ภาพโดย พงศ์พิพัฒน์ ศรีวราลักษณ์ เมื่อ 15 กรกฎาคม 2558

ปัณฑิตา ตันวัฒนะ. (2561). เรื่องจากปก ป่าต้นน้ำน่าน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 3), 4.

เรื่องจากปก

ป่าต้นน้ำน่าน

เรื่องโดย ปัณฑิตา ตันวัฒนะ
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพมุมสูงจากเครื่องบินสะท้อนป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านที่ถูกทำลาย ภาพป่าในฤดูฝนควรจะเขียวชอุ่มไปทั่วทั้งผืนป่า พร้อมโอบอุ้มมวลน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง พื้นที่แห่งนี้ คือ แหล่งผลิตน้ำกว่าร้อยละ 40 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางทั่วทั้งผืน 

แต่เหตุใดกลับเหมือนมี “ทะเลทราย” อยู่กลางผืนป่าต้นน้ำของเรา

พื้นที่กว่าร้อยละ 87 ของจังหวัดน่านเป็นป่าต้นน้ำและภูเขา มีพื้นที่เพียงร้อยละ 12.2 เท่านั้นที่สามารถทำการเกษตรเพาะปลูกได้ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา เป็นต้น โดยมากเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมากิจกรรมทางการเกษตรรุกคืบเข้าไปในพื้นที่ป่า ด้วยมีปัจจัยหนุนจากแหล่งรับซื้อผลผลิตรายใหญ่ที่เอื้ออำนวยปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกร จึงนำไปสู่การบุกรุกทำลายป่า การเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตร 

“ปัญหาภูเขาหัวโล้น” เชื่อมโยงกับปัญหาต่างๆ อาทิ ไฟป่าหมอกควัน ดินโคลนถล่ม อุทกภัย ภัยแล้ง ปัญหาสารเคมีทางการเกษตรปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงเท่านั้น การสูญเสียป่าไม่เป็นเพียงการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ยังนำมาซึ่งความล้มเหลวของวิถีเกษตรดั่งเดิม เกษตรกรต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากแหล่งทุนภายนอก เมื่อเกษตรกรมุ่งเน้นผลิตเพื่อขาย เมืองน่านจึงขาดความมั่นคงทางอาหาร นำมาซึ่งหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมอื่นๆ 

ภาพนี้นอกจากจะช่วยยืนยันว่าเราสูญเสียป่าต้นน้ำของประเทศไปมากมายเพียงใด ยังสะท้อนถึงความสำคัญของปัญหาในจังหวัดน่าน ที่ไม่ใช่เพียงปัญหาระดับจังหวัด แต่เป็นปัญหาระดับลุ่มน้ำ ระดับภาค และระดับประเทศ ที่ต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่จะพบทะเลทรายกลางป่าเข้าจริงๆ สักวัน