การอ้างอิง: อุดมศักดิ์ บุญมีรติ. (2563) เรื่องจากปก: พืชพลังงาน…ทางเลือกใหม่สำหรับการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 3).


เรื่องจากปก: พืชพลังงาน…ทางเลือกใหม่สำหรับการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง

อุดมศักดิ์ บุญมีรติ 
หน่วยปฏิบัติการวิจัย “การจัดการเหมืองสีเขียว” สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เหมืองแร่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอย่างมากมาย อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2561 (มกราคม - มิถุนายน) ประเทศไทยมีมูลค่าการผลิตแร่รวมประมาณ 37,297 ล้านบาท โดยที่รัฐสามารถจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้ 2,830 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการทำเหมืองแร่ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมทั้งจากขั้นตอนการขุดขน การแต่งแร่ และการจัดการของเสีย รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง โดยจะต้องทำการพัฒนาสภาพพื้นที่ให้เหมือนเดิม (Restoration) หรือปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้ดีขึ้น (Rehabilitation) หรือเปลี่ยนสภาพพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์แบบใหม่ (Replacement) ทั้งนี้การปลูกพืชเป็นวิธีการที่มักถูกเลือกใช้เนื่องจากทำให้พื้นที่การทำเหมืองกลับไปมีสภาพใกล้เคียงกับสภาพพื้นที่เดิมมากที่สุด รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในระยะยาว

การเลือกชนิดของพืชที่เหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จและยั่งยืนของการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง เนื่องจากพื้นที่การทำเหมืองมีความแห้งแล้ง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และมีความเป็นพิษจากโลหะหนัก โดยปัจจุบันพืชพลังงานหลายชนิดได้รับความสนใจและถูกเลือกนำมาปลูกในพื้นที่การทำเหมืองเนื่องจากดูแลรักษาได้ง่าย เจริญเติบโตรวดเร็ว มีมวลชีวภาพสูง และทนทานต่อสภาพความแห้งแล้งและสภาพแวดล้อมที่รุนแรง ดังนั้น การปลูกพืชพลังงานในพื้นที่การทำเหมืองแร่ซึ่งมีอาณาบริเวณขนาดใหญ่จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการใช้พื้นที่เหมืองแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากสามารถทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองแร่ควบคู่ไปกับการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความสามารถในการบำบัดโลหะหนักของพืชพลังงานถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการฟื้นฟูพื้นที่การทำเหมืองให้มีการปนเปื้อนโลหะหนักลดลงอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะช่วยลดข้อขัดแย้งและข้อสงสัยในเรื่องการปนเปื้อนโลหะหนักจากเหมืองแร่ที่ยังคงมีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย


สภาพพื้นที่การทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด (15 มิถุนายน 2561) โดย อุดมศักดิ์ บุญมีรติ



บรรณานุกรม
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทยปี 2561 และแนวโน้มปี 2562 (เข้าถึงเมื่อ 2563). การพัฒนาและส่งเสริมการประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน [Website]. สืบค้นจาก http://www.dpim.go.th/articles?catid=127