ชยา วรรธนะภูติ. (2561). ความสำคัญของความหมายเชิงวัฒนธรรมของลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ ต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 3), 32-40.

ความสำคัญของความหมายเชิงวัฒนธรรมของลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ ต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ชยา วรรธนะภูติ
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การก่อตั้งกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) ใน พ.ศ. 2535 เรื่อยมาจนถึงพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol พ.ศ. 2548) และความตกลงปารีส (Paris Agreement พ.ศ. 2558) มีผลอย่างชัดเจนต่อแนวทางการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศทั่วโลก ภายใต้เป้าหมายแบบไม่ผูกมัด ประเทศสมาชิกต่างพยายามร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ข้อมูลวิทยาศาสตร์และพันธกรณีเหล่านี้จะกลายเป็นกิจกรรมในระดับท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างไร บ่อยครั้งมักจะเป็นการรณรงค์และให้ความรู้เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ในเมื่อแม่บ้าน แพทย์ เกษตรกร ศิลปิน คนงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่พระ ต่างก็มีความเข้าใจและตอบสนองต่ออากาศในพื้นถิ่นของตนไม่เหมือนกัน แล้วนักวิชาการจะสื่อสารและอธิบายคำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ให้พวกเขาว่าอย่างไร ดูเหมือนง่ายแต่มีความซับซ้อนในเชิงภาษาศาสตร์และปรัชญาอย่างคาดไม่ถึง 

หรือนั่นเป็นเพราะผู้เผยแพร่ข้อมูลถูกบังคับให้เข้าใจและสื่อสารจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์เพียงด้านเดียว ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านลองก้าวข้ามจุดยืนทางวิทยาศาสตร์นี้ และลองทำความเข้าใจอากาศจากมุมมองทางสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ ลองถามตัวเองดูว่า อากาศข้างนอกบ้านที่เราบอกว่ามันเปลี่ยนนั้น เหมือนกับสิ่งที่เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือไม่ หรือมันมีความหมายมากกว่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่าอากาศประกอบด้วยมิติทางทางกายภาพและทางวัฒนธรรม นั่นหมายความว่าเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และสื่อสารประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เข้าถึงคนหลากกลุ่มมากขึ้น จำเป็นจะต้องบูรณาการมุมมองและความรู้จากหลายสาขา

เนื้อหาของบทความนี้แบ่งเป็นสามส่วน เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีส่วนในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ควรมองข้ามมิติเชิงวัฒนธรรมของลมฟ้าอากาศและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในส่วนแรกจะกล่าวถึงลมฟ้าอากาศในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและปรัชญาในการดำรงชีวิต ในส่วนที่สองบรรยายถึงความแตกต่างระหว่างลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ และกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ใช่เพียงประเด็นทางสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นจินตนาการและวาทกรรมอีกด้วย ในส่วนสุดท้าย เป็นการตั้งคำถามว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากมิติเชิงวัฒนธรรมของลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ

ลมฟ้าอากาศ: ท้องถิ่น ชีวิต จิตใจ

ในภาษาพูดทั่วไป คนไทยมักใช้คำว่า “อากาศ” หรือ “ฝนฟ้า/ฟ้าฝน” เพื่อกล่าวถึงความเป็นไปของปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่รับรู้และสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นแดดที่ร้อนผ่าวเผาผิวหน้า เสียงฟ้าร้อง กลิ่นไอดินที่โชยมาขณะฝนตก เป็นต้น รวมถึงการสังเกตจาก ความหนาบางของเสื้อผ้าที่สวมใส่  พฤติกรรมของพืชและสัตว์ หรือบิลค่าน้ำค่าไฟฟ้า แม้คำว่า “ลมฟ้าอากาศ” (weather) จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงชั่วขณะของสภาพบรรยากาศ ผู้เขียนต้องการเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เชิงกายภาพจะไม่มีความหมายเลยหากปราศจากการลงทุนทางความรู้สึกและความทรงจำ (Hulme, 2015; Vaddhanaphuti, 2017) เช่น อาการคิดถึงถึงใครบางคนที่มากับช่วงฤดูฝน หรือความโศกเศร้าเสียใจจากการที่พายุพัดถล่มบ้านเรือนเสียหาย  ดังนั้นการรับรู้และอารมณ์ รวมถึงเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจต่างๆ และสิ่งของที่พบได้ในชีวิตประจำวันในท้องถิ่นของตน ล้วนประกอบให้ลมฟ้าอากาศนั้นมีความหมายทางวัฒนธรรมขึ้นมา (Barnes & Dove, 2015; Sarah Strauss & Orlove, 2003) ภูมิปัญญาเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศมักส่งต่อในรูปของมรดกทางวัฒนธรรมผ่านการสนทนาในชีวิตประจำวัน (Harley, 2003) ตำนาน (Cruikshank, 2005) ที่แทรกซึมในทุกชนชั้น เพศและอายุ จนกลายเป็นความทรงจำของสังคมและส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ (ลอรา ลี, 2551)

ในหนังสือ ประวัติศาสตร์หยาดฝน (2561 น. 29) ผู้แต่ง ซินเธีย บาร์เนตต์ บรรยายถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างฝนและสังคมมนุษย์ไว้อย่างสวยงามดังนี้: 

...ทุกคนชอบพูดถึงฝน ฝนเป็นหัวข้อสนทนาของเราได้เสมอไม่ว่าจะตกมากไปหรือน้อยไปก็ตาม ทั้งยังเป็นช่องทางให้เราได้สื่อสารกัน ทั้งในแบบที่ลึกซึ้งเหมือนคำอธิษฐานและศิลปะ ในแบบจริงจังเหมือนเศรษฐศาสตร์ หรือแบบผ่อนคลายเป็นกันเองเหมือนบทสนทนาของคนแปลกหน้าที่ติดพายุด้วยกัน ฝนทำให้เรารู้สึกเป็นพวกเดียวกันในการเผชิญหน้ากับธรรมชาติไม่กี่อย่างที่เรายังควบคุมไม่ได้แต่ต้องประสบพบเจอเป็นประจำ ฝนอาจเปลี่ยนย่านชานเมืองหรือแม้แต่เมืองใหญ่ให้วุ่นวายไร้ระเบียบได้ ขณะยืนตัวงอหลับฝนอยู่กับเพื่อนมนุษย์คนอื่นใต้ร้านก่อสร้าง เราก็ได้ผูกพันกันจากความทรงจำและปริศนาสายฝนที่ทั้งกระตุ้นพลัง ทำให้สับสนและมอบชีวิตให้กับเรา 

ฝนมีชีวิต และจังหวะชีวิตของฝนก็ทำให้สังคมมีชีวิตชีวาด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของอากาศอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางร่างกายและจิตใจ เช่น เกษตรกรในรัฐนิว เซาท์ เวลส์ ออสเตรเลีย (Lesley Head, Atchison, Gates, & Muir, 2011) และในคอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร (Geoghegan & Leyshon, 2012) รู้สึกเครียด กังวล นอนไม่หลับ หลังจากสภาพอากาศรุนแรงกระทบพืชพรรณเสียหาย ในรัฐแทสเมเนีย ออสเตรเลีย หิมะบนยอดเขาที่บางลงเรื่อยๆ ทำให้ไม่สามารถไปเดินเขาหรือเล่นสกีได้ดังเคย ประชาชนรู้สึกเสียใจและกังวลเพราะอัตลักษณ์ของเมืองสูญเสียไปกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Gorman-Murray, 2010)

คนธรรมดาทั่วไปมักต้องตีความลมฟ้าอากาศจากสิ่งรอบข้างเพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่จากข้อมูลพยากรณ์อากาศเสมอไป ที่อินเดีย เกษตรกรผู้ปลูกแอปเปิ้ลพูดถึงอากาศเปลี่ยนแปลงในเชิงการออกผลและคุณภาพของแอปเปิ้ล มากกว่าที่จะพูดถึงอุณหภูมิโดยตรง (Vedwan & Rhoades, 2001) งานศึกษาที่อิยิปต์ของเจสสิกา บาร์นส์ (Barnes, 2015) พบว่าเมื่อนักวิทยาศาสตร์พูดถึงการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน เกษตรกรผู้รอน้ำจากชลประทานกลับเข้าใจการเพิ่ม-ลดของน้ำจากการควบคุมการเปิด-ปิดเขื่อนแทน 
เช่นเดียวกันกับแม่ฮ่องสอนของ ฟอร์ไซธ์และเอแวนส์ (Forsyth & Evans, 2013) พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไม่ได้ตีความปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในเชิงกายภาพและพยายามป้องกันน้ำท่วมโดยตรงดังที่นักวิชาการคาดไว้ แต่พวกเขากลับแก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงระบบการผลิตอาหารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งสามตัวอย่างชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เข้าใจอากาศและการเปลี่ยนแปลงของมันจากผัสสะและกิจกรรมในชีวิตประจำวันในท้องถิ่นของตน นี่เป็นประเภทของความรู้ที่แตกต่างกันชัดเจนเทียบกับการอ่านตำรา หรือ การอ่านค่าจากเทอร์โมมิเตอร์ที่ตัดขาดจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ (Ingold & Kurtilla, 2000)

ต้องไม่ลืมว่าสภาพอากาศมักจะถูกตีความภายในกรอบบริบททางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของพื้นที่หนึ่งๆเสมอ ดังเช่นชาวบ้านในรัฐนอร์ท แคโรไลนา (Rice, Burke, & Heynen, 2015) และในจีน (Burnham, Ma, & Zhang, 2015) เข้าใจว่าภัยพิบัติทางอากาศที่เกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น มีสาเหตุมาจากพื้นที่ป่ารอบข้างที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นพื้นที่เพาะปลูกตามลำดับ ไม่ใช่เพราะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยน เช่นเดียวกัน ชาวบ้านทิเบตที่ก็อธิบายการละลายของหิมะว่าเกิดจากการลงโทษของเทพเจ้า เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาลบหลู่และทำลายธรรมชาติ (Byg & Salick, 2009) 

อากาศซึมลึกไปถึงระดับความเชื่อ ศาสนาและจิตใจจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่ออากาศเปลี่ยนคนจึงรู้สึกว่าต้องแสดงความรับผิดชอบ การศึกษาของ รูดิแอค-กูลด์ (Rudiak-Gould, 2012) ที่สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์พบว่าในปรัชญาของคนที่นี่ สังคมมนุษย์และธรรมชาติที่เป็นสิ่งเดียวกัน (ตรงข้ามกับปรัชญาตะวันตก) ผนวกอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “จักรวาล” สำหรับจักรวาลที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ (ที่เกิดจากปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลง หรือการคลืบคลานเข้ามาของสังคมวัตถุนิยม ฯลฯ) จะต้องรับผิดชอบและแก้ปัญหาโดยคนท้องถิ่นเอง ไม่ใช่โดยคนจากประเทศอื่น ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ชาวบ้านทิเบตเชื่อว่าการที่มนุษย์ (ชาวบ้าน รัฐบาลและนักท่องเที่ยว) เคารพธรรมชาติและเทพเจ้าตามหลักพุทธศาสนา จะช่วยทำให้ได้หิมะกลับคืนมาดังเดิม (Byg & Salick, 2009) เช่นเดียวกันกับที่จังหวัดน่าน ชยา วรรธนะภูติพบว่าการนับถือพุทธ-ผีนำมาซึ่งการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ซับซ้อน ทั้งในระดับวัตถุ จิตใจและศีลธรรม ชาวบ้านบางคนเลือกทำพิธีกรรมขอพรจากเทวดา บ้างทำใจและปรับตัวกับเพื่ออยู่ร่วมกับความไม่เที่ยง บ้างต้องการย้อนกลับไปหาอดีตเมื่อครั้งที่ระดับจิตใจคนสูงส่งกว่าปัจจุบัน (Vaddhanaphuti, 2017) 

สำหรับทั้งสามกรณีศึกษา ดูเหมือนว่าศีลธรรมที่เสื่อมถอยของคนในหมู่บ้านเล็กๆจะเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่แย่ลงเรื่อยๆในปัจจุบัน และคนท้องถิ่นเหล่านี้ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี และ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (2550) ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า รากของปัญหาที่แท้จริงเกิดจากการที่มนุษย์ยกตนขึ้นเหนือและออกห่างจากธรรมชาติ การแก้ปัญหาจึงเริ่มจากการขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดี ถ่อมตนและรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ที่ร้อยถักขึ้นจากสายใยระหว่างมนุษย์ ผีสางเทวดาและธรรมชาติ ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการลดก๊าซเรือนกระจก

ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าฟ้าฝนและฤดูกาลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนๆหนึ่งอย่างแท้จริง อากาศจับจ้องและบันทึกจังหวะชีวิตของเราเอาไว้ และในขณะเดียวกันเราก็เก็บช่วงจังหวะหนึ่งๆ ของอากาศไว้ในความทรงจำ คงไม่ต่างจากเพลงหรืออาหารจานโปรดที่ทำให้นึกย้อนถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะอ่านอากาศหรืออ่านคน ก็จะได้คำตอบว่าวัฒนธรรมและวัฏจักรของฤดูกาลนั้นสร้างกันและกันเสมอมา แยกกันไม่ออก อากาศที่เปลี่ยนจึงเหมือนเป็นการตั้งคำถามถึงระดับศีลธรรมและความรับผิดชอบของมนุษย์ที่มีต่อโลก ซึ่งเป็นพื้นฐานปรัชญาชีวิตที่จำเป็น (แต่มักถูกละเลย) สำหรับความร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัว (Darlington, 2014) คำถามที่น่าสนใจคือกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำอย่างไรกับหลักฐานเหล่านี้ที่ปรากฏอยู่ทั่วโลก 

ภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ว่าด้วยการเดินทางของความรู้และวาทกรรม
ฝนในแต่ละปีตกไม่เหมือนกัน บางปีมาเร็ว บางปีตกแล้วทิ้งช่วง แต่ในระยะยาวหลายสิบปี พฤติกรรมของฝนอาจมีรูปแบบที่คาดการณ์ได้ ในศัพท์เทคนิคเราเรียกภาพรวมของอากาศประจำสถานที่หนึ่งๆว่า “ภูมิอากาศ” (climate) มีหลากหลายวิธีในการอ้างอิงการเปลี่ยนแปลง เช่น การสังเกต ความทรงจำและประสบการณ์ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีมาตรฐานสากล จำเป็นต้องใช้ค่าเฉลี่ยระยะยาวเชิงสถิติของลมฟ้าอากาศเหนือพื้นที่นั้นๆ 

ด้วยความก้าวหน้าและการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางของความรู้วิทยาศาสตร์ตลอดกว่าสองร้อยปีที่ผ่านมา ทำให้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศไว้ตามเมืองต่างๆทั่วโลก เพื่อบันทึกลักษณะสภาพอากาศท้องถิ่นอย่างละเอียด ด้วย เทอร์โมมิเตอร์ บาโรมิเตอร์ เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ฯลฯ ทำให้ไดอารี่ที่เขียนบรรยายถึงสภาพอากาศในแต่ละวัน หรือแม้แต่ปฏิทินโหราศาสตร์ ถูกแทนที่ด้วยข้อมูลจากอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ (Anderson, 2005) ข้อมูลเชิงตัวเลขประจำพื้นถิ่นเหล่านี้ได้รับการประมวลผลทางสถิติเพื่อหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 30 ปี ประจำจังหวัด ประเทศและระดับโลก และมีการใช้แบบจำลองภูมิอากาศเพื่อคาดการณ์ภูมิอากาศในอนาคต 

ทั้งหมดนี้หมายความว่า ลมฟ้าอากาศ (พื้นบ้าน ส่วนตัว) และภูมิอากาศ (วิทยาศาสตร์ สากล) มีความแตกต่างกันชัดเจนในเรื่องของแหล่งที่มาของข้อมูล วิธีการประมวลผลข้อมูล และในเรื่องของระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง (Ingold & Kurtilla, 2000) ในประการแรกและประการที่สอง ลมฟ้าอากาศสามารถรับรู้ได้จากประสบการณ์และความทรงจำ ข้อมูลเชิงคุณภาพสั่งสมในรูปแบบของภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ภูมิอากาศอยู่ในรูปของข้อมูลเชิงปริมาณที่ได้จากสถานีตรวจวัด มนุษย์ได้แต่เพียงตีความทางค่าสถิติเท่านั้น ไม่สามารถรับรู้ได้จากความรู้สึก ประการที่สาม ลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับวินาทีถึงฤดูกาล และในระดับทศวรรษถึงศตวรรษตามลำดับ บาร์เนตต์ (2561 น. 135) อธิบายไว้ว่า “ภูมิอากาศคือนิสัยที่แท้จริงของบรรยากาศ ลมฟ้าอากาศคืออารมณ์ของภูมิอากาศในแต่ละวันและแต่ละสถานการณ์” ดังที่ไมค์ ฮูล์ม ได้กล่าวไว้ว่าจริงๆแล้ว ภูมิอากาศก็คือมโนทัศน์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อใช้ทำความเข้าใจกับความ “ปกติ” ของสภาพลมฟ้าอากาศนั่นเอง (Hulme, 2015) ที่สำคัญ ความ(ไม่)ปกตินั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ของใครและในบริบทใด

ภูมิอากาศการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานับตั้งแต่โลกมีชั้นบรรยากาศ แต่ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ climate change ที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงนั้นมักจะหมายถึงความผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญของอุณหภูมิโดยเฉพาะตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมาหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม กิจกรรมของมนุษย์ (นอกเหนือจากกระบวนการทางธรรมชาติ) เป็นปัจจัยเร่งให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกมีความเข้มข้นสูงขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (IPCC, 2014) ล่าสุดองค์การนาซ่าพบว่าอุณหภูมิโลกประจำปี 2561 สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยสามสิบปีอยู่ถึง 0.9 องศาเซลเซียส (NASA, 2018) เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยน (ทั้งเพิ่มและลด) จึงก่อให้เกิดความผันผวนของฝน ลม การทำงานของมหาสมุทร เป็นต้น 

ปัจจุบัน ข้อมูลวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นทางการส่วนใหญ่จะถูกรวบรวมไว้โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ การเดินทางแพร่กระจายทั่วโลกอย่างไหลลื่นขององค์ความรู้วิทยาศาสตร์นี้เอื้อให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกทำให้ “เห็น” อย่างพร้อมเพรียงและเป็นสากลผ่านตัวเลขและกราฟ (Rudiak-Gould, 2013) เฉกเช่นในภาพยนตร์ The Inconvenient Truth สิ่งที่น่าสนใจคือว่า ในการเปลี่ยนโฉมจากลมฟ้าอากาศมาเป็นภูมิอากาศและจนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ต้องแทนความรู้สึกด้วยตัวเลข รวบรวมและลดทอนความหลากหลายของความรู้ลมฟ้าอากาศท้องถิ่นที่มีนับร้อยนับพันให้เหลือเพียงแค่ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเพียงกลุ่มเดียว อาจกล่าวได้ว่าการประมวลผลเชิงปริมาณและการสร้างมาตรฐานของข้อมูลภูมิอากาศโลกเป็นการถอดถอนอากาศออกจากท้องถิ่นของมัน ที่ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งความหมายทางวัฒนธรรม (Hulme, 2008)

ผลพลอยได้อันดับแรกจากการพยายามทำความเข้าใจการทำงานของระบบภูมิอากาศของโลกใบนี้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็คือ อากาศที่ถูกคิดและคำนวณ กลายเป็นเพียงวัตถุไร้ซึ่งวัฒนธรรมและความรู้สึกของมนุษย์ และไร้รากที่ยึดติดกับภูมิทัศน์ เมื่อลดรูปให้เหลือเพียงตัวเลขกราฟ หรือสัญลักษณ์ที่เป็นภาษาสากล อากาศท้องถิ่นจึงสามารถเดินทางได้ทั่วโลกผ่านสื่อประเภทต่างๆ ทำให้เราเริ่มรับรู้อากาศจากต่างแดนมากขึ้น อากาศที่เดิมเคยเป็นของท้องถิ่น ที่คนนอกต้องเข้าไปแสวงหา ได้กลายเป็นสมบัติสาธารณะที่ใครๆก็สามารถเข้าถึงได้ (Hulme, 2008)

ผลพลอยได้ที่สองก็คือการสร้างความหมายและจินตนาการใหม่ อากาศแฝงไว้ซึ่งอุดมการณ์ มีนัยที่ซับซ้อนและลุ่มลึกเกินกว่าแค่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือในเชิงตัวเลข เช่นประโยคที่กล่าวว่า “เพราะอากาศหนาวเย็น คนเหนือจึงมีนิสัยอ่อนช้อย ในขณะที่คนใต้มีนิสัยดุดันเพราะอากาศร้อน” หรือแม้แต่คำว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ก็ได้กลายเป็นวาทกรรมถูกนำไปโยงกับผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองที่ทั้งสนับสนุนและปฏิเสธข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ธาตุคาร์บอน ตัวเลข 2.5 องศาเซลเซียส หมีขั้วโลก วันโลกสลาย และภาพจำอื่นๆอีกมากมาย เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ (ทั้งดีและร้าย) ของคนหลากกลุ่ม จะเห็นว่าสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ผู้กระทำต่างๆ อุดมการณ์ และสิ่งของเครื่องมืออุปกรณ์ ล้วนประกอบกันให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนรูปจากมิติทางกายภาพเป็นการเมือง มีความหมายและนัยใหม่ที่เกินกว่าตัวของมันเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครนำไปใช้อย่างไร (L. Head & Gibson, 2012; Hulme, 2008)

นับแต่อดีตมา มีจินตนาการ พิธีกรรมและความเชื่อมากมายเกี่ยวกับท้องฟ้า ชีวิตและวัฒนธรรมของคนทุกคนพัวพันอยู่ในอากาศที่ขยับเขยื้อนไม่เคยหยุดนิ่ง อากาศที่ดูเหมือนว่างเปล่านั้นจึงเป็นพื้นที่แห่งชีวิตที่อยู่ในรูปของคำกิริยาตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนโฉมจากลมฟ้าอากาศมาเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็คือการที่อากาศถูกแยกออกจากชีวิต สังคมและประวัติศาสตร์ของพื้นถิ่นหนึ่ง แล้วจึงถูกนำมาหลอมรวมกันให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้งในรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม คำถามก็คือ กระบวนการใดทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ และอากาศนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่หรือไม่ 

ใครที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับมนุษย์นั้นผิดถนัด เพราะไม่ว่าจะพยายามแยกอากาศออกจากสังคมมนุษย์เพียงใด ความพยายามที่จะให้เกิดการแยกนั้นก็ยังต้องอิงพื้นฐานความคิดของมนุษย์อยู่ดี มนุษย์ไม่ได้มองไปบนฟ้าด้วยสายตาเปล่า แต่ด้วยแว่นตาวัฒนธรรมเพื่อใช้ทำความเข้าใจอากาศในบริบทของตน มีประเด็นที่น่าขบคิดอยู่สองประการ ประการแรก อากาศที่เปลี่ยนในเชิงกายภาพนั้นส่งผลต่อกิจกรรมของมนุษย์ และพวกเขาก็พยายามปรับตัวให้อยู่รอด (แม้นไม่สำเร็จทุกครั้งไป) และในทางกลับกัน วิวัฒนาการของมนุษย์ก็มีผลกระทบต่อระบบภูมิอากาศเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่าหรือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ประการที่สอง แต่ละสังคมอ่าน คิดและพูดถึงอากาศไม่เหมือนกัน บ้างผูกเข้ากับความเชื่อเรื่องเทพเจ้า บ้างอ้างตำราวิทยาศาสตร์ แต่ต้องไม่ลืมว่าองค์ความรู้นั้นมีวิวัฒนาการเสมอ ทำให้ในแต่ละยุคและแต่ละวัฒนธรรมอธิบายปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเดียวกันไม่เหมือนกัน หมายความว่า แม้อากาศจะไม่เปลี่ยนเลยในเชิงกายภาพ (ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้) จินตนาการของมนุษย์ที่มีต่ออากาศก็ยังคงเปลี่ยนตามกาลเวลาและตามสถานที่อยู่ดี หากการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คำจำกัดความของภูมิอากาศก็คงเป็นความพยายามของมนุษย์ในการจัดระเบียบธรรมชาติของอากาศอันยุ่งเหยิงนั่นเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มักจะพบว่ามนุษย์ไม่สามารถทำให้กับทั้งอากาศและวัฒนธรรมมีเสถียรภาพได้เลย (Hulme, 2015) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นเรื่องมนุษย์ทั้งในเชิงกายภาพและจินตภาพ

นัยสำคัญต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบัน การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเป็นแนวทางหลักในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่ายังมีอีกหลายร้อยล้านคนที่ยังไม่ทราบข้อมูลวิทยาศาสตร์และแนวทางปฏิบัติสากลดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง และยังคงตอบสนองต่ออากาศที่เปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของความรู้ ความเชื่อ และวิถีชีวิตของพวกเขาต่อไป อีกทั้งยังมีอีกหลายล้านคนที่มองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ไกลเกินเอื้อม ไม่สำคัญ หรือไม่ใช่หน้าที่ของตนที่ต้องรับผิดชอบ (Lorenzoni, Nicholson-Cole, & Whitmarsh, 2007) ผู้เขียนมีความเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั่วโลกจะต้องลงทุนด้านการศึกษาและเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ต้องเผื่อพื้นที่ให้กับความเข้าใจแบบพื้นบ้านด้วย และผู้เขียนไม่เชื่อว่า เมื่อประชาชนมีความรู้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ พวกเขาจะตอบสนองได้อยากถูกวิธีโดยทันทีและพร้อมเพรียง นั่นเป็นเพราะแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างในการรับรู้ความเสี่ยงและในจุดประสงค์ของการตอบสนอง และอาจเปลี่ยนพฤติกรรมยาก (Adger et al., 2009) 

ผู้เขียนกำลังเสนอว่า กระบวนการสื่อสารและการให้ความรู้จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างผู้สื่อสารและผู้รับสาร หมายความว่าอนุสัญญาฯ ในฐานะตัวแทนสถาบันระหว่างประเทศที่มีอำนาจในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในฐานะผู้สื่อสาร ควรจะต้องเปิดกว้าง ยืดหยุ่นและยอมรับกับความหลากหลายของความรู้ ไม่ตัดสินความรู้ของกลุ่มอื่นไปล่วงหน้าด้วยเพราะความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ยอมให้ความรู้วิทยาศาสตร์ที่สื่อสารออกไปมีการคลาดเคลื่อนบ้างเพื่อรักษาบริบทท้องถิ่นเอาไว้ให้ผู้รับสารมีอะไรยึดเหนี่ยว เปิดโอกาสให้ความรู้ประเภทอื่นมีอิสระ มีสิทธิ์มีเสียงในการอธิบายและแก้ปัญหาในแนวทางของตนภายใต้เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน (Beck) 

แนวทางดังกล่าวไม่ใช่อะไรใหม่ เพราะเป็นคำแนะนำที่คณะทำงานของสหประชาชาติที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้เรียนรู้มาแล้ว เช่น เวทีวิทยาศาสตร์-นโยบายระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ หรือ Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (Beck et al., 2014) ซึ่งก็เทียบเท่ากับน้องสาวของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนั้น ผู้เขียนก็หวังว่าเนื้อหาในบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการปรับปรุงในอนาคตของแผนแม่บทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2558–2593) และ รายงานสังเคราะห์และการประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TARC) ในบริบทของประเทศไทย

ทั้งนี้ ผู้เขียนมิได้ต่อต้านวิทยาศาสตร์ หรือ ต่อต้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เขียนเพียงต้องการยกคุณค่าของของมิติเชิงวัฒนธรรมของลมฟ้าอากาศขึ้นมาให้มีความสำคัญเทียบเคียงความรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นก็คือประชาธิปไตยของความรู้นั่นเอง (Adger, Barnett, Brown, Marshall, & O’Brien, 2013) เพราะการแก้ปัญหาระดับโลก ต้องการมากกว่าแค่วิทยาศาสตร์ เราต้องการการบูรณาการศาสตร์สายวิทย์และศิลป์ โดยความร่วมมือจากทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา นักปรัชญา ผู้นำทางศาสนา กลุ่มภาครัฐ นักการเมือง เอกชนและประชาคม (Donner, 2007)

อ้างอิง
Adger, W. N., Barnett, J., Brown, K., Marshall, N., & O’Brien, K. (2013). Cultural dimensions of climate change impacts and adaptation. Nature Climate Change, 3(2), 112–117.
Adger, W. N., Dessai, S., Goulden, M., Hulme, M., Lorenzoni, I., Nelson, D. R., … Wreford, A. (2009). Are there social limits to adaptation to climate change? Climatic Change, 93(3–4), 335–354.
Anderson, K. (2005). Predicting the Weather. London: University of Chicago Press.
Barnes, J. (2015). Scale and Agency: Climate change and the Future of Egypt’s water. In J. Barnes & M. R. Dove (Eds.), Climate Cultures: Anthropological Perspectives on Climate Change (pp. 127–145). London: Yale University Press.
Barnes, J., & Dove, M. R. (2015). Climate Cultures: Antrhopological Perspectives on Climate Change. (J. Barnes & M. R. Dove, Eds.). London: Yale University Press.
Beck, S., Borie, M., Chilvers, J., Esguerra, A., Heubach, K., Hulme, M., … Goerg, C. (2014). Towards a Reflexive Turn in the Governance of Global Environmental Expertise The Cases of the IPCC and the IPBES. GAIA, 2(23), 80–87.
Burnham, M., Ma, Z., & Zhang, B. (2015). Making sense of climate change: Hybrid epistemologies, socio-natural assemblages and smallholder knowledge. Area, 48(1), 18–26.
Byg, A., & Salick, J. (2009). Local perspectives on a global phenomenon-Climate change in Eastern Tibetan villages. Global Environmental Change, 19(2), 156–166.
Cruikshank, J. (2005). Do glaciers listen?: local knowledge, colonial encounters, and social imagination. British Columbia: UBC Press.
Darlington, S. (2014). Environmental Justice in Thailand in the Age of Climate Change. In B. Schuler (Ed.), Environmental and Climate Change in South and Southeast Asia. London: Brill.
Donner, S. D. (2007). Domain of the Gods: an editorial essay. Climatic Change, 85(3–4), 231–236.
Forsyth, T., & Evans, N. (2013). What is Autonomous Adaption? Resource Scarcity and Smallholder Agency in Thailand. World Development, 43, 56–66.
Geoghegan, H., & Leyshon, C. (2012). On climate change and cultural geography: Farming on the Lizard Peninsula, Cornwall, UK. Climatic Change, 113(1), 55–66.
Gorman-Murray, A. (2010). An Australian Feeling for Snow: Towards Understanding Cultural and Emotional Dimensions of Climate Change. Cultural Studies Review, 16(1), 60–81.
Harley, T. (2003). Nice weather for the time of year: The British obsession with the weather. In S. Strauss & B. Orlove (Eds.), Weather, climate, culture (pp. 103–118). London: Berg.
Head, L., Atchison, J., Gates, A., & Muir, P. (2011). A Fine-Grained Study of the Experience of Drought, Risk and Climate Change Among Australian Wheat Farming Households. Annals of the Association of American Geographers, 101(5), 1089–1108. https://doi.org/10.1080/00045608.2011.579533
Head, L., & Gibson, C. (2012). Becoming differently modern: Geographic contributions to a generative climate politics. Progress in Human Geography, 36(6), 699–714.
Hulme, M. (2008). Geographical work at the boundaries of climate change. Transactions of the Institute of British Geographers, 33(1), 5–11.
Hulme, M. (2015). Climate and its changes: a cultural appraisal. Geo: Geography and Environment, 2(1), 1–11.
Ingold, T., & Kurtilla, T. (2000). Perceiving the Environment in Finnish Lapland. Body & Society, 6(3–4), 183–196.
IPCC. (2014). Climate Change 2014: Synthesis Report. Contribution of Working Groups I, II and III to the Fifth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [Core Writing Team, R.K. Pachauri and L.A. Meyer (eds.)]. Geneva, Switzerland: IPCC.
Lorenzoni, I., Nicholson-Cole, S., & Whitmarsh, L. (2007). Barriers perceived to engaging with climate change among the UK public and their policy implications. Global Environmental Change, 17(3–4), 445–459.
NASA. (2018). Global Climate Change: Vital Signs of the Planet. Retrieved June 11, 2018, from https://climate.nasa.gov/vital-signs/global-temperature/
Rice, J. L., Burke, B. J., & Heynen, N. (2015). Knowing Climate Change, Embodying Climate Praxis: Experiential Knowledge in Southern Appalachia. Annals of the Association of American Geographers, (March), 1–10.
Rudiak-Gould, P. (2012). Promiscuous corroboration and climate change translation: A case study from the Marshall Islands. Global Environmental Change, 22(1), 46–54.
Rudiak-Gould, P. (2013). “We Have Seen It with Our Own Eyes”: Why We Disagree about Climate Change Visibility. Weather, Climate, and Society, 5(2), 120–132.
Strauss, S., & Orlove, B. S. (2003). Weather, climate, culture. (S. Strauss & B. S. Orlove, Eds.). Oxford: BERG.
Vaddhanaphuti, C. (2017). Experiencing and Knowing in the Fields: How Do Northern Thai Farmers Make Sense of Weather and Climate-change? King’s College London.
Vedwan, N., & Rhoades, R. E. (2001). Climate change in the Western Himalayas of India: a study of local perception and response. Climate Research, 19(2), 109–117.
ซินเธีย บาร์เนตต์. (2561). ประวัติศาสตร์หยาดฝน. (พลอยแสง เอกญาติ, Ed.). กรุงเทพมหานคร: openworlds.
ลอรา ลี. (2551). ลมฟ้าอากาศพลิกประวัติศาสตร์โลก. (คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ แปล, Ed.). กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิเด็ก.
ว วชิรเมธี, & ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์. (2550). โลกร้อน ธรรมะเย็น. กรุงเทพมหานคร: บ้านพระอาทิตย์.