การอ้างอิง: รัชชานนท์ เปี่ยมใจสว่าง, ศีลาวุธ ดำรงศิริ, เพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์. (2564). เรื่องจากปก: วิกฤตการณ์น้ำแล้ง...วิกฤตชาติกับการบูรณาการการจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 2).


เรื่องจากปก: วิกฤตการณ์น้ำแล้ง...วิกฤตชาติกับการบูรณาการการจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

รัชชานนท์ เปี่ยมใจสว่าง, ศีลาวุธ ดำรงศิริ, เพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...” (พระราชทานเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529) และ “...เคยพูดมาหลายปีแล้ว ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำที่พอเพียงและเหมาะสม คำว่า ‘พอเพียง’ ก็หมายความว่าให้มีพอในการบริโภค ในการใช้ ทั้งในด้านการใช้บริโภคในบ้าน ทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมก็ต้องมีพอ ถ้าไม่มีพอทุกสิ่งทุกอย่างก็จะชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภูมิใจว่าประเทศเราก้าวหน้าเจริญ ก็จะชะงักไม่มีทางที่จะมีความเจริญถ้าไม่มีน้ำ” (พระราชทานเมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536) เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ให้แก่พสกนิกรชาวไทยให้เห็นถึงความสำคัญของน้ำ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และการพัฒนาประเทศโดยแท้จริง

การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง การขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ได้ส่งผลให้ภาวะการขาดแคลนน้ำมีความรุนแรงและความถี่เพิ่มมากขึ้น องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภาวะการขาดแคลนน้ำนี้จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความอยู่รอดของประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก จึงได้กำหนดให้การขาดแคลนน้ำเป็น “วาระเร่งด่วนของโลก”

การบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำและภัยแล้งนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการวิเคราะห์สถานการณ์ จัดทำนโยบายและแผนการจัดการ พร้อมกับการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดการบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์และพื้นที่ และเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำนั้นสามารถส่งเสริมการพัฒนาของพื้นที่นั้นให้มีความมั่นคง (Security) ความมั่งคั่ง (Wealth) ความยั่งยืน (Sustainability) ได้มากที่สุด