การอ้างอิง: สุจิตรา วาสนาดำรงดี และ อรอุษา สุขสุมิตร. (2564). ยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียนด้วยแนว คิดปลอดขยะแบบองค์รวม: กรณีศึกษาโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ กรุงเทพมหานคร. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 3).
บทความ: ยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียนด้วยแนว คิดปลอดขยะแบบองค์รวม - กรณีศึกษาโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ กรุงเทพมหานคร
สุจิตรา วาสนาดำรงดี และ อรอุษา สุขสุมิตร
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1. บทนำ
ขยะมูลฝอยเป็นสิ่งเกิดควบคู่กับการบริโภค ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งเกิดขยะมาก ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะมูลฝอยอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะพื้นที่เมือง อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิถีการบริโภคของประชาชน ส่งผลให้มีการผลิตและใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงพลาสติกและกล่องโฟม รวมทั้งขยะบรรจุภัณฑ์จำนวนมากจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนใหญ่ยังขาดระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะและขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลดการเกิดขยะและการคัดแยกขยะที่ต้นทาง นำไปสู่ปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมและการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้องทั้งการเทกองและเผากลางแจ้ง รวมทั้งการเกิดไฟไหม้บ่อขยะในหลายพื้นที่ ดังเช่น เหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะครั้งใหญ่ที่ตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติและได้เห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เสนอโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2557 และในเวลาต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559–2564) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2559 แต่นโยบายของกระทรวงมหาดไทยมุ่งเน้นการเก็บขนและการสร้างเตาเผาขยะ และแม้จะมีแผนจังหวัดสะอาดที่ให้ อปท. ส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นระดับกิจกรรมรณรงค์มากกว่าการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 28.71 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2561 ร้อยละ 3) หรือประมาณ 78,665 ตัน/วัน อัตราการเกิดขยะมูลฝอยชุมชนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 1.18 กิโลกรัม/คน/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 1.15 กิโลกรัม/คน/วัน ในจำนวนนี้ เป็นขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 13,583 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ทั้งนี้ ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ถูกนำไปกำจัดโดยการฝังกลบที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดฉะเชิงเทรา แม้ว่าจะเป็นการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาลแต่กระบวนการเก็บขนและฝังกลบก็ยังสร้างความเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนในสองจังหวัดดังกล่าวและยังเป็นการจัดการขยะที่ไม่ยั่งยืน
ในแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ได้ระบุบทบาทหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องออกนโยบายให้ผู้บริหารโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกแห่งดำเนินการลดปริมาณการเกิด การคัดแยกขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และสร้างจิตสำนึกและวินัยให้กับเด็กและเยาวชน และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการลดและคัดแยกและนำกลับมาใช้ประโยชน์ ให้มีหลักสูตรการเรียน โดยสอดแทรกความรู้เรื่องการลด คัดแยกและการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในบทเรียนหรือการเรียนการสอน ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จึงได้ดำเนินโครงการยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียนด้วยแนวคิดปลอดขยะแบบองค์รวม: กรณีศึกษาโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ กรุงเทพมหานคร ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับการจัดการขยะของโรงเรียนระดับประถมศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานครและทำการทดลองการยกระดับการจัดการขยะด้วยแนวคิดปลอดขยะแบบองค์รวม (Zero-Waste under Whole School Approach) ซึ่งเป็นวิธีการที่คาดว่าจะช่วยสร้างจิตสำนึกและวินัยการลดและคัดแยกขยะให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขยายไปสู่บ้านและชุมชนได้
2. แนวคิดปลอดขยะแบบองค์รวม (Zero-Waste under Whole-School Approach)
แนวคิดปลอดขยะ (Zero Waste) เป็นแนวคิดการจัดการอย่างยั่งยืน มีจุดประสงค์ที่จะลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัดด้วยการฝังกลบหรือเผาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แนวคิดปลอดขยะมุ่งเน้นให้แหล่งกำเนิดขยะพยายามป้องกันหรือลดการสร้างขยะให้ได้มากที่สุดเป็นลำดับแรกตามแนวคิดลำดับขั้นของการจัดการขยะ (Waste Management Hierarchy) (รูปที่ 1) เช่น การใช้ถุงใช้ซ้ำได้แทนการรับถุงพลาสติกใบใหม่จากร้านค้า เป็นต้น แต่หากไม่สามารถป้องกันได้ ควรนำของที่ได้มาใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิล หากเป็นขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ให้นำมาเลี้ยงสัตว์หรือทำปุ๋ยหมัก หากยังมีส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้ สามารถหาช่องทางในการแปลงเป็นพลังงานได้ เช่น ก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ ไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้ว การส่งเผาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนให้โรงผลิตปูนซีเมนต์หรือขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derive Fuel: RDF) เป็นต้น หากทุกองค์กร ชุมชนและครัวเรือนช่วยกันลดและแยกขยะตามแนวคิดนี้จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเกิดจากปัญหาขยะมูลฝอยและลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งยังช่วยลดภาวะโลกร้อนจากขยะอาหาร
โรงเรียนนับว่าเป็นองค์กรที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะบ่มเพาะและปลูกฝังจิตสำนึกของเยาวชนให้ใส่ใจเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่พลเมืองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดการพอกพูนของภูเขาขยะที่ปัจจุบันสูงเท่าตึก 10 ชั้น และยังช่วยลดปัญหาขยะในทะเลที่จะส่งผลต่อระบบนิเวศและชีวิตของสัตว์ทะเลได้อีกด้วย แนวคิดปลอดขยะจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวคิดสากล เป็นองค์ความรู้สำคัญที่พลเมืองแห่งอนาคตต้องตระหนักรู้ เพราะฉะนั้น ควรเริ่มต้นตั้งแต่ในโรงเรียนซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้และปลูกฝังเจตคติที่ดีต่อเยาวชน
รูปที่ 1 แนวคิดลำดับขั้นของการจัดการขยะ (Waste Management Hierarchy)
ที่มา: พัฒนาโดยผู้เขียนร่วมกับทีมโครงการ Chula Zero Waste
การผสานแนวคิดปลอดขยะ (Zero-Waste) ภายใต้ร่มของหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) ที่ยึดหลักการเรียนการสอนแบบองค์รวม (Whole-School Approach) นำมาสู่การพัฒนาแนวคิดปลอดขยะแบบองค์รวมสำหรับการยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียน ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ เรียกสั้น ๆ ว่า “4ป.” ได้แก่
1. ประกาศนโยบายและแผนงาน เช่น ประกาศมาตรการลดขยะอย่างชัดเจน อาทิ งดแจกถุงพลาสติก รวมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานในเรื่องการจัดการขยะ
2. ปรับการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกันทั้งในและนอกห้องเรียน เช่น สอดแทรกแนวคิดปลอดขยะในวิชาต่าง ๆ ทุกระดับชั้นอย่างสอดรับกัน และสามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้
3. เปลี่ยนสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการสร้างพฤติกรรมและบ่มเพาะนิสัยในการลดการสร้างขยะ คัดแยกขยะ รวมถึงจัดการขยะบางประเภท เช่น การปรับปรุงตู้กดน้ำดื่มสร้างความมั่นใจให้เด็กและบุคลากรพกกระบอกน้ำมาเติมน้ำแทนการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก การจัดระบบถังขยะแบบแยกประเภทโดยติดป้ายและใช้สีถังขยะตามมาตรฐานเพื่อให้มีการสื่อสารที่ตรงกันและเข้าใจง่าย เป็นต้น
4. ปูทางไปสู่บ้านและชุมชน เช่น การจัดกิจกรรมธนาคารขยะหรือตลาดนัดขยะรีไซเคิลที่เปิดรับขยะรีไซเคิลจากบ้าน ทำให้เด็กนักเรียนได้มีการสื่อสารและกระตุ้นให้ผู้ปกครองแยกขยะที่บ้านด้วย รวมทั้งการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ลดการสร้างขยะพลาสติก โดยโรงเรียนทำกิจกรรมเป็นตัวอย่างให้กับผู้ปกครอง (ดูรูปที่ 2)
กระบวนการยกระดับการจัดการขยะในโรงเรียนจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริหาร คุณครู และนักเรียน โดยเริ่มจากการสำรวจสภาพปัจจุบันของโรงเรียนในการจัดการขยะด้วยแบบประเมินโรงเรียนปลอดขยะ (Zero-Waste School) 13 ข้อ (ภาคผนวก) ซึ่งช่วยให้โรงเรียนมีการทบทวนการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดปลอดขยะแบบองค์รวมและช่วยให้โรงเรียนมีการวางแผนดำเนินงานได้ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน และสามารถนำแบบประเมินมาใช้ในขั้นตอนการติดตามประเมินผลการยกระดับของโรงเรียน
รูปที่ 2 กรอบแนวคิดโรงเรียนปลอดขยะแบบองค์รวม
ที่มา: พัฒนาโดยผู้เขียนร่วมกับทีมโครงการ Chula Zero Waste
3. กรณีศึกษา
ข้อมูลพื้นฐาน: โรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ ตั้งอยู่ในเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร มีบริเวณด้านหลังของโรงเรียนติดกับคลองราชพฤกษ์ มีนักเรียนจำนวน 104 คน ผู้บริหารและครูจำนวน 8 คน เจ้าหน้าที่จำนวน 7 คน โดยปกติขยะเหลือทิ้ง รวมทั้งกิ่งไม้ ใบไม้ และเศษอาหารหลังครัวจะนำส่งกรุงเทพมหานครไปกำจัดทั้งหมดและไม่มีการเก็บข้อมูลปริมาณขยะที่ส่งกำจัด เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน (แม่บ้าน) มีการแยกขวดพลาสติก PET และกระดาษบางส่วน เพื่อนำไปขายเป็นขยะรีไซเคิล เศษอาหารปรุงสุก ส่งให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงสัตว์และทางโรงเรียนมีพื้นที่ปลูกผักสวนครัวและสวนส้มบางมด
3.1 การประเมินการจัดการขยะของโรงเรียน (ก่อนการยกระดับ)
• นโยบายและกลไกการทำงาน
โรงเรียนไม่มีนโยบาย แผนงานและงบประมาณสำหรับการจัดการขยะเป็นการเฉพาะ แต่มีกิจกรรมตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร
• การเรียนการสอน
ไม่มีการวางแผนการบูรณาการหรือสอดแทรกเรื่องการจัดการขยะในวิชาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบทุกระดับชั้น มีการสอดแทรกโดยเน้นเรื่องความสะอาดมากกว่าการจัดการขยะ มีกิจกรรมเก็บขยะตอนเช้า ตามหลัก 5ส ของกรุงเทพมหานคร
• สภาพแวดล้อมในโรงเรียน
มีการดูแลความสะอาดของตู้กดน้ำและคุณภาพน้ำดื่มอย่างสม่ำเสมอ โดยสำนักงานเขตมาตรวจคุณภาพน้ำดื่ม ภาคเรียนละ 1 ครั้ง และนักเรียนพกแก้วน้ำ หรือกระบอกน้ำส่วนตัวมาเติมน้ำจากตู้กดน้ำแทนการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก มีมาตรการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ร้านค้าโรงเรียนไม่แจกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ครูและนักเรียนพกถุงผ้า มีการรณรงค์ทานข้าวให้หมดจานอย่างสม่ำเสมอ มีถังแยกประเภท 1 ชุด (ใช้ในการสอน) ไม่มีป้ายบอกการแยกทิ้งที่ชัดเจน ไม่มีระบบแยกเก็บและไม่มีปลายทางรองรับขยะที่มีการคัดแยกและรวบรวม มีการดำเนินมาตรการลดขยะและแยกขยะในงานประชุมและงานกิจกรรมพิเศษของโรงเรียน เช่น ให้นักเรียนพกชามช้อนมาจากบ้านในงานวันเด็ก แต่ยังมีการใช้ถ้วยโฟมอยู่บ้าง
• เชื่อมโยงกับบ้านและชุมชน
มีการสื่อสารให้นักเรียนและมีเอกสารประชาสัมพันธ์ (วารสาร) ส่งถึงผู้ปกครองแต่ยังมิได้มีการสื่อสารเรื่องการลดและคัดแยกขยะกับผู้ปกครอง มีการประสานงานกับสำนักงานเขตเพื่อมารับกล่องนม เดือนละ 1 ครั้ง มีส่วนร่วมกับสำนักงานเขตและชุมชนในกิจกรรมต่างๆ
3.2 ผลการสำรวจองค์ประกอบขยะ
นอกจากการสำรวจ สอบถามการจัดการขยะของโรงเรียนด้วยแบบประเมินเบื้องต้น คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาองค์ประกอบขยะก่อนเริ่มดำเนินการ พบว่า มีขยะประเภทพลาสติกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณขยะเหลือทิ้งทั้งหมด แบ่งเป็น Multi-layer ซึ่งรวมกล่อง UHT ร้อยละ 53 ของปริมาณ, ขยะพลาสติก LDPE (ถุงพลาสติกและซองไอศกรีม) ร้อยละ 36, PET ร้อยละ 9, PP ร้อยละ 2 นอกจากพลาสติก ยังพบใบไม้แห้งคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณขยะเหลือทิ้งทั้งหมด พบเศษอาหารและกระดาษ ในปริมาณเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 8 ที่เหลือเป็นขยะจำพวกเศษผ้า แก้ว โลหะ/เหล็ก อุปกรณ์การเรียน และไม้ไอศกรีม ปริมาณเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 2 ของทั้งหมด แสดงดังรูปที่ 3 คณะผู้วิจัยได้นำข้อมูลจากการสำรวจองค์ประกอบขยะมาจัดทำข้อเสนอมาตรการหรือโครงการในการลดขยะที่พบ อาทิ การสร้างโรงปุ๋ยหมักเพื่อนำใบไม้แห้งมาหมักปุ๋ยร่วมกับเศษอาหารหรือเศษผักผลไม้จากโรงครัว การปรับเปลี่ยนถ้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นถ้วยพลาสติกที่ใช้ซ้ำได้ เป็นต้น
รูปที่ 3 องค์ประกอบขยะในโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ เดือนกันยายน 2563 (ก่อนเริ่มโครงการยกระดับ)
3.3 กระบวนการยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียนด้วยแนวคิดปลอดขยะแบบองค์รวม
หลังจากโรงเรียนประสงค์เข้าร่วมโครงการ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มอบหมายให้มีอาจารย์ 1 ท่านเป็นผู้ประสานงานกับทางโครงการ และประกาศตั้งคณะทำงาน Green Team ที่ประกอบไปด้วยฝ่ายผู้บริหาร ผู้แทนอาจารย์ และผู้แทนนักเรียนที่สนใจ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นโรงเรียนปลอดขยะอย่างแท้จริง โรงเรียนจึงมีการวางแผนดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน พร้อมการติดตามผลที่เป็นรูปธรรมร่วมกับทางโครงการ มีรายละเอียดดังนี้
• ประกาศนโยบายและแผนงาน
1) ตั้งคณะทำงานที่มีทั้งผู้บริหาร ครู และนักเรียนร่วมมือกันเป็นภาคี ร่วมกันกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงาน
2) วัดปริมาณขยะก่อนดำเนินการ และตั้งเป้าหมายให้ขยะเหลือทิ้งที่ต้องส่งไปกำจัดลดลง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และให้นักเรียนทำแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการลดและแยกขยะ
• ปรับการเรียนการสอน (ใน/นอกห้องเรียน)
หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงระบบถังขยะแบบแยกประเภท คุณครูได้มีการบอกกล่าวให้นักเรียนแยกขยะและทิ้งให้ถูกถัง คุณครูระดับชั้นอนุบาลได้นำหนังสือนิทาน “อะไรอยู่ในทะเล” ซึ่งเป็นหนังสือสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาขยะทะเลไปเล่าให้เด็กนักเรียนชั้นอนุบาลฟัง เพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยทางโครงการได้จัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักเรื่องปัญหาขยะในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรมให้มีการลดและการแยกขยะ รวมทั้งการทานอาหารให้หมดเพื่อลดขยะอาหาร โดยทำกิจกรรมในชั่วโมงชมรมให้แก่นักเรียนช่วงบ่ายวันศุกร์ เดือนละ 1 ครั้ง โดยคุณครูได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือเรียนรู้เนื้อหากิจกรรมไปพร้อมกันเพื่อให้สามารถนำไปทำกิจกรรมได้เองในภายหลัง มีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 “สำรวจขยะในถัง” เพื่อให้นักเรียนทราบถึงปัญหาขยะของตนเอง โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าร่วมในกิจกรรมสำรวจองค์ประกอบขยะ ครั้งที่ 2 ที่คณะผู้วิจัยต้องดำเนินการอยู่แล้วโดยแบ่งเป็นทีมรับผิดชอบแยกขยะแต่ละชนิด การทิ้งกล่องนมที่ทานไม่หมดในถังปะปนกับเศษอาหารประเภทอื่น ๆ ส่งกลิ่นเหม็นในระหว่างการทำกิจกรรม คณะผู้วิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า มันเป็นผลจากการบริโภคและการทิ้งขยะโดยไม่คัดแยกของนักเรียนซึ่งช่วยให้เด็ก ๆ มีความตระหนักในการบริโภคและจัดการขยะมากขึ้น นอกจากนี้ ได้มีการสอนคำนวณการชั่งน้ำหนักและบันทึกข้อมูลด้วยซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนได้
รูปที่ 4 นักเรียนร่วมสำรวจองค์ประกอบขยะในการสำรวจครั้งที่ 2 ของโครงการ
กิจกรรมที่ 2 “กิจกรรมการแยกขยะ 4 ฐาน 4 ถัง” เพื่อให้นักเรียนรู้จักประเภทและปลายทางของขยะและสีมาตรฐานของถังขยะ 4 ชนิด เพื่อให้มีการแยกขยะได้ถูกต้อง ได้แก่ ขยะอินทรีย์ (ถังขยะสีเขียว) ขยะรีไซเคิล (ถังขยะสีเหลือง) ขยะทั่วไป (ถังขยะสีฟ้า) และขยะอันตราย (ถังขยะสีส้ม)
รูปที่ 5 นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมการแยกขยะ 4 ฐาน 4 ถัง
กิจกรรมที่ 3 “ขยะกล่องนม” เพื่อให้นักเรียนรู้จักวิธีการตัด-ล้างกล่องนม และการนำกล่องนมไปใช้ประโยชน์ โดยในช่วงเวลาดื่มนมของโรงเรียน ได้ปรับวิธีการจากการพับกล่องนมโดยไม่ล้างซึ่งก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น บูดเน่าจากคราบนมที่เหลือก้นกล่องมาเป็นการใช้กรรไกรตัดปากกล่องแล้วล้างกล่องแล้วคว่ำกล่องให้แห้ง นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนแกะล้างเก็บกล่องนมที่ดื่มที่บ้านด้วยเพื่อนำมาส่งให้กับโรงเรียนร่วมกับกล่องนมโรงเรียน
รูปที่ 6 นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมขยะกล่องนม
กิจกรรมที่ 4 “อะไรอยู่ในทะเล” กิจกรรมเล่านิทานจากหนังสือที่สร้างความตระหนักเรื่องปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลที่มีต้นทางมาจากตนเอง โดยเด็ก ๆ จะช่วยสัตว์ทะเลได้ หากสามารถลดการสร้างขยะ คัดแยกขยะที่ต้นทางและช่วยเก็บขยะที่พบตามถนนหรือชายหาด เป็นต้น
รูปที่ 7 นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมอะไรอยู่ในทะเล
กิจกรรมที่ 5 “ขยะอาหารกับโลกร้อน” ให้เด็กเล็ก (ป.1-ป.3) วาดรูปเกี่ยวกับอาหารที่ชอบทานแล้วเชื่อมโยงปัญหาเศษอาหารกับการเกิดภาวะโลกร้อนซึ่งนักเรียนมีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยการตักอาหารแต่พอดี รับประทานข้าวให้หมดจาน ปรับนิสัยการเลือกรับประทาน ส่วนเด็กโตให้ทำสื่อรณรงค์เรื่องขยะอาหารแล้วสื่อสารกับเพื่อน ๆ
รูปที่ 8 นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมขยะอาหารกับโลกร้อน
กิจกรรมที่ 6 “การแข่งขันเก็บขยะรอบโรงเรียน” แบ่งกลุ่มนักเรียน แจกอุปกรณ์เก็บขยะ ได้แก่ ถุงมือ ไม้คีบขยะและถุงขยะ แล้วจับเวลาให้นักเรียนแข่งกันเก็บขยะรอบบริเวณโรงเรียนแล้วให้รางวัลกับกลุ่มที่สามารถเก็บขยะได้มากที่สุด จากนั้น จึงมีการสรุปกิจกรรมโดยถามถึงประเภทขยะที่พบมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก และผู้นำกิจกรรมได้อธิบายถึงผลกระทบของขยะพลาสติกที่สามารถสลายและแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกแล้วปนเปื้อนในอาหารที่เรารับประทานได้ นั่นคือ หากเราไม่รับผิดชอบกับขยะ ขยะก็จะย้อนกลับมาทำลายพวกเราในท้ายที่สุด
รูปที่ 9 นักเรียนเก็บขยะรอบโรงเรียน
กิจกรรมที่ 7 “แยกให้ถูก ทิ้งให้เป็น” ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มไปสำรวจการทิ้งขยะของเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในห้องเรียนต่าง ๆ แล้วนำสิ่งที่พบมาระดมสมองหาแนวทางการลดและคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ให้นักเรียนได้เป็นผู้ถ่ายทอดวิธีการลดและแยกขยะที่ถูกต้องให้แก่ผู้อื่น ฝึกทักษะในการคิด การแสดงออกและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
รูปที่ 10 นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมแยกให้ถูก ทิ้งให้เป็น
• เปลี่ยนสภาพแวดล้อมในโรงเรียน
ด้วยโรงเรียนเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและเป็นโรงเรียนขนาดเล็กจึงได้รับงบประมาณค่อนข้างจำกัดในการดำเนินงาน โครงการจึงได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์บางส่วนเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านการจัดการขยะของโรงเรียน ได้แก่
1) การปรับปรุงถังขยะให้มีความชัดเจน มีถังรองรับเศษอาหารในบางจุดที่มีการรับประทานอาหารและทิ้งเศษอาหาร
2) กำหนดจุดรับขยะรีไซเคิลที่ชัดเจน ทั้งบริเวณจุดพักขยะ บนอาคารเรียน และในห้องเรียน
3) มีระบบจัดการขยะอินทรีย์ โดยสร้างโรงหมักปุ๋ยขนาดเล็กด้านหลังของโรงเรียน รองรับเศษผัก เปลือกผลไม้จากการประกอบอาหารและใบไม้แห้งที่เจ้าหน้าที่โรงเรียนเก็บกวาด โดยนักวิจัยได้สอนการทำปุ๋ยหมักอย่างง่ายให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินการได้เอง
4) ปรับปรุงดูแลรักษาตู้กดน้ำให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอและส่งเสริมให้นักเรียนพกกระบอกน้ำหรือแก้วน้ำมาเติมน้ำดื่ม ลดการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด
5) ยกเลิกการใช้แก้วน้ำพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในการใส่น้ำหวานจำหน่ายให้เด็กนักเรียน โดยเปลี่ยนเป็นแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ซ้ำได้แทน โดยครูให้นักเรียนจัดเวรดูแลการเก็บคืนถ้วย
6) ปรับเปลี่ยนจากการพับกล่องนมโรงเรียนมาเป็นการจัดระบบแกะ ล้าง เก็บเพื่อช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นของกล่องนมกรณีที่เด็กพับกล่องไม่เรียบร้อยหรือดื่มนมไม่หมดกล่อง
• ปูทางไปสู่บ้านและชุมชน
โรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์รณรงค์เรื่องการลดและคัดแยกขยะที่ดำเนินการร่วมกับโครงการผ่านจดหมายข่าวไปถึงผู้ปกครอง
3.4 ผลการดำเนินงาน
3.4.1 ผลการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงเรียน
1) ถังขยะบริเวณชั้น 1 ของโรงเรียน โครงการได้ตั้งถังขยะรีไซเคิล และเศษอาหารเพิ่มที่จุดพักขยะ และทำการติดป้ายสติ๊กเกอร์หน้าถังขยะให้มีความชัดเจนมากขึ้น
รูปที่ 11 ก่อนและหลังการปรับปรุงถังขยะบริเวณชั้น 1 ของโรงเรียน
2) ถังขยะในห้องเรียน โครงการได้ตั้งถังขยะประเภทรีไซเคิล อุปกรณ์การเรียน กระดาษ และทำการติดป้ายสติ๊กเกอร์หน้าถังขยะ
รูปที่ 12 ก่อนและหลังการปรังปรุงถังขยะในห้องเรียน
3) โรงปุ๋ยหมัก โครงการได้ปรับพื้นที่ว่างให้เป็นบริเวณโรงปุ๋ยหมักจากเศษอาหารและใบไม้
รูปที่ 13 ก่อนและหลังการทำโรงปุ๋ยหมัก
4) จุดตัด-ล้างกล่องนม ทางโครงการติดตั้งจุดตัด-ล้างกล่องนม บริเวณใกล้จุดซักล้างของโรงเรียน
รูปที่ 14 ก่อนและหลังการตั้งจุดตัด-ล้างกล่องนม
3.4.2 ผลการสำรวจด้วยแบบสอบถาม
คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการลดและคัดแยกขยะของนักเรียนโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ จำนวน 49 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ ร้อยละ 53 ของนักเรียนทั้งหมด หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความตระหนักที่ทางโครงการจัดขึ้น โดยกิจกรรมที่นักเรียนประทับใจมากที่สุด คือ แยกขยะ 4 ฐาน 4 ถัง เพราะ ได้ความรู้ในการแยกขยะ ช่วยลดโลกร้อน แบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่เก็บขยะ และสนุกสนาน
ในด้านพฤติกรรมการลดและแยกขยะ ผลการสำรวจด้วยแบบสอบถาม พบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมการลดและแยกขยะมากขึ้น ดังแสดงในตารางที่ 1 ซี่งนักเรียนจะปฏิบัติในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน อาจเนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลดและแยกขยะ อีกทั้ง ยังเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ปกครองอันเป็นจุดที่โรงเรียนต้องทำกิจกรรมสื่อสารและรณรงค์กับผู้ปกครองมากขึ้น
ตารางที่ 1 ผลการสำรวจนักเรียนในด้านพฤติกรรมการลดและแยกขยะ
ในด้านการได้รับความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย พบว่า โรงเรียนเป็นสถาบันหลักในการสอนให้นักเรียนลดและแยกขยะ แต่ในครอบครัวบางส่วนไม่มีการสอนเลยหรือมีการสอนอยู่บ้างในระดับปานกลาง ดังแสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ผลการสำรวจนักเรียนในด้านการได้รับความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย
3.4.3 ผลการสังเกตพฤติกรรมนักเรียน
จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในโรงเรียนและการสำรวจถังขยะ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่สามารถทิ้งขยะรีไซเคิลในห้องเรียนได้ถูกต้องมากกว่าในพื้นที่ส่วนกลาง และนักเรียนพกกระบอกน้ำมาโรงเรียนเกือบทุกคน และมีเศษอาหารและนมเหลือน้อยลง ทิ้งขยะลงถังมากขึ้น
3.4.4 ผลเชิงปริมาณขยะ
ผลจากการดำเนินโครงการยกระดับการจัดการขยะในโรงเรียนด้วยแนวคิดปลอดขยะแบบองค์รวม ในการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรก สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องส่งกทม.ไปกำจัด จากการประเมินปริมาณขยะเหลือทิ้ง ด้วยการวัดปริมาตรของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโรงเรียน พบว่า ก่อนเริ่มโครงการฯ ปริมาณขยะเฉลี่ย 5 วันอยู่ที่ 89.75 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ (เดือนสิงหาคม 2563) ภายหลังดำเนินโครงการฯ ปริมาณขยะเฉลี่ย 5 วันอยู่ที่ 52.5 กิโลกรัมในเดือนมีนาคม 2564 โดยมีค่าเฉลี่ยขยะเหลือทิ้งในช่วง 4 เดือนอยู่ที่ 63 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ลดลงคิดเป็นร้อยละ 29.8 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนดำเนินโครงการ ดังแสดงในรูปที่ 15
รูปที่ 15 ปริมาณขยะเหลือทิ้งในรอบ 5 วันในแต่ละเดือน
3.5 บทเรียน ปัญหาอุปสรรคที่พบ
แม้การดำเนินโครงการยกระดับฯ ได้ช่วยสร้างความตระหนักให้กับครูและนักเรียนต่อประเด็นปัญหาขยะและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ปริมาณขยะเหลือทิ้งที่ต้องส่งไปกำจัดลดลง แต่คณะผู้วิจัยพบปัญหาอุปสรรคในเรื่องของการมีส่วนร่วมและความกระตือรือร้นของครูในโรงเรียนยังไม่มากพอ แม้คณะผู้วิจัยจะได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับนักเรียนโดยที่คุณครูเป็นผู้สังเกตการณ์และสนับสนุน แต่ก็พบว่ายังไม่สามารถผลักดันให้คุณครูปรับเปลี่ยนวิถีการเรียนการสอนเพื่อให้สอดแทรกแนวคิดปลอดขยะในวิชาต่าง ๆ ทุกระดับชั้นอย่างสอดรับกันตามแนวคิดที่นำเสนอ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังชินกับการปฏิบัติงานแบบเดิม ๆ จึงมิได้มีการดูแลการจัดเก็บขยะจากถังขยะแยกประเภทที่ได้ดำเนินการ รวมทั้งการนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมักมิได้มีความต่อเนื่องและด้วยปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 มีการปิดเรียนหลายครั้ง ทำให้การจัดกิจกรรมในชั่วโมงชมรมไม่ต่อเนื่อง และไม่สามารถจัดกิจกรรมทัศนศึกษาได้ จึงอาจสร้างความตระหนักให้แก่นักเรียนได้ไม่มากพอและต่อเนื่อง
3.6 บทสรุปและข้อเสนอแนะ
จากปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะมูลฝอยอย่างรวดเร็วนั้น การปลูกจิตสำนึกในการลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง การคัดแยกขยะ และการนำกลับมาใช้ประโยชน์ เป็นพื้นฐานที่จำเป็นของประชาชน และจะได้ผลมากที่สุดหากสามารถสร้างจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก โรงเรียนจึงเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการปลูกจิตสำนึกในเรื่องนี้ ซึ่งจากกรณีศึกษา ในระยะเวลาดำ