การอ้างอิง: มณีรัตน์ องค์วรรณดี. (2565). ทบทวนบทบาทของอาคารในการส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่ในอาคาร – ปัจจัยด้านการระบายอากาศ (Rethinking the role of building in promoting occupants’ health: In a view of ventilation). วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 26 (ฉบับที่ 4). 


บทความ: ทบทวนบทบาทของอาคารในการส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่ในอาคาร – ปัจจัยด้านการระบายอากาศ (Rethinking the role of building in promoting occupants’ health: In a view of ventilation)

มณีรัตน์ องค์วรรณดี
วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช


กล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทความที่แล้ว [1] คนเมืองใช้เวลาอยู่ในอาคารเกือบทั้งวันจนมีคำกล่าวว่าเป็น ‘มนุษย์พันธุ์ในอาคาร หรือ Indoor species’ ดังนั้นการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับสุขภาวะของคนในสภาพแวดล้อมภายในอาคารให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเป้าหมายที่ 3 การสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ประกอบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นการแพร่กระจายเชื้อทางละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศ (Airborne transmission) อาคารลักษณะปิดจึงถูกจัดเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในอากาศได้ง่ายกว่าพื้นที่เปิดโล่ง การจะทำให้คนในอาคารมีสุขภาวะที่ดีจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องเริ่มจากการสร้าง ‘อาคารสุขภาพดี หรือ Healthy building’ คืออาคารที่ไม่เพียงแค่สามารถป้องกันอันตรายจากสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ต่อสุขภาพของคนในอาคารเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของคนในอาคารได้อีกด้วย 

หลักพื้นฐานของการสร้าง ‘อาคารสุขภาพดี’ ประกอบด้วยการจัดการด้านคุณภาพอากาศในอาคาร (Indoor Air Quality, IAQ) และ การจัดการด้านสภาวะแวดล้อมในอาคาร (Indoor Environmental Quality, IEQ) ที่ส่งเสริมให้เกิดความพึงพอใจต่อผู้ใช้สอยอาคาร ในส่วนของการสร้างคุณภาพอากาศในอาคารที่ดีนั้น สามารถสรุปเป็นหลักการสำคัญ 4 ด้านที่ต้องจัดการประกอบด้วย (1) การลดหรือควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศที่อยู่ภายในอาคาร (2) การจัดการไม่ให้สภาวะในอาคารชื้นเกินไปซึ่งมีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ (3) การระบายอากาศที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ และ (4) การป้องกันมลพิษอากาศจากภายนอกเข้าสู่อาคาร [2] สำหรับในบทความนี้จะขออภิปรายถึงประเด็นการระบายอากาศของอาคารโดยเฉพาะอาคารสาธารณะซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้พลังงานของอาคารและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ในอาคาร

ในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่โลกเผชิญวิกฤติพลังงานโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำมันในช่วงทศวรรษที่ 1970 ทำให้เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมากในการพยายามอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งพลังงานที่ใช้กับอาคารเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความพยายามลดและประหยัด ประเทศไทยเองมีการออกพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีหมวดที่กล่าวถึงการอนุรักษ์พลังงานในอาคารด้วยเช่นกัน [3] ส่วนในฮ่องกงมีแรงกดดันให้ผู้ออกแบบอาคารทำอย่างไรก็ได้ในการลดการใช้พลังงานในอาคาร โดยผู้ดูแลอาคารได้รับคำแนะนำให้ลดการนำอากาศสะอาดจากภายนอกเข้าสู่อาคาร ให้ปรับอุณหภูมิภายในอาคารให้สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและปรับให้ต่ำลงในฤดูหนาว รวมถึงการลดการใช้แสงสว่าง มาตรการดังกล่าวทำให้เกิดการร้องเรียนของผู้ใช้สอยอาคารต่อสภาพอากาศในอาคารที่แย่ [4] ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการสำรวจโดยสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติ (National Institute of Occupational Safety and Health, NIOSH) ระหว่างปี 1978 ถึง 1985 ในอาคารสาธารณะ ซึ่งพบข้อร้องเรียนการเจ็บป่วยของผู้ใช้สอยอาคารที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการอาคารป่วย (Sick Building Syndrome, SBS) ที่มากที่สุดคือการระคายเคืองตาพบถึง 81 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนอาคารที่สำรวจ 356 อาคาร รองลงมาคือ คอแห้ง และปวดศีรษะ โดยสาเหตุหลักมาจากการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการอนุรักษ์พลังงานในยุคนั้นอันได้แก่ การลดหรือไม่นำอากาศสะอาดจากภายนอกเข้ามาเติมในอาคาร การพยายามทำให้กรอบอาคารมีอากาศรั่วไหลน้อยที่สุดจนเกิดคำศัพท์ ‘Tight building’ หรือ ‘อาคารทึบ’ การเปิดและปิดระบบระบายอากาศเพื่อให้มีระยะเวลาใช้งานน้อยกว่าเวลาการอยู่อาศัย และมาตรการอื่น ๆ ส่วนสาเหตุรองลงมาคือการปนเปื้อนของอากาศภายในอาคารเองจากแหล่งกำเกิดมลพิษที่อยู่ภายในอาคาร [5] 

สำหรับภาคธุรกิจหรือองค์กร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดคือ ค่าแรงคนทำงานถึง 57 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดการและดูแลอาคารคิดเป็นสัดส่วนเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยในจำนวนนี้มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ที่จ่ายเป็นค่าพลังงานของอาคาร [6] จึงเป็นข้อสังเกตที่ควรกลับมาทบทวนใหม่ว่าเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของอาคารควรให้ความสำคัญของเงินที่ต้องจ่ายในเรื่องใดจึงจะเกิดประโยชน์มากกว่ากัน มีงานวิจัยโดย Fisk and Rosenfeld [7] ประเมินมูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์จากการปรับปรุงคุณภาพอากาศในอาคารให้ดีขึ้น พบว่าธุรกิจในสหรัฐอเมริกาจะสามารถประหยัดทั้งเงินที่ต้องสูญเสียและเงินที่ได้เพิ่มจากการทำงานที่มีผลิตภาพมากขึ้น (Productivity) จาก 10 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 20 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเมื่อคิดจากการลดอัตราเจ็บป่วยของบุคลากรอันเนื่องมาจากอาการอาคารป่วย นอกจากนี้ธุรกิจยังได้ผลตอบแทนอีกทางจากผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นอันมาจากปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาการอาคารป่วย เช่น คนทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีสภาวะน่าสบายเชิงความร้อนและสภาพแสงที่เหมาะสม โดยคำนวณเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจาก 12 พันล้านดอลลาร์ เป็น 125 พันล้านดอลลาร์ 

การเพิ่มการระบายอากาศเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างหรือปรับปรุงคุณภาพอากาศในอาคารให้ดีขึ้น Fisk et al. [8] วิเคราะห์และหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการระบายอากาศกับความชุกของอาการอาคารป่วยของคนในอาคาร การลดอัตราการระบายอากาศจาก 10 เหลือ 5 ลิตรต่อวินาทีต่อคนจะทำให้ความชุกของการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเพิ่มอัตราการะบายอากาศจาก 10 เป็น 25 ลิตรต่อวินาทีต่อคนจะช่วยลดความชุกของการเจ็บป่วยลงได้ 29 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้การเพิ่มอัตราการระบายอากาศจาก 10 เป็น 20 ลิตรต่อวินาทีต่อคนสามารถเพิ่มความสามารถทางด้านการรู้คิด (Cognitive performance) จาก 62 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ [9] ทั้งนี้การควบคุมการระบายอากาศต้องเป็นไปทั้งในแง่ปริมาณอากาศสะอาดที่เพียงพอและการกระจายการไหลของอากาศที่มีประสิทธิภาพด้วย 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นการเพิ่มอัตราการระบายอากาศส่งผลทางบวกต่อสุขภาพและผลิตภาพของผู้ใช้สอยอาคาร อย่างไรก็ดีหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่องค์กร (ธุรกิจ) จำเป็นต้องจ่ายค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนระบบเช่นกัน มีการคำนวณเป็นมูลค่าเงินที่ต้องจ่ายกับมูลค่าที่ได้ผลตอบแทนกลับคืนให้กับธุรกิจ พบว่าค่าพลังงานของอาคารที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 40 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี แต่ถ้าอาคารใช้ระบบจัดการพลังงานของอาคารที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วค่าใช้จ่ายจะลงลดเหลือเพียง 1 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพบุคลากรเทียบเท่ากับมูลค่าการจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้น 6,500 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี [9]  

ผู้ที่สนใจต้องการทราบกลยุทธ์คำแนะนำในการจัดการคุณภาพอากาศในอาคารสามารถหาอ่านได้จากคู่มือแนะนำคุณภาพอากาศในอาคาร : แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับการออกแบบ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการอาคารเมื่ออยู่อาศัย (Indoor Air Quality Guide: Best Practices for Design, Construction and Commissioning) [10] จัดทำโดยสมาคมวิศวกรการทำความร้อน การทำความเย็น และ การปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers, ASHRAE) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่ตั้งมากว่า 100 ปีและมีสมาชิกทั่วโลก โดยในปี 2009 สมาคมได้เผยแพร่คู่มือแนะนำดังกล่าวที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพและองค์กรวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศในอาคาร ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารทั้งสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา และนักวิชาชีพสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง คู่มือแนะนำไม่ได้เพียงแค่กล่าวถึงการระบายอากาศเท่านั้นแต่ยังรวมถึงกลยุทธ์ในการจัดการคุณภาพอากาศในอาคารให้ประสบความสำเร็จและการแก้ไขหรือป้องกันปัญหาด้านอื่นด้วย เช่น กรณีความชื้นในอาคาร แหล่งกำเนิดมลพิษในอาคาร การฟอกอากาศ เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง
[1] มณีรัตน์ องค์วรรณดี และ กมลชัย ยงประพัฒน์. (2565). การจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคาร – รูปแบบการใช้เวลาภายในอาคารของคนไทยในเขตเมือง. วารสารสิ่งแวดล้อม, 26(2), 1-8.
[2] Nazaroff W. W. (2013). Four principles for achieving good indoor air quality. Indoor Air, 23(5), 353–356. https://doi.org/10.1111/ina.12062
[3] พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535. (2 เมษายน 2535). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 109 ตอน 1 หน้า 1-21. https://www.opsmoac.go.th/nongkhai-dwl-files-411391791877.
[4] The Government of the Hong Kong Special Administrative Region. (2019). Guidance notes for the management of indoor air quality in offices and public places. Indoor Air Quality Management Group. https://www.iaq.gov.hk/wp-content/uploads/2021/04/gn_officeandpublicplace_eng-2019.pdf
[5] Godish, T. (1995). Sick buildings: Definition, diagnosis and mitigation. CRC Press. 
[6] New York University. (2022). Major categories of expense. https://www.nyu.edu/about/news-publications/budget/operating-budget/major-categories-of-expense.html
[7] Fisk, W. J., & Rosenfeld, A. H. (1997). Estimates of Improved Productivity and Health from Better Indoor Environments. Indoor Air, 7(3), 158-172. https://doi.org/https://doi.org/10.1111/j.1600-0668.1997.t01-1-00002.x
[8] Fisk, W. J., Mirer, A. G., & Mendell, M. J. (2009). Quantitative relationship of sick building syndrome symptoms with ventilation rates. Indoor Air, 19(2), 159–165. https://doi.org/10.1111/j.1600-0668.2008.00575.x
[9] Allen, J. G. (2017). The 9 foundations of a healthy building. Harvard T.H. Chan School of Public Health. https://9foundations.forhealth.org/
[10] ASHRAE. (2009). Indoor air quality guide: best practices for design, construction and commissioning. The American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers.