บทคัดย่อ
ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันที่เกิดขึ้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยในเดือนมกราคม ปี 2562 ทำให้ค่าความเข้มข้นของมลพิษที่เกิดขึ้นในเมืองสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะค่าฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นจนเกินค่ามาตรฐาน (เฉลี่ย 24 ชม. ไม่เกิน 50 มคก.ต่อ ลบ.ม.) ความตระหนกก่อให้เกิดประเด็นเรื่องหน้ากากกันขึ้นมา และมีผู้รู้ผู้มีประสบการณ์หลายท่านออกมาบอกถึงข้อกำจัดต่างๆ ของหน้ากาก ทำให้มีข้อมูลมากมายหลากหลาย สร้างความสับสนพอควร ในบทความนี้ก็จะขอนำเอาข้อมูลจากผู้รู้ที่ได้แชร์ไว้ มาอธิบายร่วมกับการนำงานวิจัยที่มีผู้ทำไว้มาเสริมให้เป็นองค์ความรู้กันครับ
การอ้างอิง: ศีลาวุธ ดำรงศิริ. (2562). หน้ากากกันฝุ่น กับ PM2.5. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 1).
บทความ: หน้ากากกันฝุ่น กับ PM2.5
ศีลาวุธ ดำรงศิริ
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อต้นปี 2562 กรุงเทพมหานครเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (temperature inversion) โดยอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศชั้นบนสูงกว่าชั้นบรรยากาศชั้นล่างที่เราอาศัยอยู่กัน ซึ่งโดยปกติแล้วอากาศร้อนจะเบากว่าอากาศเย็น เมื่ออากาศข้างล่างเกิดเย็นกว่าอากาศชั้นบน จึงทำให้อากาศจากบรรยากาศชั้นล่างไม่อาจพัดพาไปยังชั้นบนได้ ทำให้อากาศค่อนข้างนิ่ง ลมไม่พัดเป็นระยะเวลาหลายวัน ปรากฏการณ์แบบนี้เมื่อเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศมาก จะทำให้มลพิษที่ปล่อยออกมาสะสมอยู่ในอากาศจนเกิดปัญหาสุขภาพ
ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันที่เกิดขึ้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยในเดือนมกราคม ปี 2562 ทำให้ค่าความเข้มข้นของมลพิษที่เกิดขึ้นในเมืองสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะค่าฝุ่น PM2.5 ที่พุ่งสูงขึ้นจนเกินค่ามาตรฐาน (เฉลี่ย 24 ชม. ไม่เกิน 50 มคก.ต่อ ลบ.ม.)
ตัวอย่างผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษในช่วงต้นปี 2562
ที่มา: แอปพลิเคชัน Air4Thai. กรมควบคุมมลพิษ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
PM ย่อมาจากคำว่า Particulate matter ส่วน 2.5 นั้นหมายถึง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (1 ไมโครเมตร = 0.001 มิลลิเมตร) รวมกันเป็น PM2.5 หมายถึง ฝุ่นที่ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ฝุ่นพวกนี้เกือบทั้งหมดไม่ใช่ฝุ่นดิน หรือขี้เถ้า แต่เป็นฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ การก่อตัวขึ้นในภายหลังโดยปฏิกิริยาต่าง ๆ เช่น การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง สูบบุหรี่ เผากระดาษ ปิ้งย่างอาหาร เป็นต้น ฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาอยู่ในกรุงเทพฯ มีการศึกษาพบว่าเกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก และรองลงมาเป็นการเผาในที่โล่ง ขนาดของฝุ่นนี้เล็กมากจนสามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดและซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงอันตรายกว่าฝุ่นทั่วไปมาก
เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่อ่อนไหวต่อฝุ่น และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหาหน้ากาก N95 มาใช้เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการสูดเอาฝุ่น PM2.5 เข้าไป ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ หน้ากาก N95 หมดไปจากตลาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากร้านค้าต่างๆ ไม่มีการสำรองเอาไว้สำหรับเหตุการณ์แบบนี้
ความตระหนกก่อให้เกิดประเด็นเรื่องหน้ากากกันขึ้นมา และมีผู้รู้ผู้มีประสบการณ์หลายท่านออกมาบอกถึงข้อกำจัดต่างๆ ของหน้ากาก ทำให้มีข้อมูลมากมายหลากหลาย สร้างความสับสนพอควร ในบทความนี้ ก็จะขอนำเอาข้อมูลจากผู้รู้ที่ได้แชร์ไว้มากมาย มาอธิบายร่วมกับการนำงานวิจัยที่มีผู้ทำไว้มาเสริมให้เป็นองค์ความรู้กันครับ
ภาพตัวอย่างหน้ากากที่ประชาชนในเมืองหาซื้อมาใช้ป้องกันตัวเอง
จากการเดินสำรวจในร้านต่างๆ พบว่า หน้ากากกันฝุ่นที่มีขายกันอยู่ในท้องตลาด มีอยู่ 3 ชนิดหลักๆ คือ 1) หน้ากาก N95 2) หน้ากากอนามัย และ 3) หน้ากากผ้า
หน้ากากผ้า นั้นเป็นหน้ากากที่เป็นที่นิยมกันในผู้ทำงานที่มีฝุ่นมาเกี่ยวข้องครับ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากมีราคาถูก สามารถซักล้างทำความสะอาดได้จึงใช้ซ้ำได้หลายครั้ง หน้ากากอนามัย เป็นหน้ากากที่มีราคาถูกที่ออกแบบมาให้สามารถกรองฝุ่นได้ดีแต่ไม่ควรนำมาซักล้างและไม่สามารถใช้ซ้ำได้นานนัก ส่วน หน้ากาก N95 เป็นที่รู้กันว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดแต่มีราคาแพงและเช่นเดียวกับหน้ากากอนามัย คือไม่ควรนำมาซักล้างและไม่สามารถใช้ซ้ำได้นานนัก การที่หลายภาคส่วนรณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตัวโดยใช้หน้ากาก N95 จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยอย่างมาก (ยกตัวอย่างราคาหน้ากาก N95 ประมาณ 50 บาท ถ้าอยู่นอกอาคารทั้งวันก็ควรใช้แค่ 1 วัน ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำคือ 300 บาทต่อวัน)
ความสามารถในการกรองโดยเส้นใยของหน้ากากต่างๆ เป็นที่ทราบกันดีว่า หน้ากาก N95 ดีที่สุด รองลงไปเป็นหน้ากากอนามัย โดย หน้ากากผ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริงนั้น การใส่หน้ากากให้พอดีกับใบหน้ากลับไปปัจจัยสำคัญในการกรองฝุ่นไม่ให้สูดหายใจเข้าไป โดยได้ยกผลการวิจัยมาเล่าให้ฟังพอให้เห็นภาพดังนี้
Shakya et al. (2017) ได้ทำการทดลองถึงประสิทธิภาพของหน้ากากต่างๆในการลดการสูดดมฝุ่นละอองเข้าไป โดยได้ทดลองกับ หน้ากาก N95 จำนวน 2 ยี่ห้อ หน้ากากอนามัย 1 ยี่ห้อ และ หน้ากากผ้า 3 ยี่ห้อ โดยเอาหน้ากากไปสวมลงในแบบจำลองหัวคน และเจาะท่ออากาศบริเวณปากจมูก และทดสอบโดยใช้อัตราการไหลของอากาศในช่วงการหายใจตามปกติในกิจวัตรประจำวัน (ไม่ใช่ขณะออกกำลัง) ในการทดลองใช้ฝุ่นจำลองที่ทำจาก Polyester latex ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร และยังทำการทดสอบกับไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลอีกด้วย โดยวัดประสิทธิภาพด้วยการวัดความเข้มข้นของฝุ่น ผลการทดสอบน่าสนใจมาก โดยมีประเด็นต่างๆ ได้แก่
ในการทดสอบกับฝุ่นจำลอง พบว่า 1) หน้ากาก N95 ไม่สามารถกรองฝุ่นได้มากกว่า 95% ตามที่ควรจะเป็น แต่มีประสิทธิภาพอยู่ในช่วง 65-95% ส่วนหน้ากากผ้ายี่ห้อหนึ่ง มีประสิทธิภาพ 80-95% ใกล้เคียงกับ N95 แต่อีกสองยี่ห้อมีประสิทธิภาพต่ำ คือ 20-85% ส่วนหน้ากากอนามัยอยู่ในช่วง 65-100% 2) โดยรวมแล้วประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นขนาดใหญ่จะดีกว่าขนาดเล็ก และ 3) อัตราการไหลของอากาศต่ำจะมีประสิทธิภาพในการกรองดีกว่า ส่วนผลการทดสอบกับไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล พบว่าผลการตรวจวัดฝุ่นขนาดต่างๆ ที่เล็ดออกออกไปค่อนข้างแกว่งไม่ค่อยเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่โดยรวมแล้วประสิทธิภาพต่ำกว่าการทดสอบกับฝุ่นจำลองมาก แม้แต่หน้ากาก N95 โดยยี่ห้อแรกลดลงเหลือเพียง 50-80% ในขณะที่อีกยี่ห้อหนึ่งเหลือเพียง 30-50% ส่วนหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพราว 15-60% และเป็นที่น่าสังเกต คือ หน้ากากอนามัยกลับมีประสิทธิภาพในการกรองไอเสียสูงถึงราว 80%
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าการปิดทับขอบหน้ากากให้แนบกับแบบจำลองหัวคน จะช่วยให้มีประสิทธิภาพในการกรองเพิ่มขึ้นมาก และได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ผลการศึกษานี้น่าจะมีผลกระทบจากการรั่วซึมผ่านช่องต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างหน้ากากกับแบบจำลอง ทำให้เรื่องความแนบพอดีกับใบหน้าเป็นเรื่องที่สำคัญ
Oberg และ Brosseau (2008) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยที่ใช้ในโรงพญาบาลและคลินิกทำฟัน รวม 9 แบบ ซึ่งส่วนมากได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าเส้นใยของหน้ากากสามารถกรองแบคทีเรียและฝุ่นได้มากกว่า 97% หรือมากกว่า 99% โดยในการทดสอบได้ใช้ฝุ่นจำลองขนาดเล็กกว่า 3.1 ไมโครเมตร และทดสอบความรับเข้ากับใบหน้า (Facial fit) ซึ่งผลการทดสอบกลับพบว่า ไม่มีหน้ากากแบบใดเลยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และไม่มีแบบไหนผ่านการทดสอบความรับเข้ากับใบหน้าอีกด้วย
ผลการศึกษาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่านอกจากประสิทธิภาพของเส้นใยกรองแล้ว
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ความรับเข้ากับใบหน้า
หรือพูดอีกอย่างก็คือ ผู้สวมใส่ต้องใส่หน้ากากให้มิดชิดเข้ากับหน้าผู้ใส่ด้วย
โดยสรุป หน้ากาก N95 เป็นหน้ากากมาตรฐานที่ไว้กันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ แต่ในการสวมใส่ ก็จำเป็นต้องมีการใส่ให้พอดีกับใบหน้าที่สุดเพื่อไม่ให้มีการรั่วไหล เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ การใช้หน้ากาก N95 ก็อาจทำให้หายใจลำบากเนื่องจากใยกรองที่ละเอียด หรืออาจเลือกใส่ในตอนที่อยู่นอกอาคาร ส่วนใครที่หาหน้ากาก N95 ไม่ได้ ก็สามารถใช้หน้ากากอนามัยแทนได้ ซึ่งจากการศึกษาข้างต้นแม้ไม่ได้มีใยกรองที่ดีเท่า N95 แต่จากการทดสอบก็สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ถึงราว 80% ซึ่งก็ถือว่าพอใช้ได้สำหรับคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ตอนนี้ โดยข้อดีคือหายใจสบายกว่า แต่ก็อย่าลืมว่าต้องใส่ให้มิดชิดพอดีกับใบหน้า ส่วนหน้ากากผ้าอาจกรองฝุ่น PM2.5 ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ผู้เขียนเองได้ใช้หน้ากาก N95 มาหลายวันพบว่าอึดอัดมากจริงๆ สักราวครึ่งชั่วโมงก็จำเป็นต้องแง้มบ้าง เพราะเหนื่อยกับการหายใจพอควรทีเดียวครับ เลยใส่ได้แค่ตอนเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับครับ ใช้อยู่สองสามวันก็เปลี่ยนมาใช้หน้ากากอนามัยแทน
บรรณานุกรม
Shakya KM, Noyes A, Kallin R, Peltier RE (2017) Evaluating the efficacy of cloth facemasks in reducing particulate matter exposure. Journal of Exposure Science and Environmental Epidemiology. 27:352–357
Oberg T, Brosseau LM (2008) Surgical mask filter and fit performance. American journal of infection control. 36:276-282.
Khin C (2017) Surgical Masks Surprisingly Effective Against PM2.5. Smart Air. https://smartairfilters.com/en/blog/surgical-masks-surprisingly-effective-pm2-5/?fbclid=IwAR13eiOGCYvB4K89T30xrL_Htexy8LruD2o2nUT7llv3njgtAt3kj3GxY7Y