การอ้างอิง: ปกฉัตร ชูติวิศุทธิ์. (2564). เรื่องจากปก: การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง...สมดุลที่ต้องรักษาเพื่อความยั่งยืนของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 4).


เรื่องจากปก: การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง...สมดุลที่ต้องรักษาเพื่อความยั่งยืนของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ปกฉัตร ชูติวิศุทธิ์ และ วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



แม่น้ำประแสร์ จังหวัดระยอง 9 ต.ค. 2564
โดย วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์

จังหวัดระยอง คือหนึ่งในพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากภาคอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับความต้องการน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนและภาคเกษตรกรรม ผนวกด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำในฤดูกาลต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากปกติแล้ว ทำให้จังหวัดระยองเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางด้านภัยแล้ง และมีโอกาสที่ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติจะไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำในพื้นที่ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่มีอยู่ดั้งเดิมในแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำพื้นถิ่นหรือแพลงก์ตอนพืชแพลงก์ตอนสัตว์ที่เป็นฐานของห่วงโซ่อาหาร การศึกษาวิจัยผลของภัยแล้งต่อภาคชุมชน ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และระบบนิเวศจึงเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยแล้ง ทั้งในด้านของปริมาณและคุณภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล รวมถึงปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มที่อาจส่งผลต่อการใช้น้ำในพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถสร้างระบบบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกภาคส่วน และป้องกันการส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศดั้งเดิมที่เคยมีในแหล่งน้ำนั้น ๆ