การอ้างอิง: ศิริรัตน์ สังขรักษ์, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ. (2563). ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อทรัพยากรน้ำและการจัดการ. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 1).
บทความ: ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อทรัพยากรน้ำและการจัดการ
ศิริรัตน์ สังขรักษ์ 1 พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์ 2 อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์ 1 และ สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ 2,*
1 ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
2 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
* E-mail: suthirat.k@chula.ac.th
1. บทนำ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและท้าทายทั้งในระดับโลกและภูมิภาค โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศได้สันนิษฐานว่าการสะสมของกลุ่มก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์น่าจะเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นน้ำและผิวดิน ซึ่งผลการตรวจวัดโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (AR5 Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change) พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.85 [0.65 ถึง 1.06] องศาเซลเซียสในรอบศตวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ การเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุณหภูมิผิวโลกนี้เองยังเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญทำให้เกิดการละลายตัวของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การเกิดภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงในหลายพื้นที่และหลายรูปแบบภัย อาทิเช่น ภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างฉับพลันจากปริมาณการเกิดฝนที่เปลี่ยนแปลงไป การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงปริมาณและคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจากการแปรผันของปริมาณฝนในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงภาวะสภาพอากาศแบบสุดโต่ง (Extreme Weather Events) ที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความแปรปรวนทางระบบภูมิอากาศและภัยพิบัติต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากปัญหาโลกร้อน (ตารางที่ 1) ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อแนวโน้ม ความรุนแรงและความถี่ในการเปลี่ยนแปลงระบบภูมิอากาศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ร้อยละ 23 ของประเทศได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในหลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำท่วมฉับพลัน อันเนื่องมาจากปริมาณฝนตกที่เพิ่มมากขึ้น การเกิดภัยแล้งและการรุกล้ำของน้ำทะเลซึ่งผลการตรวจวัดระดับน้ำทะเลจากสถานีตรวจวัดทั้ง 4 สถานีในอ่าวไทย พบว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตรา 3.0 - 5.0 มิลลิเมตรต่อปี ในรอบ 60 ปี (พ.ศ. 2438 – 2547) การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลต่อระบบนิเวศในธรรมชาติ เช่น อุณหภูมิของแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมักผันแปรตามอุณหภูมิของอากาศ โดยเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำลดลง เป็นต้น ผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของที่ดิน คุณภาพชีวิตของประชาชน ประสิทธิภาพของระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เกี่ยวข้องกับปริมาณ ความเข้มข้น และรูปแบบของสารอินทรีย์ อนินทรีย์ ธาตุอาหาร จุลินทรีย์และมลสารต่างๆ (รายละเอียดแสดงเพิ่มเติมในหัวข้อ 3)
ตารางที่ 1 รูปแบบและระดับความเสี่ยงต่อภัยพิบัติธรรมชาติของประเทศไทย (จำแนกตามประเภทภัย)
ประเภทภัย | ความรุนแรง | ความอ่อนไหว | ความสามารถในการจัดการ | แนวโน้มการเกิด |
น้ำท่วม | สูง | ปานกลาง | ปานกลาง | สูง |
ดินถล่ม | สูง | ปานกลาง | ต่ำ | สูง |
วาตภัย | ปานกลาง | ปานกลาง | ปานกลาง | ปานกลาง |
ภัยแล้ง | สูง | ปานกลาง | ปานกลาง | ปานกลาง |
อัคคีภัย | สูง | ปานกลาง | ปานกลาง | ปานกลาง |
ภัยระเบิด | สูง | ปานกลาง | ปานกลาง | ปานกลาง |
แผ่นดินไหว | น้อย | น้อย | ต่ำ | ปานกลาง |
อุบัติภัย | สูง | ปานกลาง | ต่ำ | สูง |
สึนามิ | สูง | ปานกลาง | ปานกลาง | ปานกลาง |
ที่มา: Center for Excellence in Disaster Management and Humanitarian Assistance (2015)
2. สถานการณ์ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อทรัพยากรน้ำ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงการกระจายตัวของฝน ปริมาณฝนรายปี การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยในชั้นบรรยากาศ ความผันแปรทางสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศดังกล่าวล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกวิทยาทั้งมิติปริมาณและคุณภาพน้ำ ดังนี้
2.1 ผลกระทบเชิงปริมาณ: สถิติปริมาณฝนรายปีที่ต่างไปจากฝนปกติ
ปี พ.ศ. 2560 เป็นปีที่สภาวะอากาศของประเทศมีความผันแปรผิดไปจากค่าปกติมาก โดยปริมาณฝนเฉลี่ยของประเทศสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 27 และนับเป็นปีที่มีค่าสูงที่สุดในรอบคาบเวลา 67 ปี (พ.ศ. 2494 – 2560) โดยเกือบทุกภาคของประเทศไทยพบฝนตกชุกหนาแน่นเกือบตลอดปี (รูปที่ 1) และช่วงเดือนมกราคมพบปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยร้อยละ 130 – 600 ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2561 พบการรายงานค่าปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปริมาณรวมในปี พ.ศ. 2560 หากแต่ ภาพรวมของประเทศได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนกำลังแรง (พายุดีเปรสชัน) ที่เคลื่อนเข้าสู่ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและปัญหาน้ำหลากเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ (ศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา, 2561) นอกจากนี้ งานวิจัยของ Southeast Asia START Regional Center (2006) ยังได้ศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อปริมาณน้ำในลุ่มน้ำอาศัยแบบจำลอง Variable Infiltration Capacity (VIC) หรือแบบจำลองข้อมูล precipitation-runoff ซึ่งประมวลผลโดยการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยาและธรณีวิทยาประกอบการพิจารณา ได้แก่ ข้อมูลอุณหภูมิสูงสุด-ต่ำสุด ข้อมูลน้ำฝน ลักษณะและคุณสมบัติของดิน ความสูงจากน้ำทะเลและการจัดการลุ่มน้ำ เป็นต้น และงานวิจัยดังกล่าวยังได้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ประเภท Conformal Cubic Atmospheric Mode (CCAM) ซึ่งเป็นการจำลองสภาพภูมิอากาศโดยการคำนวณภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เป็นต้น ผลการศึกษาพบว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำสาขาส่วนใหญ่ของแม่น้ำโขงในประเทศลาวและไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้น และยังมีความสัมพันธ์กับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น (540 ppm) นอกจากนี้ ผลคาดการณ์ปริมาณน้ำในเกือบทุกลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อชั้นบรรยากาศมีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 720 ppm การดำเนินการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมสำหรับอุทกภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับมือต่อผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รูปที่ 1 ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยปี พ.ศ. 2560 (ก) – 2561 (ข) และปริมาณที่ต่างจาก
ค่าปกติ (ศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา, 2561)
2.2 สถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทย
นอกจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้ปัญหาภัยแล้งของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเห็นเด่นชัดมากขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยรายงานว่า ปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่ไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติค่อนข้างมาก โดยมีค่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยและค่าอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติ 0.85 และ 0.75 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และยังพบปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีของประเทศต่ำกว่าค่าปกติสูงถึงร้อยละ 11 ในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังได้รายงานปัญหาภัยแล้งในปีพ.ศ. 2558 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยซึ่งมีสาเหตุเกิดจากภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2557 ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ประสบภัยแล้ง 58 จังหวัด 19,244 หมู่บ้านมีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย (รูปที่ 2) คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 736,515,428 บาทโดยประมาณ
รูปที่ 2 จำนวนพื้นที่ของประเทศไทยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พ.ศ. 2554 – 2558
(สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2559)
3. ผลกระทบด้านคุณภาพน้ำ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของแหล่งน้ำ โดยการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพและเคมี อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง อัตราการระเหยของน้ำ และปริมาณตะกอนแขวนลอย โดยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศในช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2494-2551) ส่งผลให้คุณภาพน้ำในบริเวณแม่น้ำตอนล่าง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอากาศทำให้อัตราการระเหยของน้ำเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การศึกษาของ Chaowiwat & Likitdecharote (2009) พบว่าอุณหภูมิที่สูงและระยะเวลาฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้นในอนาคตส่งผลกระทบต่ออัตราการระเหยน้ำสู่ชั้นบรรยากาศ และแบบจำลองภูมิอากาศโลก CCGCM2 และ HadCM3 GCM ภายใต้สถานการณ์ที่มีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นตามภาพฉายอนาคต (Scenarios) แบบ A2 ซึ่งคาดการณ์ปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยพิจารณาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักในสภาวะประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย และ B2 มุ่งเน้นการความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค ในภาวะที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (แต่น้อยกว่าแบบ A2) โดยผลการใช้แบบจำลองในพื้นที่บริเวณทางตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 2020 , 2050 และ 2080 แสดงให้เห็นว่าค่าอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ในขณะที่ค่าอัตราการคายระเหยสูงสุดของน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.4% ถึง 2.67% และ0.06% ถึง 1.17% ตามลำดับ ในกรณีที่ค่าอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดมีค่าเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีฐาน ค.ศ. 1974-1985 ตามลำดับ
นอกจากนี้ การผันแปรของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศยังส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลดลง การรุกล้ำของน้ำทะเลมากขึ้น และยังส่งผลให้ค่าความเข้มข้นของอิออนในแหล่งน้ำเพิ่มสูงขึ้น เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม คลอไรด์ ซัลเฟต ไบคาร์บอเนต และโบรไมด์ และการเพิ่มขึ้นของอิออนดังกล่าวยังส่งผลให้แหล่งน้ำธรรมชาติมีค่าการนำไฟฟ้า (EC) และค่าความเป็นด่าง (pH) เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบค่าปริมาณตะกอนแขวนลอยในบริเวณปากแม่น้ำในช่วงฤดูร้อนในสัดส่วนที่สูงกว่าช่วงฤดูฝน และขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอุณหภูมิเฉลี่ยในชั้นบรรยากาศยังส่งผลกระทบต่อปริมาณและความเข้มข้นของสารอินทรีย์ละลายน้ำ (Dissolved Organic Matter, DOM) ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเกิดสารพลอยได้จากการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection by-products, DBPs) จากกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ซึ่งสารดังกล่าวนี้เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการก่อมะเร็ง มีความเป็นพิษและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างของสาร DBPs ได้แก่ สารประกอบ Trihalomethanes (THMs) ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างสารกลุ่มฮาโลเจน เช่น คลอรีนอิสระ โบรไมด์กับสารอินทรีย์ละลายน้ำ (DOM) โดยสารประกอบ THMs ที่มักตรวจพบ ได้แก่ คลอโรฟอร์ม (Chloroform) โบรโมไดคลอโรมีเทน (Bromodichloromethanes) ไดโบรโมคลอโรมีเทน (Dibromochloromethanes) และ โบรโมฟอร์ม (Bromoform) สำหรับผลจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศต่อความเข้มข้นของสาร DBPs การศึกษาของ (Delpla et al., 2009) รายงานว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 15 องศาเซลเซียสส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของสารประกอบ THMs ประมาณ 2 - 4 เท่า เมื่อเทียบกับสภาวะปกติ ขณะเดียวกัน การศึกษาของ De Macedo et al. (2017) ยังพบค่าความเข้มข้นของคาร์บอนอินทรีย์ละลายน้ำ (Dissolved organic carbon, DOC) ที่มีค่าสูงในช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์จำลองการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำหนดให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นตามภาพฉายอนาคตแบบ A1FI (intensive fossil fuel scenario หรือ การจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาศัยการพัฒนาที่ขึ้นกับพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมันและถ่านหิน เป็นหลัก) และ B1 ซึ่งเป็นการจำลองการพัฒนาที่ประชากรเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับ A1 และลดลงจากนั้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีการใช้เทคโนโลยีสะอาดและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ แต่ไม่มีการนำประเด็นภูมิอากาศเป็นแรงจูงใจ ผลการใช้แบบจำลองพบว่าการแทรกตัวของน้ำเค็มจะมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต (สนิท วงษา และคณะ,2552) ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในบ่อน้ำตื้น บริเวณพื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคของชุมชนในพื้นที่ชายฝั่ง นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยเสริมต่อการก่อตัวของสาร DBPs โดยเฉพาะสารในกลุ่ม Brominated-THMs หลังจากกระบวนการฆ่าเชื้อโรค จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการศึกษาและเฝ้าระวังผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อคุณภาพของแหล่งน้ำธรรมชาตินับเป็นประเด็นที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและบรรเทาความเสี่ยงด้านสุขอนามัยของประชาชนในการอุปโภคและบริโภคน้ำทั้งในสภาวะปกติและสภาวะภัยพิบัติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม (รูปที่ 3)
รูปที่ 3 ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับปริมาณและคุณภาพของแหล่งน้ำ
การปรับปรุงคุณภาพน้ำ และสุขภาพอนามัยของประชาชน (ดัดแปลงจาก Delpla et al., 2009)
บทสรุป - ประเด็นท้าทายและการจัดการ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศแบบสุดโต่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญ เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศส่งผลกระทบต่อความรุนแรงของอุทกภัยในหลายรูปแบบและยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายมิติ อาทิ ประเด็นการปรับตัวและขีดความสามารถของชุมชนในการปรับตัวต่อปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมไปถึงประเด็นความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัยในการรับสัมผัสมลสารในแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนจากผลของสภาพภูมิอากาศ/อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลง กล่าวโดยสรุปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องร่วมวางแผนแบบบูรณาการเพื่อเตรียมความพร้อมและตั้งรับผลกระทบทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของแหล่งน้ำครอบคลุมหลายประเด็นดังนี้
การตรวจวัดและเฝ้าระวังผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อคุณภาพแหล่งน้ำ ภาครัฐและหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องควรวางแผนติดตามและตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำเป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือในช่วงวิกฤตอุทกภัยหรือภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อการตรวจพบการเพิ่มขึ้นของสาร DBPs หลังจากกระบวนการฆ่าเชื้อโรคสำหรับน้ำที่ใช้เป็นแหล่งอุปโภคและบริโภค รวมถึง การพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกเชิงวิศวกรรมและวางแผนปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินจากวิกฤตอุทกภัยหรือภัยแล้ง เพื่อเป็นการบรรเทาและลดความเสี่ยงต่อการรับสัมผัสมลสารที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ทันท่วงทีและถูกหลักวิชาการ
ความเสี่ยง ความเปราะบางและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำ โดยทั่วไปแล้ว การประเมินสมดุลของน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ อาจใช้เป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อทรัพยากรน้ำได้ อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น การมุ่งเน้นศึกษาประเด็นการปรับตัวของภาคส่วนต่างๆที่จะได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำทั้งในประเด็นปริมาณและคุณภาพน้ำอย่างบูรณาการจึงเป็นประเด็นการจัดการที่สำคัญและเร่งด่วน
การจัดการและวางแผนการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ การวางแผนวิศวกรรมสำหรับระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ การจัดหาน้ำสำหรับชุมชน การจัดการน้ำเสีย ควรคาดการณ์และวางแผนครอบคลุมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต ตลอดจนการกำหนดแผนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำและที่ดินในรูปแบบที่เหมาะสมกับความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
กิตติกรรมประกาศ
คณะผู้วิจัยขอขอบคุณทุนวิจัยจาก Kurita-AIT Research Grant 2018 ที่สนับสนุนการศึกษาวิจัยและบทความวิชาการนี้
เอกสารอ้างอิง
Center for Excellence in Disaster Management and Humanitarian Assistance. (2015) Retrieved from https://reliefweb.int/report/thailand/disaster-management-reference-handbook-2015-thailand
Chaowiwat, W. and Likitdecharote, K. (2009). Effect of climate change on potential evapotranspiration case study: lower Chaopraya basin. In proceeding of the 1 NPRU Academic Conference: 75-83.
Delpla I, Jung AV, Baures E, Clement M, Thomas O. (2009) Impacts of climate change on surface water quality in relation to drinking water production. Environment international. 1;35(8):1225-33.
De Macedo MD, Alves JD, Monteiro AS, Garcia CA. (2017) Characterization of dissolved organic matter in an urbanized estuary located in Northeastern Brazil. Environmental monitoring and assessment. 1;189(6):272.
Southeast Asia START Regional Center. (2006). Final technical report AIACC AS07: Southeast Asia Regional vulnerability to changing water resource and extreme hydrological events due to climate change. Southeast Asia START Regional Center Technical Report No.15, Bangkok, Thailand.
ศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา, 2561 https://www.tmd.go.th/programs/uploads/yearlySummary/สรุปปี%202560up2.pdf [23 ตุลาคม 2561]
สนิท วงษา, ชัยวัฒน์ เอกวัฒน์พานิชย์ และเกรียงไกร ตรีฤทธิวิทยา. 2552. ผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อพฤติกรรมทางชลศาสตร์และความเค็มของแม่น้ำท่าจีน. บทความวิชาการใน The 4th THAICID National SYMPOSIUM, 19 มิถุนายน 2552 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพ.
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ฐานข้อมูลเพื่อการรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ 2559. http://www.onep.go.th/env_data/wp-content/uploads/2016/08/77.pdf [23 ตุลาคม 2561]