การลดการสูญเสียความร้อนจากผนังเตาหม้อไอน้ำด้วยการหุ้มฉนวนในโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

บทคัดย่อ

การลดการสูญเสียพลังงานของหม้อไอน้ำเป็นหัวใจสำคัญของระบบผลิตพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม การหุ้มฉนวนผนังเตาเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการสูญเสียความร้อน จึงได้ทำการศึกษาผลของการหุ้มฉนวนด้วยใยหินความหนา 50, 75 และ 100 มม. บนหม้อไอน้ำขนาด 25 ตัน/ชั่วโมง ในโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยวิเคราะห์ตำแหน่งผนังเตาที่มีอุณหภูมิผิวตั้งแต่ 85°ซ ขึ้นไปและอยู่ในระดับที่ผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับอันตรายได้ พบว่า ตำแหน่งที่ 1 พื้นที่ 9.58 ตร.ม. อุณหภูมิผิว 263°ซ เมื่อทำการหุ้มฉนวนสามารถลดการสูญเสียพลังงานและประหยัดเชื้อเพลิงได้ 93,091–94,442 กก./ปี หรือคิดเป็นเงิน 64,512–65,448 บาท ขณะที่ตำแหน่งที่ 2 พื้นที่ 12.7 ตร.ม. อุณหภูมิผิว 174.5°ซ สามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ 57,323–58,460 กก./ปี หรือคิดเป็นเงิน 39,725–40,513 บาท มีระยะเวลาคืนทุน 58, 73 และ 89 วัน ในตำแหน่งที่ 1 ขณะที่ตำแหน่งที่ 2 ใช้เวลา 126, 158 และ 190 วัน ตามลำดับ การหุ้มฉนวนจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงและลดต้นทุนระยะยาวได้อย่างชัดเจน


1. บทนำ

ในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งปัจจัยภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้พลังงานในปริมาณมาก โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงสูงในการผลิตไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร้อน การให้พลังงานกล หรือใช้ในกระบวนการเคมี หม้อไอน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นไอน้ำโดยใช้ความร้อนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น ชีวมวล ถ่านหิน ก๊าซ หรือดีเซล ไอน้ำที่ได้จะถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในระบบต่าง ๆ ภายในโรงงาน เช่น ระบบการอบแห้ง การกลั่น การให้ความร้อนแก่อุปกรณ์ในสายการผลิต หรือแม้แต่การหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้หม้อไอน้ำเป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้พลังงานในปริมาณมาก หากไม่มีการจัดการที่ดีจะทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์ หนึ่งในแหล่งการสูญเสียพลังงานที่สำคัญในระบบหม้อไอน้ำ คือ การสูญเสียความร้อนผ่านผนังเตาหม้อไอน้ำ เนื่องจากบริเวณผนังเตามีอุณหภูมิสูงมาก ทำให้เกิดการถ่ายเทความร้อนสู่บรรยากาศโดยรอบอย่างต่อเนื่อง การสูญเสียในลักษณะนี้ไม่เพียงส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แต่ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

การหุ้มฉนวนความร้อน (Thermal insulation) บริเวณผนังเตาจึงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรม โดยการเลือกใช้วัสดุฉนวนที่มีคุณสมบัติในการต้านทานการถ่ายเทความร้อน เช่น ใยหิน (rock wool) ใยแก้ว แคลเซียมซิลิเกต เป็นต้นซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีคุณสมบัติการนำความร้อน และระดับการทนต่ออุณหภูมิสูงต่างกัน การหุ้มฉนวนนั้นสามารถช่วยลดการสูญเสียพลังงานความร้อนได้มากถึง 44% (Bosch Industriekessel GmbH, n.d.) อีกทั้งยังช่วยรักษาเสถียรภาพของแรงดันไอน้ำภายในระบบให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของระบบหม้อไอน้ำและกระบวนการผลิตในโรงงาน การหุ้มฉนวนยังมีข้อดีในด้านความปลอดภัยในการทำงาน โดยสามารถลดอุณหภูมิของพื้นผิวผนังเตาให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยให้สอดคล้องกับข้อกำหนดการปฏิบัติตามกฏหมายลดความเสี่ยงจากการสัมผัสกับบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ (กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง, 2559) และจัดให้มีฉนวนกันความร้อนหุ้มหม้อน้ำที่ติดตั้งอยู่ในระดับหรือบริเวณที่ลูกจ้างผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับอันตรายได้ ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 (กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. ๒๕๖๔) นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระของระบบระบายอากาศในอาคารโรงงานอีกด้วย มีผลการศึกษาหลายฉบับรายงานว่า การลงทุนในระบบหุ้มฉนวนความร้อนมีระยะเวลาคืนทุนที่สั้น (U.S. Department of Energy, 2014; Topçu. & Rusen, 2016.) โดยเฉพาะในระบบที่มีการสูญเสียความร้อนสูง และสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ที่อุตสาหกรรมยุคใหม่ให้ความสำคัญ (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, 2550)

ฉนวนใยหิน (Rock Wool) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า Stone Wool เป็นวัสดุฉนวนที่ผลิตจากหินภูเขาไฟ เช่น บะซอลต์ โดยผ่านกระบวนการหลอมที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,500°ซ แล้วนำไปปั่นให้เป็นเส้นใยคล้ายเส้นฝ้าย ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในระบบที่ต้องรับความร้อนสูง เช่น เตาอุตสาหกรรม หม้อไอน้ำ หรือระบบท่อส่งไอน้ำในโรงงานอุตสาหกรรม ฉนวนใยหินมีคุณสมบัติทนความร้อนสูงถึงประมาณ 1000°ซ โดยไม่เกิดการหลอมละลาย อีกทั้งยังไม่ติดไฟและไม่ลามไฟ ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกรณีเกิดเพลิงไหม้ โครงสร้างของเส้นใยที่พรุนยังช่วยในการลดการถ่ายเทความร้อนโดยมีค่าการนำความร้อนต่ำอยู่ที่ประมาณ 0.035–0.045 W/m·K นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการกันเสียง ดูดซับเสียงรบกวน และไม่เสื่อมสภาพง่ายจากความชื้นหรือการกัดกร่อน จึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนานโดยไม่ต้องบำรุงรักษาบ่อย ด้วยคุณลักษณะทั้งหมดนี้ ฉนวนใยหินจึงเป็นวัสดุฉนวนที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก (ROCKWOOL Group, n.d.; Insulation Institute, 2016; Buy Insulation Online, n.d.)

งานวิจัยนี้จึงดำเนินการศึกษาผลของการหุ้มฉนวนแบบใยหินของหม้อไอน้ำขนาด 25 ตัน/ชั่วโมง ในโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ต่อประสิทธิภาพในการลดการสูญเสียความร้อนของหม้อไอน้ำ โดยศึกษาความร้อนสูญเสียจากผนังเตาหม้อไอน้ำทั้งก่อนและหลังหุ้มฉนวนใยหินที่ความหนาต่าง ๆ รวมทั้งความคุ้มค่าในการลงทุน

004_Picture1.jpg

รูปที่ 1 การลดลงของอุณหภูมิจากการหุ้มฉนวน

ที่มา : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, 2550

2. ขั้นตอนการดำเนินงาน

ดำเนินการประเมินการสูญเสียความร้อนจากผนังเตาหม้อไอน้ำในโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยแบ่งขั้นตอนการดำเนินงานออกเป็น 4 ขั้นตอน

2.1 การเก็บข้อมูลพื้นฐาน

สำรวจเก็บข้อมูลขนาดพื้นที่ และอุณหภูมิพื้นผิวของผนังเตาโดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด (Thermal camera) พบว่า ผนังเตาหม้อไอน้ำที่ยังไม่ได้หุ้มฉนวนซึ่งมีอุณหภูมิผิวตั้งแต่ 85°ซ ขึ้นไปและอยู่ในระดับที่ผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับอันตรายได้ (ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน พ.ศ. 2549) มี 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งที่ 1 บริเวณด้านข้างผนังเตา มีพื้นที่ 9.58 ตร.ม. อุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวอยู่ที่ 263°ซ และตำแหน่งที่ 2 บริเวณด้านหน้าและด้านหลังของผนังเตา มีพื้นที่ 12.7 ตร.ม. และมีอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิว 174.5°ซ

Picture2_004.jpg

รูปที่ 2 ตำแหน่งหุ้มฉนวนที่ 1 (ซ้าย) และ 2 (ขวา)

2.2 การคำนวณอัตราการสูญเสียความร้อนก่อนและหลังการหุ้มฉนวน

พิจารณาทั้งการถ่ายเทความร้อนด้วยการพา (Convection) และการแผ่รังสี (Radiation) ซึ่งสัมประสิทธ์การถ่ายเทความร้อนจากการพา (hc) คำนวณได้จากเลข Nusselt ที่สัมพันธ์กับค่า Rayleigh และ Prandtl โดยวิธีการคำนวณแสดงไว้ในรูปสมการที่ 1 – 7 (Cengel, 2020) และผลลัพธ์ดังตารางที่ 1

EQ1_004.jpg

โดยที่

Where1_004.jpg

ตารางที่ 1 ค่าสัมประสิทธิ์การพาความร้อนแบบธรรมชาติ อัตราการสูญเสียความร้อนที่ผนังเตาแต่ละตำแหน่งก่อนหุ้มฉนวน

Table1_004.jpg

2.3 การวิเคราะห์ปริมาณพลังงานเชื้อเพลิงที่สามารถลดได้

คำนวณปริมาณพลังงานเชื้อเพลิงที่สามารถลดได้เมื่อติดตั้งฉนวนใยหินที่ความหนา 25, 50, 75 และ 100 มม. โดยใช้หลักการถ่ายเทความร้อนผ่านชั้นวัสดุและทำการคำนวณอัตราความร้อนที่ลดลงจากเดิม (Q_saved) รวมถึงปริมาณเชื้อเพลิงที่สามารถประหยัดได้ต่อปีจากอัตราการสูญเสียความร้อนที่ลดลง ผลการคำนวณในแต่ละความหนาฉนวนแสดงไว้ในรูปของตารางเปรียบเทียบ

ภายใต้สมมุติฐานว่า หม้อไอน้ำทำงานอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง/วัน ตลอด 365 วัน/ปี และคำนวณโดยใช้ค่าความร้อนสูงของเชื้อเพลิง (Higher Heating Value, HHV) โดยอ้างอิงผลการตรวจวัดเชื้อเพลิงของทางโรงงาน 10,350 กิโลจูล/กิโลกรัม (kJ/kg) และอุณหภูมิบรรยากาศที่ 35°ซ ดังสมการที่ 8 (Cengel, 2020)

EQ2_004.jpg

โดยที่

Where2_004.jpg

คำนวณปริมาณความร้อนที่สามารถประหยัดได้หลังการติดตั้งฉนวน (Qsaving) ซึ่งได้จากการลบค่าความร้อนสูญเสียก่อนหุ้มฉนวน Q1 ออกจากค่าหลังหุ้มฉนวน Q2 ดังสมการที่ 9

EQ3_004.jpg

คำนวณพลังงานความร้อนรวมที่ประหยัดได้ต่อชั่วโมง (Annual benefit per hour) คิดเป็นค่าความร้อนของเชื้อเพลิง ซึ่งได้จากการแปลงพลังงานที่ประหยัดได้จากหน่วยวัตต์เป็นหน่วยกิโลกรัมเชื้อเพลิงโดยใช้ค่าความร้อนของเชื้อเพลิง (HHV) ตามสมการที่ 10 และปริมาณเชื้อเพลิงที่สามารถประหยัดได้ต่อปี (Fuel savings per year) ตามสมการที่ 11

EQ4_004.jpg

ผลการคำนวณอัตราการสูญเสียความร้อนภายหลังการหุ้มฉนวนที่ความหนาของฉนวนระดับ 25, 50, 75 และ 100 มม. พบว่า มีแนวโน้มการลดลงของการสูญเสียพลังงานตามความหนาที่เพิ่มขึ้น (รูปที่ 3)

004_Picture2.jpg

รูปที่ 3 ความร้อนสูญเสีย และเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้จากการหุ้มฉนวนที่ความหนาต่าง ๆ ในแต่ละตำแหน่ง

2.4 เศรษฐศาสตร์การหุ้มฉนวน

หลังจากการประเมินอัตราการสูญเสียความร้อนของผนังเตาในสภาวะก่อนและหลังการติดตั้งฉนวนแล้ว พร้อมทั้งการวิเคราะห์ปริมาณพลังงานที่สามารถประหยัดได้ต่อปี จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวมาประเมินด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าของการลงทุนในการติดตั้งฉนวนในระดับอุตสาหกรรม โดยพิจารณาในมิติของต้นทุนการลงทุนเริ่มต้น (Initial investment) มูลค่าพลังงานที่สามารถประหยัดได้ต่อปี (Annual energy saving value) และระยะเวลาคืนทุนของโครงการ (Payback period) ต้นทุนการลงทุนในการหุ้มฉนวนคำนวณจากพื้นที่ผิวของผนังเตาที่ทำการติดตั้งฉนวน ประกอบกับราคาของวัสดุฉนวน ค่าดำเนินการติดตั้ง และวัสดุปิดผิว (Jacket) โดยประเมินจากสมการต้นทุนรวมของโครงการ ดังสมการที่ 12 – 13

EQ5_004.jpg

โดยที่

Where5_004.jpg

จากการสำรวจข้อมูลวัสดุฉนวนที่มีจำหน่ายจริงในท้องตลาด พบว่า ขนาดความหนาที่สามารถจัดหาและใช้งานได้จริงมีเพียง 3 ขนาด ได้แก่ 50, 75 และ 100 มม. ดังนั้น ในการประเมินด้านเศรษฐศาสตร์ จึงเลือกการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการลงทุนเฉพาะในกรณีของความหนาฉนวนทั้ง 3 ขนาดดังกล่าว เพื่อให้ผลการวิเคราะห์สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจในภาคปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผลวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการหุ้มฉนวนผนังเตาหม้อไอน้ำในระดับอุตสาหกรรม พบว่า ต้นทุนการลงทุนประกอบด้วยค่าวัสดุฉนวนใยหินในแต่ละความหนา ได้แก่ 586 บาท/ตร.ม. สำหรับความหนา 50 มม. 879 บาท/ตร.ม. สำหรับ 75 มม. และ 1,170 บาท/ตร.ม. สำหรับ 100 มม.ค่าติดตั้งฉนวน 250 บาท/ตร.ม. และค่าหุ้มภายนอก (Jacket) 245 บาท/ตร.ม. เมื่อนำไปคำนวณรวมกับพื้นที่ติดตั้งจริงในแต่ละตำแหน่งของผนังเตา ได้ต้นทุนการลงทุนรวมตามความหนาฉนวนที่แตกต่างกันสำหรับผนังเตาในตำแหน่งที่ 1 ซึ่งมีพื้นที่ 9.58 ตารางเมตร เมื่อหุ้มด้วยฉนวนใยหินที่ความหนา 50, 75 และ 100 มม. จะมีเงินลงทุนรวม 10,355, 13,162 และ 15,950 บาท ตามลำดับ โดยสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงได้ 93,091, 93,978 และ 94,442 กก./ปี ทำให้เงินที่ประหยัดได้ต่อปีมีมูลค่า 64,512, 65,126 และ 65,448 บาท ตามลำดับ ในขณะที่ผนังเตาในตำแหน่งที่ 2 ซึ่งมีพื้นที่ 12.7 ตร.ม. มีต้นทุนการลงทุนรวมสำหรับความหนา 50, 75 และ 100 มม. อยู่ที่ 13,728, 17,449 และ 21,145 บาท สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงได้ 57,323, 58,067 และ 58,460 กก./ปี และส่งผลให้เงินที่ประหยัดได้ต่อปีมีมูลค่า 39,725, 40,241 และ 40,513 บาท ตามลำดับ (ตารางที่ 2)

ระยะเวลาคืนทุน พบว่า ในตำแหน่งที่ 1 ระยะเวลาคืนทุนสำหรับความหนา 50, 75 และ 100 มม. 58, 73 และ 89 วัน ตามลำดับ ส่วนในตำแหน่งที่ 2 มีระยะเวลาคืนทุน 126, 158 และ 190 วัน ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า ความหนาของฉนวนที่เพิ่มขึ้นช่วยให้สามารถประหยัดพลังงานได้ในอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มีอุณหภูมิพื้นผิวสูง การลงทุนในระบบฉนวนความร้อน จึงเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมทั้งในเชิงพลังงานและเศรษฐศาสตร์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบผลิตพลังงานอื่น ๆ ที่มีลักษณะการสูญเสียความร้อนคล้ายคลึงกันในภาคอุตสาหกรรม

ตารางที่ 2 เงินลงทุนเงินและที่ประหยัดได้จากการหุ้มฉนวนที่ความหนาต่าง ๆ

Table2_004.jpg

3. บทสรุป

การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า การหุ้มฉนวนผนังเตาหม้อไอน้ำด้วยวัสดุใยหินเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการสูญเสียความร้อนจากระบบผลิตไอน้ำในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยความหนาของฉนวนมีอิทธิพลต่อระดับการลดพลังงานสูญเสียอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนผลเชิงบวกทั้งในด้านการประหยัดเชื้อเพลิงและการเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงานของโรงงาน จากข้อมูลการคำนวณ พบว่า การหุ้มฉนวนสามารถลดความสูญเสียพลังงานลงได้มากกว่า 70% ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ลดลง นอกจากนั้น ยังมีผลเชิงบวกต่อความปลอดภัยของพื้นที่ปฏิบัติงาน ลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสผิวร้อน และส่งเสริมแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ผลการวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีลักษณะระบบผลิตพลังงานคล้ายคลึงกัน และเป็นข้อมูลสนับสนุนสำหรับการตัดสินใจเชิงวิศวกรรมและการลงทุนในระบบอนุรักษ์พลังงานในระดับโรงงานอย่างเป็นรูปธรรม

กิตติกรรมประกาศ

ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างยิ่งต่อสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สำหรับการสนับสนุนทุนการศึกษาภายใต้โครงการทุนทักษะบัณฑิตพลังงาน ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ขอขอบคุณนางสาววลัยพร ศะศิประภา ที่กรุณาให้คำแนะนำด้านการเขียนและการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงต่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนิต สวัสดิ์เสวี อาจารย์ที่ปรึกษา ที่ได้ให้คำชี้แนะและคำแนะนำอันทรงคุณค่าในทุกขั้นตอนของการศึกษา นอกจากนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณนายยุทธชัย อนะธรรมสมบัติ ที่ได้ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของการคำนวณด้านเทคนิคอย่างละเอียดรอบคอบ อันส่งผลให้ผลงานวิจัยมีความสมบูรณ์และน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. (2550). Pre อาวุโสทฤษฎี. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงพลังงาน.

กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559. (17 ตุลาคม 2559). ราชกิจจานุเบกษา, 133(91 ก), 48–54.

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน พ.ศ. 2549. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535.

Çengel, Y. A., & Boles, M. A. (2020). Thermodynamics: An engineering approach (9th ed.). McGraw-Hill Education.

Çengel, Y. A., & Ghajar, A. J. (2020). Heat and mass transfer: Fundamentals and applications (6th ed.). McGraw-Hill Education.

Kumar, D., & Singh, R. K. (2013). Boiler efficiency improvement through energy management techniques. International Journal of Scientific and Research Publications, 3(8), 1–4.

Topçu, M. A., & Rusen, A. (2016). Insulation of boiler to save energy. In Proceedings of the 8th International Edge Energy Symposium and Exhibition.

U.S. Department of Energy. (2014). Improving steam system performance: A sourcebook for industry (2nd ed.). Retrieved from https://www.energy.gov/sites/prod/files/2014/05/f16/steamsourcebook.pdf

Anonymous. (2015). Insulation material and properties. Retrieved from https://tiac.ca/wp-content/uploads/2015/12/TIAC_Guide_English_2013-Section-02.pdf

Bosch Industriekessel GmbH. (n.d.). Insulation: Increasing efficiency at the boiler and system. Retrieved April 30, 2025, from https://www.boiler-planning.com/en/efficiency/increasing-efficiency-at-the-boiler-and-system/insulation.html

Insulation Institute. (n.d.). Rock and slag wool insulation: Sustainable choices for conserving energy. Retrieved from https://insulationinstitute.org/wp-content/uploads/2016/01/N046-Rock-and-Slag-Wool-Insulation-Sustainable-Choices-for-Conserving-Energy.pdf

Insulation Institute. (n.d.). Why insulation matters in industrial applications. Retrieved from https://insulationinstitute.org


บทความอื่นๆ

Read More

บทความ: พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและผลกระทบต่อพื้นที่ใช้ประโยชน์สำหรับการเกษตรของจังหวัดน่าน

คำแนะนำสำหรับผู้เขียน

แนวทางการเขียนบทความ สิ่งแวดล้อมไทย

1

รูปแบบและประเภทบทความ

สิ่งแวดล้อมไทย รับพิจารณาต้นฉบับบทความวิชาการที่มีเนื้อหาสาระด้านสิ่งแวดล้อมและสาขาที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตของวารสาร รูปแบบของการเขียนบทความประกอบด้วย 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. บทความวิจัยหรือบทความที่นำเสนอส่วนหนึ่งของผลงานวิจัย (Research article)
    บทความควรประกอบด้วย บทคัดย่อ คำสำคัญ ที่มาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ การรวบรวมข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้อง วิธีการและขั้นตอนการศึกษา ผลการศึกษาและการอภิปรายผลการศึกษา บทสรุป และรายงานการอ้างอิง
  2. บทความวิชาการ (Academic article) บทความวิจารณ์ (Analytical article) และบทความปริทัศน์ (Review article)
    ควรประกอบด้วย บทคัดย่อ บทนำ คำสำคัญ วัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระจากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ส่วนการวิเคราะห์/สังเคราะห์และการอภิปราย บทสรุป และรายการการอ้างอิง

2

ข้อกำหนดทั่วไป

  1. เป็นบทความภาษาไทยที่มีการแบ่งส่วนประกอบของบทความอย่างชัดเจน
  2. บทความนำเสนอในรูปแบบคอลัมน์เดี่ยว ต้นฉบับบทความควรมีความยาวไม่เกิน 10 หน้าขนาด A4 (รวมรูปภาพและตาราง) โดยใช้ตัวอักษร ประเภท Thai Saraban ขนาดตัวอักษร 16 ระยะบรรทัดแบบ Single space
  3. บทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ความยาวไม่เกิน 300 คำ
  4. องค์ประกอบของบทความ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
    • หน้าแรก ประกอบด้วย ชื่อบทความและข้อมูลของผู้นิพนธ์ (ชื่อผู้แต่ง หน่วยงาน อีเมล์ผู้รับผิดชอบบทความ) บทคัดย่อ และคำสำคัญ โดยข้อมูลทั้งหมดจัดทำทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
    • ส่วนเนื้อหา ประกอบด้วย ข้อมูลเช่นเดียวกับหน้าแรก (โดยจัดทำเป็นภาษาไทย) และส่วนเนื้อความ ซึ่งจัดอยู่ในรูปแบบคอลัมน์เดี่ยว
  5. การใช้รูปภาพ แผนที่ และแผนภูมิเพื่อประกอบในบทความ ให้ระบุลำดับและชื่อรูปภาพ แผนที่ และแผนภูมิไว้ด้านล่างของวัตถุต่าง ๆ ดังกล่าว พร้อมอ้างอิงแหล่งที่มา สำหรับตาราง ให้ระบุลำดับและชื่อของตารางไว้ด้านบนของตารางนั้น ๆ พร้อมระบุการอ้างอิงแหล่งที่มา และหมายเหตุ (ถ้ามี) ไว้ด้านล่างตาราง วัตถุใด ๆ ที่ใช้ประกอบบทความ ต้องมีการอ้างอิงถึงในเนื้อหาด้วย
  6. รูปแบบของรูปภาพ แผนที่ และแผนภูมิ ต้องกำหนดรูปแบบให้เป็น TIFF หรือ JPEG ที่มีความละเอียดของรูปภาพ แผนที่ และแผนภูมิไม่ต่ำกว่า 300 dpi

3

การอ้างอิงและบรรณานุกรม

  • กำหนดการอ้างอิงในเนื้อความเป็นแบบ "(นาม, ปี)"
  • รายการเอกสารอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ มีความเป็นสากล และทันสมัย
  • เอกสารอ้างอิงทุกรายการจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ
  • กำหนดรูปแบบรายการอ้างอิงในระบบ APA 6th ed โดยมีวิธีการเขียนรายการอ้างอิง ดังนี้
  1. หนังสือ
    ชื่อผู้แต่ง. (ปีที่พิมพ์). ชื่อเรื่อง(ตัวเอียง) ครั้งที่พิมพ์. สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์.
  2. บทความในหนังสือ บทในหนังสือ
    ชื่อผู้เขียนบทความ. (ปีพิมพ์). ชื่อบทความ. ใน ชื่อบรรณาธิการ (บรรณาธิการ), ชื่อหนังสือ(ตัวเอียง) (ครั้งที่พิมพ์), เลขหน้าที่ปรากฏบทความ(จากหน้าใดถึงหน้าใด). สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์
  3. วารสาร
    ชื่อผู้เขียนบทความ. (ปีพิมพ์). ชื่อบทความ. ชื่อวารสาร(ตัวเอียง), ปีที่ (ฉบับที่), เลขหน้าที่ปรากฎ.
  4. วิทยานิพนธ์
    ชื่อผู้เขียนวิทยานิพนธ์. (ปีพิมพ์). ชื่อวิทยานิพนธ์(ตัวเอียง). (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตหรือวิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต,ชื่อสถาบันการศึกษา).
  5. สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์
    ชื่อผู้เขียน (ปี,เดือน วันที่). ชื่อเนื้อหา. [รูปแบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ เช่น PowerPoint Facebook Website]. สืบค้นจาก http://....

4

เอกสารแสดงความจำนงในการส่งบทความ และเอกสารรับรองจริยธรรม

ผู้นิพนธ์ต้องจัดเตรียมเอกสารแสดงความจำนงในการส่งบทความ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลผู้นิพนธ์ และการรับรองจริยธรรม พร้อมลงนามรับรอง และจัดส่งพร้อมกับต้นฉบับบทความ

หมายเหตุ: ผู้นิพนธ์ต้องตรวจสอบและปฏิบัติตามข้อกำหนดก่อนดำเนินการจัดส่งต้นฉบับ เพื่อความรวดเร็วในกระบวนการพิจารณาบทความ ทั้งนี้ หากต้นฉบับบทความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว ต้นฉบับบทความจะถูกส่งคืนให้กับผู้รับผิดชอบบทความเพื่อปรับปรุงแก้ไขก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

FAQ

เกี่ยวกับวารสาร

ความเป็นมา

สิ่งแวดล้อมไทย (Thai Environmental) เป็นวารสารวิชาการที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม เดิม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายเพื่อเป็นวารสารที่เผยแพร่องค์ความรู้และงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม (build and natural environment) และทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการวางแผนและการจัดการเชิงพื้นที่ และงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระบวนการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพของบทความตามมาตรฐานสากล

สิ่งแวดล้อมไทย หรือชื่อเดิม คือ วารสารสิ่งแวดล้อม (Environmental Journal) เริ่มดำเนินการและเผยแพร่ครั้งแรกในลักษณะรูปเล่มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 เป็นวารสารราย 3 เดือน (4 ฉบับ/ปี) และปรับเปลี่ยนเป็นการเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ในปี พ.ศ. 2562 ผ่านเวปไซต์ http://www.ej.eric.chula.ac.th/ โดยวารสารสิ่งแวดล้อมมีเลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร หรือเลข ISSN (Print): 0859-3868 และ ISSN (Online) : 2586-9248 ในฐานข้อมูลการจัดทำดัชนี Thai-Journal Citation Index (TCI) ระดับ Tier 3

ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาวารสารเพื่อยกระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเข้าสู่ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ในระดับ Tier 2 วาสารสิ่งแวดล้อมจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการ ในปี พ.ศ. 2566 กล่าวคือ การปรับความถี่ในการแผยแพร่เป็นราย 6 เดือน (2 ฉบับ/ปี) คือ ฉบับที่ 1 (มิถุนายน) และฉบับที่ 2 (ธันวาคม) และการปรับรูปแบบการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์เต็มรูปแบบ ได้แก่ การปรับช่องทางการจัดส่งต้นฉบับจากทางอีเมล์ (eric@chula.ac.th) เป็นการจัดส่งผ่านระบบ Thai Journals Online (ThaiJO) ซึ่งเป็นระบบการจัดการและตีพิมพ์วารสารวิชาการในรูปแบบวารสารออนไลน์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Journal) และปรับปรุงขั้นตอนการประเมินคุณภาพบทความก่อนการพิจารณาเผยแพร่ในลักษณะ Double blind review จากผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ท่าน และวารสารสิ่งแวดล้อม ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วารสารสิ่งแวดล้อมไทย" ในปี พ.ศ. 2567 เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์และขอบเขตการนำเสนอที่ชัดเจน โดยมี ISSN : 3057-0166 (Online)

สิ่งแวดล้อมไทย เผยแพร่เนื้อหาของบทความในลักษณะ Open Access โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจ สามารถนำเสนอผลงานวิจัยและงานวิชาการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทยและระดับสากล รวมถึงการใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

หัวหน้ากองบรรณาธิการ

รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวนีย์ วิจิตรโกสุม
สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

ดร. นันทมล ลิมป์พิทักษ์พงศ์
สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

บรรณาธิการ

อาจารย์ ดร. กัลยา สุนทรวงศ์สกุล
สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

ดร. กิตติวุฒิ เฉลยถ้อย
สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

ดร. ธวัลหทัย สุภาสมบูรณ์
สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิติมา รุ่งรัตนาอุบล
ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อนงนาฎ ศรีประโชติ
สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วราลักษณ์ คงอ้วน
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร. ยุทธนา ฐานมงคล
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ดร. วิชญา รงค์สยามานนท์
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สิ่งแวดล้อมไทย เป็นวารสารในลักษณะสหศาสตร์ (multidisciplinary journal) ด้านสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและเวทีในการเผยแพร่องค์ความรู้และงานวิชาการที่ทันสมัยเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งงานวิจัย การปฏิบัติ นโยบาย และมุมมองต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นบริบทของประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อวงวิชาการในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ และการใช้ประโยชน์ในวงกว้างเพื่อการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ขอบเขตของวารสารสิ่งแวดล้อมไทย ครอบคลุมแนวคิด ผลลัพธ์และข้อมูลจากการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและงานด้านการวางแผนและนโยบาย ครอบคลุมงานการประเมิน การป้องกัน การฟื้นฟู และการวางแผนและการกำหนดนโยบาย

สิ่งแวดล้อมไทย ตีพิมพ์บทความวิชาการที่ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้

  • การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการอย่างยั่งยืน
  • การจัดการเมืองยั่งยืน
  • การป้องกันและควบคุมมลพิษ
  • นโยบายและกฎหมายสิ่งแวดล้อม
  • ประเด็นสิ่งแวดล้อมในมิติอื่น ๆ

กระบวนการพิจารณาบทความและขั้นตอนการดำเนินการเผยแพร่

วารสารสิ่งแวดล้อมไทย เปิดรับต้นฉบับบทความที่ยังไม่เคยมีการตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน และต้องไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารใด ๆ

ขั้นตอนการพิจารณาเบื้องต้นเมื่อต้นฉบับบทความเข้าสู่กระบวนการ คือ ต้นฉบับบทความจะถูกประเมินและตรวจสอบความถูกต้อง ตรงตามวัตถุประสงค์ และขอบเขตของวารสาร รูปแบบ และดัชนีความคล้ายคลึงกับการตีพิมพ์ก่อนหน้า หากต้นฉบับบทความผ่านเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมดดังกล่าว จึงจะเข้าสู่กระบวนการประเมินคุณภาพและความถูกต้องเชิงวิชาการโดยผู้ตรวจสอบอิสระ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ท่านจากหลากหลายสถาบันด้วยกระบวนการตรวจสอบแบบปกปิดสองฝ่าย (Double-blind review) การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการยอมรับ แก้ไข หรือปฏิเสธบทความของบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด

หัวหน้ากองบรรณาธิการจะให้คำแนะนำและแนวปฏิบัติด้านวิชาการ และมอบหมายต้นฉบับบทความให้แก่บรรณาธิการที่เหมาะสม บรรณาธิการที่ได้รับมอบหมายมีหน้าที่เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ประเมินและอาจทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินด้วย เพื่อพิจารณาคุณภาพของต้นฉบับและให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงบทความ บรรณาธิการจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าต้นฉบับจะได้รับการยอมรับหรือปฏิเสธตามข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความ กรณีเกิดความขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หัวหน้ากองบรรณาธิการจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย

เมื่อต้นฉบับบทความได้รับการตอบรับการตีพิมพ์แล้ว บทความจะเข้าสู่กระบวนการจัดรูปแบบ (Formating) การพิสูจน์อักษรและการตรวจสอบความถูกต้อง (Proofread) และการตีพิมพ์เผยแพร่ โดยผู้เขียนจะได้รับแบบฟอร์มข้อตกลงการโอนลิขสิทธิ์ของบทความ และบทความจะได้รับหมายเลขประจำเอกสารดิจิทัล (Digital Object Identifier; DOI) เพื่อเผยแพร่ออนไลน์ ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการบรรณาธิการแสดงดังแผนผัง

หลักปฏิบัติทางจริยธรรมของวารสารสิ่งแวดล้อมไทย

สิ่งแวดล้อมไทย ให้ความสำคัญสูงสุดและยึดมั่นในหลักปฏิบัติทางจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และความสมบูรณ์ของผลงานวิชาการ ส่งเสริมให้ผู้เขียนยึดมั่นในมาตรฐานทางจริยธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีที่น่าเชื่อถือสำหรับการนำเสนอผลงานวิจัย บทความวิชาการ และบทความที่สร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ หรือมีส่วนสำคัญในการพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเผยแพร่ต้องปฏิบัติตามแนวทางของ "คณะกรรมการจริยธรรมในการเผยแพร่ (COPE)" (https://publicationethics.org/) โดยเครื่องมือตรวจจับการลอกเลียนแบบ "อักขราวิสุทธิ์" จะถูกใช้เพื่อรับรองความเป็นต้นฉบับของต้นฉบับบทความที่ส่งมาทั้งหมด ต้นฉบับใด ๆ ที่มีดัชนีความคล้ายคลึงกันมากกว่า 30% จะถูกส่งกลับไปยังผู้เขียนเพื่อแก้ไขและชี้แจง (หากไม่ปฏิบัติตามจะส่งผลให้ต้นฉบับถูกปฏิเสธ) หรือปฏิเสธการรับพิจารณาบทความนั้น ๆ ซึ่งมีผลต่อการยุติกระบวนการประเมินต้นฉบับบทความ นอกจากนี้ เพื่อป้องกันอคติและความขัดแย้งทางผลประโยชน์ สิ่งแวดล้อมไทยจึงปฏิบัติตามนโยบายการตรวจสอบและประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิแบบปกปิดทั้งสองด้าน (Double-blind peer review)

สำหรับกองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ ประกอบด้วย หัวหน้ากองบรรณาธิการ และบรรณาธิการ กองบรรณาธิการเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิจัยต่าง ๆ ที่ครอบคลุมขอบเขตของงานวารสาร และมีความอิสระทางวิชาการในการดำเนินการ

กองบรรณาธิการ มีบทบาทสำคัญในการควบคุมและกำกับดูแลกระบวนการพิจารณาบทความให้เป็นไปตามมาตรฐานสูงสุดของจริยธรรมทางวิชาการ โดยมีแนวปฏิบัติ ดังนี้

  • ความโปร่งใสและเป็นธรรม: กำกับดูแลให้กระบวนการประเมินบทความเป็นไปอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และปราศจากอคติ โดยการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่เปี่ยมด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับบทความนั้น ๆ
  • การพิจารณาคุณภาพบทความ: พิจารณาและตรวจสอบคุณภาพของบทความอย่างละเอียด โดยมุ่งเน้นที่ความถูกต้องและความสำคัญทางวิชาการ ความชัดเจนในการนำเสนอ และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายและขอบเขตของวารสาร
  • การหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน: ต้องรับรองว่าตนเองไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ กับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นกลางในการตัดสินใจ
  • การจัดการการละเมิดจริยธรรม: หากตรวจพบการคัดลอกผลงาน (plagiarism) หรือการตีพิมพ์ซ้ำซ้อน (duplicate publication) ในระหว่างกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการมีหน้าที่ระงับกระบวนการทันที และดำเนินการติดต่อผู้นิพนธ์หลัก และ/หรือ ผู้ประพันธ์บรรณกิจ เพื่อขอคำชี้แจงประกอบการพิจารณากระบวนการประเมินบทความต่อไป หรือปฏิเสธการตีพิมพ์ต้นฉบับบทความดังกล่าว
  • การรักษาความลับ: ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความลับของข้อมูลผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความอย่างเคร่งครัด โดยจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาของกระบวนการประเมิน

สำหรับผู้นิพนธ์

ผู้นิพนธ์มีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบต่อความถูกต้องและความสมบูรณ์ของผลงาน หน้าที่และแนวปฏิบัติสำหรับผู้นิพนธ์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรม ดังนี้

  • ความสมบูรณ์และเป็นต้นฉบับ: ต้องให้การรับรองว่าผลงานที่ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์นั้น เป็นผลงานต้นฉบับที่ไม่เคยถูกตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และต้นฉบับต้องไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารใด ๆ ระหว่างการพิจารณาของสิ่งแวดล้อมไทย
  • ความถูกต้องของข้อมูล: รายงานข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาวิจัย สังเคราะห์ และวิเคราะห์ อย่างซื่อตรง ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จไม่ว่ากรณีใด ๆ
  • การตรวจสอบการคัดลอกผลงาน: ต้องดำเนินการตรวจสอบบทความของตนเองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • การอ้างอิงที่ถูกต้อง: ต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของผลงานหรือแนวคิดของผู้อื่นรวมถึงของตนเอง ที่นำมาใช้ในบทความอย่างครบถ้วนและถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความ
  • การมีส่วนร่วมจริง: ผู้นิพนธ์ทุกคนที่มีชื่อปรากฏในบทความต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการดำเนินการศึกษาวิจัยและการสร้างสรรค์บทความ ซึ่งหมายความรวมถึง การออกแบบแนวความคิดและขั้นตอนการศึกษา การค้นคว้า การวิเคราะห์ การอภิปราย การให้บทสรุป และการเขียนบทความ
  • การระบุชื่อผู้นิพนธ์: ผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding Author) ควรตรวจสอบว่า รายชื่อผู้นิพนธ์ถูกต้อง และได้รับการยินยอมจากทุกคนก่อนส่งบทความ การเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้นิพนธ์ภายหลังการส่งต้นฉบับจะพิจารณาเป็นกรณีพิเศษโดยบรรณาธิการ และต้องได้รับความยินยอมจากผู้นิพนธ์ทุกคน
  • การระบุแหล่งทุน: ต้องระบุแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัย พร้อมทั้งแนบหลักฐานการยินยอมให้เผยแพร่ข้อมูลจากผู้สนับสนุนดังกล่าว (หากจำเป็น)
  • การรับรองจริยธรรมการวิจัย: ต้องพิจารณาและรับรองว่างานวิจัยที่ดำเนินการนั้นสอดคล้องกับหลักจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ หรือจริยธรรมการวิจัยด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ ผู้นิพนธ์จะต้องให้ข้อมูลและลงนามในแบบรับรองจริยธรรมที่แนบมาพร้อมกับเอกสารแสดงความจำนงในการส่งบทความ
  • การรับรองสิทธิ์: ต้องลงนามในข้อตกลงการโอนลิขสิทธิ์กับวารสารสิ่งแวดล้อมไทยภายหลังจากต้นฉบับได้รับการยอมรับการตีพิมพ์แล้ว
  • ความรับผิดชอบในบทความ: ผู้นิพนธ์ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดและข้อโต้แย้งทางวิชาการตลอดจนการคัดลอกและการลอกเลียนแบบที่ปรากฎในบทความของตน

สำหรับผู้ประเมิน

ผู้ประเมินมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ โดยการพิจารณากลั่นกรองคุณภาพของบทความ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อช่วยให้ผู้นิพนธ์ปรับปรุงคุณภาพของต้นฉบับ และรับประกันว่าต้นฉบับมีคุณภาพเหมาะสมต่อการตีพิมพ์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ทางวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกระบวนการตรวจสอบ ผู้ประเมินจะต้องปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้

  • การรักษาความลับ: มีหน้าที่รักษาความลับของบทความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างเคร่งครัด ไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ แก่บุคคลภายนอก
  • การประเมินตามความเชี่ยวชาญและหลักวิชาการ: พิจารณาและประเมินบทความเฉพาะในสาขาที่ตนเองมีความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง การกลั่นกรองบทความต้องพิจารณาความถูกต้องของหลักการทางวิชาการของบทความเป็นสำคัญ และหลีกเลี่ยงการใช้ทัศนคติส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุนในการประเมินบทความ
  • การตรงต่อเวลา: ดำเนินการประเมินบทความให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด
  • การหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนและความขัดแย้งทางผลประโยชน์: ต้องตรวจสอบและแจ้งบรรณาธิการวารสารทราบทันที หากพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ หรือมีเหตุผลอื่นใดที่อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการประเมิน และปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
  • การแจ้งการซ้ำซ้อน: หากตรวจพบบทความที่กำลังประเมินมีส่วนใดส่วนหนึ่งคล้ายคลึงหรือซ้ำซ้อนกับผลงานที่เคยตีพิมพ์อื่นใด ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยทันที

บทความที่ได้รับการเผยแพร่นี้ การเผยแพร่ รูปเล่ม เรขนิเทศ เป็นลิขสิทธิ์ของสิ่งแวดล้อมไทย เนื้อหาข้อความ ความคิด การสร้างสรรค์ ภาพประกอบ เป็นลิขสิทธิ์ของผู้นิพนธ์แต่ละท่าน ซึ่งจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาบทความ ภาพประกอบ ตลอดจนจริยธรรมในการวิจัยของตนเอง

สิ่งแวดล้อมไทย เป็นวารสารในรูปแบบ E-Journal และเปิดให้ผู้อ่านเข้าถึงเนื้อหาอย่างเสรี (Open Access) สามารถอ่าน ดาวน์โหลด และเผยแพร่ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย บทความได้รับการตีพิมพ์ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License ซึ่งบทความทั้งหมดสามารถถูกเผยแพร่ คัดลอก แจกจ่ายใหม่ และ/หรือดัดแปลงเพื่อการใช้ประโยชน์ไม่เชิงพาณิชย์ได้โดยได้รับการอนุมัติที่เหมาะสมจากกองบรรณาธิการของวารสารสิ่งแวดล้อมไทย

ทั้งนี้ ลิขสิทธิ์ของสิ่งแวดล้อมไทย มีผลบังคับใช้เมื่อบทความได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ ดังนั้น ผู้นิพนธ์เจ้าของบทความจะมอบสิทธิ์ทั้งหมดในงานให้กับสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับการคุ้มครองจากผลที่เกิดจากการใช้งานที่ไม่ได้รับอนุญาต การตีพิมพ์บางส่วนหรือทั้งหมดของบทความในที่อื่นเป็นไปได้เฉพาะหลังจากได้รับความยินยอมจากกองบรรณาธิการวารสารสิ่งแวดล้อมไทยเท่านั้น

บทความทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในวารสารสิ่งแวดล้อมไทย ได้รับอนุญาตภายใต้ Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License บทความที่ตีพิมพ์อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสิ่งแวดล้อมไทย มีผลบังคับใช้เมื่อบทความได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ ผู้นิพนธ์จะทำการโอนมอบสิทธิ์ทั้งหมดในงานให้กับสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับการคุ้มครองจากผลที่เกิดจากการใช้งานที่ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ การตีพิมพ์บางส่วนหรือทั้งหมดของบทความในที่อื่นเป็นไปได้เฉพาะหลังจากได้รับความยินยอมจากกองบรรณาธิการสิ่งแวดล้อมไทยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเท่านั้น

วารสารสิ่งแวดล้อมไทยเปิดรับบทความวิชาการและบทความวิจัยตลอดทั้งทั้งปีผ่านระบบออนไลน์ โดยมีกำหนดการเผยแพร่ 2 ฉบับต่อปี คือ ฉบับที่ 1 (มิถุนายน) และฉบับที่ 2 (ธันวาคม)

สิ่งแวดล้อมไทยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ ซึ่งหมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการส่งต้นฉบับ กระบวนการพิจารณาและการดำเนินการด้านบรรณาธิการ กระบวนการประเมินและตรวจสอบคุณภาพต้นฉบับบทความ กระบวนการด้านการจัดรูปแบบ การผลิต และการตีพิมพ์