การอ้างอิง: รัฐศาสตร์ วรรณเศวต, ภัทรพล ตุลารักษ์, วสันต์ ชวลิตวรกุล, Eaindra T.T.T., Ramces D., Intan P.F., พิมพ์สุภา เกาะช้าง, วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์, ปัณฑิตา ตันวัฒนะ, ศยามล เจริญรัตน์, กัลยา สุนทรวงศ์สกุล, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ. (2564). มุมมองต่อประเด็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1).


ข่าวสิ่งแวดล้อม: มุมมองต่อประเด็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

รัฐศาสตร์ วรรณเศวต 1, ภัทรพล ตุลารักษ์ 1, วสันต์ ชวลิตวรกุล 1, Eaindra T.T.T. 1, Ramces D. 1, Intan P.F. 1, พิมพ์สุภา เกาะช้าง 2, วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์ 3, ปัณฑิตา ตันวัฒนะ 3, ศยามล เจริญรัตน์ 4, กัลยา สุนทรวงศ์สกุล 3, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ 1,3

1 หลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความยั่งยืน (Environment Development and Sustainability) บัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
3 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หลักสูตรสาขาวิชาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความยั่งยืน (นานาชาติ) (สหสาขาวิชา) (Environment Development and Sustainability: EDS) บัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมสัมมนา เรื่อง “PM 2.5 situation in Bangkok, Thailand and SDGs perspectives” ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดที่มีต่อปัญหามลสารฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงประเด็นการจัดการและงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการโดยนิสิตระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ซึ่งมีคณาจารย์ของหลักสูตรฯ และนักวิจัยโครงการของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม สถาบันวิจัยพลังงาน และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรมและเข้าร่วมอภิปรายในการสัมมนาดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาทั้งสิ้น 52 คน ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมนานาชาติ ได้แก่ ไทย จีน อินโดนีเซีย พม่า ซูดาน ปากีสถาน ตูนีเซีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา โซมาเลีย ไลบีเรีย เป็นต้น ทั้งนี้ ประเด็นสาระสำคัญที่สรุปได้จากงานสัมมนาดังกล่าวมีดังนี้ 

(1) ภาคการศึกษา ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเผยแพร่ข้อมูลแหล่งกำเนิดของมลสารฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่แน่ชัด ทั้งแหล่งกำเนิดจาก Point sources หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็น Non-point sources ทั้งแหล่งกำเนิดที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลแหล่งกำเนิดบริเวณอื่น ๆ ในประเทศที่เสริมให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการควบคุม จัดการหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และลดผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

(2) ประเด็นผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ควรพิจารณาถึงมาตรการและแนวทางจัดการที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 มีค่าสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบทางสุขภาพแก่ประชาชนทุกคน (Unhealthy for all) และ ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง (Unhealthy for sensitive group) ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและผู้มีโรคประจำตัว ดังนั้น ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐควรร่วมมือกันดำเนินมาตรการควบคุมและบรรเทาผลกระทบทางสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม 

(3) ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน รัฐควรเน้นการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญเพิ่มเติมในประเด็นระดับผลกระทบที่เพิ่มความรุนแรงของพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงประเด็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน (Trans-disciplinary air pollution) ทั้งในและต่างประเทศ 

(4) การรับข่าวสารและองค์ความรู้ จากการสื่อสารข้อมูลผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันระดับบุคคล ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หรือการใส่หน้ากาก N95 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยการหายใจ เป็นต้น ควรนำมาพิจารณาเป็นประเด็นในการจัดการปัญหาองค์รวมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน 

(5) การศึกษาและวิจัยถึงประเด็นการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ควรรวมความรู้เป็นไปในลักษณะสหศาสตร์และข้ามศาสตร์ ในการนำข้อมูลสถานการณ์ความเข้มข้นของ PM 2.5 ในอากาศ ด้านผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคม วิเคราะห์ประกอบร่วมกับด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีให้ได้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาที่แม่นยำ ถูกต้อง เพื่อสามารถแนะแนวทางการจัดการแบบองค์รวม

(6) ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนยังไม่ปรากฎสาระในเป้าหมายหรือดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยตรง หากแต่เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับหลายเป้าหมาย SDGs อาทิ SDG 3 Good Health and Well-being, SDG7 Affordable and Clean Energy, SDG11 Sustainable Cities and Communities, SDG13 Climate Action, SDG15 Life on Land เป็นต้น 

(7) ถึงแม้ภาคประชาสังคมจะมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายเพื่ออากาศสะอาด และภาครัฐมีนโยบายที่จะปรับปรุงค่ามาตรฐานในการควบคุมมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เกิดขึ้น ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล แต่สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เกิดขึ้น