การอ้างอิง: อาทิมา ดับโศก, เบญจวรรณ ชัยศรี, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์, รชกร วชิรสิโรดม, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์, วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์, เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ. (2565). พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและผลกระทบต่อพื้นที่ใช้ประโยชน์สำหรับการเกษตรของจังหวัดน่าน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 26 (ฉบับที่ 1).
บทความ: พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและผลกระทบต่อพื้นที่ใช้ประโยชน์สำหรับการเกษตรของจังหวัดน่าน
อาทิมา ดับโศก 1, เบญจวรรณ ชัยศรี 1, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์ 1, รชกร วชิรสิโรดม 2, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์ 3, วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์ 1, เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ 4 และ สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ 1
1 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 สาขาวิชาการจัดการชุมชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
3 ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
4 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1. สถานการณ์ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่านได้รายงานสถิติภัยแล้งในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2563 พบว่าเป็นช่วงที่จังหวัดน่านได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้างโดยเฉพาะพื้นที่ทางการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดน่านเป็นพื้นที่เขาสูงชัน ในขณะที่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างหุบเขา จึงเกิดข้อจำกัดในการกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคหรือเพื่อสำหรับกิจกรรมทางการเกษตร ขณะเดียวกัน ปัญหาความแห้งแล้งที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง รวมทั้งฤดูฝนสั้นลงในขณะที่ฤดูแล้งมีช่วงเวลานานขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่กักเก็บไว้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาพื้นที่แล้งซ้ำซาก โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ได้รายงานข้อมูลพื้นที่แล้งซ้ำซากไว้ทั้งสิ้น 15 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 386,069 ไร่ ทั้งนี้ อำเภอเวียงสา อำเภอเมืองน่าน และอำเภอท่าวังผา เป็นพื้นที่ที่ปัญหาแล้งซ้ำซากสูงที่สุด 3 อันดับแรก เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ดังรายละเอียดต่อไปนี้ (สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน, 2564)
ขณะเดียวกัน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน (2564) ยังได้รายงานข้อมูลสถิติประกาศภัยแล้งบ่อยครั้งย้อนหลังระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2562 ในหลายอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอเวียงสา อำเภอนาหมื่นและอำเภอสองแคว (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ข้อมูลสถิติประกาศภัยแล้งบ่อยครั้งของจังหวัดน่านในช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2562 (สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน, 2564)
สำหรับมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดน่านในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2563 มีค่าสูงถึง 1,402,863 – 31,878,970 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2563 เป็นปีที่ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรง ส่งผลกระทบเป็น วงกว้างและก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าของข้อมูลสถิติ ดังแสดงไว้ในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ข้อมูลสถิติภัยแล้งของจังหวัดน่านและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2560 – 2563 (สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน, 2564)
2. แหล่งน้ำที่สำคัญและปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดน่าน
แหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัดน่านประกอบไปด้วย ก) อ่างเก็บน้ำทั้งสิ้น 82 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 5 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 29 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอันถ่ายโอนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 48 แห่ง ข) ฝายขนาดกลาง 5 แห่ง ค) สระน้ำ หนองน้ำธรรมชาติ 248 แห่ง และ ง) บ่อน้ำบาดาล 823 แห่ง แต่ใช้การได้เพียง 573 แห่ง เนื่องจากบ่อน้ำบางแห่งไม่มีน้ำ/น้ำไม่สะอาด
เมื่อพิจารณาถึงปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ผลการศึกษาโครงการโดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อให้ทราบถึงความรุนแรงของสถานการณ์ รวมถึงกำหนดความสำคัญของปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตามลำดับขั้น (Analytical Hierarchy Process: AHP) และให้คะแนนความสำคัญด้วยวิธีการเปรียบเทียบความสำคัญของปัจจัยแบบรายคู่ (Pairwise Comparison) พบว่าปัจจัยทางอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยาและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดน่านเรียงลำดับจากความสำคัญมากไปน้อยได้ดังต่อไปนี้
(1) ปริมาณน้ำฝนรายปี
(2) ความลาดชันของพื้นที่
(3) เขตชลประทานและแหล่งน้ำ
(4) พืชปกคลุมดิน
(5) ความหนาแน่นของลำน้ำ
(6) แหล่งน้ำใต้ดิน
(7) เนื้อดิน (สภาพการระบายน้ำ)
3. แผนเผชิญเหตุภัยแล้งจังหวัดน่าน ปี พ.ศ. 2564
แผนเผชิญเหตุภัยแล้งจังหวัดน่าน ปี พ.ศ. 2564 ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทาง “ประชารัฐ” ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง (สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน, 2564) ประกอบด้วย 3 กลุ่มภารกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มพยากรณ์ ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ น้ำท่า ระดับน้ำในแหล่งต่าง ๆ รวมถึงวิเคราะห์ต้นทุนน้ำและความต้องการใช้น้ำด้านต่าง ๆ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ ทำหน้าที่วางแผนการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณต้นทุนน้ำและสถานการณ์ใช้น้ำในพื้นที่ และ กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำหน้าที่ดำเนินงานแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นอันดับแรก และกำหนดการแบ่งพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน ในภาคการเกษตร แผนเผชิญเหตุภัยแล้งจังหวัดน่านได้กำหนดแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรและแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ไว้ดังนี้
3.1 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร
แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรของจังหวัดน่าน ในช่วงฤดูแล้งปี พ.ศ. 2564 ได้ระบุพื้นที่เพาะปลูกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อการเกษตรดังนี้
- พื้นที่ปลูกพืชผัก จำนวน 50,435 ไร่
- พื้นที่ปลูกพืชไร่ จำนวน 11,910 ไร่
- พืชไร่และพืชผัก (ทั้งในและนอกเขตชลประทาน) จำนวน 8,337 ไร่
- พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 4,600 ไร่
3.2 แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง
สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งภายใต้แผนเผชิญเหตุภัยแล้งจังหวัดน่าน ปี พ.ศ. 2564 (ในรอบปีการผลิต 2563/64) จำแนกเขตการเพาะปลูกทั้งในและนอกเขตชลประทานดังนี้ (ตารางที่ 3) เป็นที่สังเกตว่า พื้นที่เพาะปลูกนอกเขตพื้นที่ชลประทานครอบคลุมพื้นที่ในสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่ในเขตเพาะปลูกในเขตพื้นที่ชลประทาน ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาสถานีสูบน้ำในพื้นที่ ศึกษาความเป็นไปได้ในการกระจายน้ำระหว่างสถานีสูบน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงและสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทานจึงเป็นประเด็นความท้าทายเชิงพื้นที่ที่สำคัญ
อภิปราย
การขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดน่านจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นความท้าทายในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบลที่มีความน่าเชื่อถือ ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพปัญหาจริงในพื้นที่และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลกลางในการวางแผนงานและการตัดสินใจเพื่อดำเนินแผนหรือกิจกรรมที่นำไปสู่การบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การบูรณาการภารกิจและแผนงานโครงการระหว่างหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสื่อสารความเสี่ยง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดีแก่ประชาชนและเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบให้มีความสามารถในการวางแผน ปรับตัวและเผชิญเหตุต่อปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตามศักยภาพของตนเองและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน นับเป็นแนวทางสำคัญและจำเป็น อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนนโยบายในพื้นที่ พบว่าประเด็นความท้าทายสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะช่วงภัยแล้ง ซึ่งควรได้รับการพิจารณาวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบมีดังต่อไปนี้
- การระบุพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในระดับพื้นที่จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลกลางประกอบการตัดสินใจแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา ตลอดจน การสื่อสารความเสี่ยงต่อประชาชนหรือเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน
- การทำแผนที่ภัยแล้งที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลความต้องการน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดในพื้นที่ชุมชน
- กระบวนการสื่อสาร สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีการปรับตัว รับมือ และบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งระดับชุมชน ครัวเรือนและบุคคล ตลอดจน สร้างเสริมศักยภาพของชุมชนและกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาระหว่างรุ่นในการรับมือกับปัญหาภัยแล้งในพื้นที่
- ข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดน่านเป็นพื้นที่เขาสูงชัน
- การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลน้ำต้นทุน (Water Budget) หรือ บัญชีน้ำ (Water Accounting) รวมถึงความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและบูรณาการ
- ศึกษาความเป็นไปได้ในการกระจายน้ำระหว่างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำสายหลักสู่ระดับชุมชน
- ประเด็นอื่นที่สัมพันธ์กับมิติของสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต การใช้ประโยชน์ของทรัพยากรน้ำและความยั่งยืนของชุมชน
กิตติกรรมประกาศ
ผลงานวิจัยฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แพลตฟอร์มด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Sustainable Environment Research Platform) (รหัสโครงการ 764002-ENV) โครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ”
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน (2564) แผนเผชิญเหตุภัยแล้งจังหวัดน่าน ปี 2564