บทคัดย่อ
จากสถานการณ์การผลิตและใช้พลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้มีการใช้พลาสติกอย่างแพร่หลาย โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนภาพรวมของมาตรการของภาครัฐในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านนโยบายและกฎหมาย
การอ้างอิง: สุจิตรา วาสนาดำรงดี. (2562). ภาพรวมมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในต่างประเทศ. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 2).
บทความ: ภาพรวมมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในต่างประเทศ
สุจิตรา วาสนาดำรงดี
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1. บทนำ
จากสถานการณ์การผลิตและใช้พลาสติกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 มีการผลิตพลาสติกมากกว่า 8.3 พันล้านตันหรือเฉลี่ยปีละ 300 ล้านตัน (Geyer, Jambeck & Law, 2017) ด้วยคุณสมบัติของพลาสติกที่มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูงและราคาถูก ทำให้มีการใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยพลาสติกมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ผลิตขึ้นใช้ในชีวิตประจำวันเป็นประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use plastics) ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้นและทำให้เกิดการใช้พลาสติกมากเกินความจำเป็น ทั่วโลกจึงกำลังประสบปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีระบบจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ นักวิจัยคาดการณ์ว่าขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) และส่วนใหญ่ (ร้อยละ 79) สะสมในแหล่งฝังกลบหรือตกค้างในสิ่งแวดล้อมบนบกและในทะเล (Geyer, Jambeck & Law, 2017)
งานวิจัยของ Jambeck et al. (2015) ได้คาดการณ์ปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลสู่ทะเลซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณสูงถึง 13 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ารถบรรทุก 1 คันขนขยะพลาสติกทิ้งลงทะเลทุก ๆ 1 นาที เนื่องจากพลาสติกจัดเป็นวัสดุที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยาก ใช้เวลานานหลายร้อยปี ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกสะสมในทะเลเพิ่มจำนวนขึ้น กระจายที่ก้นทะเลและเป็นแพขยะขนาดใหญ่ลอยในมหาสมุทร และถึงแม้ว่าพลาสติกจะย่อยสลายยากแต่พลาสติกสามารถแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติก มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่รายงานผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ (GESAMP, 2015) ทำให้สหประชาชาติและรัฐบาลทั่วโลกตื่นตัวและพยายามลด ละ เลิกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ดังจะเห็นได้จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Program: UNEP) กำหนดให้วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environmental Day) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เป็นวันแห่งการต่อสู้กับมลพิษพลาสติก (Beat Plastic Pollution) โดยรณรงค์ให้ปฏิเสธการใช้พลาสติกชนิดนี้
ประเด็นปัญหาขยะพลาสติกนับเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยเช่นกัน โดยในแต่ละปี ประเทศไทยมีการผลิตและใช้ถุงพลาสติกกว่า 45,000 ล้านใบ ในปี พ.ศ. 2560 ปริมาณขยะพลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้วอยู่ที่ 517,054 ตัน แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 241,233 ตัน หลอดพลาสติก 3,873 ตัน กล่องโฟมบรรจุอาหาร 29,248 ตัน (คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก, 2561)
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะประเภทพลาสติกเกิดขึ้นในประเทศทั้งสิ้นร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์ ปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตันถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเตาเผา บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษ, 2560) อีกทั้งประเทศไทยยังถูกจัดให้อยู่อันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก (Jambeck et al., 2015) ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเล รัฐบาลไทยได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนภาพรวมของมาตรการของภาครัฐในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้กำหนดนโยบายประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการและมาตรการทางกฎหมาย นอกเหนือจากมาตรการรณรงค์เชิงสมัครใจที่ภาครัฐใช้อยู่ในปัจจุบัน บทความนี้ ผู้เขียนมุ่งเน้นไปที่มาตรการเพื่อลดปริมาณพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง (Waste prevention) นั่นคือ มาตรการควบคุมการใช้ถุงพลาสติกชนิดหูหิ้ว (Plastic carrier bag) ซึ่งเป็นประเภทที่มีการผลิตและใช้มากที่สุด โดยข้อมูลบางส่วนรวมถึงมาตรการควบคุมกล่องโฟมและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอื่น ๆ
2. ประเภทของเครื่องมือเชิงนโยบายในการควบคุมการใช้ถุงพลาสติก
จากรายงานของ UNEP (UNEP, 2018a) เครื่องมือเชิงนโยบายที่ภาครัฐนำมาใช้ในการควบคุมปริมาณการใช้ถุงพลาสติก แบ่งได้เป็น 3 แนวทาง แนวทางที่ 1 เครื่องมือกำกับควบคุม นั่นคือ การออกกฎหมายห้ามผลิต และใช้ (Ban) แนวทางที่ 2 เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งอาจจัดเก็บที่ผู้ผลิต ผู้ค้าปลีกหรือผู้บริโภค และแนวทางที่ 3 ผสมผสานเครื่องมือกำกับควบคุมและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ดังรายละเอียดในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 เครื่องมือเชิงนโยบายในการควบคุมการใช้ถุงพลาสติก
เครื่องมือเชิงนโยบาย | คุณลักษณะ | |
เครื่องมือกำกับควบคุม | ห้าม (Ban) | ห้ามการผลิตและใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว อาจจะเจาะจงเฉพาะบางผลิตภัณฑ์หรือหลายประเภท เช่น ถุงพลาสติก โฟมบรรจุอาหาร มาตรการห้ามอาจจะเป็นห้ามทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น ห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดบางที่ความหนาน้อยกว่า 30 ไมครอน เป็นต้น |
เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยการเก็บภาษี/ค่าธรรมเนียม |
เก็บที่ผู้ผลิต | จัดเก็บภาษีที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าถุงพลาสติก หากจะให้ภาษีมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อัตราภาษีนั้นจะต้องถูกผ่องถ่ายจากผู้ผลิตไปยังผู้จัดจำหน่ายอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้จัดจำหน่ายเก็บเงินจากผู้บริโภคที่ต้องการถุงพลาสติก หรือ ให้รางวัลหรือคืนเงินแก่ผู้บริโภคที่ไม่รับถุงพลาสติก เพื่อส่งเสริมการใช้ถุงที่ใช้ซ้ำได้ |
เก็บที่ผู้ค้าปลีก | จัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกับผู้ค้าปลีก แต่ผู้ค้าปลีกไม่ต้องผ่องถ่ายต้นทุนภาษีไปยังผู้บริโภค | |
เก็บที่ผู้บริโภค | ให้ผู้บริโภคที่ต้องการถุงพลาสติกจ่ายภาษีหรือค่าธรรมเนียม ณ จุดขาย โดยกฎหมายกำหนดอัตราค่าถุงพลาสติก | |
ผสมผสานเครื่องมือกำกับควบคุมและเศรษฐศาสตร์ | ห้ามและเก็บภาษี/ค่าธรรมเนียม | ผสมผสานระหว่างข้อห้ามและภาษี/ค่าธรรมเนียม เช่น กำหนดข้อห้ามการใช้ถุงพลาสสติกชนิดบางและให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกที่หนาขึ้น |
ที่มา: UNEP (2018a)
มาตรการห้ามใช้ (Ban) เป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศแอฟริกาและบางประเทศในเอเชีย ส่วนใหญ่จะห้ามร้านค้าปลีกให้ถุงพลาสติกแก่ผู้บริโภค ณ จุดขาย มีประสิทธิภาพอย่างมากในแง่การลดปริมาณถุงพลาสติกโดยการหยุดพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยการตัดทางเลือกของการได้รับถุงพลาสติก (Carrigan et al., 2011) อย่างไรก็ดี มาตรการห้ามใช้มีแนวโน้มที่จะถูกต่อต้าน เนื่องจากเป็นมาตรการที่จำกัดเสรีภาพของผู้บริโภค หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและไม่มีทางเลือกของวัสดุอื่นที่ต้นทุนต่ำ อาจทำให้เกิดการลักลอบใช้ถุงพลาสติกได้
ส่วนมาตรการทางภาษีหรือค่าธรรมเนียม มาจากแนวคิดเรื่องต้นทุนสิ่งแวดล้อมของถุงพลาสติก ซึ่งการแจกถุงพลาสติกฟรีเท่ากับต้นทุนสิ่งแวดล้อมยังมิได้ถูกนำมาคิดรวมในราคาถุงพลาสติก ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากถุงพลาสติกโดยการเพิ่มต้นทุนสิ่งแวดล้อมเข้าไปในราคาถุงพลาสติกผ่านการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียม ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) การเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมสามารถเก็บเงินกับถุงประเภทใดก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะถุงพลาสติก โดยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวมุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค (Modify behavior) มากกว่าควบคุมพฤติกรรม (Regulate behavior) ดังเช่นมาตรการห้ามใช้ (Ban)
โดยทั่วไป การเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจัดเก็บ ณ จุดขาย เมื่อผู้บริโภคต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกที่คิดรวมต้นทุนสิ่งแวดล้อม จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมโดยการนำถุงที่ใช้ซ้ำได้มาซื้อของเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลง
มาตรการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมนั้นมีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บริโภคจะเกิดความรู้สึกการกลัวความสูญเสีย (Loss aversion) เงินที่ตัวเองมีมากกว่าความต้องการได้รับในอัตราที่เท่ากัน Homonoff (2013) พบว่า การเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ณ จุดขายมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้โบนัสหรือแต้มรางวัลเมื่อไม่รับถุงพลาสติก ในอีกแง่หนึ่ง Rivers et al. (2017) เห็นว่า การเก็บค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยแต่ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นค่าถุงพลาสติกนั้นถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสะกิด (Nudge) อย่างหนึ่ง โดยปรับเปลี่ยนทางเลือกของผู้บริโภค (Choice architecture) ให้เลี่ยงการรับถุงพลาสติกใบใหม่ ส่วนมาตรการรณรงค์เชิงสมัครใจให้ผู้บริโภคนำถุงผ้ามาซื้อของ พบว่า ได้ผลน้อยมาก เนื่องจากลูกค้ามีความเคยชินต่อการได้รับถุงพลาสติก/ถุงกระดาษฟรีจากร้านค้า (Sharp et al., 2010) ดังจะเห็นได้จากรูปที่ 1 ที่เปรียบเทียบพฤติกรรมของผู้บริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตสองแห่งในเมืองวิกตอเรีย ประเทศแคนาดา ภาพด้านซ้าย มีการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ในขณะที่อีกที่หนึ่งยังให้ถุงพลาสติกฟรีแต่มีโบนัสให้หากนำถุงผ้ามาใส่ของ
รูปที่ 1 เปรียบเทียบพฤติกรรมของผู้บริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองวิกตอเรีย ประเทศแคนาดา
ที่มา: Facebook Rereef
3. การออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ถุงพลาสติกและโฟมทั่วโลก
จากการรวบรวมข้อมูลของ UNEP (2018a) พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีรัฐบาลระดับประเทศและระดับท้องถิ่นออกกฎหมายเพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกและโฟมบรรจุอาหาร โดยจำนวนกฎหมายที่ประกาศใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปี ค.ศ. 2015 (2558) สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากการออกระเบียบควบคุมการใช้ถุงพลาสติกของสหภาพยุโรป (EU Directive 2015/720) ซึ่งกระตุ้นให้รัฐสมาชิกกำหนดเป้าหมายในการลดการใช้หรือให้ใช้เครื่องมือทางเศรษฐาสตร์เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบาง (ดังรูปที่ 2) อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ ในการออกมาตรการควบคุมพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ทั้งนี้ UNEP (2018a) คาดการณ์ว่า จะมีรัฐบาลที่ออกกฎหมายกำกับการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต อันเป็นผลจากการผลักดันของสหประชาชาติที่ต้องการลดการใช้พลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทรและก่อให้เกิดไมโครพลาสติก
รูปที่ 2 จำนวนกฎระเบียบที่ควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ที่มา: UNEP (2018a)
รายงานฉบับล่าสุดโดย UNEP ร่วมกับ World Resource Institute (WRI) (UNEP, 2018b) ได้ทำการสำรวจและรวบรวมกฎหมายที่ประเทศต่าง ๆ ได้ประกาศใช้เพื่อควบคุมถุงพลาสติก พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอื่น ๆ และไมโครบีดส์ พบว่า จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) มีประเทศ 127 ประเทศจากทั้งหมด 192 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 66 ที่ได้มีการออกกฎหมายในการควบคุมการใช้ถุงพลาสติก ทั้งนี้ กฎหมายที่ควบคุมถุงพลาสติกครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การกระจาย การใช้และการค้าถุงพลาสติก การเก็บภาษี/ค่าธรรมเนียมและการกำจัดหลังการใช้งานของผู้บริโภค ขอบเขตของกฎหมายของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ดังแสดงในรูปที่ 3 แต่รูปแบบการควบคุมที่ใช้กันมากที่สุด คือ การจำกัดการแจกถุงพลาสติกฟรีที่จุดขาย ทั้งนี้ จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 UNEP (2018b) รายงานว่า มี 27 ประเทศที่ได้จัดเก็บภาษีที่ผู้ผลิตถุงพลาสติก ในขณะที่ 30 ประเทศเก็บเงินค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกกับผู้บริโภค และมี 43 ประเทศที่ได้ออกกฎระเบียบที่ใช้หลักการ “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” (Extended Producer Responsibility) ในการจัดการถุงพลาสติก
รูปที่ 3 มาตรการควบคุมถุงพลาสติกระดับประเทศ
ที่มา: UNEP (2018b)
หากจำแนกตามภูมิภาค (รูปที่ 4) พบว่า กฎระเบียบว่าด้วยการควบคุมการใช้ถุงพลาสติกมีการนำมาใช้ในทวีปแอฟริกาและยุโรปมากที่สุด แต่ใช้มาตรการที่แตกต่างกัน โดยรัฐบาลในทวีปแอฟริกาส่วนใหญใช้มาตรการห้ามใช้ (ban) ถุงพลาสติก ในขณะที่รัฐบาลในทวีปยุโรปนิยมใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ในการควบคุมการใช้ถุงพลาสติก ในบางประเทศ ภาครัฐเลือกใช้มาตรการเชิงสมัครใจ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เป็นการทำข้อตกลงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน แต่ก็มีลักษณะการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเช่นเดียวกัน (UNEP, 2018a)
รูปที่ 4 ประเภทของนโยบายระดับประเทศที่ควบคุมถุงพลาสติก จำแนกตามทวีป
ที่มา: UNEP (2018a)
รูปที่ 5 แสดงการกระจายของมาตรการควบคุมถุงพลาสติกและโฟมในระดับรัฐหรือท้องถิ่นซึ่งจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก รองลงมาเป็นมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ในสหรัฐอเมริกา หากพิจารณาเฉพาะเทศบัญญัติที่กำหนดข้อห้ามหรือเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี พบว่า จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 2017 มีรัฐบาลท้องถิ่นจำนวน 271 แห่งใน 24 รัฐที่ได้ออกเทศบัญญัติเพื่อลดการใช้ถุงแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Wagner, 2017)
รูปที่ 5 มาตรการควบคุมถุงพลาสติกและโฟมระดับรัฐหรือท้องถิ่น
ที่มา: UNEP (2018a)
ส่วนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอื่น ๆ พบว่า มี 27 ประเทศที่ได้ออกกฎหมายห้ามใช้ผลิตภัณฑ์บางประเภท (เช่น จาน แก้ว หลอด บรรจุภัณฑ์) หรือห้ามประเภทวัสดุ (เช่น โพลีสไตรีน) หรือห้ามในระดับการผลิต และมี 63 ประเทศที่ได้มีข้อกำหนดให้ผู้ผลิตรับผิดชอบพลาสติกที่ใช้แล้ว ได้แก่ มาตรการมัดจำคืนเงิน การจัดระบบรับคืน และการกำหนดเป้าหมายในการรีไซเคิล สำหรับการควบคุมไมโครบีดส์นั้น จนถึงกรกฎาคม ค.ศ. 2018 พบว่ามีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่ได้มีการออกกฎหมายระดับประเทศในการห้ามใช้ไมโครบีดส์ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สวีเดน สหราชอาณาจักร (รวมไอร์แลนด์เหนือ) และสหรัฐอเมริกา แต่ก็มี 4 ประเทศที่อยู่ในระหว่างการเสนอกฎหมาย ได้แก่ เบลเยี่ยม บราซิล อินเดียและไอร์แลนด์ ส่วนสหภาพยุโรปเริ่มกระบวนการจำกัดการเติมไมโครบีดส์อย่างจงใจในผลิตภัณฑ์
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2561 ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก ขยะทะเลและไมโครพลาสติกที่ได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกได้ออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและการใช้พลาสติก โดยกฎระเบียบช่วงแรกมุ่งเน้นไปที่การควบคุมถุงพลาสติกชนิดหูหิ้วและกล่องโฟม โดยใช้มาตรการที่หลากหลายทั้งมาตรการห้ามใช้และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ รูปแบบที่นิยมใช้ คือ การเก็บเงินค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกกับผู้บริโภคซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการลดปริมาณถุงพลาสติกค่อนข้างมาก แม้บางประเทศจะเลือกใช้มาตรการเชิงสมัครใจ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แต่ร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ร่วมโครงการก็ใช้มาตรการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเช่นเดียวกัน ในระยะหลัง เนื่องจากปัญหาขยะพลาสติกมิได้มีเพียงถุงพลาสติก แนวโน้มการออกกฎหมายของประเทศต่างๆ จึงขยายขอบเขตครอบคลุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอื่น ๆ ที่มีการบริโภคจำนวนมาก เช่น หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ช้อนส้อมพลาสติก ฯลฯ ดังจะเห็นได้จากร่างกฎหมายของสหภาพยุโรป ร่างกฎหมายของประเทศฟิลิปปินส์ แผน Roadmap ของไต้หวันและมาเลเซีย เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลไทยควรพิจารณาการออกกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในประเทศโดยใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ การเก็บเงินกับผู้บริโภคเพื่อลดปริมาณการใช้อย่างฟุ่มเฟือยซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่ามาตรการรณรงค์เชิงสมัครใจให้ผู้บริโภคลดการบริโภคอย่างที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
บทความวิชาการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารอ้างอิง
Carrigan, M., Moraes, C., Leek, S., 2011. Fostering responsible communities: A community social marketing approach to sustainable living. Journal of Business Ethics. 100(3), 515–534.
GESAMP (2015). “Sources, fate and effects of microplastics in the marine environment: a global assessment” (Kershaw, P. J., ed.). (IMO/FAO/UNESCO-IOC/UNIDO/WMO/IAEA/UN/UNEP/UNDP Joint Group of Experts on the Scientific Aspects of Marine Environmental Protection). Rep. Stud. GESAMP No. 90, 96 p.
Geyer, R., Jambeck, J.R. and Law, K.R. (2017). Production, use, and fate of all plastics ever made. Science Advances. 3(7) DOI: 10.1126/sciadv.1700782 ; https://www.greenpeace.org/usa/key-facts-about-plastic-pollution/
Homonoff, T.A., 2013. Can small incentives have large effects? The impact of taxes versus bonuses on disposable bag use. Working paper #575, Princeton University. Retrieved from http://www.human.cornell.edu/pam/people/upload/Homonoff-Can-Small-Incentives-Have-Large-Effects.pdf.
Jambeck, J. R. et al. (2015). Plastic waste inputs from land into the ocean. Science. 347, 768-771.
Rivers, N., Shenstone-Harris, S., Young, N., 2017. Using nudges to reduce waste? The case of Toronto’s plastic bag levy. Journal of Environmental Management. 188, 153–162.
Sharp, A., Høj, S., Wheeler, M. (2010). Proscription and its impact on anticonsumption behaviour and attitudes: the case of plastic bags. Journal of Consumer Behaviour. 9 (6), 470–484.
UNEP. (2018a). Single-Use Plastics: A Roadmap for Sustainability. UNEP. Retrieved from http://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/25496/singleUsePlastic_sustainability.pdf?sequence=1&isAllowed=y
UNEP. (2018b). Legal Limits on Single-Use Plastics and Microplastics: A Global Review of National Laws and Regulations. Retrieved from https://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/27113/plastics_limits.pdf?sequence=1&isAllowed=y
Wagner, T. (2017). Reducing single-use plastic shopping bags in the USA. Waste Management, 70, 3-12. doi: 10.1016/j.wasman.2017.09.003
กรมควบคุมมลพิษ. (2560). (ร่าง) แผนจัดการขยะพลาสติกอย่างบูรณาการ (พ.ศ. 2560-2564). 22 หน้า.
คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก. (2561). ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก (2561-2580). เอกสารประกอบการประชุม วันที่ 26 ธันวาคม 2561