กิจการรีไซเคิลขยะพลาสติก!

จากกรณีปัญหากลุ่มโรงงานใน ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้แก่ บริษัท อิฟง จำกัด บริษัท ไทยฟุง 2020 จำกัด และ บริษัท ชุนฟุงฮง จำกัด ได้มีการประกอบกิจการรีไซเคิลขยะพลาสติกโดยที่ไม่ได้แจ้งขอประกอบกิจการโรงงานกับอุตสาหกรรมจังหวัด ต่อมาได้ลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลภายในโรงงานอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงและมีการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2567 และต่อมาในช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 พบว่ามีการลักลอบขนกากตะกรันสังกะสี

ที่ปนเปื้อนแคดเมียมจากจังหวัดสมุทรสาครมาเก็บที่โรงงานในช่วงเดือนเมษายน จึงเป็นที่มาของการตรวจค้นและทำการอายัดกากตะกรันสังกะสีฯ ดังกล่าวไว้ทั้งหมดและเจ้าของโรงงานได้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

การลักลอบขนย้ายและสะสมกากอุตสาหกรรมปนเปื้อนแคดเมียม!

ด้วยห่วงใยต่อประเด็นปัญหาความเสี่ยงของแคดเมียมและโลหะหนักอื่น ๆ ที่อาจแพร่กระจายและส่งผลกระทบต่อประชาชนใกล้เคียง สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจวิเคราะห์โลหะหนักได้ จึงได้ดำเนิน “โครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนแคดเมียมจากการลักลอบขนย้ายและสะสมกากอุตสาหกรรมปนเปื้อนแคดเมียม พื้นที่ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี” ภายใต้งบประมาณของสถาบันฯ ในช่วงเดือนพฤกษภาคม-กรกฎาคม 2567

เพื่อศึกษาระดับความเข้มข้นและการปนเปื้อนของแคดเมียม (Cd) ทองแดง (Cu) และตะกั่ว (Pb) ในพื้นที่ศึกษาและประเมินระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ศึกษาจากการรับสัมผัสโลหะหนักดังกล่าว

ทางโครงการได้ดำเนินการวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักแล้วเสร็จ จึงได้จัดงานเสวนาวิชาการ “ถอดบทเรียนคลองกิ่วสู่การปฏิรูประบบกำกับดูแลมลพิษอุตสาหกรรม” ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 13 อาคารสรรพศาสตร์วิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom meeting) เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและเปิดเวทีให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม

ในการแลกเปลี่ยนมุมมองถอดบทเรียน นำไปสู่ข้อเสนอแนะทางวิชาการและขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูประบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดเสวนาดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาวิชาการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 89 ท่านประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ จากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน นิสิตนักศึกษา บทความนี้มุ่งที่จะนำเสนอประเด็นอภิปรายของวิทยากรและข้อเสนอแนะเชิงนนโยบาย

การเสวนาและสรุปผลการศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่คลองกิ่ว!

ภาพรวมของการเสวนาและสรุปผลการศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่คลองกิ่ว

ในช่วงแรกเป็นการนำเสนอภาพรวมที่มาที่ไปกรณีปัญหาโรงงานในพื้นที่คลองกิ่ว โดยคุณเพ็ญโฉม

แซ่ตั้ง และนำเสนอผลการศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่คลองกิ่วโดย ดร.ศีลาวุธ ดำรงศิริ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ จากนั้น จึงเป็นการเปิดเวทีเสวนา โดยมีวิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม ดังนี้

  • คุณปริญญ์ ม่วงสังข์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ - ผู้อำนวยการกลุ่มจัดการกากอุตสาหกรรม 2, กรมโรงงานอุตสาหกรรม

  • คุณยุทธนา ตันวงศ์วาล - ผู้อำนวยการส่วนตรวจและบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 (ชลบุรี)

  • คุณธนาธร ตรงสิทธิวิทู - ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม

  • คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง - ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ

  • คุณสถาพร พงศ์พิพัฒน์วัฒนา - สื่อมวลชนอิสระ

โดยมี ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี (ผู้เขียน) เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.ศีลาวุธ ดำรงศิริ นักวิจัยหลักของโครงการได้นำเสนอว่า คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่พบกับเจ้าหน้าที่จากฝ่ายปกครองอำเภอบ้านบึง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 (ชลบุรี) และเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม ในช่วงวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2567 โดยได้ทำการตรวจสอบและเก็บตัวอย่างจากดินตะกอนคูน้ำในโรงงาน ตะกรันโรงหลอม ดินริมถนนรอบโรงงาน ดินตะกอนแหล่งน้ำสาธารณะ น้ำจากน้ำใน

คูน้ำและบ่อรวมน้ำภายในบริเวณโรงงาน น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ บ่อน้ำผิวดินและบ่อน้ำใต้ดินบริเวณโดยรอบ เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลการปนเปื้อนของโลหะหนัก จากการสำรวจพบว่ากากอุตสาหกรรมที่มีการปนเปื้อนแคดเมียมยังอยู่ในถุงบิ๊กแบ๊ก บ่อน้ำทิ้งของโรงงานมีการสร้างที่ไม่ถูกวิธีน้ำเสียในบ่อสามารถล้นออกมาจากบ่อและไหลลงสู่แหล่งน้ำบริเวณโดยรอบโรงงานได้ แม้ว่าโรงงานดังกล่าวจะมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ

ไปแล้วแต่ก็ยังพบกองขยะลิเล็กทรอนิกส์ กากอุตสาหกรรมที่อยู่ในถุงบิ๊กแบ๊กกระจายอยู่โดยรอบภายในโรงงาน

ผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างดินที่เก็บจากริมถนนและรอบบริเวณโรงงาน พบว่า

ดินริมถนนบริเวณรอบโรงงาน : ไม่มีการปนเปื้อน ค่าของสารโลหะหนักมีปริมาณต่ำ ไม่พบความผิดปกติ

ดินตะกอนแหล่งน้ำสาธารณะ : พบจุดที่คาดว่าน่าจะปนเปื้อนที่จุดรับน้ำทิ้งจากโรงงาน เนื่องจาก

ค่าของปริมาณสารโลหะหนักที่สูง แต่อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นปริมาณที่เกินกว่ามาตรฐาน

ตะกรันเตาหลอม : พบการปนเปื้อน ตะกั่ว ทองแดง สังกะสี ที่สูงกว่ามาตรฐาน

ดินตะกอนคูน้ำในโรงงาน : พบการปนเปื้อนของตะกั่ว ทองแดง สังกะสี นิกเกิล โครเมียม และแคดเมียม

ผลจากการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำที่เก็บจากน้ำในคูน้ำและบ่อรวมน้ำภายในบริเวณโรงงาน น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ บ่อน้ำผิวดินและบ่อน้ำใต้ดินบริเวณโดยรอบ พบว่า

น้ำ ต้นน้ำ แหล่งน้ำสาธารณะ : ไม่พบการปนเปื้อน

น้ำ คูน้ำในโรงงาน : พบการปนเปื้อน สังกะสี นิกเกิล ทองแดง ตะกั่ว อีกทั้งยังพบความเค็มในแหล่งน้ำ

น้ำ ท้ายน้ำ แหล่งน้ำสาธารณะ : พบการปนเปื้อน สังกะสี นิกเกิล ทองแดง ตะกั่ว อีกทั้งยังพบความเค็มในแหล่งน้ำ เช่นเดียวกับภายในโรงงาน

บ่อน้ำ : พบความเค็มในแหล่งน้ำ

บ่อน้ำใต้ดิน : ไม่พบการปนเปื้อน

จากการตรวจสอบ พบการปนเปื้อนของสารอันตรายที่รั่วไหลจากบ่อน้ำทิ้งของโรงงานสู่แหล่งน้ำสาธารณะบริเวณรอบโรงงาน และไหลไปยังชุมชนโดยรอบ การปนเปื้อนของสารอันตรายบริเวณดินภายในโรงงานและบริเวณโดยรอบ อีกทั้งยังพบว่าไม่มีการจัดเก็บกากอุตสาหกรรมในโรงงานที่ถูกต้อง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลค่าพื้นฐานที่วัดจากบริเวณโรงงาน และนำมาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่า ในจุดที่มีการตรวจสอบตัวอย่างพบว่ามีปริมาณการปนเปื้อนสารอันตรายที่สูงและในบางจุดก็มีปริมาณการปนเปื้อนที่สูงกว่ามาตรฐาน

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มีข้อเสนอในระยะเร่งด่วน

ภายในเขตโรงงาน

  1. ควรหยุดการปนเปื้อนออกสู่ภายนอก
  2. ควรบำบัดจุดปนเปื้อน ได้แก่ เศษตะกรันที่ตกหล่นรอบโรงหลอม คูน้ำในโรงงาน บ่อรวบรวมน้ำ (ที่ไหลออกสู่ภายนอก)

ภายนอกเขตโรงงาน พื้นที่ท้ายน้ำ

  1. ควรบำบัดตะกอนลำน้ำช่วงที่รับน้ำทิ้ง
  2. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำในลำน้ำ (มีค่าความเค็มสูง)
  3. เฝ้าระวังการปนเปื้อนบ่อน้ำดิบ (ประปาหมู่บ้าน)

ทั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนามาจากพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ผลการตรวจวัดโลหะหนักและสารต่าง ๆ ที่พบว่ามีการ

เจือจางลงอาจมาจากที่โรงงานมีการตักตะกอนดินในบ่อที่อยู่ท้ายโรงงานที่มีการปนเปื้อนสูงออกไปฝังกลบบริเวณอื่นแล้ว เพื่อสร้างคันดินจึงทำให้เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าปนเปื้อนที่น้อยลง จึงเสนอให้มีการติดตามตรวจสอบการฝังกลบหรือคุณภาพที่บริเวณที่นำไปฝังกลบ

นอกจากนี้ มีผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีการนำกอง slag ไปถมที่ จำนวนมหาศาล แล้วสร้างเป็นพื้นที่สร้างโรงงาน จากการสร้างโรงงานนี้ นำเถ้า ตะกอนไปทิ้งต่อ ฝังกลบต่อ จนพื้นที่ฝังกลบส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่ที่ข้างถนน 331 คือข้างถนนโรงงาน ข้างล่างเต็มไปด้วยกอง slag กับ PCB ภาครัฐ ไม่น่าจะมีงบประมาณพอที่จะไปบำบัด แต่คาดหวังว่าเราจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เพราะหลังจากนี้งบประมาณที่จะต้องขุดลอกในแต่ละชั้นขึ้นมามหาศาล แล้วก็จะทำอย่างไร

สรุปประเด็นการเสวนา “ถอดบทเรียนคลองกิ่วสู่การปฏิรูประบบกำกับดูแลมลพิษอุตสาหกรรม”

  1. มุมมองต่อปัญหาคลองกิ่ว

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ในมุมของกฎหมาย: กรณีคลองกิ่ว พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535

มีช่องโหว่มาก กฎหมายมีช่องโหว่ในการบังคับใช้ ไม่ได้เป็นที่เกรงกลัวของผู้ประกอบกิจการ ทำให้มีการละเมิดหรือกระทำผิด สะท้อนว่า บทลงโทษตามกฎหมายไม่หนักพอ และการกระทำผิดแล้วสามารถเปรียบเทียบปรับได้ยิ่งทำให้ไม่สะเทือน การเปรียบเทียบปรับเมื่อคุณทำผิดหลายครั้งพอถูกเปรียบเทียบปรับก็เท่ากับทำความผิดเพียงแค่ครั้งเดียว อย่างที่สองในเรื่องของการบังคับใช้ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่มีความไม่มั่นใจในการบังคับใช้กฎหมายสูงมาก วันที่ลงพื้นที่ ได้คุยกับทางวิศวกรและอุตสาหกรรมจังหวัด ทำให้รู้สึกว่าข้าราชการไทย

กลัวผู้ประกอบกิจการไม่กล้าที่จะเข้าไปบอกว่าทำผิดกฎหมาย เช่นจุดที่มีการทำคันดินมีการเจาะเพื่อให้น้ำ

ไหลออกมาตลอดเวลา จึงถามว่าทำไมไม่สั่งปิด ได้รับคำตอบว่าสั่งแล้วแต่เขาไม่ทำ สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่กลัวกฎหมาย ไม่กลัวเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ไม่กล้าทำอะไรเขาด้วย

ประเด็นต่อมา คือ การหลั่งไหลเข้ามาของทุนจีน สังเกตได้ว่าปีที่ได้รับอนุญาตประมาณปี 2561 จนถึงปี 2566 คิดว่ามีความเชื่อมโยงกับที่ประเทศจีนมีการสั่งปิด ไม่ให้มีการนำเข้าขยะไปรีไซเคิล ไปหลอม ไปหล่อ ไปทิ้ง ไปกำจัด ไปคัดแยกในประเทศจีน จีนต้องการปฏิรูปตัวเองในการจัดการสิ่งแวดล้อมแก้ไขปัญหามลพิษอากาศและ PM2.5 จีนจึงให้ความสำคัญมากกับการควบคุมอุตสาหกรรมรีไซเคิล และมีการสั่งปิดกิจการ

รีไซเคิลไปจำนวนมากตั้งแต่ปี 2557 - 2560 แต่ในขณะเดียวกัน สถิติการรีไซเคิลพลาสติกขยะ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ โรงหลอม โรงหล่อของจีนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเร็วมากในหลายจังหวัด คาดว่าเป็นช่องโหว่

ที่สอดคล้องกับการแก้ไข พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2562 ทำให้โรงงานตั้งง่ายขึ้น มีการซื้อใบอนุญาตกันได้ มีการเช่าต่อใบอนุญาต มีช่องโหว่ที่ง่ายต่อการละเมิดกฎหมาย

คุณสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

กรณีของคลองกิ่วไม่ใช่กรณีที่เบา เพราะหากมีการปล่อยไปจะหนักหนาสาหัสมาก จากภาพถ่าย

ที่ได้รับก่อนลงตรวจสอบ เห็นถึงความสกปรก ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีรูปแบบวิธีการจัดการ ไม่ถูกควบคุมด้วยอะไรทั้งสิ้น หากกรณีนี้ถูกปล่อยไป จะเป็นอันตราย จากการลงพื้นที่ 88 ไร่ มีฝุ่นและคนงานเป็นพันคน มีอาคารมากมาย โดยที่ไม่มีใบอนุญาตเลย มีโซนเดียวที่มีใบอนุญาตแต่ก็ไม่ได้ขอประกอบกิจการ และเพิ่งรู้ว่ามีใบอนุญาต 11 ใบ เพราะในวันลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่บอกว่ามีใบอนุญาต 7 ใบ โดย 6 ใบเป็นหลอมพลาสติก อีก 1 ใบเป็น 105 คือคัดแยกของเสียไม่อันตราย จึงไม่ควรมีทั้ง e-waste พลาสติกเพราะไม่ได้แจ้งขอประกอบกิจการ เมื่อเข้าถึงโรงงาน พบคนงานเป็นพันคน มีการทำงานทุกพื้นที่บริเวณโรงงาน มีโรงหลอมอยู่ทุกอาคาร พบการขุดบ่อระหว่างการลงพื้นที่ในคูน้ำที่มีการบอกว่ามีการทลายกำแพง มีการตักให้เห็น โชคดีที่มีการหยุดยั้งได้จากกรณีของแคดเมียม

คุณธนาธร ตรงสิทธิวิทู

เคยคุยกับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เขาถามว่ากลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมทำไมไม่ไปผลักดันให้มีกฎหมายให้ซาเล้งรับซื้อขยะที่ถูกต้อง คือต้องการที่จะนำขยะจากโรงงานพวกกระป๋องสีที่ใช้แล้วส่งขายซาเล้งเป็นเศษเหล็ก กระป๋องสีก็ถูกส่งต่อไปจัดการอย่างไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องของผู้ประกอบการ

ที่มุ่งเน้นแต่จะลดต้นทุนและขายของให้ได้

ภาครัฐ มีองค์ความรู้ ถ้ามองว่าไม่ทุจริตแล้วไม่ได้ตั้งใจ อุตสาหกรรมจังหวัดมี 76 จังหวัดทั่วประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มองในแง่ดี องค์ความรู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มองในแง่ร้าย อาจมีการทุจริตทำให้เกิดกรณีของคลองกิ่ว หลับตาข้างหนึ่ง ปัจจุบัน เป็นยุคของโซเชียลแล้ว ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน มีสถานที่ให้ประชาชนเข้ามาดูว่าโรงงานนี้ประกอบกิจการอะไร ดูไม่ยากว่าโรงงานใดประกอบกิจการโรงงานเถื่อนเพราะโรงงานนั้นจะปิดทึบ ไม่มีป้ายชื่อโรงงานและปิดประตูตลอดเวลา ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสได้

คุณยุทธนา ตันวงศ์วาล

กรณีของคลองกิ่วมี 2 เหตุก่อนที่จะมีเรื่องแคดเมียม มีการร้องเรียนอยู่แล้วและหลังเกิดกรณีแคดเมียม ก็มีการร้องเรียนมาอีกจึงเป็นแรงบวกกัน กรณีโรงงานที่คลองกิ่ว ทั้งหมดคือของเสีย วัตถุดิบเป็นของเสีย กระบวนการทำให้เกิดมลพิษ ผลที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดของเสีย เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่หนักหนากว่าโรงงานปกติทั่วไป ข้างในนอกจากจะมีโรงงานใหญ่ก็จะมีโรงงานย่อย ๆ ที่ให้โรงงานอื่นมาเช่าที่อีก คล้ายกับเป็นนิคมอุตสาหกรรมแต่ไม่ใช่ มีโรงงานใหญ่คุมโรงงานย่อย เท่าที่ทราบเจ้าของมีภาพถ่ายที่ถ่ายกับผู้ใหญ่ติดไว้

เต็มไปหมด อาจเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้ไม่เกรงกลัวกฎหมาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทุกจังหวัดที่เกิดปัญหานี้ มาจากสองอย่าง อย่างหนึ่งคือความไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งของผู้ประกอบการ กรณีมีการลักลอบทิ้งหรือว่ามีการเก็บของเสียอันตราย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ขนส่ง หรือผู้ที่รับมาฝังกลบ อาจจะไม่รู้ หรืออย่างที่สอง รู้แต่ก็ยังทำ คือขาดธรรมาภิบาล ทั้งตัวผู้ประกอบการ ผู้ขนส่ง ผู้รับฝังกลบ ก็รู้ว่าจะนำมาฝังกลบก็ยินดีรับและให้ฝังกลบในพื้นที่

คุณปริญญ์ ม่วงสังข์

กรณีของคลองกิ่วตั้งแต่กลางปีที่แล้ว อุตสาหกรรมจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบโรงงาน พบว่าผู้ประกอบการเหล่านี้มีการฝ่าฝืน เป็นโรงงานเถื่อน มีการตั้งและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือบางโรงงานมีใบอนุญาตแต่ยังไม่ครบองค์ประกอบที่จะประกอบกิจการโรงงานได้ คือยังไม่มีการแจ้งประกอบกิจการซึ่งโรงงานเหล่านี้ที่ตั้งอยู่ในต.คลองกิ่วไม่มีสิทธิ์ที่จะประกอบกิจการโรงงาน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบเข้าไปประกอบกิจการจึงได้มีการสั่งการ ด้วยกฎหมายที่มี คือ พ.ร.บ. โรงงาน ได้สั่งให้หยุดดำเนินการและไม่ให้มีการฝ่าฝืนการประกอบกิจการโรงงาน หลังจากนั้น มีการเข้าตรวจสอบโรงงานเรื่อย ๆ พบว่าผู้ประกอบการยังฝ่าฝืนประกอบกิจการโรงงานอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินคดีอยู่แล้ว รวมทั้งการออกคำสั่งปกครองไปก็ยังมีการฝ่าฝืน เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าการฝ่าฝืนประกอบการโรงงานต่อไปจะมีกำไร มีเงินที่จะนำมาจ่ายค่าปรับ จึงมองว่าเรื่องของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายหรือแม้แต่บทลงโทษของกฎหมายอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการฝ่าฝืนและไม่เกรงกลัวกฎหมาย

เรื่องของการนำเข้ากากอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมมีขั้นตอนในการอนุมัติ อนุญาตโรงงาน กรณีที่จะจัดการกากอุตสาหกรรมของโรงงานของตัวเอง โรงงานผู้ก่อกำเนิดมีการนำออกต้องมีการขออนุญาตและต้องระบุปลายทาง เจ้าหน้าที่จะต้องมีการพิจารณาและให้ไปในทางที่ได้รับอนุญาตและมีการขึ้นทะเบียน

ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ยังพบว่ามีกากอุตสาหกรรมไปอยู่ที่คลองกิ่วซึ่งจะไม่สามารถไปตรงนั้นได้เลยถ้าโรงงานต้นทางทำตามกฎหมายเนื่องจากจะต้องไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต เป็นไปได้ว่า อาจจะรับมาจาก

ที่อื่นที่ไม่ใช่โรงงานและอาจรับมาจากโรงงานที่ให้ใบอนุญาตคนอื่นไปใช้หรือมีใบอนุญาตจริงแต่ไม่ได้กำจัด

ในโรงงานตัวเองจึงมาปรากฎในพื้นที่คลองกิ่ว จึงเป็นเรื่องหลักในมุมมองของเจ้าหน้าที่มองว่าจะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่คลองกิ่ว

  1. ข้อคิดเห็นต่อมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน-ระยะสั้น

คุณปริญญ์ ม่วงสังข์

ในมุมมองของผู้ถือกฎหมายอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมจังหวัด ถือกฎหมายสองฉบับ คือ พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งกรณีนี้ก็ได้มีการสั่งการตาม พ.ร.บ.โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงานไปบ้างแล้ว ผู้ประกอบการน่าจะทยอยออกไปแล้ว  หากมีการทิ้งของเสียอันตราย เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย สิ่งต่อไปที่จะดำเนินการคือการใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย สั่งการผู้ครอบครองหรือผู้ที่ทำให้มีอยู่ ตั้งอยู่ นำเข้า จัดการให้ถูกต้องซึ่งจะเป็นเครื่องมือ

ที่นำมาใช้กำกับดูแลได้ในส่วนของสิ่งที่เหลืออยู่

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ถ้ามองในเชิงการแก้ปัญหา เราพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหามาเยอะมากแต่แก้ไม่ได้ ต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์กับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในยุคสมัยไหนก็ตาม รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนโดยไม่ได้มองว่าต้นทุนของการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในมุมของสิ่งแวดล้อมถูกมองข้ามไป โดยเฉพาะ

ใน 10 ปีที่ผ่านมา วิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนไปสัมพันธ์กับการคัดเลือกหรือเลือกประเภทของอุตสาหกรรมที่ต้องการส่งเสริมด้วย การที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องมีขอบเขตและมีทิศทางที่ชัด ต้องมีแนวปฏิบัติที่ดี ต้องมีการปฏิบัติหรือการควบคุมการจัดการสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ คู่ขนานไปให้ดี

หากมองย้อนไปในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกา จีน มีการคุมการเติบโตของอุตสาหกรรม

รีไซเคิลพอสมควร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่เป็นของเสียอันตรายหรือของเสียที่ก่อมลพิษสูง แต่ประเทศไทยไม่มีทิศทางที่ชัดเจน รู้แต่พียงว่าหากอยากลงทุนก็อนุมัติ

รัฐบาลควรถอดบทเรียนความเสียหายที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศแล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุง ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรีไซเคิลควรจะมีการทำ EIA หรือไม่ ทุกวันนี้กิจการรีไซเคิลไม่ว่าจะด้วยวัตถุดิบแบบไหนก็ไม่ต้องทำ EIA และมาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมาก กรณีคลองกิ่วไม่มีเงื่อนไข

การประกอบกิจการว่าต้องดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างไร

กฎหมายต้องปรับปรุง กฎหมายเก่าที่มีอยู่ต้องปรับปรุง ในกฎหมายเก่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานแล้วและทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งข้อเสนอนี้ไปถึงรัฐบาลว่าต้องแก้ พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อให้เกิดกองทุนที่จะเข้ามาเยียวยา ฟื้นฟู แก้ไข และก็มีการวางเงินประกัน รวมไปถึงการเพิ่มบทลงโทษ การแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ควรจะทำให้อำนาจของหน่วยงานสิ่งแวดล้อมมีความสมดุลมากขึ้นในการที่จะเข้ามาระงับยับยั้งหรือปิดชั่วคราวเพื่อให้โรงงานที่ก่อมลพิษสูงแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ทุกวันนี้ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตกับหน่วยงานที่กำกับดูแลในเรื่องของมลพิษและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นจุดอ่อนใหญ่ รวมถึง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีการใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 มีมาตราที่บัญญัติให้มีการตั้งศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายขึ้นในกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลสำหรับให้ทุก ๆ หน่วยงานสามารถใช้ประโยชน์ได้ ทุกวันนี้ไม่มีข้อมูลตรงนี้และไม่มีศูนย์นี้เกิดขึ้น

ในส่วนกฎหมายที่มีอยู่ คิดว่ายังไม่เพียงพอ ยืนยันว่าต้องมีกฎหมาย PRTR ซึ่งจะควบคุมตลอดเส้นทางของการเคลื่อนย้ายกากอันตรายรวมถึงเรื่องการปลดปล่อยมลพิษอื่น ๆ ไม่ว่าจะสู่ดินหรือแหล่งน้ำ อากาศ

ซึ่งตอนนี้เรากำลังต่อสู้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวไม่ต้องการให้มี พ.ร.บ. PRTR แยกออกต่างหาก แต่ภาคประชาชนเสนอให้มีการแยก พ.ร.บ.แยกต่างหาก

คุณสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ได้มีการเสนอข่าวแบบนี้มา 10 ปีแล้ว ในช่วงแรก ๆ เป็นช่วงที่ไม่มีคนดู ไม่ดังมาก เมื่อไม่มีคนดู

การได้รับพื้นที่ในหน้าจอจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่จุดใหญ่ที่เห็น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีคนสนใจปัญหานี้มากขึ้น ในระยะสั้น ไม่คิดว่าการแก้ปัญหาโดยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่จะเป็นผล กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่เคยอนุญาตเพราะไม่ได้แจ้งขอประกอบกิจการ สั่งให้หยุดทุกอย่างก็หยุดเมื่อตอนเข้าไป  เพราะฉะนั้น การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ไม่มีผล อีกมุมหนึ่งต่อจากคุณเพ็ญโฉม เห็นว่า อุตสาหกรรมรีไซเคิลโดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์มาพร้อมทุนจีน สิ่งที่ไม่ได้พูดถึงคือมีคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ที่ให้ยกเลิกผังเมืองรวม

ทั้งประเทศให้ก่อตั้งโรงงานหลายประเภทได้ ทั้ง 105 106 โรงไฟฟ้าขยะตรงไหนก็ได้ จีนปิดประเทศ ประเทศไทยก็ต้อนรับเต็มที่ ในปี 2561 พล.ต.อ.วิระชัย ไล่จับโรงงานจีนอิเล็กทรอนิกส์แต่ก็เงียบไปด้วยข่าวถ้ำหลวง แล้วทุกอย่างก็มาจากโกดัง ตู้คอนเทรนเนอร์ ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ หากไปดูซากที่คลองกิ่ว ทุกคนที่เห็นยืนยันได้ว่าไม่ใช่ของภายในประเทศ ในระยะสั้น ในกรณีของวินโพรเสส วันที่ 22 จะครบ 4 เดือนของการเกิดเหตุไฟไหม้ ซากทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิม อลูมิเนียมดรอสก็ยังอยู่เหมือนเดิม จากที่ ดร.ศีลาวุธ พูดสิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือการกำจัดต้นตอของมัน กองอิเล็กทรอนิกส์ยังอยู่ เพราะฉะนั้น จะมีการปนเปื้อนออกไปอีกมากขึ้น ตอนนี้เราหยุดยั้งด้วยการกำจัดสิ่งนี้ออกไป

คุณธนาธร ตรงสิทธิวิทู

ประชาชนหรือคนทั่วไปมองโรงงาน 101 105 106 มักจะเป็นผู้ร้าย ในสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี โดยเฉพาะ 101 ต้องทำ EIA แต่ถ้าเป็น 106 ขยะอันตรายก็ต้องทำ EHIA มีมาตรการ กระบวนการที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือโรงงานไม่ขออนุญาตจริง ไปขออนุญาตในเรื่องของขยะไม่อันตรายและไปตั้งโรงงานขึ้นมา เป็นช่องโหว่ ไม่ได้เป็นเพราะว่ากกฎหมายไม่ได้บังคับ กฎหมายบังคับให้ต้องให้ทำแต่เขาไม่ทำ ถ้าถามว่าระยะสั้นตอนนี้มีอะไรที่ทำไปแล้วบ้าง เสนอให้ผู้ประกอบการที่ส่งกากไปจัดการช่วยออกมารับผิดชอบ เชื่อว่าเหล่านี้จะแก้ปัญหาได้ เพราะว่าเมื่อส่งไปตรงนั้นเรารู้อยู่แล้ว ค่ากำจัดน้ำกรด ผู้ประกอบการทราบอยู่แล้วว่ามีต้นทุนประมาณ 5,000 – 10,000 บาท/ตัน แต่ว่าบริษัทที่เกิดขึ้นตัดราคาถูก

ทำให้ได้กากเหล่านั้นไป คำถามคือใครเป็นคนได้รับการประหยัดต้นทุนก็ต้องออกมารับผิดชอบ ระยะสั้น ตอนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมทำไปแล้ว คือ การประกาศกระทรวงปี 2566 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 กฎหมายฉบับนี้ ถ้าไม่มีการประกาศออกมาเชื่อว่ากากแคดเมียมที่จังหวัดตากที่ส่งไปที่จังหวัดสมุทรสาครจะไม่ได้ถูกโยกกลับไปโดยทันทีเพราะไม่มีกฎหมายอะไรมาบังคับ แต่พอมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาหมายความว่า

ผู้ส่งไป ผู้ก่อกำเนิดกากจะต้องรับผิดชอบเพราะยังจัดการไม่เรียบร้อย ในระยะสั้น เชื่อว่าตอนนี้เกิดกระบวนการตรวจสอบกันเองภายในแล้ว ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม 70,000 กว่าโรง ทั้งที่เป็นผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม

ที่ส่งไป ถ้าเกิดกระบวนการตรวจสอบอย่างทั่วถึง เชื่อว่าผู้ประกอบการที่ไม่ดีจะค่อย ๆ หายไป แต่ภาครัฐต้องจัดการผู้ประกอบการที่ไม่ดีด้วย

คุณยุทธนา ตันวงศ์วาล

ในเรื่องของมาตรการระยะสั้น ตอนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีการดำเนินการแล้ว คือการขนย้ายแคดเมียมกลับไป ตอนนี้ยังเหลือประเด็นการทำความสะอาดส่วนที่ยังมีการตกค้างอยู่ตามพื้นยังไม่ได้มีการทำความสะอาดที่เหมาะสม เพราะยังตรวจพบว่ายังมีการปนเปื้อนแคดเมียมอยู่ และอีกหนึ่งประเด็น คือการเฝ้าระวังกลุ่มโรงงานประเภทนี้ให้เข้มข้นมากกว่าปกติ เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดว่ามาจากโรงงานที่เป็นพื้นที่ให้เช่าโดยกลุ่มผู้เช่าต่างชาติ ในกลุ่มนี้เกิดปัญหาบ่อย

คุณปริญญ์ ม่วงสังข์

ในเบื้องต้น กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นเจ้าภาพในกรณีนี้ ต่อให้เป็นโรงงานเถื่อนหรือไม่ก็ตาม

ผู้ประกอบกิจการเปรียบเสมือนการเป็นโรงงาน แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่นักวิจัยนำเสนอเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะนำมาตรวจสอบและมาดูว่าอำนาจหน้าที่ของกรมฯ ที่มีอยู่สามารถดำเนินการในส่วนไหนได้บ้าง ได้มีโอกาสปรึกษากับเจ้าหน้าที่จังหวัดได้ทราบว่าได้ยึดอายัดขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นไว้ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินคดี

  1. ข้อคิดเห็นต่อมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว

คุณยุทธนา ตันวงศ์วาล

มุมมองในเรื่องปัญหาระยะกลาง ระยะยาวเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น ที่มักจะมีปัญหา คือโครงการหรือกิจการขนาดใหญ่ที่มีการจัดทำ EIA ควรดูให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องผังเมือง สถานที่ตั้งที่จะก่อสร้างสถานประกอบการ ถ้าอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำ ต้นน้ำ ไม่ควรให้มีการตั้งอยู่แถวนั้น รวมถึงสถานที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอกชนบางแห่ง เคยพบว่ามีการลักลอบนำกากของเสียไปฝังกลบเพื่อกำจัดของเสียหรือประหยัดค่าดินที่จะเอามาถมพื้นที่ จะมีปัญหาตามมาทีหลัง หลังจากถมแล้วโอกาสที่ของที่ถมจะไหลออกมากระทบกับบ้านของชาวบ้านที่อยู่รอบข้าง เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่ากระบวนการเรื่อง EIA การอนุญาตต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นควรจะมีความเข้มข้นและลงไปดูหน้างานจริง มีการสังเกตควบคุมอยู่เป็นประจำ

คุณปริญญ์ ม่วงสังข์

เข้าใจว่าโรงงานที่มีใบอนุญาต หากมีการเข้าไปตรวจสอบหรือการดำเนินการสั่งการก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่าโรงงานเถื่อน ซึ่งโรงงานเถื่อนไม่ได้มาพร้อมกับการอนุญาต พร้อมที่หนีและทิ้งไว้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำลังแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. ... มี 4 หัวข้อหลัก หัวข้อแรก ผู้ตรวจสอบเอกชน หัวข้อที่สอง กองทุน มีการเสนอให้มีการตั้งกองทุน เพื่อจะได้นำเงินมาแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากที่ผ่านมา กรณีเกิดเหตุในลักษณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องมีการของบรายจ่ายประจำปีรวมถึงงบกลางเพื่อมาใช้จ่าย ซึ่งได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือได้น้อย ถ้ามีการตั้งกองทุนก็จะสามารถนำไปใช้ได้เลย หัวข้อที่สาม การวางเงินหลักประกัน

จะสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการทิ้ง กรณีไม่ประกอบการแล้ว เนื่องจากกำหนดว่าถ้าจะขอคืนเงินต้องจัดการให้ถูกวิธีก่อน หัวข้อสุดท้าย อำนาจหน้าที่ บทปรับ เสนอให้มีการเพิ่มโทษจำคุกและโทษปรับในกรณีที่ทิ้งของเสีย จากเดิมไม่มี มีการเพิ่มโทษจำคุกด้วยซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวมากขึ้น

เดิมที การทิ้งของเสียในพ.ร.บ.โรงงานไม่มีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทเท่ากับโรงงานเถื่อน-ไม่เถื่อน มีโทษเท่ากัน มีการพูดถึงเรื่องการเพิกถอนในอนุญาต ตามมาตรา 39 วรรค 3 ว่าหาก

ไม่มีการทำตามคำสั่งให้มีการเพิกถอนใบอนุญาต ทำให้โรงงานขาดการเป็นโรงงาน ทำให้ผู้ประกอบกิจการสามารถอ้างได้ว่าไม่ได้ประกอบกิจการแล้วไม่ต้องทำตามกฎหมายรายงาน  จึงมีการปรับแก้ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. ... ให้เปรียบเสมือนการสั่งการตามมาตรา 39 วรรค 3 การเพิกถอนโรงงานให้มีสถานะเป็นโรงงานอยู่จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งเสร็จหรือทำความสะอาดโรงงานแล้วเสร็จ ตรงนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบกิจการถูกสั่งการโดยกฎหมายแล้วจงใจไม่ปฏิบัติ กะว่าสั่งปิดแล้วตัวเองลอยตัวต่อไปจะทำไม่ได้แล้ว เชื่อว่าถ้าบทลงโทษแรงขึ้นและมีโทษจำคุก น่าจะเข็ดหลาบและเป็นตัวอย่างให้แก่โรงงานอื่นที่คิดจะทำไม่ถูกต้อง ให้ทำให้ถูกต้อง

คุณสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

เสนอให้ดูปัญหาที่แท้จริงว่าคืออะไร เกิดจากใคร เราพูดถึงเจ้าหน้าที่ ตัวโรงงาน แต่ยังไม่ได้พูดถึง

ผู้ได้รับผลกระทบเลย ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ที่ราชบุรี สู้มา 20 กว่าปี รวมตัวกันฟ้องศาล ชนะคดี สิ่งที่ได้มาคือใบพิพากษาแปะข้างฝาบ้าน แต่กากยังอยู่เหมือนเดิม น้ำใต้ดินยังอยู่เหมือนเดิม ยังทำมาหากินไม่ได้เหมือนเดิม ของทุกอย่างยังไม่ถูกย้ายออกไป รอไฟไหม้ อีกไม่กี่ปีต่อมา ที่ระยอง เหตุการณ์แบบเดียวกันซ้ำสอง แล้วก็จะเกิดแบบนี้ที่คลองกิ่ว จะเกิดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ คนเหล่านี้เขาสู้โดยกระบวนการยุติธรรมไปจนสุดทางแล้ว

แต่ไม่ได้ความยุติธรรม ได้แต่คำพิพากษาและสถานะความเป็นผู้ชนะคดี

กฎหมายจะตอบว่าอย่างไร การที่เราจะมาคุยกันว่าโรงงานนี้เถื่อนหรือไม่เถื่อน ไม่รู้ ไม่รู้ว่าโรงงานที่ระยอง วิน โพรเสสเถื่อนไหมแต่ไม่มีเครื่องจักรเลยยังมีใบอนุญาต เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบไม่รู้กี่ครั้ง ก็ได้คำสั่งให้ปิดปรับปรุง คำสั่งคือไม่มีเครื่องจักรเลยให้ปรับปรุงอะไร  เราพูดถึงการมีลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐบ้างหรือไม่

เราคุยกับแบบนี้โดยที่ไม่พูดคำว่าคอรัปชั่นเลยมันก็เท่านั้น มองว่าทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากการที่ไม่มีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ อำนาจทั้งหมดไปรวมอยู่ที่หน่วยงานเดียว กระทรวงเดียว กรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโรงงาน เป็นความคิดที่ดีจะให้หน่วยงานส่วนกลางไปคานอำนาจกับอุตสาหกรรมจังหวัด แต่ว่าก็ยังคงต้องมีหน่วยงานอื่นเข้าไปคานอำนาจหรือให้ต้องมีการทำประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันภัยไปเป็นบุคคลที่สามตรวจสอบแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม แทนอุตสาหกรรมจังหวัด ถ้าเกิดไม่ทำตามหลักเกณฑ์ ต้องจ่ายค่าประกันภัย บังคับให้ต้องทำ มีคนอื่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพราะฉะนั้นต้องพูดโดยหลักความจริงว่าความเชื่อใจพอหรือไม่ เชื่อใจที่จะบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง  ชาวบ้านไม่ได้อยากให้เจ้าของโรงงานติดคุกแต่อยากได้ชีวิตปกติคืนมา ดังนั้น จะแก้อะไร ควรบอกว่าจะแก้อย่างไรให้ชาวบ้านได้รับชีวิตปกติคืนมา

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

เรื่องนี้ไม่ง่ายที่จะแก้ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น กลาง หรือยาว เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีนโยบาย

ในเรื่องนี้  ในเรื่องการเยียวยา ฟื้นฟู มีแต่เรื่องของการส่งเสริม เพราะฉะนั้นเมื่อนโยบายไม่มี กฎหมายไม่เอื้อ กำลังเจ้าหน้าที่ไม่พร้อมและยังไม่ได้รับการสนับสนุนอำนาจจากข้างบน ทำงานยาก เรามาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าเราจะไปยังไงต่อซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ มองว่าเรามาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจให้ชัดว่าเราจะไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องการการเยียวยาเร่งด่วน นโยบายก็สามารถเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มแรงกดดัน รัฐบาลต้องเห็นความสำคัญ ภาคประชาชนหลายส่วนยังกดดันอยู่ ถ้าหากว่าได้หน่วยงานราชการ หน่วยงานวิชาการ สื่อมวลชนและอื่น ๆ เข้ามาช่วยเสริมแรงตรงนี้ เราคิดว่าความเร่งด่วน

จะเกิดเร็วขึ้นในการแก้ไขปัญหา

ย้อนกลับมาในเรื่องบทบาท คิดว่าสังคมไทยมีการปกป้องผู้ลงทุนมานาน แต่ตอนนี้คิดว่าน่าจะมีการเปิดให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น มีหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม โรงงานเถื่อน โรงงานไม่เถื่อนแต่ว่าไม่เคารพกฎหมาย ไม่กลัวกฎหมาย ต้องการเห็นกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับกรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทยมีความตกลงร่วมกันที่จะต้องมีการตรวจสอบ

ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยเปิดให้ชุมชนทั่วประเทศร้องเรียนและต้องมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะลงไปตรวจสอบปัญหาทันทีและประสานกำลังกัน

กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมด้วยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจดูโรงงานที่เข้าลักษณะการหล่อหลอม รีไซเคิล 105 106 อาจจะเป็นโรงงานแรกที่เข้าไปตรวจสอบ

โดยเร่งด่วน แม้ว่าจะมีการตรวจสอบไปบ้างแล้วแต่น่าจะยังไม่ครอบคลุม เชื่อว่ายังมีการกระทำความผิดอยู่ในหลายที่ ถ้าหน่วยงานรัฐมีการจัดการที่เร็ว มีประสิทธิภาพ เชื่อว่าเอาอยู่ โรงงานที่ไม่ดีก็จะหายไป โรงงานที่ดี

ก็จะแข็งแกร่ง เศรษฐกิจจะเติบโต ชาวบ้านจะเดือดร้อนน้อยลง

ทุนไม่ว่าทุนจีนหรือทุนที่ไม่ดีเข้าไปหลายที่มาก ยังไม่ได้แก้ไขปัญหา และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่รอการแก้ไข สำหรับพื้นที่ที่มีการตรวจแล้วว่ามีปัญหา มีความผิด อย่างเช่นที่คลองกิ่ว เห็นด้วยว่าต้องมีการทำความสะอาด แต่ว่าไม่เคยมีมาก่อนจึงไม่มีนโยบาย งบประมาณ องค์ความรู้พร้อมที่เข้าไปจัดการ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องมาร่วมกันคิดว่าจะจัดการและหยุดยั้งการแพร่กระจายของมลพิษในพื้นที่ที่ทำผิดกฎหมายได้อย่างไร

ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องแผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสม พื้นที่ไหนที่ไม่ควรมีอุตสาหกรรมต้องรักษาไว้ไม่ให้มี พื้นที่ไหนที่มีก็ต้องทำให้ดี คำนึงถึงความสามารถในการรองรับมลพิษซึ่งประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าจะจัดเป็นพื้นที่เฉพาะ องค์ประกอบก็ต้องพร้อม ต้องมีความชัดเจนตรงนี้

เนื่องจากมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อบต. เทศบาลรับภาระมาก แต่ขาดทรัพยากรหรือความรู้ หรือกำลังของคนที่จะมาเสริม ในเรื่องของกฎหมาย การกำกับติดตามดูแล น่าจะมีโครงการที่เสริมศักยภาพท้องถิ่นในการกำกับดูแลตรวจสอบกิจการที่เป็นอันตรายภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ร.บ.โรงงาน ควรมีความรู้เพิ่ม

เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย PRTR ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าโรงงานที่อยู่ใกล้ประกอบกิจการอะไร ปล่อยมลพิษอะไร มีเงื่อนไขอะไรในด้านการประกอบกิจการด้านสิ่งแวดล้อม จึงเสนอว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมควรออกระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและทส. เป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นว่า ทุกโรงงานน่าจะต้องมีป้ายหน้าโรงงานว่า ประกอบกิจการอะไร มีเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อชาวบ้านจะได้รู้ ชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปจะได้ช่วยสอดส่องให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลพฤติกรรมของโรงงาน

  1. ข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงานเสวนา

คุณสนธิ คชวัฒน์

นอกจาก พ.ร.บ.โรงงานแล้วเสนอให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การสาธารณสุข และ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมด้วย

ในเรื่อง พ.ร.บ.สาธารณสุข โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่อำนาจในการให้ใบอนุญาตตามกฎหมายสาธารณสุข (กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) กรณีนี้จึงสะท้อนปัญหาการกำกับดูแลของ อปท.ด้วย

ส่วนกระบวนการประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.โรงงานควรมีการปรับปรุง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและรับรู้การขออนุญาตตั้งโรงงานก่อนเริ่มประกอบกิจการ นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ อปท. มีบทบาทในการตรวจสอบน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษแต่ที่ผ่านมามิได้ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้และสะท้อนปัญหาจุดอ่อนของ อปท.ที่มีเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อน้อยและขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานส่วนกลางทั้งกรมอนามัย ส่วน พ.ร.บ.โรงงาน ควรเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น เช่น 5 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ต้องมีเงินประกัน นำเงินประกันมาวางหากไม่ทำตามเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม ให้ยึดเงินประกัน ในเชิงหลักการ ต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุล ในต่างประเทศ ส่งเสริมให้โรงงานทำให้ดี ให้ถูกกฎหมาย หน่วยงานตรวจสอบคือ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) สำหรับประเทศไทย คือกรมควบคุมมลพิษ แต่ประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจอนุญาตโรงงานและกำกับดูแลเอง

ในหน่วยงานเดียวกัน แต่เมื่อโรงงานกระทำผิด กลับมิได้ดำเนินการลงโทษ จึงเกิดปัญหาทั่วประเทศ

คุณกิตติกุล สารสุววรณ

สถานประกอบการ หากสร้างในพื้นที่ ต้องดู พ.ร.บ.อาคาร และความเหมาะสมของผังเมืองและยังขาดกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะมีทั้งพลาสติกและหลอมโลหะ

ซึ่งท้องถิ่นต้องรู้  อีกปัญหาคือ กองช่างอนุมัติไปแล้วส่งต่อการกำกับดูแลตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข ปัญหาสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ไม่พอ ต้องดูแลกิจการ 142 ประเภท ทุกวันนี้กลายเป็นทุกอย่างมาลงที่จังหวัด หน่วยงานส่วนกลาง ทั้งที่บอกว่าท้องถิ่นดูแลตัวเอง พ.ร.บ.กระจายอำนาจ กลายเป็นปัญหางูกินหาง

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ผลการจัดงานเสวนา สามารถสรุปการถอดบทเรียนคลองกิ่วได้ดังนี้

  1. สาเหตุและปัญหาที่พบ

1) กฎหมายกำกับดูแลโรงงานและวัตถุอันตรายมีช่องโหว่และโทษเบาจนผู้ประกอบการไม่เกรงกลัว

ต่อกฎหมาย แม้จะมีใบอนุญาต แต่มิได้ขอประกอบกิจการโรงงานและดำเนินการผิดประเภทใบอนุญาต (ใบอนุญาตระบุการรีไซเคิลพลาสติกแต่กลับลักลอบรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์) และ

มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ

2) เจ้าหน้าที่ไม่กล้าบังคับใช้กฎหมาย การกำกับดูแลไม่เพียงพอ

3) ปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในพื้นที่ ความไม่รู้หรือความละเลยของเจ้าของพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอุตสาหกรรมจังหวัด ปล่อยให้โรงงานดำเนินการผิดกฎหมายมาหลายปี

4) ปัญหาโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากของเสียไม่มีความรับผิดชอบต่อกากของเสียของตน มิได้มีการตรวจสอบติดตามว่ากากของเสียได้รับการจัดการอย่างถูกต้องหรือไม่

  1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

2.1 มาตรการระยะสั้น

1) หน่วยงานภาครัฐ 4 กระทรวง (กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงมหาดไทย) ร่วมกับภาคประชาสังคมมีการบูรณาการทำงานเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของสารอันตรายและโลหะหนักในพื้นที่ จัดเตรียมงบประมาณในการบำบัดฟื้นฟู และร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังโรงงานอื่นๆ ที่น่าสงสัยในพื้นที่

2) หน่วยงานภาครัฐ 4 กระทรวงควรตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำกับดูแลโรงงานและสถานประกอบการที่เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายสาธารณสุข รวมทั้งสร้างขีดความสามารถให้กับประชาชนในการเฝ้าระวังมลพิษอุตสาหกรรมและมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการตั้งโรงงานในพื้นที่

3) ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 4/2559 ที่ให้ตั้งโรงงานรีไซเคิลได้โดยไม่ต้องพิจารณาเรื่องผังเมือง

4) โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมควรแสดงความรับผิดชอบต่อการติดตามตรวจสอบกากอุตสาหกรรมที่ส่งออกไป ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ปี 2566 ได้ผลักดันให้โรงงาน

ผู้ก่อกำเนิดกากต้องรับผิดชอบกากที่ส่งออกตลอดเส้นทาง

5) กรมโรงงานอุตสาหกรรมควรออกมาตรการที่ให้โรงงานทุกแห่งแสดงข้อมูลการประกอบกิจการและข้อมูลของเสียและมลพิษที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง จัดการอย่างไร โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมควรออกระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและ ทส. เพื่อให้ อปท.

ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้ทุกโรงงานจะต้องมีป้ายหน้าโรงงานว่า ประกอบกิจการอะไร

มีเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ช่วยสอดส่องการดำเนินงานของโรงงาน

2.2 มาตรการระยะกลาง-ระยะยาว

1) ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. …. ซึ่งมีประเด็นผู้ตรวจสอบเอกชน การจัดตั้งกองทุน

การวางเงินประกันภัย และเพิ่มโทษจำคุกและโทษปรับ ทั้งนี้ ควรแยกประเภทโรงงานที่จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากโรงงานลำดับที่ 106 เพื่อให้มีการกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ

2) เสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรเพิ่มเติมการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ

มิให้กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลทั้งการให้ใบอนุญาตและกำกับดูแลมลพิษอุตสาหกรรม หากแต่เปิดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและอปท. เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายได้

3) ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. …. ที่กระจายอำนาจให้ อปท. ในการดูแลกิจการ

ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเพิ่มบทบาทกรมอนามัยและสาธารณสุขจังหวัดให้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น ดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ช่วยร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีให้กับประชาชนได้ ช่วยเรื่องการพิสูจน์ผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษอุตสาหกรรม และปรับเพิ่มโทษกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง