การอ้างอิง: จักรภพ พันธศรี. (2563). เรื่องจากปก: “เขื่อนอุบลรัตน์” ภัยแล้งที่เริ่มคืบคลาน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 2).


เรื่องจากปก: “เขื่อนอุบลรัตน์” ภัยแล้งที่เริ่มคืบคลาน

จักรภพ พันธศรี
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


พื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ณ จุดชมวิวหินช้างสี อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น 15 ธ.ค. 2562
โดย ภุมรินทร์ คำเดชศักดิ์

ณ จุดชมวิวหินช้างสี ซึ่งตั้งอยู่ภายในอุทยานเเห่งชาติน้ำพอง อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น มีหน้าผาสูงของเทือกเขาหินทรายทอดตัวเป็นแนวยาวเหนือ-ใต้ขนานกับพื้นที่กักเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ จุดชมวิวหินช้างสีจึงเป็นจุดที่สามารถมองเห็นวิวของเขื่อนอุบลรัตน์ที่สวยงามได้กว้างและไกลจนสุดสายตาในแบบภาพมุมสูง พร้อมกันนั้นยังสามารถมองเห็นผืนป่าที่อยู่โดยรอบ พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน และหมู่บ้านที่อยู่ริมเขื่อน ภาพมุมสูงดังกล่าวมีทิวทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลแต่ยังคงความสวยงามของธรรมชาติและวิถีชีวิต

เขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี ตัวเขื่อนเป็นหินทิ้งแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทยถัดจากเขื่อนภูมิพล สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2508 โดยเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [1] อีกทั้งยังเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อประชาชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านชลประทานและการเกษตร ด้านการประมง ด้านการบรรเทาอุทกภัย ด้านคมนาคม และด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

เขื่อนอุบลรัตน์ เริ่มเผยความแห้งแล้งให้เห็นแล้วตั้งแต่สิ้นสุดฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวในปลายปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์มีค่าต่ำกว่าปกติในช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำต่ำมาก และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงช่วงฤดูแล้งในปี พ.ศ. 2563 เขื่อนอุบลรัตน์จึงมีปริมาณน้ำกักเก็บต่ำที่สุดในรอบ 53 ปี โดยหลายจังหวัดในภาคอีสานฝั่งตะวันตกได้รับผลกระทบภัยแล้งเป็นอย่างมาก ซึ่งได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เลย ชัยภูมิ และหนองบัวลำภู

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาทิ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ได้รับผลกระทบจากการที่น้ำไหลเข้าสู่ระบบประปาได้น้อย ทำให้ต้องลดความดันการส่งน้ำเข้าสู่ระบบประปา จึงได้ร้องขอทางเขื่อนจุฬาภรณ์ปล่อยน้ำ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่ลำน้ำเชิญ เพื่อให้เพียงพอกับระบบประปาของอำเภอชุมแพ [2] จากสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้กรมชลประทานได้เปิดปฏิบัติการ ร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัดให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยได้ออกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำได้รับรู้ในเรื่องสถานการณ์น้ำ รวมถึงขอความร่วมมือจากประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค ตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงฤดูฝนใหม่



บรรณานุกรม 
การไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เข้าถึงเมื่อ 2563). ประวัติเขื่อน [Website]. สืบค้นจาก https://kku.world/e2qxr
สำนักข่าวสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น (เข้าถึงเมื่อ 2563). เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้ 32 ล้าน ลบ.ม. [Website]. สืบค้นจาก https://kku.world/pe8z7