การอ้างอิง: พัทธยาพร อุ่นโรจน์. (2564). แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลตำบลเวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย - พลิกวิกฤต เป็นโอกาส. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1).


บทความ: แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลตำบลเวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย - พลิกวิกฤต เป็นโอกาส

พัทธยาพร อุ่นโรจน์
ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (NREMC) 
และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


1. บทนำ
จากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งประเทศประมาณ 28.71 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2562  (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3)  ซึ่งสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยหลายแห่งดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้องประมาณ 6.38 ล้านตัน (ร้อยละ 22 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น) จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานที่กำจัดมูลฝอยอยู่ในพื้นที่ทำการตรวจสอบระบบ การบำรุงรักษา การส่งเสริมและสร้างมาตรการในการลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องส่งกำจัด เพื่อยืดอายุการใช้งานของระบบกำจัดขยะมูลฝอย ในส่วนของภาคเหนือมีปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยอยู่ที่ 10,229 ตัน/วัน (กรมควบคุมมลพิษ, 2562)

สำหรับจังหวัดเชียงราย จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย (ทสจ.เชียงราย) พบว่าหลังจากรัฐบาลมีการประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557 ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นของจังหวัดเชียงรายมีการถูกคัดแยกและนำไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 22 และส่วนที่เหลือมีการนำไปกำจัด โดยมีเพียงขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 24 แห่ง ที่ถูกส่งไปกำจัดอย่างปลอดภัย ณ สถานที่กำจัดขยะแบบฝังกลบตามหลักสุขาภิบาลของเทศบาลนครเชียงราย เทศบาลตำบลแม่สาย และเทศบาลตำบลห้วยไคร้ ส่วน อปท. อีก 119 แห่ง มีการกำจัดขยะด้วยการเทกอง และการเผาทำลาย โดยไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในรูปของพลังงานแต่อย่างใด (ปเนต มโนมัยวิบูลย์ และคณะ, 2560)  ในปี พ.ศ.2563 ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นของจังหวัดเชียงรายอยู่ที่ 2,413.40 ตัน/วัน ปริมาณมูลฝอยที่กำจัดถูกต้อง 641.90 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 26.60 (ส่วนขยะมูลฝอยชุมชน กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ, ไม่ระบุ)

เทศบาลตำบลเวียงเทิง เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาล จากนั้นได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 และเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล ณ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันเทศบาลตำบลเวียงเทิง มีเนื้อที่ 12 ตารางกิโลเมตร และมีเขตการปกครองประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน ในตำบลเวียง อำเภอเทิง ได้แก่ หมู่ 1 บ้านเวียงเทิง หมู่ที่ 2 บ้านตั้งข้าว หมู่ที่ 14 บ้านพระเกิด หมู่ที่ 15 บ้านเวียงใต้ และหมู่ที่ 20 บ้านเวียงจอมจ้อ โดยมีประชากรประมาณ 5,000 คน เดิมทีเทศบาลตำบลเวียงเทิงประสบปัญหาการจัดการขยะชุมชนเฉกเช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลาย ๆ แห่ง แต่ด้วยการพลิกวิกฤตจากสถานการณ์ขยะล้นเมืองมาเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการขยะ ผู้บริหาร อปท. มีความสนใจในการแก้ไขปัญหาขยะที่ต้นทางและมีความพยายามในการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะ จนมาถึงปัจจุบัน เทศบาลฯ ได้รับรางวัล “เทศบาลตำบลเวียงเทิง เป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะชุมชนที่ยั่งยืน” ภายใต้โครงการเชียงรายเมืองสะอาด ในปี พ.ศ. 2561 บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม หรือจัดการขยะชุมชน ได้เรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดีและนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนได้

2. ขั้นตอนการพัฒนาด้านการบริหารจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง 
เดิมทีระบบการจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง ไม่ได้มีความแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่ให้บริการเก็บขนขยะโดยไม่มีการส่งเสริมการคัดแยกขยะ ซึ่งเทศบาลฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะโดยใช้เกวียนในการเก็บขนขยะ ขยะที่ดำเนินการเก็บขนไม่มีการคัดแยก และนำไปทิ้งบ่อขยะของหมู่ที่ 12 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2554 ทำให้ประชาชนพื้นที่ใกล้เคียงบ่อขยะในหมู่ที่ 12 ประสบปัญหาจากกลิ่นเหม็นและมีสัตว์นำโรคต่าง ๆ นำไปสู่การร้องเรียนของประชาชนเรื่องสถานที่กำจัดขยะในพื้นที่ จึงเป็นที่มาให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ได้ลงมติที่ประชุมสภาสมัยสามัญ ให้ปิดบ่อขยะ และเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 เทศบาลตำบลเวียงเทิง ประสบปัญหาขยะล้นเมือง ไม่มีสถานที่สำหรับกำจัดขยะที่เกิดขึ้นวันละ 6.3 ตัน ทางคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ประชาชน จึงร่วมกันวางมาตรการในการแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดขึ้น (เทศบาลตำบลเวียงเทิง, 2563)

แนวทางการจัดการปัญหาขยะเริ่มจาก เทศบาลฯ จัดเวทีหาทางออกในการแก้ไขปัญหาขยะร่วมกันระหว่างผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล ประชาชน โดยเริ่มจากการใช้เตาเผาขยะ (แบบเช่า) ขนาดเล็กมากำจัดขยะ ในช่วงปี พ.ศ. 2554 ปัญหาที่พบคือปริมาณขยะสูงเกินกำลังของเตาเผา ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ จึงประชุมหารือถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข พบว่า สาเหตุมาจากการไม่คัดแยกขยะของประชาชน แนวทางแก้ไขปัญหาเริ่มต้นคือ การรณรงค์ให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะที่ครัวเรือน และหาวิธีการคัดแยกขยะที่เหมาะสม นำมาซึ่งการทำบันทึกข้อตกลงธรรมนูญพลเมือง เพื่อสร้างเป็นกติการ่วมกันในการบริหารจัดการขยะของชุมชนและหน่วยงานราชการในพื้นที่เขตเทศบาลฯ โดยกำหนดหน้าที่ของชุมชนอย่างชัดเจน คือการลดปริมาณและคัดแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ต่อมาในปี พ.ศ. 2556-2561 เทศบาลได้จัดทำโครงการการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร โดยใช้ธงสีเป็นตัวกำหนดความสามารถในการคัดแยกและความสามารถในการบริหารจัดการขยะเปียกของครัวเรือน ดังแสดงใน รูปที่ 1

ธงเขียว หมายถึง ครัวเรือนที่สามารถบริหารจัดการขยะบางประเภทได้เองในครัวเรือน เช่น ขยะเปียก เศษอาหารต่าง ๆ  ธงแดง หมายถึง ครัวเรือนที่ไม่สามารถจัดการขยะเองได้ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ขาดความพร้อมหรือมีพื้นที่ไม่อำนวยในการจัดการขยะ โดยธงเขียว ครัวเรือนจ่ายค่าเก็บขนขยะต่อเดือน ระหว่าง 3-7 บาท ซึ่งแปรผันเล็กน้อยตามปริมาณขยะ สำหรับธงแดงมีอัตราค่าจัดเก็บอยู่ระหว่าง 20-500 บาท ส่วนค่ากำจัดอยู่ในอัตราคงที่ที่ 100 บาท ซึ่งธงแดงส่วนใหญ่เป็นร้านค้า สถานที่ราชการ และมีครัวเรือนบางส่วน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เทศบาลฯ ได้มีแนวคิดการบริหารจัดการขยะโดยนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าให้ขยะ โดยมีการคัดแยกขยะสะอาดและขยะที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงได้ แล้วนำขยะไปส่งให้บริษัทเอกชนเพื่อทำเป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) จากแนวคิดนี้จึงเกิดเป็นรูปแบบการบริหารจัดการขยะในชุมชนรูปแบบธงน้ำเงิน ตามโครงการปลอดถุงปลอดถัง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธงเขียว ธงแดง และเป็นผลมาจากการที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะเป็นอย่างดี โดยครัวเรือนจะได้รับถุงคัดแยกขยะ RDF หมายถึง ครัวเรือนที่ได้เข้าร่วมตามโครงการ “ส่งเสริมคัดแยกขยะ” ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยเป็นการจัดการขยะในรูปแบบใหม่ ที่ให้ประชาชนสามารถจัดการขยะทุกประเภทได้เองในครัวเรือนและรับอุปกรณ์สาธิต (ถุงคัดแยกขยะ RDF) เพื่อนำไปจัดการขยะในครัวเรือน ซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปคือ ธงน้ำเงิน โดยเทศบาลฯ จะมารับซื้อขยะสะอาดจากประชาชนในวันที่เทศบาลฯ กำหนดแจกเบี้ยผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม หลังจากได้ทดลองดำเนินโครงการอยู่สองเดือน พบปัญหาคือ ครัวเรือนมองว่าการรวบรวมขยะสะอาด เพื่อขายให้กับเทศบาลทำได้ยุ่งยาก และราคาที่ขายได้ไม่จูงใจ ทำให้ครัวเรือนขอกลับเข้าประเภทธงเขียวแทน


รูปที่ 1 (ก) ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการจัดการขยะตามธงเขียว 
(ข) ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการจัดการขยะตามธงแดง

ที่มา: เทศบาลตำบลเวียงเทิง

โรงจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง ตั้งอยู่หลังที่ทำการของเทศบาล โดยเป็นอาคารเปิดโล่ง 
เทพื้นด้วยคอนกรีต และมีจุดหมักปุ๋ยแบบไม่กลับกองอยู่ด้านซ้ายก่อนทางเข้าไปโรงจัดการขยะ ดังแสดง ในรูปที่ 2 ทั้งนี้โรงจัดการขยะไม่มีรั้วรอบขอบชิด และแนวรั้วกันขยะปลิวลม อย่างไรก็ตาม พื้นที่โดยรวมของโรงจัดการขยะมีความสะอาด ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นขยะ และหนอนแมลงวัน ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากประสิทธิผลของการส่งเสริมการคัดแยกขยะตามโครงการจัดการขยะครบวงจรโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการดำเนินการโครงการนี้ ทำให้เทศบาลฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนระดับประเทศ (เทศบาลขนาดกลาง) ประจำปี พ.ศ. 2559 จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเงื่อนไขต่อเนื่องของทางกรมฯ คือ จะต้องมีการขับเคลื่อนให้เข้าสู่ระดับอาเซียนจึงสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อมอาเซียน และเทศบาลฯ ได้รับเลือกเป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะชุมชนที่ยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2561 และได้รับรางวัลการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและโล่ประกาศเกียรติคุณ EHA ด้านการจัดการมูลฝอยทั่วไป (EHA : 4001) ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเห็นว่ารางวัลยืนยันถึงศักยภาพการจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง

3. กระบวนการที่ทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี : ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 
กระบวนการที่นำพาเทศบาลตำบลเวียงเทิง ไปสู่การยอมรับว่าเป็นท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการขยะชุมชนที่โดดเด่นคือ การยินดีรับแนวคิดการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมาทดลองใช้ โดยผ่านกระบวนการของการประชาคมชุมชน หาแนวร่วมเลือกวิธีและปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทดลองดำเนินการและปรับปรุงให้ตรงกับความพึงพอใจของประชาชนมากที่สุด รวมถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ส่งเสริมให้เทศบาลตำบลเวียงเทิงบริหารจัดการขยะได้ดี ประกอบด้วย

 


รูปที่ 2 (ก) โรงจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง 
(ข) คนงานกำลังแกะถุงขยะอินทรีย์เพื่อเตรียมทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง

ที่มา: พัทธยาพร อุ่นโรจน์

1. ผู้บริหารท้องถิ่น ให้ความสำคัญ สนับสนุน และร่วมปฏิบัติ โดยเทศบาลฯ ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “เทศบาลตำบลเวียงเทิง เป็นเมืองน่าอยู่ คนมีสุข มีการเรียนรู้และพัฒนา บริหารจัดการก้าวหน้า รักษาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” และมีนโยบาย “เน้นการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นการคัดแยกขยะต้นทาง เพื่อการคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ นำขยะไปใช้ประโยชน์ และนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามประเภทและชนิดของขยะ” นอกจากประกาศเป็นวิสัยทัศน์แล้ว นายกเทศมนตรี ได้แสดงจุดยืน รวมถึงให้ความสำคัญกับการร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกิจกรรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ 

2. เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ปลัดเทศบาล ทำงานสอดรับสนับสนุน นโยบายผู้บริหาร ปัจจัยแห่งความสำเร็จข้อนี้ สืบเนื่องมาจากความชัดเจนในนโยบายของผู้บริหาร ที่มุ่งพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยชูประเด็นการจัดการขยะชุมชน ให้มีความโดดเด่น ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงาน นับตั้งแต่ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ ได้ตอบรับนโยบาย และดำเนินงานที่สนับสนุนให้การจัดการขยะชุมชนของเทศบาลตำบลเวียงเทิงไปสู่การเป็นแนวปฏิบัติที่ดี

3. จับมือเครือข่ายในพื้นที่ทำงานร่วมกัน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน: การจัดการขยะในพื้นที่อย่างยั่งยืน  มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงด้านการจัดการขยะ ระหว่างเทศบาลตำบลเวียงเทิงกับชุมชน โรงเรียนวัดพระเกิดคงคาราม ตลาดสดเทิง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการจัดกิจกรรมให้ความรู้การคัดแยกขยะ การรณรงค์ลดการเกิดขยะตามหลัก 3Rs การจัดการขยะเปียก กิจกรรมเคาะประตูบ้านเพิ่มความรู้ สร้างความเข้าใจในการคัดแยกขยะ กิจกรรมเพิ่มความรู้และสร้างความเข้าใจการคัดแยกขยะจากต้นทาง นอกจากนี้ เทศบาลฯ ได้จัดทำโครงการตลาดสดสีเขียว โดยมีการลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม และเทศบาลฯ ได้จัดทำสื่อวีดีทัศน์มอบให้กับสถานศึกษา เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน ทั้งนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน ผ่านสถานีวิทยุ JS RADIO (FM) ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 09.00-10.00 น.  

4. จัดให้มีโครงการหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยจากต้นทางรวมถึงการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เทศบาลฯ ได้จัดให้มีโครงการหรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับหลักการ 3Rs ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยต้นทาง เทศบาลฯ ยังได้จัดโครงการครอบคลุมไปถึงผู้สูงอายุผ่านกิจกรรมธนาคารขยะในศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงวัย และกิจกรรมสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้โดยศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เทศบาลฯ จัดให้มีโครงการสนับสนุนการจัดการขยะอินทรีย์ในครัวเรือน โดยใช้หลักความสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ และมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน คือโครงการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อลดปริมาณขยะ และโครงการการทำปุ๋ยหมักในครัวเรือน

5. สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่  แหล่งเรียนรู้หมู่บ้านจัดการตนเอง : บ้านเวียงจอมจ้อ หมู่ที่ 20 มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างคัดแยกขยะที่ต้นทางร้อยเปอร์เซ็นต์ (เต็มพื้นที่) ของเทศบาลตำบลเวียงเทิง และเป็นหมู่บ้านปลอดขยะ แหล่งเรียนรู้โรงเรียนพอเพียง : โรงเรียนเทศบาลตำบลเวียงเทิง ได้จัดกิจกรรมธนาคารขยะและกิจกรรมออมทรัพย์ในโรงเรียนขึ้นปี พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการจัดการขยะจากโรงเรียนสู่บ้านของตนเอง โดยนักเรียนสามารถนำรายได้ที่ขายขยะได้มาฝากกับออมทรัพย์ในโรงเรียนที่นักเรียนเป็นสมาชิกอยู่ แหล่งเรียนรู้ตลาดสด 3 ข. ชุมชนมีความต้องการที่จะอนุรักษ์ตลาดดั้งเดิมไว้ จึงขอให้เทศบาลฯ พัฒนาตลาดเดิมให้เป็นตลาดสด 3 ข. ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่ง ข. ที่ 1 คือ เขียวสิ่งแวดล้อม ข. ที่ 2 คือ แข็งเศรษฐกิจ และ ข. ที่ 3 คือ เข้มสุขภาพ โดยดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมกันเรียกว่า “ธรรมนูญแม่ค้า” ซึ่งตลาดสด 3 ข. มีการรณรงค์ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก 2,500 ถุง และกล่องโฟม 200 กล่อง ต่อเดือน ส่งเสริมให้ประชาชนใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติ และมีการคัดแยกขยะภายในตลาดอย่างจริงจัง แหล่งเรียนรู้การจัดการขยะครบวงจร : เทศบาลฯ ดำเนินการกำจัดขยะเอง โดยใช้หลัก 3Rs ประกอบกับใช้เตาเผาและทำปุ๋ยหมักชีวภาพ จัดทำเทศบัญญัติค่าธรรมเนียมขยะ ตามอัตราการทิ้งขยะของประชาชนในพื้นที่ ทำการรณรงค์ใช้ถุงผ้าเพื่อลดปริมาณถุงพลาสติกและโฟมในตลาดสดบ้านตั้งข้าว จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ตลาดสดสีเขียว (ประเภทที่ 2) และถูกคัดเลือกให้เป็น อปท. ต้นแบบด้านการจัดการขยะที่ยั่งยืน ภายใต้โครงการเชียงรายเมืองสะอาด จนมาถึงปัจจุบันได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้ของจังหวัดเชียงรายในการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

6. หน่วยงานสนับสนุน เครือข่ายสถาบันการศึกษา เอกชน การบริหารจัดการขยะชุมชนของเทศบาลตำบลเวียงเทิง ขับเคลื่อนไปได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ด้วยการมีเครือข่ายสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วน เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้าไปทำการวิจัยในพื้นที่ และเป็นพี่เลี้ยงในการนำเทศบาลฯ เข้าร่วมเวทีระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการขยะ  ทั้งนี้เทศบาลฯ ได้ร่วมจัดกิจกรรม World Cleanup Day กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและ UNEP ถึง 2 ครั้ง  การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาการจัดการขยะโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดการขยะชุมชนที่ดี เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (Institute for Global Environmental Strategies- IGES) แห่งประเทศญี่ปุ่น  และภาคเอกชน บริษัท SCG ให้การสนับสนุนในการรับซื้อขยะอัดก้อน เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิง RDF

7. การจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ ครบถ้วน ทำงานโดยอิงอยู่บนฐานของข้อมูลและคืนข้อมูลสู่ชุมชน เทศบาลฯ มีการจัดเก็บข้อมูลการจัดการขยะที่ครบถ้วน โดยใช้ข้อมูลมาสร้างการมีส่วนร่วมการจัดการขยะโดยหมู่บ้าน ซึ่งให้หมู่บ้านสร้างกลไกควบคุมความถูกต้องของการคัดแยกขยะ และการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ เนื่องจากเทศบาลฯ จัดเก็บค่าธรรมเนียมตามประเภทธงสี และเก็บในภาพรวมของหมู่บ้าน หากมีปริมาณขยะน้อย หมู่บ้านจะมีเงินส่วนต่างที่เก็บจากครัวเรือน และที่ต้องจ่ายจริง ไปจัดสรรเป็นสวัสดิการของหมู่บ้าน ซึ่งแนวปฏิบัตินี้เป็นข้อตกลงร่วมกันของแต่ละหมู่บ้าน ที่กำหนดขึ้นไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ เทศบาลฯ ได้จัดทำคู่มือประชาชนกับการจัดการขยะในชุมชนฉบับเทศบาลตำบลเวียงเทิง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก IGES แจกจ่ายครัวเรือนเป็นสื่อเรียนรู้การจัดการขยะชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้กับประชาชน นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง 

8. นโยบายท้องถิ่นที่ชัดเจน พัฒนาต่อเนื่อง แนวทางการจัดการขยะของเทศบาลฯ มีจุดเด่นที่การใช้มาตรการเชิงกฎระเบียบมาใช้กำกับพฤติกรรมของผู้รับบริการ การพัฒนากฏและแนวทางปฏิบัติในการคัดแยกขยะให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน ตลอดจนการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ในการเก็บสถิติเพื่อปรับอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดปริมาณขยะที่เทศบาลต้องจัดการจากเดิมวันละ 6 ตันเหลือเพียงวันละ 3.3 ตัน (ปเนต มโนมัยวิบูลย์ และพัทธยาพร อุ่นโรจน์, 2558) จนมาปี พ.ศ. 2563 ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดลดเหลือ 0.25 ตัน/วัน ประกอบกับเทศบาลฯ ได้เปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ ในการจัดการขยะ พัฒนามาจนถึงปัจจุบันคือการส่งเสริมชาวบ้านเก็บรวบรวมขยะสะอาดเพื่อขายให้กับเทศบาล เพื่อส่งขายให้กับบริษัท SCG เพื่อทำขยะเชื้อเพลิง RDF (การดำเนินการนี้อยู่ในกลุ่มธงน้ำเงิน) การดำเนินการนี้ส่งผลให้เทศบาลฯ เป็นต้นแบบของอำเภอเทิง ในฐานะ อปท. ที่มีการจัดการขยะได้ดี โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาส่งเสริมการจัดการขยะต้นทาง และหาทางออกจัดการขยะกลางทางด้วย RDF


เวที SEA of Solutions: Plenary session- Localizing transformation: National and local government solutions  ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จัดโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme-UNEP)

4. บทสรุป
การจัดการขยะชุมชนเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องเข้ามามีบทบาท เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดการขยะชุมชนที่ดี เช่นเดียวกับ เทศบาลตำบลเวียงเทิง ซึ่งนับเป็นความโชคดี ที่เป็นท้องที่ที่มีตัวแปรแห่งความสำเร็จค่อนข้างครบถ้วน นับตั้งแต่มีผู้บริหารเทศบาลที่มีนโยบายสนับสนุนการจัดการขยะในชุมชน ฝ่ายปฏิบัติรับนโยบายไปปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง ชุมชนตอบรับแนวทางปฏิบัติ มีการประชุมประชาคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบแนวปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงมีการประเมินผลระหว่างปฏิบัติ เพื่อปรับปรุง และพัฒนาแนวทางจัดการขยะให้ดียิ่งขึ้นต่อไป อีกทั้งยังเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานและการสนับสนุนจากเอกชนอีกด้วย นอกจากนี้ มีการนำมาตรการต่าง ๆ ทั้งในด้านของกฎหมาย และทางด้านเศรษฐศาสตร์มาส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การลดปริมาณขยะต้นทาง รวมถึงการคัดแยกขยะต้นทาง โดยการใช้หลักปริมาณขยะน้อยก็จ่ายค่าขยะน้อย (Pay-as-you-throw) รวมตลอดถึงการแยกขยะที่สามารถแปลงเป็นเชื้อเพลิง RDF ส่งผลให้การบริหารจัดการขยะของเทศบาลฯ ดียิ่งขึ้นไป โดยปริมาณขยะที่นำมากำจัดลดลงจากเดิม 6 ตัน/วัน   ปัจจุบัน ลดเหลือ 0.25 ตัน/วัน คิดเป็นสัดส่วนปริมาณขยะที่ลดลงร้อยละ 99.58 ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับการเผาขยะลดลงจาก เดือนละ 1,120 ลิตร ในเดือน ตุลาคม 2562 ปัจจุบัน เดือนกันยายน 2563 ลดลงเหลือ 240 ลิตร ประกอบกับการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับแนวทางการลดและคัดแยกขยะให้กับเด็กนักเรียน เยาวชน ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง นับเป็นแนวทางที่ดีและยั่งยืน เพื่อขยายผลในครัวเรือน ชุมชน และเป็นการสร้างพลเมืองที่ดี มีคุณภาพต่อไป

แนวทางจัดการขยะของเทศบาลตำบลเวียงเทิง นับว่าเป็นการจัดการขยะที่เข้าใกล้ความยั่งยืน ตามแนวคิดลำดับขั้นตอนของการจัดการขยะ (Waste Management Hierarchy) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการป้องกันมิให้เกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง และหากมีขยะเกิดขึ้นแล้ว ได้ทำการส่งเสริมให้เกิดการใช้ซ้ำและการรีไซเคิล ส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้จึงนำมาแปรรูปเป็นพลังงานและส่วนที่เหลือจึงค่อยนำไปกำจัดอย่างเหมาะสม  ทั้งนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับการจัดการขยะปลายทางที่ดี ขี้เถ้าจากเตาเผาขยะ รวมถึงการจัดการขยะอินทรีย์โดยทำการหมักปุ๋ยที่ถูกต้องที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด


กิตติกรรมประกาศ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูประบบบริหารจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)



เอกสารอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ. 2562. รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2562. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ออกแบบและจัดพิมพ์โดย : บริษัท สไตล์ครีเอทีฟเฮ้าส์ จำกัด
กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลเวียงเทิง. 2563. รายงานอัตราค่าธรรมเนียมขยะประจำเดือน พฤศจิกายน 2563
เทศบาลตำบลเวียงเทิง. 2563. ข้อมูลสรุปการบริหารจัดการขยะเทศบาลตำบลเวียงเทิง
ปเนต มโนมัยวิบูลย์ และคณะ. 2560. สร้างวัฒนธรรมสังคมปลอดขยะ Chiang Rai Zero Waste. พิมพ์ครั้งที่ 1. ล็อคอินดี ไซน์เวิร์ค
ปเนต มโนมัยวิบูลย์ และนาง พัทธยาพร อุ่นโรจน์. 2558. แนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชนในโครงการขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม: กรณีศึกษาเปรียบเทียบโครงการกำจัดขยะขนาดเล็กในจังหวัด เชียงราย. สนับสนุนทุนโดย กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558
ส่วนขยะมูลฝอยชุมชน กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ.ไม่ระบุปี. รายงานผลการดำเนินงาน ตัวชี้วัดร้อยละของปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการ ปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รอบ 9 เดือน (1 ตุลาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563) ข้อมูลจาก : สํานักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 - 16 สํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด 76 จังหวัด สืบค้นจาก http://www2.pcd.go.th/Info_serv/File/Garbage_%20Indicators_Report63-9.pdf