประเมินให้ผู้เขียนทราบ และในทางกลับกัน
  • บรรณาธิการจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ จากต้นฉบับก่อนตีพิมพ์
  • ข้อมูลหรือความคิดเห็นของผู้ประเมินจะต้องเก็บเป็นความลับและไม่ควรนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

สำหรับผู้แต่ง

ผู้เขียนต้นฉบับควรจำกัดเฉพาะผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อต้นฉบับ รวมถึงแนวความคิด การค้นคว้า การออกแบบการศึกษา การวิเคราะห์และให้บทสรุป และการเขียน นอกจากนี้ ผู้เขียนจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • ต้นฉบับจะต้องไม่มีการตีพิมพ์ในวารสารใด ๆ ก่อนที่จะส่งมายังสิ่งแวดล้อมไทย ผลลัพธ์บางส่วนที่รายงานในต้นฉบับที่ส่งมาได้รับการตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการ จะต้องระบุและนำเสนอเป็นหมายเหตุในต้นฉบับ
  • ผู้เขียนสามารถส่งต้นฉบับไปยังวารสารอื่นได้เฉพาะเมื่อต้นฉบับถูกปฏิเสธโดยวารสารเท่านั้น
  • ผู้เขียนจะต้องลงนามในข้อตกลงการโอนลิขสิทธิ์กับวารสารหลังจากต้นฉบับได้รับการยอมรับแล้ว
  • ผู้เขียนทุกคนต้องรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดและข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนการลอกเลียนแบบ
  • เป็นหน้าที่ของผู้เขียนในการตอบสนองต่อความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดของผู้วิจารณ์ หากผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นใด ๆ ของผู้วิจารณ์ ผู้เขียนควรให้คำอธิบาย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบรรณาธิการประจำบทความที่ได้รับมอบหมายหรือหัวหน้ากองบรรณาธิการ
  • สิ่งแวดล้อมไทยปฏิบัติตามนโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการประพันธ์ ควรขออนุมัติการเปลี่ยนแปลงผู้เขียนจากผู้เขียนทุกคน หากผู้เขียนคนใดต้องการเปลี่ยนลำดับของผู้เขียน เช่น เพิ่ม/ลบผู้เขียน หรือเปลี่ยนแปลงผู้เขียนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้ประเมิน

ผู้ประเมินมีบทบาทสำคัญในการตีพิมพ์ต้นฉบับ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะช่วยให้ผู้เขียนปรับปรุงคุณภาพต้นฉบับและรับประกันว่าต้นฉบับมีค่าควรแก่การตีพิมพ์และจะนำไปสู่ความรู้ทางวิชาการ นอกจากนี้ ผู้ประเมินอาจมีอิทธิพลต่อต้นฉบับขั้นสุดท้ายพร้อมกับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกระบวนการตรวจสอบ ผู้ประเมินจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางต่อไปนี้

  • ผู้ประเมินควรปฏิเสธคำขอตรวจสอบหากงานวิจัยของต้นฉบับไม่อยู่ในความเชี่ยวชาญของตน
  • ผู้ประเมินควรแสดงความคิดเห็นตามความเชี่ยวชาญของตนเท่านั้น และไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  • ผู้ประเมินจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลหรือผลลัพธ์จากต้นฉบับก่อนที่จะตีพิมพ์
  • ผู้ประเมินควรแจ้งบรรณาธิการหากสงสัยว่าต้นฉบับมีผลงานซ้ำกับบทความที่ตีพิมพ์อื่น ๆ

บทความวิชาการทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในสิ่งแวดล้อมไทย เป็นแบบเปิดเข้าถึงทั้งหมด สามารถอ่าน ดาวน์โหลด และเผยแพร่ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทันที บทความจะตีพิมพ์ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License ซึ่งบทความทั้งหมดสามารถถูกเผยแพร่ คัดลอก แจกจ่ายใหม่ และ/หรือดัดแปลงเพื่อการไม่เชิงพาณิชย์ได้โดยได้รับการอนุมัติที่เหมาะสมจากกองบรรณาธิการของวารสาร

ลิขสิทธิ์ของสิ่งแวดล้อมไทย มีผลบังคับใช้เมื่อบทความได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ ดังนั้นผู้เขียนจะมอบสิทธิ์ทั้งหมดในงานให้กับสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับการคุ้มครองจากผลที่เกิดจากการใช้งานที่ไม่ได้รับอนุญาต การตีพิมพ์บางส่วนหรือทั้งหมดของบทความในที่อื่นเป็นไปได้เฉพาะหลังจากได้รับความยินยอมจากกองบรรณาธิการ

บทความที่ตีพิมพ์ทั้งหมดได้รับอนุญาตภายใต้ Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License บทความที่ตีพิมพ์อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสิ่งแวดล้อมไทย มีผลบังคับใช้เมื่อบทความได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ ดังนั้นจะมอบสิทธิ์ทั้งหมดในงานให้กับสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับการคุ้มครองจากผลที่เกิดจากการใช้งานที่ไม่ได้รับอนุญาต การตีพิมพ์บางส่วนหรือทั้งหมดของบทความในที่อื่นเป็นไปได้เฉพาะหลังจากได้รับความยินยอมจากกองบรรณาธิการ

สิ่งแวดล้อมไทยไม่มีการเรียกเก็บเงินใด ๆ ตั้งแต่การส่งจนถึงการตีพิมพ์ รวมถึงค่าธรรมเนียมการส่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านบรรณาธิการ ค่าใช้จ่ายในการประมวลผลบทความ ค่าบริการหน้า และค่าสี