การอ้างอิง: สุริชัย หวันแก้ว. (2564). อนาคตของการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง - การเมืองแบบเดิมนำพาเราก้าวล้ำเส้นอันตรายแห่งพิภพไปแล้ว. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1).
บทความ: อนาคตของการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง - การเมืองแบบเดิมนำพาเราก้าวล้ำเส้นอันตรายแห่งพิภพไปแล้ว
สุริชัย หวันแก้ว
การดำเนินชีวิตของมนุษย์บนผืนแผ่นดินนี้ได้กลายเป็นแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อระบบทั้งมวลของผืนพิภพไปแล้ว ทำให้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลกอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีเมื่อไรก็ได้ เรื่องนี้เป็นแรงกระตุ้นให้ความสนใจของชาวโลกรวมศูนย์ไปที่เมือง ฟุกุชิมา ญี่ปุ่นและเรื่องพายุทอร์นาโดในหลายจุดในสหรัฐอเมริกา ในด้านหนึ่ง คณะนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกจากยุโรป อเมริกา และเอเชียจากหลายสาขาวิชาจำนวน 28 คนได้นำเสนอบทความทางวิชาการร่วมกันเรื่อง พรมแดนแห่งพิภพ : สำรวจเขตพื้นที่มนุษย์ดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย (Planetary boundaries: Exploring the Safe Operating Space for Humanity)
คณะนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้นิยาม “พรมแดนแห่งพิภพ” ว่าภายในเขตพื้นที่ดังกล่าวนี้มนุษย์เราสามารถมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยปลอดภัย ไม่ต้องหวาดหวั่นอันตรายหรือความเสี่ยงใด ๆ แต่ถ้าหากมนุษย์เราก้าวล่วงเขตแดนเขตใดเขตหนึ่ง หรือหลายเขตสามารถจะเป็นผลร้ายหรืออาจก่อความเสียหายขนานใหญ่ได้เพราะความเสี่ยงอันตรายจากการก้าวข้ามเขตแดนนั้น ๆ ไปอาจจะกระตุ้นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมอย่างฉับพลันในระดับที่กว้างใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนได้ เช่น
ผลสะเทือนอย่างเป็นระบบในรูปของภัยพิบัติระดับอนุทวีป ทวีป หรือแม้แต่ ผืนพิภพได้
ข้อสรุปเบื้องต้นของคณะผู้เขียน ซึ่งมีพอล ครุทเซน* นักเคมีผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี พ.ศ. 2538 รวมด้วย พวกเขาระบุว่ามีพรมแดนแห่งพิภพอยู่ 9 แดน ขณะที่องค์ความรู้ทางวิชาการวิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันสามารถเสนอตัวชี้วัดทางด้านปริมาณอย่างชัดเจนได้ 7 แดนและมีอีก 2 เขตแดนที่ยังไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนในเชิงปริมาณ แต่มีองค์ความรู้ที่ยืนยันว่าเป็นเขตแดนสำคัญที่มีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นแล้ว
*Prof. Paul J. Krutzen เคยปาฐกถา ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เรื่อง “มลพิษทางอากาศในเอเชียและผลกระทบต่อภูมิอากาศในภูมิภาคและทั่วโลก” นอกจากนั้นได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้ชุดโครงการ "Bridges - Dialogues Towards a Culture of Peace" สนับสนุนโดย The International Peace Foundation สามารถรับชมการปาฐกถาได้ที่ [ออนไลน์] สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=BacSUkl18rs ศาสตราจารย์ครุทเซน เพิ่งถึงแก่กรรมเมื่อเร็วนี้เอง (28 มกราคม พ.ศ. 2564 (2021))
พรมแดนดังกล่าวได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
2. การที่มหาสมุทรแปรเปลี่ยนเป็นกรด (Ocean Acidification)
3. การขาดหายไปของชั้นโอโซน
4. วงจรกำมะถันกับวงจรไนโตรเจนของโลก
5. อัตราการสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ
6. ปริมาณน้ำจืดของโลก
7. การเปลี่ยนแปลงของระบบดิน
8. มลภาวะด้านเคมี
9. การบรรจุของแอโรโซลในโลก
เขตแดนต่าง ๆ เหล่านี้มิได้เป็นเอกเทศจากกัน หากแต่ว่าสามารถจะมีผลต่อกันและกันได้ บางกรณีมีผลต่อกันอย่างเป็นการเสริมแรงอย่างทวีคูณ การเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งสามารถส่งผลกระทบข้ามทวีปไปได้ เช่น การลดลงของพื้นที่ป่าในเขตอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้สามารถส่งผลให้ทรัพยากรน้ำในทวีปเอชียลดลงได้ แสดงว่าเขตแดนของน้ำจืดนั้นอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเขตแดนอื่น เช่น การใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ป่าในเขตร้อนเป็นกุญแจแห่งดุลยภาพด้านพลังงานในระดับภูมิภาคและในระดับโลกตลอดจนในวงจรของระบบน้ำ (Hydrological Cycles) ต่าง ๆ
การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศในธิเบตส่งผลโดยตรงต่อทรัพยากรแหล่งน้ำของทวีปเอเชีย ทั้งนี้เพราะเขตภูเขาน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัย-ฮินดูกูชทั้งเขตสามารถเก็บน้ำจืดได้ในปริมาณมหาศาล แหล่งน้ำจืดนี้เองหล่อเลี้ยงชีวิตและเป็นที่พึ่งพาของประชากรประมาณ 500 ล้านคนในทวีปเอเชีย การรายงานข่าวเรื่องภูเขาน้ำแข็งที่หิมาลัยละลายเร็วกว่าปกติหลายปีก่อนจึงเป็นที่มาของทรัพยากรน้ำผันผวนอย่างมากผิดฤดูกาล และปัญหาน้ำท่วมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในหลายพื้นที่รวมทั้งในหลายจังหวัดของประเทศไทย
โยฮัน ร๊อคสตรอม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสตอคโฮล์ม นักวิทยาศาสตร์ผู้เขียนหลักของคณะนักวิทยาศาสตร์ 28 คนนี้ได้นำเสนอสาระสำคัญของบทความนี้ ในการประชุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2546 ในหัวข้อเรื่อง การเติบโตอย่างยั่งยืนภายในพรมแดนแห่งพิภพที่มีพื้นที่ดำเนินการอันปลอดภัย (Sustainable Growth within the Safe Operation Space of Planet boundaries)
การนำเสนอของเขาทำให้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ชั้นสูงหลายสาขาวิชาจากระดับโลกมิใช่เป็นแต่เพียงเรื่องราวบนหอคอยงาช้างอีกต่อไป ภาพผังและกราฟฟิคที่มีพื้นฐานมาจากผลงานวิจัยทำให้คนทั่วไปที่มิใช่นักวิทยาศาสตร์เช่นผู้เขียนเองสามารถสัมผัสเนื้อหาของเรื่องราวได้อย่างสะดวก ขณะเดียวกันท่าทีถ่อมตัวของผู้เสนอที่เน้นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังขาดความแม่นยำและขาดความถูกต้องอยู่ จึงต้องการแลกเปลี่ยนและปรับทุกข์เรื่องอนาคตกับผู้ฟัง
ข่าวดีได้แก่ข้อที่ว่า บัดนี้เรามีองค์ความรู้พอจะกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างมนุษย์เราจำนวนราว 6,000 ล้านคนกับธรรมชาตินั้นมีพรมแดน และมีพรมแดนอยู่ 9 เขตแดนที่การดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้กลายเป็นภาระที่หนักอึ้งแก่ธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่ต้องวิตก
แต่ข่าวร้ายได้แก่ มนุษยชาติได้ก้าวพ้นเขตแห่งความปลอดภัยไปสู่แดนอันตรายไปแล้ว 3 พรมแดนที่ว่าได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ)
2. การสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
3. การที่ท้องทะเลมหาสมุทรแปรเปลี่ยนเป็นกรด
ที่ร้ายกว่านั้น คือว่าขณะที่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในโลก ชี้ให้เห็นโดยปราศจากข้อกังขาว่านับแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลกเป็นต้นมา ปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นทวีคูณ สิ่งที่ชัดแจ้งต่อหน้าเราได้แก่ข้อที่ว่าในปัจจุบันตัวปัญหาจากน้ำมือมนุษย์เหล่านี้วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วนี้ ตัวโครงสร้างและกลไกอันเป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหา กลับกระจัดกระจายและยังไม่มีวี่แววว่าจะปฏิรูปตัวได้ทันความจำเป็น และการพัฒนาแนวทางสร้างปัญหาก็ยังถูกผลักดันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การพัฒนาแนวทางลดปัญหายังเป็นจริงอยู่อย่างกระท่อนกระแท่น
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นภายหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิหลายครั้งที่ผ่านมา นับว่าเป็นที่รับทราบกันอย่างกว้างขวาง ผลต่อเนื่องถึงการที่ระบบต่าง ๆ ของโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ฟุคุชิมะล่มจนสารกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปทั้งในดิน ในน้ำ และในพื้นที่ข้างเคียง เป็นเหตุการณ์วิกฤตต่อเนื่องที่ยังไม่มีวี่แววที่จะอยู่ในการควบคุมได้อีกต่อไป เหตุการณ์วิกฤตสามชั้นของญี่ปุ่นจึงถือเป็นสัญญาณเตือนภัยครั้งสำคัญยิ่งต่อมนุษยชาติ หลายประเทศได้แสดงความจริงจังต่อการเรียนรู้ต่อเรื่องนี้จวบจนเป็นมติแห่งประชาคมระดับโลก**
**ความคืบหน้าที่สำคัญที่สุด ได้แก่ มติของสหประชาชาติในการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2015 และเราสามารถพิจารณาบทบาทของมโนทัศน์สำคัญในเรื่องนี้ได้ใน Biermann, Frank & Kim, Rakhyun. (2020). The Boundaries of the Planetary Boundary Framework: A Critical Appraisal of Approaches to Define a “Safe Operating Space” for Humanity. Annual Review of Environment and Resources. 45(1).
กระนั้นสิ่งที่เลวร้ายที่น่าห่วงใยที่สุดคือ เราทั้งหลายในโลกดูจะยังไม่สำนึกว่าชีวิตเราล้ำเส้นเข้ามาในแดนอันตรายแล้ว มิหนำซ้ำข้อเท็จจริงที่ต้องตระหนักคือ มีประชากรส่วนน้อยของโลกที่ดำเนินกิจกรรมล้ำเส้นอันตรายนี้เข้าไปแต่ทว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นกลับเกิดกับประชากรทุกคนบนพื้นพิภพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชุมชนและกลุ่มคนที่ดำเนินชีวิตในระดับพื้นฐานสอดคล้องกับหลักธรรมชาติเสียด้วย
สำหรับประเทศไทยการมุ่งการพัฒนาโดยการใช้ตัวเงินเป็นตัวนำ ยังครองทิศทางการเมืองและการพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งอยู่ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่แสดงสำนึก “จะแก้ไขในสิ่งผิด” หากแต่อบอวลด้วยกลิ่นอายของการส่งเสริมยาเสพติด “ประชานิยม”
ถ้าหากการคิดเรื่องอนาคตประเทศยังไม่พ้นจากอาการเสพติดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่สิ้นสุดเราก็คงไม่เห็นหนทางสู่อนาคต ถ้าหากสังคมยังคงเสพติดความสะดวกสบายโดยใช้พลังงานจำนวนมากโดยมิได้ตระหนักถึงภาระต่อสภาวะแวดล้อม มิหนำซ้ำละเลยมิได้ใส่ใจมิติของความเป็นธรรม ความพอเพียง และไม่เห็นว่าสังคมมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติต่อไปแล้วไซร้ ความเร็วของความเจริญที่มีอัตราเร่งของ “อ้อมกอดอำมหิต” ย่อมจะไม่มีทางชะลอลงได้เลย ขณะเดียวกันนั้นก็ยากที่จะมีการดำเนินการเพื่อการกลับลำการพัฒนาที่ลดภาระแรงกดดันต่อแม่พระธรณี หากไม่เกิดสำนึกใหม่ในการเรียนรู้ร่วมกันให้เข้มแข็งและกว้างขวาง การสร้างความร่วมมือกันเพื่อฉุดลากมนุษย์ให้ออกจากเส้นทางอันตรายก็จะยิ่งยากเย็นกว่าเดิมอีกมากมายนัก
ภายหลังการรัฐประหาร 2549 และ 2553 ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายยุคที่ชนชั้นนำเห็นความสำคัญของการมี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อให้เป็นกรอบกำหนดการจัดสรรงบประมาณและการดำเนินกิจการของประเทศสู่อนาคต ในทางวิชาการทางสังคมวิทยา รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แล้ว
เราสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า แนวทางเช่นนี้ให้น้ำหนักแก่ “การบริหาร” ให้อยู่เหนือ “การเมือง” และทำนองเดียวก็เป็นการเพิ่มอำนาจแก่ราชการมีบทบาทหลักแทนที่จะให้ภาคสังคมรวมกันกำกับดูแลความเสี่ยงร่วมกัน เราดำเนินการพัฒนาประเทศตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การลดพื้นที่การคิดอ่านร่วมกันในสังคมและสาธารณะลง ขณะที่ขยายพื้นที่การปฏิบัติตามแนวยุทธศาสตร์และตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้จาก “เบื้องบน”มากขึ้น แต่ปัจจุบันเป็นที่ตระหนักมากขึ้นว่าการพึ่งพาอาศัยแต่บทบาทของชนชั้นนำแต่อย่างเดียวจนกลายเป็นการติดกับดักหรือวังวนการพัฒนาแบบเดิมๆ เปิดพื้นที่ในการคิดอ่านร่วมกันให้ขว้างขวางขึ้นจะเป็นการสร้างพลังมุ่งไปสู่อนาคตที่ที่ยั่งยืน โจทย์ท้าทายการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ทั้งนักการเมืองและประชาชนต้องช่วยกันตอบ แต่เหนือไปกว่านั้นได้แก่ความเข้มแข็งของสติปัญญาสาธารณะ สังคมจำต้องตื่นตัวไม่ฝากชีวิตอนาคตไว้ตามวงจรและกับดักทางการเมืองแบบเดิม ๆ การเดินทางท่ามกลางความเสี่ยงอันตรายในระดับโลก (Global Risks) เหล่านี้เรียกร้องให้เราสนใจนิเวศวิทยาแห่งนโยบาย (ecology of policy making) อันได้แก่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการระดม “สติ” และปัญญาในระดับบุคคลและในระดับสังคม ดังนั้น ในการนี้มหาวิทยาลัยจำเป็นอย่างยิ่งในการทบทวนตนเองจัดวางบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนอนาคตกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาสังคมและภาคประชาชน ให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องด้วย
หมายเหตุ: ปรับปรุง 16 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.30 น.
เอกสารอ้างอิง
สุริชัย หวันแก้ว. (2561). “วาระการพัฒนาโลกกับอนาคตไทย - กระแสปฏิรูปอ่อนล้าหรือเดินในเขาวงกต? - ”.
วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 44(1): 1-18. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/socku/article/view/181175
Biermann, Frank & Kim, Rakhyun. (2020). The Boundaries of the Planetary Boundary Framework: A Critical Appraisal of Approaches to Define a “Safe Operating Space” for Humanity. Annual Review of Environment and Resources. 45(1).
World Economic Forum. (2021). The Global Risks Report 2021. 16th edition. the World Economic Forum. [Online]. Retrieved from https://www.weforum.org/reports/the-global-risks-report-2021