ภาพป่าจังหวัดน่าน โดย พงศ์พิพัฒน์ ศรีวราลักษณ์

ปัณฑิตา ตันวัฒนะ, ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม, ศุภนิดา ทองปัน, วิรากานต์ หน่อท้าว . (2561). กระบวนการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาเกษตรกรรมไร้หมอกควัน จังหวัดน่าน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 3), 22-30.

กระบวนการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาเกษตรกรรมไร้หมอกควัน จังหวัดน่าน 

ปัณฑิตา ตันวัฒนะ 1,*  
ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม  2
ศุภนิดา ทองปัน 1
วิรากานต์ หน่อท้าว 1

1 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
* Puntita.t@chula.ac.th

ที่มาและความสำคัญของปัญหา 
สถานการณ์หมอกควันในประเทศไทยส่วนมากจะพบบริเวณภาคเหนือของประเทศ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ เปรียบเสมือนกำแพงขวางกั้นการไหลเวียนของอากาศ ปัญหาหมอกควันมักจะเกิดในช่วงหน้าแล้ง (มกราคม-พฤษภาคม) ของทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในรอบการผลิตถัดไปทั้งในพื้นที่โล่งแจ้งและพื้นที่ป่า  รวมถึงการเกิดไฟป่าทั้งในพื้นที่ป่าไม้ภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน (ภาพที่ 1) ก็ยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์หมอกควันให้เพิ่มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

น่านเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบนที่เป็นสาเหตุและผลกระทบของปัญหาหมอกควัน ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม Landsat-8 (สรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม, 2560) ในปี 2560 พบพื้นที่ที่มีการเผาไหม้จำนวน 556,097 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 7,601,930 ไร่ ของจังหวัดน่าน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 7.32 โดยส่วนใหญ่พบในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ (ตารางที่ 1) เนื่องจากสภาพพื้นที่ร้อยละ 87 ของจังหวัดเป็นป่าและภูเขา มีพื้นที่ทำการเกษตรเพียงร้อยละ 12.2 สำหรับประชากรส่วนใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพทางการเกษตร จึงนำไปสู่การบุกรุกทำลายป่าเพื่อเป็นแหล่งทำกินและเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดลงและมีการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรจนเกิด “ปัญหาภูเขาหัวโล้นและหมอกควัน” (ภาพที่ 2) 

วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้จึงมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบมีส่วนร่วม เพื่อลดสาเหตุการเกิดหมอกควันจากภาคการเกษตรในจังหวัดน่าน โดยมีพื้นที่นำร่อง 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่น่านเหนือ (ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ) พื้นที่น่านกลาง (ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง)  และพื้นที่น่านใต้(ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย) 


ภาพที่ 1 (ซ้าย) แผนที่ตำแหน่งจุดความร้อนสะสม 5 ประเทศ วันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคม 2560
ที่มา: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน)
ภาพที่ 2 (ขวา) พื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนสะสม จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 พฤษภาคม 2560
ที่มา: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน)

 

ตารางที่ 1 พื้นที่เผาไหม้สะสม บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย วันที่1 มกราคม – 15 พฤษภาคม 2560
ที่มา: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน)

การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรที่สูงในประเทศไทย 
ที่ดิน (Land) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดสวนทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากอัตราการเติบโตของประชากร ที่ดินนอกจากจะเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเครื่องค้ำจุนเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม แล้วยังเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์ชาติมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน (กรมพัฒนาที่ดิน, 2531 อ้างอิงถึงใน ปิยกุล, 2553 : 102 น.) การใช้ประโยชน์ที่ดิน หมายถึง การใช้ที่ดินเพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์ เช่น ทำการเกษตร แหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัย และใช้เป็นพื้นที่ป่าโดยมีขนาดของที่ดินในการใช้ประโยชน์ต่างๆกันไป (บุญยเกียรติ, 2535 : 25-27)

ชัยวุฒิ ชัยพันธุ์ (2542) กล่าวว่า ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวมากที่สุดคือ มีที่ตั้งที่แน่นอนโดยเป็นตัวกำหนดสภาวะแวดล้อมนั้นๆ และยังเป็นปัจจัยที่มีความหลากหลายมากที่สุดขึ้นอยู่กับชนิดดิน สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการผลิตทางการเกษตรชนิดหนึ่ง แต่มีจํานวนจำกัด สำหรับการผลิตภาคการเกษตร การเร่งการผลิตที่มุ่งเพิ่มพูนรายได้เพียงพออย่างเดียวโดยมิได้มุ่งไปสู่การรักษาคุณภาพดิน อากาศและน้ำ อาจส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมทำให้การผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบไปด้วย สมพร อัศวิลานนท์ (2540) กล่าวว่า ทรัพยากรดินมิได้เป็นเพียงปัจจัยการผลิตชนิดหนึ่งที่นํามารวมกับปัจจัยด้านแรงงาน ทุน และการจดการเพื่อการผลิตเป็นสินค้าและบริการตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่อยู่บนดินและใต้ดินอีกด้วย 

นายปวิณ ปุณศรี (การเกษตรที่สูงในประเทศไทย .สาราณุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12) กล่าวถึงเกษตรกรรมในพื้นที่สูงว่า การทำการเกษตรของชาวเขาจะมีลักษณะเป็นการทำไร่เลื่อนลอย คือ ย้ายที่ไปเรื่อยๆ หลังจากที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์หรือมีวัชพืชเกิดขึ้น ทำให้มีการทำลายป่า เพื่อการเพาะปลูกมากขึ้นทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงทราบถึงปัญหาในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทรงเห็นว่าการที่จะขับไล่หรือเคลื่อนย้ายชาวเขา ให้ไปอยู่ในที่ที่กำหนดให้นั้นจะทำได้ยาก แต่ถ้าสามารถช่วยให้ชาวเขามีความรู้ ความสามารถทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ชาวเขาตั้งหลักแหล่งอยู่ในที่ถาวรได้โดยไม่เคลื่อนย้ายทำไร่เลื่อนลอยดังแต่ก่อน และจะก่อให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมในที่สุดจึงทำให้เกิดโครงการส่วนพระองค์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 มีชื่อว่า "โครงการหลวง" จึงทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัยทางเกษตรสาขาใหม่ขึ้นในประเทศไทย นั่นคือ "การเกษตรที่สูง"

การมีส่วนร่วม 
การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาร์นสไตน์ (Shery R. Arnstein, 1969, pp. 216-214) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมถือเป็นอำนาจอย่างหนึ่งของประชาชนและใช้เป็นกลยุทธ์ให้กับประชาชนที่ไร้ซึ่งอำนาจ ที่ถูกกีดกันจากกระบวนการทางการเมืองและเศรษฐกิจให้สามารถกำหนดแนวทางในการรับรู้และแบ่งปันข่าวสาร กำหนดเป้าหมายและนโยบายสาธารณะ การจัดสรร/ใช้จ่าย/รายได้/ภาษีอากร การดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ รวมถึงการเปิดเผยและกระจายผลประโยชน์ ตามแนวคิด “ขั้นบันไดการมีส่วนร่วมของพลเมือง” แบ่งระดับการมีส่วนร่วมออกเป็น 8 ระดับ (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 ขั้นบันไดการมีส่วนร่วมของพลเมืองของอาร์นสไตน์ 
ที่มา: Arnstein (1969)

วิธีการดำเนินงาน 
การศึกษานี้ได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร โดยกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมในระดับ “ปรึกษาหารือ” (Consultation) โดยการจัดประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็น (Focus group) สะท้อนบทเรียนจากการเกษตรที่เป็นอยู่ เพื่อให้เข้าใจบริบทพื้นที่และชุมชน สภาพปัญหาของพื้นที่การเกษตรร่วมกันระหว่างเกษตรกร ภาคการศึกษา องค์กรและหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับ “ความร่วมมือ” (partnership) โดยการรับสมัครเกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ภายใต้ชื่อกิจกรรม “เกษตรกรรมแบบไม่ใช้ไฟ...ลดเสี่ยงภัยหมอกควัน” ร่วมกับกระบวนการทำแผนที่ทำมือ การสำรวจกายภาพเพื่อระบุพิกัดของแปลงเกษตรกรรม และนำเสนอในรูปแบบของแผนที่กราฟิก เพื่อระบุข้อมูลการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจาก “เกษตรกรรมแบบพึ่งพาไฟ” ไปสู่ “การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” 


ภาพที่ 4 การจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus group) พื้นที่น่านกลาง
ที่มา: โดยคณะผู้วิจัย เมื่อ 26 มีนาคม 2560
ภาพที่ 5  การเก็บข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มเกษตร
ที่มา: โดยคณะผู้วิจัย เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2559

พื้นที่ศึกษา
ในกระบวนการศึกษาวิจัยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในพื้นที่นำร่องทั้ง 3 แห่งในจังหวัดน่าน ได้แก่ พื้นที่น่านเหนือ (ชุมชนบ้านยอดดอยวัฒนาและชุมชนบ้านน้ำหมาว ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ) พื้นที่น่านกลาง (ชุมชนบ้านราษฎร์สามัคคี ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง)  และพื้นที่น่านใต้ (ชุมชนบ้านห้วยส้ม ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย) พบปัจจัยสำคัญของความแตกต่างเชิงพื้นที่ตามสภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศ สังคมและวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดน่านที่มีความแตกต่างกันจึงส่งผลต่อวิถีในการดำเนินชีวิต เกษตรกรมีปัญหาหนี้สินเพิ่มจากระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ดำเนินการอยู่ อีกทั้งในการทำการเกษตรของจังหวัดน่านส่วนใหญ่เป็นการเกษตรแบบพึ่งพาไฟ โดยมีการเผาหลังจากการแผ้วถางพื้นที่และการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบการผลิตถัดไป รวมถึงการใช้สารใช้สารเคมีการเกษตรจำนวนมากโดยเฉพาะสารฆ่าหญ้า ในกระบวนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเป็นระยะเวลานาน ดังแสดงในตารางที่ 2     

ตารางที่ 2  ข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ศึกษานำร่องจังหวัดน่าน

พื้นที่ศึกษา  สภาพบริบทเชิงพื้นที่  สภาพบริบทของชุมชน
น่านเหนือ

- ลักษณะเป็นภูเขาลาดชัน (มีพื้นที่ราบร้อยละ 5)
- การใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่ส่วนด้านบนภูเขาเพาะปลูกข้าวไร่พันธุ์พื้นถิ่น และพื้นที่ส่วนล่างเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

วิถีการหมุนเวียนพื้นที่ในการทำการเกษตร โดยจะเวียนรอบ 3-5 ปี และมีการพึ่งพาไฟในการหักร้างถางป่า เมื่อเวียนครบรอบกลับมายังพื้นที่ที่ได้หยุดพักทำการเกษตร ดังแสดงในภาพที่ 6
น่านกลาง พื้นที่การเกษตรแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 
1. พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บริเวณเนินเขาที่มีความลาดชันและไม่มีระบบน้ำดังแสดงในภาพที่ 7 
2. พื้นที่เพาะปลูกไม้ผลพืชสวนและพืชไร่ เช่น ลิ้นจี่ ลำไย และอื่นๆ บริเวณที่ราบและพื้นที่เนินเขาที่มีระบบน้ำเข้าถึง
- มีการพึ่งพาไฟในการทำเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และกำจัดวัสดุเหลือทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว   
- อาชีพหลักของคนในชุมชนคือทำการเกษตร ที่มุ่งผลิตเพื่อจำหน่ายผลผลิตโดยตรง ไม่มุ่งเน้นการแปรรูป
- คนในชุมชนไม่ปลูกพืชอาหาร นิยมซื้อจากแหล่งผลิตภายนอก
น่านใต้ พื้นที่การเกษตรแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1. พื้นที่เนินเขา จะทำการเพาะปลูกยางพารา ข้าวไร่และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
2. พื้นที่ราบ จะทำการเพาะปลูก
- มีการพึ่งพาไฟในการทำเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และกำจัดวัสดุเหลือทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว 
- วิถีชีวิตประจำวันของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาเนื่องจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการดูแลลูก
- รายได้หลักของคนในชุมชนมาจากการขายน้ำยางพาราดิบ

 


ภาพที่ 6 การพึ่งพาไฟในการหักร้างถางป่าเหล่า พื้นที่น่านเหนือ
ที่มา: โดยคณะผู้วิจัย เมื่อ 31 มีนาคม 2561
ภาพที่ 7 ภูเขาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่น่านกลาง
ที่มา: โดยคณะผู้วิจัย เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560

ผลการศึกษา

ผลจากการสำรวจข้อมูลเชิงลึกด้านต่างๆ ได้แก่ วิถีการเกษตร ปัจจัยการผลิต ต้นทุน-กำไรของการเกษตรที่ได้ดำเนินการ รวมถึงวิถีการใช้ชีวิตของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน สังคมและวัฒนธรรม ของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่นำร่อง 3 พื้นที่ (โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน, 2560) ได้นำมาเป็นฐานข้อมูลหลักในการวิเคราะห์และการประเมินความเหมาะสมเชิงพื้นที่ บริบทชุมชนและสังคม ตลอดจนความเป็นไปได้ของพืชทดแทนที่มีศักยภาพและมีความต้องการของตลาด จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน สามารถสรุปรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานและแนวทางในการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรนำร่องดังแสดงในตารางที่ 3 และนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ของพื้นที่เพาะปลูกที่ลดการพึ่งพาไฟในรูปแบบกราฟิกแผนที่ดังภาพที่ 8  และการปรับเปลี่ยนใช้ประโยชน์ที่รายแปลงในภาพที่ 9   

ตารางที่ 3 การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน

พื้นที่ศึกษา จำนวนเกษตรกรที่ลดการพึ่งพาไฟ
(ราย)
 ขนาดพื้นที่แปลงเกษตรกรรม
(ไร่) 
การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรเดิม  การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรใหม่

น่านเหนือ 

9 23 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ธัญพืชอินทรีย์
(ลูกเดือย/ถั่วมะแฮะ)
น่านกลาง 8 74 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ผลไม้
ผักและธัญพืชอินทรีย์
(ฟักทองญี่ปุ่น/ถั่วมะแฮะ)
น่านใต้ 5 19 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ยางพารา
อ้อยอินทรีย์
(แปรรูปเป็นน้ำตาลอ้อย)

 


ภาพที่ 8 แปลงเกษตรกรรมแบบไม่พึ่งพาไฟของเกษตรกรพื้นที่ศึกษานำร่อง
ที่มา: โดยคณะผู้วิจัย 2559-2560


ภาพที่ 9 การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรพื้นที่ศึกษานำร่อง

ที่มา: โดยคณะผู้วิจัย 2559-2560

สรุป
การศึกษานี้อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือและสร้างความร่วมมือกับเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ต้องพึ่งพาไฟและสารเคมี ไปสู่การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูวิถีเกษตรกรรมแบบดั่งเดิมที่ใช้หลักพึ่งพิงธรรมชาติและสร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่น โดยอาศัยองค์ความรู้และวิทยาการแบบใหม่มาผสมผสาน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันและการรักษาทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้อย่างยั่งยืน

กิตติกรรมประกาศ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “ประเทศไทยไร้หมอกควัน” ชุดโครงการย่อยที่ 1 “การปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน และการออกแบบห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรเพื่อลดการเกิดหมอกควัน - พื้นที่จังหวัดน่าน”ภายใต้ความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (Research University Network: RUN) ทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โครงการ Thailand Grand Challenge

เอกสารอ้างอิง
นายปวิณ ปุณศรี. (2531). การเกษตรที่สูงในประเทศไทย. สาราณุกรมไทยสำหรับเยาวชน  12 กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์ 
อิศวิลานนท์. (2540). เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการวิจัยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ.
ชัยวุฒิ ชัยพันธุ์. (2542). การจัดการการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ. กรุงเทพมหานคร: คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 
บุญยเกียรติ แสงวัณณ์. (2535). การประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์สำหรับการวางแผนใช้ที่ดิน. ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และระบบข้อมูลทางไกลสำหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยโปรแกรม ILWIS. 25-27.
ปิยกุล นานา. (2553). การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังการสร้างถนนกลางเวียงในเขตเทศบาลนครเชียงราย การค้นคว้าวิจัยอิสระทางภูมิศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2560). สรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม ประจำปี 2560.
หัสดี เหล่าชัย. (2552). การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลคำโตนด อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.