บทคัดย่อ
การบริโภคน้ำดื่มจากตู้กดน้ำดื่มที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของนักศึกษาและบุคลากรในสถาบันการศึกษา ดังนั้นการศึกษานี้จึงทำการประเมินคุณภาพน้ำดื่มจากตู้กดน้ำดื่มภาย ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง โดยเก็บตัวอย่างน้ำดื่มจากจุดบริการต่าง ๆ รวม 29 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์ค่าความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง ความกระด้างทั้งหมด โคลิฟอร์มแบคทีเรีย และอี. โคไล และเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ผลการศึกษาพบว่าตัวอย่างน้ำดื่มทั้งหมดมีค่าความขุ่นและความเป็นกรด-ด่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีตัวอย่างน้ำดื่มร้อยละ 10 ที่พบค่าความกระด้างทั้งหมดเกินเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อทำการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มจำนวน 18 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางจุลชีววิทยา พบว่าตัวอย่างน้ำดื่มร้อยละ 11 มีการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย และร้อยละ 22 พบการปนเปื้อนเชื้ออี. โคไล จากการประเมินสุขลักษณะของตู้กดน้ำดื่ม พบว่าตู้กดน้ำดื่มทั้งหมดยังไม่ถูกสุขลักษณะในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ตั้ง การควบคุมคุณภาพมาตรฐานน้ำบริโภค การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงควรมีแนวปฏิบัติในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่ม เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรได้ดื่มน้ำที่สะอาดและปลอดภัย
1. ความสำคัญและที่มาของปัญหา
น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในร่างกายมนุษย์ มนุษย์อาจไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากขาดน้ำติดต่อกัน 3 วัน นอกจากนี้น้ำยังเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม แหล่งน้ำธรรมชาติมักมีสิ่งเจือปนที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การตกตะกอน การกรองด้วยระบบรีเวอร์สออสโมซิส การบำบัดด้วยโอโซน หรือแสงอัลตราไวโอเลต เพื่อให้ได้น้ำดื่มที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรค พยาธิ และสารเคมีที่เป็นพิษ หรือหากมีสารเจือปนต้องมีปริมาณที่เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภค เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคจากน้ำเป็นสื่อซึ่งมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วงและโรคบิด เป็นต้น
ปัจจุบันสถานที่ราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีจุดบริการน้ำดื่มให้กับบุคลากรและผู้ที่มาติดต่องาน ซึ่งจุดบริการน้ำดื่มในแต่ละจุดอาจมีลักษณะและคุณภาพน้ำที่แตกต่างกัน จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพน้ำดื่มจากจุดบริการน้ำดื่มมักไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะเกณฑ์มาตรฐานทางจุลชีววิทยา งานวิจัยที่ผ่านมาได้ศึกษาคุณภาพน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติในเขตเทศบาลแห่งหนึ่ง ผลการศึกษาพบว่าค่าความเป็นกรด-ด่าง ความกระด้าง และโคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่ม ยกเว้นสถานีที่ 1 และ 5 ที่พบว่ามีปริมาณโคลิฟอร์มแบคทีเรียสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน (ไซนะ มูเล็ง และคณะ, 2560) การศึกษาคุณภาพน้ำดื่มจากจุดบริการน้ำดื่มภายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พบว่าคุณภาพน้ำทางกายภาพและทางเคมีผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่ม ส่วนคุณภาพน้ำทางจุลชีววิทยาพบว่ามีจำนวน 7 จุดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่ม และมีจำนวน 8 จุดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางจุลชีววิทยา (ปิยวรรณ เนื่องมัจฉา และคณะ, 2561) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาคุณภาพน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติในจังหวัดแห่งหนึ่ง โดยเก็บตัวอย่างน้ำดื่ม รวมทั้งสิ้น 133 ตัวอย่าง วิเคราะห์ด้วยชุดทดสอบคุณภาพน้ำดื่มภาคสนามของกรมอนามัย ผลการศึกษาพบว่าตัวอย่างน้ำดื่มไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางจุลชีววิทยา โดยพบโคลิฟอร์มแบคทีเรียร้อยละ 69 และพบแบคทีเรียที่ผลิตก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ร้อยละ 3 ในด้านกายภาพและเคมี ไม่พบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำทุกตัวอย่าง พบค่าความกระด้างเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 3 ในด้านความเป็นกรด-ด่าง พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 13 โดยมีตัวอย่างน้ำที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง น้อยกว่า 6.5 ร้อยละ 11 ค่าความเป็นกรด–ด่าง มากกว่า 8.5 ร้อยละ 2 และมีตัวอย่างน้ำที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกด้าน คิดเป็นร้อยละ 26 (ธนพงศ์ ภูผาลี, 2561)
สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง มีการบริการตู้กดน้ำดื่มในอาคารต่าง ๆ รวมทั้งหมด 29 จุด โดยเป็นตู้น้ำดื่มแบบถังคว่ำจำนวน 16 จุด ตู้น้ำดื่มแบบถังสแตนเลสที่ต่อกับเครื่องกรองน้ำระบบ Reverse Osmosis (RO) จำนวน 5 จุด ตู้น้ำดื่มแบบถังบรรจุน้ำดื่มวางด้านล่างจำนวน 5 จุด และตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวน 3 จุด จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าตู้กดน้ำดื่มส่วนใหญ่มีสุขลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น ตั้งอยู่ใกล้กับถังขยะ พบความสกปรกภายในตู้ พบตะไคร่น้ำในตู้กดน้ำและเครื่องกรองน้ำ รวมทั้งไม่พบข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่ม โดยน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2556 เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ (กระทรวงสาธารณสุข, 2556) ซึ่งหากนักศึกษาและบุคลากรดื่มน้ำที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานดังกล่าว อาจมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคจากน้ำ เป็นสื่อ
ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาคุณภาพน้ำดื่มจากตู้กดน้ำดื่มทั้ง 29 จุด และประเมินสุขลักษณะของตู้กดน้ำดื่ม โดยทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ รวม 5 พารามิเตอร์ ได้แก่ ความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง ความกระด้างทั้งหมด แบคทีเรียประเภทโคลิฟอร์มทั้งหมด และแบคทีเรียประเภท อี. โคไล โดยนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 61) พ.ศ.2524 เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (กระทรวงสาธารณสุข, 2524) และที่แก้ไขเพิ่มเติม และข้อกำหนดตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ พ.ศ.2553 (กระทรวงสาธารณสุข, 2553) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มและหาแนวทางแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำดื่มในสถาบันการศึกษาต่อไป
2. วัตถุประสงค์
1) เพื่อศึกษาความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง ความกระด้างทั้งหมด แบคทีเรียประเภทโคลิฟอร์มทั้งหมด และแบคทีเรียประเภทอี. โคไล ในน้ำดื่มจากตู้กดน้ำดื่มในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดลำปาง
2) ประเมินสุขลักษณะของตู้กดน้ำดื่มในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดลำปาง
3. วิธีการศึกษา
ทำการเก็บตัวอย่างน้ำดื่มจากตู้กดน้ำดื่มประเภทต่าง ๆ จำนวน 29 ตัวอย่าง ดังข้อมูลในตารางที่ 1 โดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดที่หัวจ่ายน้ำ เปิดน้ำจากกู้กดน้ำทิ้งนาน 2-3 นาที เพื่อให้น้ำที่ค้างอยู่ในเส้นท่อไหลออกให้หมด จากนั้นทำการเก็บตัวอย่างน้ำและปิดฝาขวดเก็บตัวอย่างน้ำให้แน่น ติดฉลาก ก่อนนำขวดเก็บตัวอย่างน้ำแช่เย็นในถังน้ำแข็งเพื่อรักษาสภาพตัวอย่างก่อนนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
ตารางที่ 1 จำนวนและจุดเก็บตัวอย่างน้ำดื่ม (n=29)
ประเภทตู้กดน้ำดื่มที่ทำการศึกษา แสดงดังรูปที่ 1 โดยประกอบด้วยตู้กดน้ำดื่มแบบถังคว่ำ จำนวน 16 ตู้ ตู้กดน้ำดื่มแบบถังแตนเลส จำนวน 5 ตู้ ตู้กดน้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 3 ตู้ และตู้กดน้ำดื่มแบบถังวางด้านล่าง จำนวน 5 ตู้
รูปที่ 1 (ก) ตู้กดน้ำดื่มแบบถังคว่ำ (ข) ตู้กดน้ำดื่มแบบถังแตนเลส (ค) ตู้กดน้ำดื่มหยอดเหรียญ และ (ง) ตู้กดน้ำดื่มแบบถังวางด้านล่าง
นำตัวอย่างน้ำดื่มมาวิเคราะห์ค่าความขุ่น ด้วยเครื่อง Turbidimeter วิเคราะห์ความเป็นกรด-ด่าง ด้วยเครื่อง pH meter วิเคราะห์ความกระด้างทั้งหมด ด้วยวิธี EDTA Titrimetric method วิเคราะห์ปริมาณโคลิฟอร์มแบคทีเรียและอี. โคไล ด้วยวิธี Multiple Tube Fermentation Technique ภาพรวมของการศึกษา แสดงดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 วิธีการศึกษา
4. ผลการศึกษาและการอภิปรายผล
1) ผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่ม
ผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่ม จำนวน 29 ตัวอย่าง แสดงดังตารางที่ 2 โดยพบว่าตัวอย่างน้ำดื่มทั้งหมด มีค่าความขุ่นอยู่ในช่วง 0.05 - 0.43 NTU ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ตัวอย่างน้ำดื่มทั้งหมดมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 6.44 - 7.92 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ตัวอย่างน้ำดื่มร้อยละ 90 มีค่าความกระด้างทั้งหมดเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และมีตัวอย่างน้ำดื่มร้อยละ 10 ที่มีค่าความกระด้างไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยพบความกระด้างทั้งหมดสูงสุด 122 mg/L as CaCO3 ทั้งนี้หากพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานน้ำประปาภูมิภาค และค่าแนะนำคุณภาพน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก ปีค.ศ. 2022 ระบุค่าความกระด้างไม่เกิน 300 as CaCO3 หากเปรียบเทียบกับเกณฑ์ดังกล่าวนี้ถือว่าค่าความกระด้างของตัวอย่างน้ำดื่มเป็นไปตามเกณฑ์ นอกจากนี้ ความกระด้างไม่มีผลเชิงลบต่อสุขภาพ โดยการดื่มน้ำที่มีความกระด้าง เปรียบเสมือนการดื่มน้ำที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งแคลเซียมและแมกนีเซียม จะทำงานร่วมกันในการช่วยในการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อเนื้อหัวใจ การขาดแคลเซียมและแมกนีเซียมอาจทำให้หัวใจจะทำงานไม่ปกติได้
จากการสุ่มตัวอย่าง 18 จุด รวม 18 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์หาโคลิฟอร์มแบคทีเรีย พบว่ามี 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11) ที่มีการปนเปื้อนของโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ได้แก่ ตัวอย่างน้ำดื่มจากอาคาร 12 ตู้ฝั่งขวา และตู้ฝั่งซ้าย มีค่าเท่ากับ 8 MPN/100 mL
จากการวิเคราะห์หาเชื้ออี. โคไลในตัวอย่างน้ำดื่มจำนวน 18 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ตัวอย่าง (ร้อยละ 22) ที่มีการปนเปื้อนเชื้ออี. โคไล ได้แก่ ตัวอย่างน้ำดื่มจากอาคาร 5 ฝั่งขวา มีค่าเท่ากับ 2 MPN/100 mL อาคาร 7 ชั้น 1 มีค่าเท่ากับ 2 MPN/100 mL อาคาร 12 ตู้ฝั่งขวา มีค่าเท่ากับ 5 MPN/100 mL และอาคาร 12 ตู้ฝั่งซ้าย มีค่าเท่ากับ 5 MPN/100 mL โดยการดื่มน้ำที่มีเชื้ออี. โคไล มากเกินไปอาจส่งผลให้มีอาการ ท้องเดิน ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้หรืออาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลียและมีไข้ต่ำได้
ตัวอย่างน้ำที่พบการปนเปื้อนของโคลิฟอร์มแบคทีเรียและเชื้ออี. โคไล เป็นตัวอย่างน้ำที่เก็บจากตู้น้ำดื่มแบบถังวางด้านล่าง และตู้น้ำดื่มแบบถังสแตนเลสที่ต่อกับเครื่องกรองน้ำระบบ Reverse Osmosis (RO) ซึ่งการปนเปื้อนอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การฆ่าเชื้อโรคที่ไม่เพียงพอในระหว่างการผลิตน้ำดื่ม การปนเปื้อนจากถังน้ำ การปนเปื้อนจากอุปกรณ์จ่ายน้ำของตู้กดน้ำดื่ม รวมถึงการไม่ได้บำรุงรักษาระบบ RO อย่างเหมาะสมหรือไม่มีการทำความสะอาดอย่างเพียงพอ
ผลการศึกษานี้มีความสอดคล้องกับผลการศึกษาที่ผ่านมาที่ได้ทำการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางจุลินทรีย์ในเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งพบการปนเปื้อนของ Bacillus cereus และ Staphylococcus aureus ในส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น ท่อน้ำเข้า และหัวจ่ายน้ำ (Venuti et al., 2024)
ตารางที่ 2 ผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่ม
2) ผลการประเมินสุขลักษณะของตู้กดน้ำดื่ม
จากการสำรวจและประเมินสุขลักษณะของตู้กดน้ำดื่มตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553 พบว่าสถานที่ตั้งของตู้น้ำดื่มทั้งหมด (ร้อยละ 100) ไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องการตั้งอยู่ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังพบว่าตู้กดน้ำดื่มร้อยละ 7 มีตะไคร่น้ำและบริเวณโดยรอบสกปรก ตู้กดน้ำดื่มทั้งหมด (ร้อยละ 100) ไม่มีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มมาตรวจ และตู้กดน้ำดื่มร้อยละ 25 ไม่มีการล้างหรือเปลี่ยนไส้กรองตามระยะเวลาที่กำหนด (ตารางที่ 3)
ตารางที่ 3 ผลการประเมินสุขลักษณะของตู้กดน้ำดื่ม (n=29)
ตารางที่ 3 ผลการประเมินสุขลักษณะของตู้กดน้ำดื่ม (n=29) (ต่อ)
5. บทสรุปและข้อเสนอแนะ
จากการศึกษาคุณภาพน้ำดื่มจำนวน 29 ตัวอย่าง ภายในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งพบว่าตัวอย่างน้ำดื่มทั้งหมดมีค่าความขุ่นและความเป็นกรด-ด่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตัวอย่างน้ำดื่มร้อยละ 10 มีความกระด้างทั้งหมดเกินเกณฑ์มาตรฐาน (สูงสุด 122 mg/L as CaCO3) โดยเป็นตัวอย่างน้ำที่เก็บจากตู้กดน้ำที่ต่อจากเครื่องกรองน้ำ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเครื่องกรองน้ำดังกล่าวอาจมีปัญหาในระบบกำจัดความกระด้าง ในน้ำ หรือน้ำประปาที่เข้ามาในระบบกรองน้ำมีความกระด้างสูง ตัวอย่างน้ำดื่มร้อยละ 11 มีการปนเปื้อนของ โคลิฟอร์มแบคทีเรีย 8 MPN/100 mL และมีตัวอย่างน้ำดื่มร้อยละ 22 ที่พบการปนเปื้อนของเชื้ออี. โคไลในช่วง 2-5 MPN/100 mL
จากการสำรวจสุขลักษณะตู้กดน้ำดื่ม พบว่า ตู้กดน้ำดื่มทุกจุดตั้งอยู่กับใกล้ถังขยะ บางตู้พบว่าอุปกรณ์ที่สัมผัสโดยตรงกับน้ำมีคราบสกปรกและตะไคร่น้ำ (ร้อยละ 7) นอกจากนี้ ยังไม่พบว่ามีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้กดน้ำดื่มส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ (ร้อยละ 100) ไม่มีการตรวจสอบแบคทีเรียในน้ำดื่มโดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย (ร้อยละ 100) รวมทั้งพบว่าบางตู้ไม่มีข้อมูลการล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนไส้กรองตามระยะเวลาที่กำหนด (ร้อยละ 25)
ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มในสถาบันการศึกษา ดังนี้
(1) ควรจัดทำแผนการตรวจสอบสุขลักษณะตู้กดน้ำดื่มและการวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่มประจำปี
(2) ควรย้ายที่ตั้งของตู้กดน้ำดื่มบางจุด ให้ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นละออง แหล่งระบายน้ำ และขยะมูลฝอยไม่น้อยกว่า 30 เมตร
(3) ควรมีผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบตู้กดน้ำดื่มทั้งภายนอกและภายใน รวมทั้งอุปกรณ์ที่สัมผัสโดยตรงกับน้ำ
(4) ควรมีผู้รับผิดชอบในการล้างทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในตู้ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
(5) ควรมีผู้รับผิดชอบในการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำตรวจสอบแบคทีเรียโดยใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายตรวจสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (อ.11) อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
(6) ควรจัดตั้งงบประมาณในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่มทางด้านกายภาพ เคมีและแบคทีเรีย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
(7) ควรจัดตั้งงบประมาณในการเปลี่ยนไส้กรองน้ำทุกๆ 3–6 เดือน หรือเมื่อสังเกตเห็นว่าไส้กรองอุดตัน
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณงบประมาณการวิจัยจากกองทุนค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
__________________________________________________________________________________________________________
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงสาธารณสุข. (2524). ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 61) พ.ศ. 2524 เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท. สืบค้นจาก https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water
กระทรวงสาธารณสุข. (2553). คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553. สืบค้นจาก https://laws.anamai.moph.go.th/th/recommendation/download/?did=193126&id=41435&reload=
กระทรวงสาธารณสุข. (2556). ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2556 เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ. สืบค้นจาก https://food.fda.moph.go.th/food-law/f-na-drinking-water-vending-mac
ไซนะ มูเล็ง, จุฑามาศ แก้วมณี, ซันวานี จิใจ, และซูฟียัน เจ๊ะมิง. (2560). คุณภาพน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติในเทศบาลนครยะลา. ใน การประชุมวิชาการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 16 (หน้า 1–5). กรุงเทพมหานคร: สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย.
ธนพงศ์ ภูผาลี, สมศักดิ์ อาภาศรีทองสกุล, อรนุช วงศ์วัฒนาเสถียร, และมาลี สุปันตี. (2561). คุณภาพและความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติในจังหวัดมหาสารคาม. วารสารเภสัชกรรมไทย, 10(2), 357–365.
ปิยวรรณ เนื่องมัจฉา, โสภนา วงศ์ทอง, พงศธร ปานทอง, และนพมาศ จงสวัสดิ์วัฒนา. (2561). การศึกษาคุณภาพน้ำดื่มจากจุดบริการน้ำภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. วารสารวิชชา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 37(1), 25–37.
Venuti, I., Ceruso, M., Muscariello, T., Vallone, C., Sarnelli, P., Varcasia, G. B., & Pepe, T. (2024). Safety and quality assessment of hot-drinks vending machines in Southern Italy. Food Control, 161, 110376. https://doi.org/10.1016/j.foodcont.2023.110376