บทคัดย่อ
จากการศึกษาแนวทางในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ (1) ศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (2) เพื่อศึกษาถึงทัศนคติเกี่ยวกับการให้คุณค่าในพื้นที่และการเห็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์ (3) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอุทยานฯ ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้ข้อมูลรอง คือ สถานประกอบการ และนักท่องเที่ยว จำนวนทั้งสิ้น 28 คน รวมถึงการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสรุปผล เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข จากการศึกษาพบว่า (1) อุทยานฯ มีปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้คือ ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง ปัญหาสัตว์ป่าอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ และพฤติกรรมของผู้ที่มาเยือนอุทยานฯ เขาใหญ่ (2) ด้านทัศนคติพบว่า ผู้ให้ข้อมูลหลักเล็งเห็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากต้องดูแลผืนป่าสงวนที่มีผลต่อความมั่นคงระดับชาติ สำหรับผู้ให้ข้อมูลรองจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่เพราะเป็นแหล่งอาศัยและใช้ทำมาหากินจึงก่อให้เกิดความหวงแหน สำหรับนักท่องเที่ยวมากกว่าครึ่งที่ได้สัมภาษณ์จะเล็งเห็นความสำคัญและคุณค่าของพื้นที่ (3) ด้านการให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนพบว่า ผู้ให้ข้อมูลหลักจะให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหน้าที่ในการอนุรักษ์และปกป้องอุทยานฯ ในฐานะที่เป็นมรดกโลก สำหรับสถานประกอบการที่อยู่รอบอุทยานฯ จะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเพราะจำเป็นต้องพึ่งพาอุทยานฯ ในการประกอบอาชีพ และสำหรับนักท่องเที่ยว จะให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง
ณัฏฐ์นันท์ คำทอง, เพชรรัตน์ โล้วิชากรติกุล. (2561). แนวทางในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 1), 16-24.
แนวทางในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
THE DEVELOPMENT OF KHAO YAI NATIONAL PARK
FOR SUSTAINABLE TOURISM
ณัฏฐ์นันท์ คำทอง, เพชรรัตน์ โล้วิชากรติกุล
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
บทคัดย่อ
จากการศึกษาแนวทางในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ (1) ศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (2) เพื่อศึกษาถึงทัศนคติเกี่ยวกับการให้คุณค่าในพื้นที่และการเห็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์ (3) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอุทยานฯ ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้ข้อมูลรอง คือ สถานประกอบการ และนักท่องเที่ยว จำนวนทั้งสิ้น 28 คน รวมถึงการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสรุปผล เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข จากการศึกษาพบว่า (1) อุทยานฯ มีปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้คือ ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง ปัญหาสัตว์ป่าอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ และพฤติกรรมของผู้ที่มาเยือนอุทยานฯ เขาใหญ่ (2) ด้านทัศนคติพบว่า ผู้ให้ข้อมูลหลักเล็งเห็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากต้องดูแลผืนป่าสงวนที่มีผลต่อความมั่นคงระดับชาติ สำหรับผู้ให้ข้อมูลรองจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่เพราะเป็นแหล่งอาศัยและใช้ทำมาหากินจึงก่อให้เกิดความหวงแหน สำหรับนักท่องเที่ยวมากกว่าครึ่งที่ได้สัมภาษณ์จะเล็งเห็นความสำคัญและคุณค่าของพื้นที่ (3) ด้านการให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนพบว่า ผู้ให้ข้อมูลหลักจะให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหน้าที่ในการอนุรักษ์และปกป้องอุทยานฯ ในฐานะที่เป็นมรดกโลก สำหรับสถานประกอบการที่อยู่รอบอุทยานฯ จะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเพราะจำเป็นต้องพึ่งพาอุทยานฯ ในการประกอบอาชีพ และสำหรับนักท่องเที่ยว จะให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง
คำสำคัญ : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่คนไทยและชาวต่างชาติ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติที่เป็นมรดกโลก อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร และมีกิจกรรมทางธรรมชาติที่น่าสนใจ เส้นทางที่มุ่งหน้าสู่แหล่งท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาพร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีความเจริญเข้ามาพื้นที่ทางธรรมชาติก็ค่อย ๆ สูญหายไป สิ่งที่เข้ามาทดแทนคือ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษจากขยะและของเสียตามแหล่งท่องเที่ยว ภูมิทัศน์ที่เคยเขียวขจีกลับถูกทดแทนด้วยพื้นคอนกรีต เสียงรบกวนจากยานพาหนะและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า รวมถึงการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
จากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาค้นคว้าถึงปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน รวมถึงศึกษาถึงทัศนคติเกี่ยวกับการให้คุณค่าในพื้นที่และการเห็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว ประเด็นของการให้อาหารลิงกังโดยนักท่องเที่ยวในอุทยานฯ เขาใหญ่ ได้มีศึกษาไว้โดย พรชัย กัณห์อุไร (2546) พบว่านักท่องเที่ยวส่วนมาก (ร้อยละ 94) ไม่ได้ให้อาหารกับลิงกังที่พบเห็น และโดยส่วนมาก (ร้อยละ 94) ทราบว่าการให้อาหารสัตว์ป่าจะส่งผลกระทบที่ไม่ดีในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งทางอุทยานฯ เขาใหญ่ควรจะต้องควบคุมพฤติกรรมการให้อาหารลิงกังของนักท่องเที่ยวอย่างเช้มงวดต่อไป ส่วนในประเด็นด้านของพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ได้มีการศึกษาไว้โดย ณัฐพล รัตนพันธุ์ (2555) ในพื้นที่อุทยานฯ น้ำตกโยง จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่ขัดต่อข้อปฏิบัติ คือ การให้อาหารปลาในลำธาร การส่งเสียงดัง การเล่นดนตรี การทิ้งขยะ ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุดังกล่าว เกิดจากการกระทำโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้กฎระเบียบ ต้องการความสะดวกสบาย เพื่อความสนุกสนาน และจำเป็นต้องทำหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามลำดับ และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอุทยานแห่งชาติของนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง รองลงมาคือ การรับรู้เกี่ยวกับความรุนแรงของบทลงโทษ
วิธีดำเนินการวิจัย
ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยมุ่งศึกษาถึงปัญหา ทัศนคติ และการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) คือ การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) ผู้วิจัยจะกำหนดคำถามไว้ก่อนล่วงหน้าเพื่อเป็นแนวทางในการสัมภาษณ์ (Interview Guide) และ 2) การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participant observation) โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2560 ซึ่งนำผลลัพธ์ที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกมาทำความเข้าใจและเปรียบเทียบข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้เกิดความสอดคล้องกับประเด็นที่ได้ทำการศึกษา เพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ผลการวิจัย
จากการศึกษาและเก็บข้อมูลสามารถแบ่งผลการวิจัยออกได้เป็น 5 หัวข้อ คือ
1. ด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบทางกฎหมาย
เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีกฎระเบียบและข้อกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติอยู่ ซึ่งกำหนดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ส่วนด้านความเข้มงวดของข้อกฎหมาย ผู้ให้ข้อมูลหลักให้คำตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า พ.ร.บ.อุทยานฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มีความเข้มงวดอยู่ในตัวบทกฎหมาย โดยผู้ให้ข้อมูลหลัก 1 คนมีทัศนคติที่ต่างออกไปว่า กฎหมายที่บังคับใช้จะเข้มงวดหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ และการที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดและเข้มงวด มีสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมีความรู้ด้านกฎหมาย และยังพบอีกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความร่วมมือในการปฏิบัติได้มากกว่านักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง คือ การให้อาหารสัตว์ป่า ทิ้งขยะไม่เป็นระเบียบ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตอุทยานฯ และการส่งเสียงดัง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ อภิชญา พูลสวัสดิ์ (2556) ซึ่งพบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยกระทำพฤติกรรมทางลบสูงกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ยกเว้นเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลทางสถิติไม่แตกต่างกันเท่าใด เป็นผลมาจากกฎหมายในต่างประเทศมีบทกำหนดโทษที่รุนแรงกว่าประเทศไทย เจ้าหน้าที่ในต่างชาติมีความเด็ดขาด ไม่มีการประนีประนอม ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ส่งผลให้นักท่องเที่ยวในต่างประเทศมีตัวเลขผู้กระทำผิดไม่สูง ในด้านมาตรการรองรับที่ทางอุทยานฯ ดำเนินการ คือ โครงการตาสับปะรดและโครงการประชาสัมพันธ์ 4 ม ที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอุทยานฯ ตามแนวคิด “หัวใจสีเขียว” (Green Heart) คือ หัวใจที่เคารพในวิถีแห่งธรรมชาติ สร้างทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ และตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ พบว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขาดการประชาสัมพันธ์แบบต่อเนื่องโดยประชาสัมพันธ์เพียงช่วงเทศกาลหรือช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมากเท่านั้น สื่อที่ใช้ประชาสัมพันธ์มีข้อมูลไม่ครบถ้วนคือ ระบุเพียงข้อห้ามแต่ไม่มีการอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน และข้อความที่ประชาสัมพันธ์มีเพียงภาษาไทย ไม่มีเนื้อหาที่ทำให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศและการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว
2. ด้านการให้ความร่วมมือต่อกฎระเบียบทางกฎหมาย
2.1) สถานประกอบการ ส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วมในการช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ โดยประชาสัมพันธ์ผ่านทาง Social Network และผ่านทางนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักที่โรงแรมหรือเข้ามารับประทานอาหารภายในร้านอาหาร ผู้ให้ข้อมูลรองบางส่วนให้การสนับสนุนด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ออกลาดตระเวน บางส่วนก็เข้าร่วมกิจกรรมของทางอุทยานฯ โดยตรง เช่น กิจกรรมปลูกป่า ทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อยู่ในกรอบแนวคิด “ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” (Green Plus) คือ การมีกิจกรรมหรือการบริจาคให้คืนกลับแก่ธรรมชาติด้วยความเต็มใจ อีกทั้งบางส่วนยังมีส่วนร่วมในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่และจัดการขยะตามหลักการอนุรักษ์ มีการบำบัดน้ำเสีย ติดตั้งท่อดักไขมัน กรองเศษอาหาร และลดของเสียก่อนทิ้ง ซึ่งอยู่ในขอบข่ายแนวคิด “ชุมชนสีเขียว” (Green Community) คือ แหล่งท่องเที่ยวที่มีความรู้ที่จะบริหารจัดการการท่องเที่ยวในทิศทางที่ยั่งยืน เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เห็นแก่ส่วนรวม จะทำให้การท่องเที่ยวของชุมชนยั่งยืนไปได้ตลอด ซึ่งระดับการให้ความร่วมมือจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความเข้าใจและการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม สอดคล้องกับแนวคิดของ พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ ที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษา บ้านโคกไคร จังหวัดพังงา ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโคกไคร คือ ศักยภาพทางการท่องเที่ยว กระบวนความคิดแบบยั่งยืนในด้านการมีจิตสำนึกที่ดีในการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของทรัพยากรทางการท่องเที่ยวมากกว่าการมุ่งเน้นผลประโยชน์ด้านรายได้ มุ่งที่จะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผู้นำชุมชนเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมกับการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม (พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์, 2557)
2.2) นักท่องเที่ยว เกือบทั้งหมด (9 จาก 10 คน) ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎที่ทางอุทยานฯ บังคับใช้ มีเพียง 1 คน ที่ละเมิดกฎอุทยานฯ บ้างในบางครั้ง เช่น เรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ในอุทยานฯ การส่งเสียงดัง โดยให้เหตุผลว่าเมื่อมากับเพื่อนกลุ่มใหญ่จะสนุกสนานเต็มที่ และมีนักท่องเที่ยว 2 คนจากทั้งหมด ที่เคยละเมิดกฎอุทยานฯ แต่ภายหลังก็ไม่ปฎิบัติเช่นนั้นอีก ซึ่งจากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะทราบข้อกำหนดของอุทยานฯ เพียง 4 ข้อ จาก 19 ข้อ ที่อุทยานฯ ทำการประชาสัมพันธ์บ่อยครั้ง คือ ก) ไม่ส่งเสียงดัง ข) ไม่ทิ้งขยะโดยนำขยะกลับไปทิ้งบ้าน ค) ไม่ขับรถเร็ว และ ง) ไม่ให้อาหารสัตว์ โดยข้อกำหนดที่ทุกคนทราบกันดีที่สุด คือ “ไม่ให้อาหารสัตว์”
3. ด้านจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก พบว่า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลในแต่ละภาคส่วนมีไม่เพียงพอ ซึ่งทางรัฐบาลก็ไม่สามารถให้การสนับสนุนได้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก โดยสาเหตุที่เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอเกิดจาก 3.1) รัฐบาลไม่มีเงินสนับสนุนเพียงพอ 3.2) ขาดการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างเหมาะสม เช่น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามเป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้นำเจ้าหน้าที่บางส่วนไปช่วยดูแลด้านความปลอดภัยและให้บริการนัก ท่องเที่ยว ทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องลาดตระเวนผืนป่าจะน้อยลง 3.3) เจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้บังคับบัญชา และ 3.4) รายได้และเบี้ยเลี้ยง ซึ่งส่งผลต่อความตั้งใจและความซื่อสัตย์ในหน้าที่การงาน ผลกระทบคือเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพต้องลาออกและไปหางานใหม่ที่มีค่าตอบแทนที่ดีกว่า
4. ด้านปัญหาและอุปสรรคของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์และการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
อุทยานฯ ยังมีปัญหาที่กำลังประสบและยังไม่สามารถแก้ไขได้ คือ 4.1) ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งไม้พะยูงจัดเป็นไม้ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากเป็นไม้ที่มีคนต้องการสูง โดยเฉพาะในประเทศจีน (สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ, 2557) ในปี พ.ศ. 2557 “ดงพญาเย็น” และ “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ได้ถูกคณะกรรมการมรดกโลก บรรจุวาระการพิจารณา “ดงพญาเย็น–เขาใหญ่” ขึ้นบัญชีมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย” ในประเด็นขยายถนนเส้น 304 และอีกส่วนหนึ่งคือผลจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างรุนแรง หลังจากการประชุมในครั้งนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพื่อไม่ให้ถูกขึ้นบัญชีมรดกโลกในภาวะอันตราย และสถานการณ์ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คณะกรรมการมรดกโลกจึงให้เวลาไทยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไม้พะยูงให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งในปัจจุบัน ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงถึงแม้ว่าจะมีสถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านที่นายทุนจ้างให้เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เนื่องจากเป็นแหล่งไม้พะยูงแหล่งสุดท้ายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ยังคงสมบูรณ์อยู่ 4.2) ปัญหาสัตว์ป่า เป็นปัญหาที่ควบคุมได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องที่นักท่องเที่ยวให้อาหารสัตว์ป่า ทำให้สัตว์ป่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป และอาจทำให้สัตว์ป่าถูกรถชนจากการออกมารอรับอาหารจากมนุษย์ (พรชัย กัณห์อุไร, 2546) ซึ่งเรื่องการห้ามให้อาหารสัตว์อยู่ในบทห้ามของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตราที่ 16 ทางอุทยานฯ ก็มีการติดป้ายเตือน เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว ผลคือนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่นักท่องเที่ยวบางส่วนยังไม่ปฏิบัติตาม ส่วนปัญหาที่ช้างป่าออกมาเดินบนถนนในอุทยานฯ เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบและแนะนำแนวทางในการปฏิบัติเมื่อเจอสัตว์ป่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด และ 4.3) ปัญหาพฤติกรรมนักท่องเที่ยว แบ่งออกได้ 2 สาเหตุ สาเหตุแรกคือนักท่องเที่ยวบางส่วนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอุทยานฯ จากความไม่ทราบข้อกำหนดหรือทราบเพียงข้อกำหนดบางข้อที่ทางอุทยานฯ ประชาสัมพันธ์บ่อยครั้ง สาเหตุที่สองคือนักท่องเที่ยวทราบข้อกำหนดแต่ไม่ปฏิบัติตามเนื่องจากบางคนต้องการท้าทายเพราะความคึกคะนอง (อภิชญา พูลสวัสดิ์, 2556)
5. ด้านความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องการขยายถนนเส้น 304 (ช่วงคอคอด) และการสร้างเส้นทางเชื่อมป่าฝั่งเขาใหญ่และทับลาน
5.1) ผู้ให้ข้อมูลหลัก มีความคิดเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะเป็นการพัฒนาด้านการคมนาคมควบคู่กับการอนุรักษ์ ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ต่าง ๆ กล่าวคือ ถนนเส้น 304 นั้นเป็นถนนที่แคบและลาดชัน ทำให้ผู้ที่สัญจรไปมาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ในการพัฒนาครั้งนี้จะทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น ทั้งยังเป็นถนนเส้นหลักในขนส่งสินค้าระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คำนึงถึงการลดผลกระทบทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ป่า โดยได้ทำสะพานยกระดับคู่ เพื่อให้สัตว์ลอดไปมาระหว่างพื้นที่ป่าทั้ง 2 แห่งซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่าในถิ่นอาศัย เรื่องของการขยายถิ่นอาศัย การเพิ่มขึ้นของแหล่งอาหาร การขยายพันธุ์ของสัตว์ป่าที่อาจใกล้สูญพันธุ์ และแก้ปัญหาการสืบพันธุ์ของสัตว์ป่าในสายเลือดเดียวกันเอง และ 5.2) ผู้ให้ข้อมูลรอง ส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องโครงการเชื่อมผืนป่า ทราบเพียงเรื่องการขยายถนนเส้น 304 และมีทัศนคติเป็นกลางในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมจาก 2 เลนเป็น 4 เลน คือ มีความเห็นที่สอดคล้องกัน หากการพัฒนาไม่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติจนเกินความเหมาะสม ผู้ให้ข้อมูลบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการขยายถนนเส้น 304 พวกเขาได้เล็งเห็นถึงข้อเสียที่จะเกิดขึ้น เช่น ปัญหามลพิษจากการก่อสร้างและมลพิษทางอากาศที่เกิดจากจากควันรถ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่ามากขึ้น แต่บางส่วนเห็นว่า การพัฒนานั้นจะส่งผลดีต่อธุรกิจ เพราะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวก สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้วิจัยได้ค้นพบสาเหตุที่ผู้ให้ข้อมูลรองไม่เห็นด้วยต่อการขยายถนนว่า ผู้ให้ข้อมูลรองส่วนใหญ่ทราบแต่เพียงเรื่องการขยายถนนเส้น 304 จึงทำให้ผู้ให้ข้อมูลรองเหล่านั้นแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะขาดความเข้าใจถึงเหตุผลและข้อสนับสนุนในการพัฒนาดังกล่าว เมื่อผู้วิจัยได้ทำการอธิบายถึงเหตุผลโดยมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ผู้ให้ข้อมูลรองเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ โดยแสดงความ เห็นด้วยกับการพัฒนาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าสื่อที่ประชาสัมพันธ์หากมีเนื้อหาครบถ้วน ชัดเจน เข้าใจง่าย เชื่อถือได้และมีการประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง ก็จะส่งผลต่อความเข้าใจ ทัศนคติ และความคิดเห็นของประชาชนผู้รับสารดังกล่าว
6. ด้านอัตราของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กำลังดำเนินงานภายใต้มาตรการการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังมีการประนีประนอมต่อผู้กระทำผิดพ.ร.บ.อุทยานฯ รวมถึงระบบการประสานงานระหว่างกันยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสามารถคำนวนปริมาณนักท่องเที่ยวได้อย่างแม่นยำ และพบว่า ขณะนี้ทางอุทยานฯ ได้มีมาตรการจองบ้านพักออนไลน์ ซึ่งระบบดังกล่าวคงที่แล้ว และกำลังเริ่มทดลองระบบจองเต๊นท์ออนไลน์อย่างจริงจัง แต่ ณ ตอนนี้ระบบจองเต๊นท์ออนไลน์ยังไม่คงที่เท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถคำนวณตัวเลขนักท่องเที่ยวที่พักค้างคืนในอุทยานฯ ได้อย่างแม่นยำ ผู้ให้ข้อมูลหลัก เสนอว่า หากจำนวนนักท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เต็ม ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปกางเต๊นท์ที่อุทยานฯ ข้างเคียง นั่นคืออุทยานแห่งชาติทับลาน ปางสีดาและตาพระยาตามลำดับ เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดกับธรรมชาติ รวมถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาห้องน้ำไม่เพียงพอและปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า ปริมาณนักท่องเที่ยวส่งผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว ทำให้พื้นที่เกิดความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว มีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งงบประมาณการสนับสนุนด้านบุคลากร ความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมของบุคลากร วัฒนธรรมและขนบธรรมเนีบมประเพณี รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ทัศนคติต่อการให้ความสำคัญและคุณค่าที่มีต่อพื้นที่เหล่านั้น
ข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไข
1) แนวทางการแก้ไขด้านนโยบายและบุคลากรอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ควรจัดทำแผนการจัดการอุทยานฯ ให้เป็นรูปธรรม จัดสรรงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีมาจัดจ้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการและพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกทั้งควรนำแนวคิด 7 Greens Concept มาปรับใช้ในส่วนของการท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ เช่น 1.1) Green Heart (หัวใจสีเขียว) การจัดโครงการที่สร้างทัศนคติที่ดีและให้ ตระหนักถึงคุณค่าสิ่งแวดล้อม 1.2) Green Logistic (รูปแบบการเดินทางสีเขียว) รูปแบบการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.3) Green Community (ชุมชนสีเขียว) รณรงค์ให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงจุดยืนถึงความร่วมมือกันของชุมชนท้องถิ่น 1.4) Green Attraction (แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว) หมั่นดูแลรักษาและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานฯ ไม่ให้มีสภาพเสื่อมโทรม 1.5) Green Activity (กิจกรรมสีเขียว) จัดกิจกรรมสำหรับที่แฝงไปด้วยการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม 1.6) Green Service (การบริการสีเขียว) รณรงค์ให้ลดปริมาณการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.7) Green plus (ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม) รณรงค์ให้มีการจัดกิจกรรมด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม หรือรณรงค์ให้มีการบริจาครายได้ส่วนหนึ่งให้กับกองทุนเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย
2) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ควรหาวิธีจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายในการปลูกต้นไม้โตไวขึ้นมาทดแทนป่าสงวนที่ถูกทำลาย รวมไปถึงปลูกพืชและต้นไม้ที่เป็นอาหารของสัตว์ป่า เพื่อไม่ให้สัตว์ป่าออกมาหาอาหารในพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลให้การดำรงชีวิตของสัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงไป
3) แนวทางการแก้ไขด้านการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ ควรให้ความสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในด้านเครื่องอุปโภคบริโภค ความปลอดภัย เครื่องมือสื่อสาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
4) แนวทางการแก้ไขด้านการจัดการนักท่องเที่ยวและนันทนาการในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ควรจริงจังกับมาตรการการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวโดยนำประโยชน์จากเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านความถูกต้องแม่นยำของระบบฐานข้อมูล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้มีการใช้ “National Parks of Thailand Card” คือ บัตรผ่านอุทยานฯ ที่ใช้แสดงตัวตนของผู้ถือบัตร โดยบัตร 1 ใบสามารถใช้ได้กับทุกอุทยานฯ ในประเทศไทย เป็นการลดการใช้กระดาษ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถนับสถิติของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวอุทยานฯ ในประเทศไทยได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
5) แนวทางการแก้ไขด้านสังคม หน่วยงานภาครัฐ ควรมีนโยบายในกระตุ้นการสร้างจิตสำนึกที่ดี ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ของคนในชุมชน โดยมีการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง เสริมสร้างความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ส่งเสริมให้คนในชุนชนผลิตสินค้าให้โดดเด่นด้านเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
ณัฐพล รัตนพันธ์. (2555). การศึกษาพฤติกรรมทำลายและการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง จังหวัดนครศรีธรรมราช. งานวิจัยในอุทยานแห่งชาติภาคใต้. ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี.
พรชัย กัณห์อุไร. (2546). ผลกระทบของการให้อาหารสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่: กรณีศึกษาลิงกัง. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, คณะวิทยาศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์).
พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์. (2557). การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาบ้านโคกไคร จังหวัดพังงา. วารสารเชิงวิชาการ Veridian E-Journal, 7, 650-665.
สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ. (2557). พะยูง: แนวทางการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรพันธุกรรม. เอกสารเผยแพร่ กรมป่าไม้, ปีที่ 6 ฉบับที่ 2, 11.
อภิชญา พูลสวัสดิ์. (2556). พฤติกรรมในแหล่งนันทนาการตามบรรทัดฐานของผู้มาเยือนอุทยานแห่งชาติชาวไทยและชาวต่าวประเทศ : กรณีศึกษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะวนศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์