บทคัดย่อ
บทสัมภาษณ์นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ "ยโสธร เมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล" ให้ยโสธรเป็นจังหวัดต้นแบบแห่งการทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านการสร้างความตระหนักและรับรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งการส่งเสริมคนรุ่นใหม่และเยาวชนสู่การทำเกษตรอินทรีย์
การอ้างอิง: ปกฉัตร ชูติวิศุทธิ์. (2562). เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร...แนวทางการเกษตรจากเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของประเทศไทย. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 2).
บทความ: เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร...แนวทางการเกษตรจากเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของประเทศไทย
ปกฉัตร ชูติวิศุทธิ์
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อกล่าวถึงคำว่า "เกษตรอินทรีย์" เชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่คงมีความคุ้นเคย หรืออย่างน้อยต้องเคยได้ยินคำๆ นี้กันมาบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ และต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในแนวทางการทำเกษตรกรรมที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยไม่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช หรือฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืช ผลผลิตที่ได้จึงมีความเป็นมิตรต่อผู้บริโภคและไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ยังสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และคำนึงถึงระบบนิเวศในแหล่งทำการเกษตรนั้นๆ จึงนับได้ว่าเป็นวิถีทางที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนต่อทั้งชุมชนในภาคเกษตรกรรม ภาคสังคม และต่อสภาวะแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา
และเมื่อกล่าวถึงการทำเกษตรอินทรีย์ จังหวัดหนึ่งที่ควรกล่าวถึงในฐานะเมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของประเทศไทยก็คือจังหวัด "ยโสธร" ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนด้านเกษตรอินทรีย์ผ่านการจัดทำวิสัยทัศน์และการใช้ยุทธศาสตร์จังหวัด โดยบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ภายในจังหวัดยโสธรให้แพร่หลาย และเกิดการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ คือนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรองปลัดบุญธรรม เคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ณ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธรในระหว่างปี พ.ศ. 2547 – 2550 และได้กลับไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ รองปลัดบุญธรรมได้ผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ในยโสธรด้วยยุทธวิธีต่างๆ รวมทั้งได้เขียนหนังสือ “เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร” และเป็นแรงผลักดันให้เกิดหนังสือ “เครือข่ายคนกล้าคืนถิ่น จังหวัดยโสธร” และหนังสือนิทานคำคล้องจอง “อีเล้งเค้งโค้ง เกษตรสุขสันต์ ขุนคันคาก” ผลงานการแต่งและวาดภาพโดยครูชีวัน วิสาสะ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับรองปลัดบุญธรรมในเรื่องการขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดยโสธร ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ท่านยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ และการสนับสนุนส่งเสริมที่ท่านได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด ด้วยวิสัยทัศน์ "ยโสธร เมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล"
จากการระดมวิสัยทัศน์ในการพัฒนาจังหวัด ตั้งแต่เมื่อครั้งรองปลัดบุญธรรมยังดำรงตำแหน่งนายอำเภอไทยเจริญ ซึ่งขับเคลื่อนโดยผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรในยุคนั้น ทำให้ได้คำตอบว่ายโสธรจะมุ่งทำการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้ก้าวไปสู่ระดับสากล ด้วยพื้นฐานที่ทางจังหวัดมีกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์เป็นทุนอยู่ก่อนแล้ว และได้มีการดำเนินการมานานกว่า 10 ปี จึงเป็นจุดแข็งที่นำมาใช้เป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา และวิสัยทัศน์นี้ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปี พ.ศ. 2558 ที่รองปลัดบุญธรรมได้มีโอกาสกลับไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะสานต่อวิสัยทัศน์ และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด "ยโสธร เมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล" ต่อในยุคของท่าน
ในประเด็นที่สองที่รองปลัดบุญธรรมได้บอกเล่าให้ผู้เขียนฟังคือ จังหวัดยโสธรมีการกำหนดจุดยืนของจังหวัดไว้ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ การเกษตร วัฒนธรรมวิถีอีสาน และการท่องเที่ยว โดยมองในเชิงการตลาดว่าอะไรที่จะเป็นจุดขายและสร้างความแตกต่างให้กับยโสธร การทำเกษตรอินทรีย์จึงได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นจุดขายให้กับทางจังหวัดได้แล้ว ยังสอดรับกับกระแสโลก ในเรื่อง "ตลาดสีเขียว (Green market)" และ "ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green product)" เนื่องจากทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความสนใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น และยังสอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่ต้องมีการเน้นในเรื่องของสุขภาพ ทั้งรองปลัดบุญธรรมยังมองในเชิงของเกษตรกรว่า การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในแง่รายได้ เนื่องจากผลผลิตที่ได้จากเกษตรอินทรีย์มักมีราคาสูงกว่าการทำเกษตรทั่วไป และยังส่งเสริมในเรื่องสุขภาพของตัวเกษตรกรเอง ทั้งนี้เพราะมีการศึกษามาแล้วว่าในจังหวัดยโสธร เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบปกติกับกลุ่มที่ทำการเกษตรอินทรีย์ พบว่าอัตราการเข้าโรงพยาบาลของกลุ่มที่ทำเกษตรอินทรีย์จะเกิดขึ้นน้อยกว่า
การขยายวงเกษตรอินทรีย์...ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เดิมให้มีการขยายตัวออกไป
สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นประเด็นในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งรองปลัดบุญธรรมได้ชี้ให้เห็นคือ การรับรู้ของคนไทยในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างการปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponics) พืชปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP (Good agricultural practice) และพืชเกษตรอินทรีย์
“การรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ส่วนใหญ่แล้วยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เช่น เข้าใจว่าผักไฮโดรโพนิกเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่ พืชปลอดภัยเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่อีกเหมือนกัน การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้จำเป็นต้องเริ่มต้นจากเกษตรปลอดภัย ณ วันนี้ถ้าเราเริ่มต้นตั้งใจจะทำเกษตรอินทรีย์ เราสามารถเริ่มต้นได้ ถึงเราจะทำเกษตรปลอดภัยมา แต่เมื่อมาทำเกษตรอินทรีย์ก็ต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เหมือนกัน เพราะแนวความคิดเป็นคนละอย่าง เกษตรปลอดภัยคือการลดการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง อยู่ในอัตราที่ควบคุมและปลอดภัย แต่ยังคงมีการใช้ แต่เกษตรอินทรีย์คือไม่มีการใช้ใดๆ เลย เพราะฉะนั้นถึงจะทำเกษตรปลอดภัยมาก็ต้องมาทำการนับหนึ่งใหม่ จึงมีการทำการทบทวน ปรึกษาทั้งเกษตรกรและผู้รู้ต่างๆ ศึกษาหาข้อมูลและมาวางยุทธศาสตร์จากปัญหาที่พบ ว่าทำไมเกษตรอินทรีย์ถึงไม่มีการขยายในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา”
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการวางยุทธศาสตร์สำหรับรองปลัดบุญธรรมคือ "การสร้างความตระหนักและรับรู้" ให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่มีการกำหนดไว้จากทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกันคือ 1) สร้างกระแสการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ 2) ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้เต็มศักยภาพ 3) เพิ่มความสามารถในการรับซื้อและส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ 4) เพิ่มตลาด และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนของการสร้างความตระหนักและการรับรู้ให้กับเกษตรกร รองปลัดบุญธรรมได้ลงไปดำเนินการด้วยตัวเอง โดยประเด็นสำคัญที่ท่านได้กล่าวไว้คือต้องตอบคำถามของพี่น้องเกษตรกร ว่าการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่การขายเพียงเพื่อสร้างรายได้ แต่ต้องเป็นการทำด้วยแรงบันดาลใจ คือต้องมีใจรักที่จะทำเป็นแรงกระตุ้น โดยตัวท่านในฐานะผู้ว่าฯ ในขณะนั้นมีหน้าที่จุดกระแสสร้างแรงกระตุ้น และใช้เกษตรกรที่ทำการเกษตรอินทรีย์อยู่ก่อนแล้วเป็นเครือข่าย เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรรายอื่นๆ เห็นว่าคนที่ทำแล้วเป็นอย่างไร
ในส่วนของการให้คำปรึกษาแก่จังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการดำเนินการเรื่องเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่รองปลัดบุญธรรมให้คำแนะนำคือ ต้องดูบริบทของพื้นที่เสียก่อน และที่สำคัญคือเรื่องคน ท่านได้ให้ข้อขบคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนทำเกษตรอินทรีย์ ต้องเป็นคนที่ทำด้วยหัวใจ และหัวใจต้องมีความรัก ความรักต้องมีอยู่ 3 ประการก็คือ ต้องรักตัวเองและครอบครัว ก็บอกเขาว่า คุณอยากจะมีชีวิตที่ยืนยาว สุขภาพอนามัยที่แข็งแรงใช่ไหม ถ้าคุณคิดอย่างนั้น การทำเกษตรอินทรีย์ คุณไม่ได้ไปข้องเกี่ยวกับสารเคมียาฆ่าแมลง ซึ่งมีผลงานวิจัยว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ คุณก็จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว อย่างที่สอง รักต่อผู้อื่น รักต่อผู้บริโภค เพราะว่าคุณจะเอาสิ่งที่ดีให้ผู้อื่น ถ้าคุณปลูกสิ่งไม่ดีมีสารเคมีปนเปื้อน ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ก็คือคุณต้องรักคนอื่น ซึ่งก็เป็นไปตามหลักศาสนาพุทธเรา อย่างที่สามก็คือรักในโลก รักสิ่งแวดล้อม ถ้าคุณทำด้วยความรัก มันจะยั่งยืน”
รองปลัดบุญธรรมยังเน้นย้ำว่าการทำด้วยใจรัก จะช่วยให้การทำเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนมั่นคง ต่างจากการทำตามกลไกตลาด ที่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่ถ้าเกษตรกรเองตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่านโยบายหรือตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เกษตรกรก็ยังคงรักและมีความสุขที่จะทำเกษตรอินทรีย์อยู่นั่นเอง
“คนกล้าคืนถิ่น” ส่งเสริมคนรุ่นใหม่สู่การทำเกษตรอินทรีย์ ปรับเปลี่ยนความคิดสู่แนวการเกษตรแบบดั้งเดิม
ในมุมมองของรองปลัดบุญธรรม การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่เป็นสิ่งที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม คือไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมียาฆ่าแมลง การทำเกษตรอินทรีย์ที่จริงแล้วจึงเป็นการกลับสู่ธรรมชาติ ตามวิถีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของเราได้ทำกันมา
การจะสนับสนุนเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดที่มีกันอยู่ในปัจจุบัน โดยรองปลัดบุญธรรมได้ใช้ยุทธศาสตร์ “คนกล้าคืนถิ่น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ 1 (สร้างกระแสการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์) เนื่องมาจากการค้นพบว่าเกษตรกรในยโสธรส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เข้าสู่ช่วงอายุสูงวัย การถ่ายทอดสร้างสะพานเชื่อมระหว่างรุ่นต่อรุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เกิดการรวบรวมคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาหลากหลาย ให้กลับมาทำเกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดยโสธร และตั้งเป็นเครือข่ายคนกล้าคืนถิ่น
ซึ่งหลังการรวบรวมเกษตรกรรุ่นใหม่นี้ รองปลัดบุญธรรมได้ริเริ่มให้มีการออกหนังสือ “เครือข่ายคนกล้าคืนถิ่น จังหวัดยโสธร” งานเขียนซึ่งรวบรวมแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่นตั้งใจ และแนวทางการทำเกษตรของคนรุ่นใหม่ที่ประยุกต์ใช้ความรู้ วิทยาการ และเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งเกษตรกรนักเพาะเห็ด เกษตรกรผู้สร้างต้นแบบโรงเรียนพริกอินทรีย์ และเกษตรกรผู้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์และข้าวอินทรีย์ ซึ่งการรวมกลุ่มนี้ทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น โดยในแง่ของการสนับสนุน รองปลัดบุญธรรมได้ใช้วิธีกระตุ้นให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์
“เรากระตุ้นให้เขามีส่วนร่วม การสนับสนุนเราสนับสนุนทางอ้อม เช่น แนะนำเรื่องช่องทางการตลาด ผลิตภัณฑ์ อย่างมีน้องที่ทำไอติมข้าวเม่าอินทรีย์ พยายามให้เขายืนด้วยตัวเอง เราเป็นผู้ให้คำแนะนำ ที่เหลือก็เป็นยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่ขับเคลื่อน”
การจัดทำสำมะโนเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์
เมื่อครั้งรองปลัดบุญธรรมไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาในขณะนั้นคือข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์จากแต่ละหน่วยงานยังมีความไม่สอดคล้องกัน ทั้งข้อมูลพื้นที่และข้อมูลของตัวเกษตรกรเอง ท่านจึงริเริ่มให้มีการพัฒนาระบบ “สำมะโนเกษตรอินทรีย์” เพื่อเป็นการสำรวจเบื้องต้น และจัดทำเป็นฐานข้อมูลในภายหลัง
ซึ่งการเอาข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาบูรณาการทำให้พบว่า ในขณะนั้นจังหวัดยโสธรมีการทำเกษตรอินทรีย์อยู่ประมาณ 37,000 – 38,000 ไร่ และเมื่อมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างจังหวัดยโสธรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี พ.ศ. 2559 เพื่อจัดให้ยโสธรเป็นจังหวัดต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์ จึงมีการตกลงเป้าหมายร่วมกันว่าในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2559 – 2561) จะมีการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้อย่างน้อย 100,000 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดยโสธรสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และปัจจุบันพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ขยายตัวไปแตะที่ 200,000 ไร่แล้ว เนื่องจากได้นโยบายข้าวล้านไร่ของกรมการข้าวเข้ามาช่วยเสริม และแม้ MOU ที่ทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหมดวาระลง การทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดยโสธรก็ยังคงเดินหน้าต่อไป
รองปลัดบุญธรรมกล่าวว่า การทำสำมะโนเกษตรอินทรีย์มีจุดประสงค์เพื่อให้รู้ว่าในยโสธรมีคนทำเกษตรอินทรีย์อยู่มากน้อยเท่าใด เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์จะมีอยู่ด้วยกัน 2 องค์ประกอบ คือ 1) กระบวนการผลิต ซึ่งโดยมาตรฐานต้องไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง รวมทั้งผ่านมาตรฐานอื่นๆ ตามข้อกำหนด และ 2) กระบวนการรับรอง ซึ่งทั้งในยโสธรและจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์แต่ไม่ได้ผ่านการรับรองอยู่ไม่น้อย เนื่องจากการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต้องมีค่าใช้จ่าย
“เราก็สำรวจสำมะโน ต้องการให้รู้ว่าคนที่ทำและได้รับการรับรองแล้ว ได้รับการรับรองอะไรบ้าง กับมีคนที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบธรรมชาติแต่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรับรอง เราต้องการข้อมูลตรงนี้ อันนี้คือสำมะโนเกษตรอินทรีย์”
ในส่วนของมาตรฐาน เดิมทางจังหวัดยโสธรสนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรับรองมาตรฐานบางส่วน ซึ่งการออกมาตรฐานนี้เองเป็นจุดที่รองปลัดบุญธรรมตั้งคำถาม ว่ามาตรฐานใดบ้างที่เกษตรกรจำเป็นต้องขอคำรับรอง
“ก็ตั้งคำถามว่า มาตรฐานที่ขอรับรอง ขายได้ทุกที่ทั่วโลกไหม ซึ่งไม่ใช่ มันขึ้นอยู่กับว่าที่ที่เราจะส่งไปขายเขาต้องการมาตรฐานใด ก็เลยเปลี่ยนความคิดว่าเราจะผลิตและขอการรับรองตามตลาดที่เราจะไปขาย ก็คือใช้หลักตลาดนำการผลิต เช่น เราจะไปขายอเมริกา ก็ต้องขอ USDA (United States Department of Agriculture) ให้ได้ ขายเยอรมันก็ต้องขอมาตรฐาน CERES (Certification of Environmental Standards) จะขาย EU ก็ต้องขอตามมาตรฐาน EU แคนาดาก็ต้องเป็นมาตรฐาน COR (Canada Organic Regime) ของญี่ปุ่นก็ JAS (Japanese Agricultural Standard) คือต้องถามว่าติดต่อค้าขายกับใคร เราต้องปรับเราเข้ามาตรฐาน ไม่ใช่เอาตัวเราเป็นตัวตั้ง”
อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการขอมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ขายภายในประเทศไทย ว่ามีความจำเป็นต้องขอมาตรฐานในระดับสากลที่มีค่าใช้จ่าย และมีอยู่หลากหลายมาตรฐานมากน้อยเพียงใด
“ก็กลับมาสู่คำถามว่า ข้าวเราส่งไปขายต่างประเทศหมดไหม ซึ่งไม่หมด คำถามก็คือเราจำเป็นต้องขอการรับรองที่มีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อขายในประเทศโดยไม่ได้ขายต่างประเทศไหม ถ้าเราแยกตลาด มีตลาดในประเทศ ตลาดในประเทศก็แยกเป็น 2 กลุ่ม คือตลาดในท้องถิ่นก็คือในตัวจังหวัดเอง กับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย อีกตลาดหนึ่งคือตลาดที่ส่งออก กับคำถามว่าเราจำเป็นต้องผลิตและขอรับรองในมาตรฐานระดับสากลเพื่อจำหน่ายในท้องถิ่นไหม ก็ไม่จำเป็น และการรับรองมาตรฐานระบบสากลของประเทศต่างๆ มันเหมาะกับแปลงใหญ่ๆ เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดระบบรับรองมาตรฐานอีกระบบขึ้นมาก็คือระบบมาตรฐาน PGS (Participatory Guarantee System) เรียกว่าระบบการมีส่วนร่วม ระบบนี้ก็คือใช้เกษตรกรด้วยกันเองเป็นคนรับรอง ซึ่งเหมาะกับเกษตรกรรายย่อยและแปลงเล็กๆ”
จากการบอกเล่าของรองปลัดบุญธรรม มีการใช้ระบบ PGS ในหลายประเทศเพื่อเป็นตัวช่วยในการรับรองผลิตภัณฑ์ จึงมีการกำหนดว่าผลิตผลที่จะนำไปขายต่างประเทศจะทำการขอการรับรองโดยใช้มาตรฐานสากล ส่วนผลิตผลเกษตรอินทรีย์ที่ขายภายในประเทศไทยสามารถใช้มาตรฐาน PGS ได้ แต่เพราะยังมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยวิถีธรรมชาติ แต่ยังไม่มีการขอรับรองมาตรฐานใดๆ จึงเป็นที่มาของการออกมาตรฐานในระดับจังหวัด หรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยโสธรขั้นพื้นฐาน (Yasothon Basic Organic Standard, Yaso BOS)
“มันควรจะมีมาตรฐานท้องถิ่น มาตรฐานจังหวัด โดยใช้จังหวัดเป็นตัวการันตีว่ากลุ่มคน เกษตรกรคนนี้ ผลิตด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ โดยเราไม่ต้องการให้เกษตรกรเอาตัวเองไปการันตี เราจะใช้หน่วยงานอื่นของจังหวัดเป็นตัวการันตี ถึงเขาจะยังไม่ได้มาตรฐาน PGS หรือมาตรฐานสากล แต่โดยสาระสำคัญเขาผลิตด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ อาจจะไม่ครบถ้วนบางเรื่อง เช่น แนวกันชนอาจจะสั้นไปครึ่งเมตร เพราะไม่อย่างนั้นทุกคนจะบอกว่าเกษตรอินทรีย์ทำยาก การขอรับรองก็ยากและมีค่าใช้จ่าย คนก็จะท้อ เพราะฉะนั้นเราสร้างมาตรฐานตรงนี้เป็นมาตรฐานตั้งต้น เพื่อให้คนได้พัฒนา แล้วก็มีกำลังใจในการไปต่อได้ ถ้าใครได้มาตรฐานสากลแล้วก็คืออยู่ขั้นอุดมศึกษา ถ้าใครได้ PGS ก็ขั้นมัธยม ถ้าขั้นประถมก็ BOS เพื่อให้เขาก้าวไปต่อได้”
หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของรองปลัดบุญธรรม คือการปลูกฝังแนวคิดนี้สู่เยาวชนผ่านหนังสือนิทาน โดยใช้ตัวเอกจากนิทานเด็กที่มีชื่อเสียงกว้างขวางอย่าง “อีเล้งเค้งโค้ง” เจ้าห่านหน้าตาบูดบึ้งผู้ส่งเสียงเป็นเพลง ผลงานการแต่งและวาดภาพโดยครูชีวัน วิสาสะ ผู้สร้างสรรค์นิทานชุดนี้ต่อเนื่องมากว่า 20 ปีแล้ว และจากการริเริ่มโดยรองปลัดบุญธรรมนี้เอง ครูชีวันจึงได้แต่งนิทานเรื่อง “อีเล้งเค้งโค้ง เกษตรสุขสันต์ ขุนคันคาก” ที่มีตัวละครเพิ่มเติมขึ้นมาคือ ขุนคันคาก หรือก็คือคางคกในภาษาอีสาน ผู้พาตัวละครเอกอย่างเจ้าห่านอีเล้งเค้งโค้งไปรู้จักกับโทษของการใช้สารเคมีผ่านผลร้ายที่เกิดกับตัวละครชาวเกษตรกร และบอกเล่าถึงข้อดีของการหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งตอนหนึ่งของนิทานคำคล้องจองนี้ได้กล่าวไว้ว่า
“ทำนาทำไร่ ให้รักชีวิต
ปลูกพืชปลอดพิษ คิดถึงลูกหลาน
เกษตรอินทรีย์ มีแต่โบราณ
ช่วยกันสืบสาน มูลมังกาลก่อน”
โดยรองปลัดบุญธรรมมองการณ์ไกลว่า นิทานภาพนี้จะเป็นทั้งสื่อส่งเสริมการอ่าน เป็นสื่อในการส่งต่อแนวคิดเกษตรอินทรีย์สู่เยาวชน ซึ่งในวันข้างหน้าจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ในจังหวัดยโสธร รวมทั้งยังเป็นการกระจายความรู้สู่คนในวัยผู้ใหญ่ ที่จะต้องเป็นผู้อ่านนิทานให้ลูกหลานฟังอีกด้วย
“เราก็คาดหวังว่า จะปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้ซึมซับในเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเด็กยังอ่านเองไม่ได้ คนที่มาอ่านก็คือพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ก็ได้อ่านจะได้ซึมซับเอาไป ว่าเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างไร”
ไม่ใช่แค่พืชผักผลไม้ แต่รวมไปถึงไข่ไก่และปลาอินทรีย์
นอกจากพืชผลที่ปลูกผ่านกระบวนการเกษตรอินทรีย์แล้ว จังหวัดยโสธรยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่และปลาโดยวิถีทางเกษตรอินทรีย์อีกด้วย ซึ่งในส่วนของไข่ไก่อินทรีย์ มีการดำเนินการผ่านทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด โดยเริ่มต้นกันตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไก่ และอาหารที่นำมาใช้ในการเลี้ยง
“ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกษตรกรที่เคยทำเกษตรอินทรีย์แล้วขยาย เพราะจะมีต้นทุนที่ดีกว่า ไข่ไก่อินทรีย์คือเริ่มที่กระบวนการเลี้ยง การปลูก กระบวนการรับรอง กระบวนการเลี้ยงก็เป็นไปตามเงื่อนไขคือ อาหารที่ใช้มาจากระบบอินทรีย์ เป็นพืชผักในแปลง เช่น ข้าวโพด รำข้าว เป็นกระบวนการที่ไม่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าจะไปซื้ออาหารที่อื่นก็ต้องดูว่าอาหารนั้นมีการรับรองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ ก็ทำให้เกิดศูนย์กลางทำหน้าที่ผลิตอาหารจากระบบ เป็นศูนย์กลางให้กับเครือข่าย”
ในส่วนของปลาอินทรีย์ ซึ่งดำเนินการผ่านสำนักงานประมงจังหวัด รองปลัดบุญธรรมเท้าความให้ฟังว่าการทำปลาอินทรีย์ของยโสธรเริ่มต้นมาจากปลาตะเพียน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำปลาส้ม อาหารขึ้นชื่อของจังหวัด โดยแต่เดิมต้องมีการสั่งปลาตะเพียนมาจากจังหวัดทางภาคกลาง การจะผลิตตั้งแต่ต้นทางจึงต้องมีการศึกษาวิธีเลี้ยงปลาตะเพียน ซึ่งสุดท้ายแล้วพัฒนามาสู่การเลี้ยงปลาตะเพียนในนาข้าวอินทรีย์
“ประมงเขาก็วิจัย ก็ได้ใช้อาหารธรรมชาติคือ ผำ และทดลองเลี้ยงในนาข้าว ก็ได้ผลค่อนข้างดี ก็พัฒนาต่อยอดไปเรื่อย เพราะแต่เดิมถ้าเลี้ยงปลาในนาข้าว ใช้สารเคมีปลาไม่รอด ในนาข้าวมีผลยืนยันชัดเจน ความอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ เพราะเราไม่ไปรังแกเขา”
จากกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ สู่กระบวนการส่งเสริมการตลาด
นอกจากจะส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการแล้ว จังหวัดยโสธรยังส่งเสริมเกษตรกรในเรื่องการตลาด เพื่อหาช่องทางในการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรให้กับเกษตรกร ทั้งในรูปแบบการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดงาน ‘Yasothon Organic Fair’ รวมทั้งการจัดกิจกรรม ‘ร่วมลงขันชวนกันไปทำนา’ ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้ามาเป็น ‘หุ้นส่วน’ จับคู่ลงทุนทำนากับชาวนาอินทรีย์ โดยจะได้ผลผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ตามสัดส่วนของการลงทุน
“ส่งเสริมการตลาดเราก็ต้องสร้างแหล่งจำหน่าย ที่เรามาจัดงานเอาผลผลิตมาขายก็เป็นรูปแบบหนึ่ง แต่ที่เราทำมากกว่านั้นก็คือสร้างการรับรู้ให้กับคนในกรุงเทพฯ ให้เพื่อนฝูงได้รู้จัก ตระหนัก และมีส่วนร่วมในการบริโภค ผมจะใช้คำหนึ่ง คือพลังของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงการผลิตได้ ถ้าคนบริโภคผลผลิตอินทรีย์มากขึ้น เกษตรกรก็มีแรงจูงใจที่จะทำมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องสร้างการตลาด สร้างการรับรู้ คือพยายามให้กระแสเกษตรอินทรีย์ไปสู่ผู้บริโภค แล้วเราก็จัดอีกกิจกรรมหนึ่งที่เป็นกิจกรรมเชิงประชาสัมพันธ์ คือ ร่วมลงขันชวนกันไปทำนา คือให้คนเมืองที่อยากจะทำนา ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ไปเป็นหุ้นส่วนกับทางเกษตรกร ตามเงื่อนไขที่จังหวัดกำหนดไว้ แล้วพอผลิตเสร็จเขาก็เอาข้าวส่งให้เรา เราจะไปดำเองหรือไปเกี่ยวเองก็ได้ อันนี้เป็นการขายล่วงหน้าแล้วก็เป็นการประชาสัมพันธ์ไปด้วย”
ในส่วนของ "Yasothon Organic Fair" เอง ก็ไม่ได้เป็นการจัดงานเพียงเพื่อจะขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แต่เป็นการส่งเสริมการตลาดในระยะยาวเพื่อให้เกษตรกรอินทรีย์มีตลาดที่จะจัดจำหน่ายอย่างยั่งยืน
“จริงๆ เคยมีการจัดงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ แต่เราเปลี่ยนแนวคิด คือเราไม่ได้จัดเพื่อเอาคนมาขาย เราจัดเพื่อสร้างการตลาด แล้วก็เชิญนักธุกิจ ผู้เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ที่สนใจมา คือเป็นการนำเสนอผลผลิตของเรา แต่ไม่ได้เน้นว่าจะต้องมาขายให้ได้เยอะ แต่เน้นว่าคนที่มา ได้เห็นว่ามีผลผลิตอะไร ทำให้มีการสั่งซื้อโดยตรงกับเกษตรกร”
ในส่วนของการขยายแนวความคิดเกษตรอินทรีย์ไปสู่จังหวัดอื่นๆ รองปลัดบุญธรรมกล่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเป้าหมายที่จะขยายเรื่องเกษตรอินทรีย์ไปยังอีกหลายจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งจังหวัดอื่นๆ สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้จาก "Smart Organic Farm" หรือ "ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ยโสธร" ที่สร้างขึ้นสำหรับผู้สนใจมาดูงานเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด เพื่อให้คนทั่วไปสามารถมาเรียนรู้ได้ตลอดทั้งปี แม้จะอยู่ในช่วงเวลานอกฤดูกาลผลิต
เมื่อได้รับรู้เรื่องราวตั้งแต่เมื่อครั้งที่รองปลัดบุญธรรมยังเป็นผู้ว่าฯ ณ จังหวัดยโสธรจวบมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าทุกท่านคงจะเห็นได้ถึงความตั้งใจและใส่ใจในการก่อร่าง ผลักดัน และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ให้เกิดขึ้นในจังหวัดยโสธรอย่างเป็นปึกแผ่น และมีการสานต่ออย่างยั่งยืนมั่งคง รวมทั้งเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่มุ่งหมายจะทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภค แต่ยังเป็นหนทางที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม คือรักษาทั้งผืนดินที่เราอยู่อาศัย แหล่งน้ำที่เราอุปโภคบริโภค และอากาศที่เราใช้ในการหายใจ การที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ยิ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่เราควรส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ให้เกิดอย่างกว้างขวาง ที่แม้ผู้ไม่ใช่เกษตรกรก็สามารถทำได้ผ่านการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากกระบวนการเกษตรอินทรีย์ อย่างที่รองปลัดบุญธรรมได้กล่าวไว้ให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า “พลังของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงการผลิตได้”
บรรณานุกรม
ชีวัน วิสาสะ. (2559). อีเล้งเค้งโค้ง เกษตรสุขสันต์ ขุนคันคาก พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ธนาพริ้นติ้ง.
บุญธรรม เลิศสุขีเกษม. (2560). เครือข่ายคนกล้าคืนถิ่นจังหวัดยโสธร พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
บุญธรรม เลิศสุขีเกษม. (2561). เกษตรอินทรีย์ วิถียโสธร เรื่องราวและประสบการณ์ในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้านเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร เมืองเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: อักษรไทย.