การอ้างอิง: มนตรี ผลสินธ์ และ เพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์. (2564). แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำกับความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 2).
บทความ: แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำกับความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
มนตรี ผลสินธ์ และ เพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1. บทนำ
น้ำนอกจากจะเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้ว ยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อปัจจัยด้านการผลิตที่สำคัญในหลายภาคส่วน เช่น ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมไปถึงการรักษาระบบนิเวศ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถสรุปได้ว่าน้ำนั้นนับเป็นปัจจัยหลักต่อการพัฒนาประเทศ (Grey and Sadoff, 2007; Global Water Partnership, 2010) นอกเหนือไปจากการให้ความสำคัญกับปัญหาของทรัพยากรน้ำที่มีปริมาณลดน้อยลงแล้ว ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัญหาดังกล่าวนี้มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (สุจริต คูณธนกุลวงศ์ และคณะ, 2556) การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) นั้น นับเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศ เนื่องมาจากทรัพยากรน้ำในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หากแต่ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวนั้น พบว่า การขาดการวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีส่งผลกระทบที่สำคัญอย่างยิ่งต่อวิกฤติปัญหาคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรม รวมไปถึงความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ
โดยทั่วไปแล้วนั้น ปัญหาคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมในพื้นที่ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นมักเกิดจากปัจจัยหลัก คือ การปล่อยน้ำเสียปริมาณมากที่เกิดจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชนอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและแรงงานในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ นอกจากนั้นแล้วปัญหาคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมยังอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นได้จากปัจจัยร่วมที่สำคัญ เช่น การรุกล้ำของน้ำทะเล การเกิดภัยพิบัติอย่างเฉียบพลัน รวมไปถึงการแปรผันของปริมาณฝน อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำด้านกายภาพและเคมี เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเป็นกรด-ด่าง อัตราการระเหยของน้ำ และปริมาณตะกอนแขวนลอย (ศิริรัตน์ สังขรักษ์ และคณะ, 2563) นอกจากนั้นแล้ว Chaowiwat และ Likitdecharote (2009) ยังพบว่าฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้นนั้นนอกเหนือจากจะส่งผลกระทบต่อการระเหยของน้ำสู่ชั้นบรรยากาศโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำอีกด้วย
3. สาเหตุและแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมการลงทุน พัฒนาพื้นที่ให้มีความเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพให้เป็นกิจการที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทัดเทียมนานาประเทศ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 นั้น ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าการพัฒนานี้จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่จากจำนวนประชากรประมาณ 4.0 ล้านคน ใน พ.ศ. 2560 เป็นจำนวนประชากรทั้งสิ้น 6.0 ล้านคน ใน พ.ศ. 2580 ด้วยเหตุนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2561) จึงได้คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรนี้ จะส่งผลให้เกิดการปล่อยน้ำเสียชุมชนจากพื้นที่ EEC ออกสู่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 614.4 ล้านลูกบาศก์เมตร (รูปที่ 1) ซึ่งมีค่าสูงกว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของน้ำเสียชุมชนในอัตราปกติถึง 269.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ความสามารถในการบำบัดน้ำเสียของพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีปริมาณจำกัดเป็นอย่างมาก ข้อมูลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกนี้จะส่งผลให้เกิดน้ำเสียชุมชนที่ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อไปยังการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำดังกล่าวของประชาชนในพื้นที่ ทั้งเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการประกอบเกษตรกรรม
4. การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
การศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำของแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อันประกอบไปด้วย แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำประแสร์ และแม่น้ำระยองนี้ ดำเนินการโดยการประเมินค่าดัชนีคุณภาพน้ำผิวดิน (Water Quality Index: WQI) จากคะแนนรวมของดัชนีคุณภาพน้ำ 5 พารามิเตอร์ ตามเกณฑ์ของสำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (รูปที่ 2) ได้แก่ 1) ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen: DO) 2) ปริมาณความสกปรกในรูปของสารอินทรีย์ (Biochemical Oxygen Demand: BOD) 3) การปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (Total Coliform Bacteria: TCB) 4) การปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (Fecal Coliform Bacteria: FCB) และ 5) แอมโมเนีย (NH3-N) โดยปริมาณออกซิเจนละลายน้ำนี้เป็นดัชนีที่ถูกใช้เพื่อบ่งชี้ถึงความเหมาะสมในการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำทั่วไป ในขณะที่ดัชนีคุณภาพน้ำตัวอื่น ๆ นั้นถูกใช้เป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงระดับความสกปรกของแหล่งน้ำ ซึ่งมีที่มาจากน้ำเสียของชุมชน ภาค อุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม เป็นหลัก
รูปที่ 2 โปรแกรมแสดงการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพน้ำผิวดิน (WQI) ของกรมควบคุมมลพิษ
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ (มปป)
ผลการประเมินค่าดัชนีคุณภาพน้ำผิวดินของแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทั้ง 3 สาย ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ระหว่าง พ.ศ. 2558–2562 พบว่าคุณภาพน้ำโดยส่วนใหญ่จัดอยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพน้ำของแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำระยองอยู่ในเกณฑ์คุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน พบว่าคุณภาพน้ำของแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำระยอง จัดเป็นแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 4 ส่วนแม่น้ำประแสร์นั้นมีดัชนีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับพอใช้ถึงเสื่อมโทรม เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน พบว่าจัดเป็นแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3-4 (ตารางที่ 1) ทั้งนี้การแบ่งประเภทของแหล่งน้ำผิวดินตามการใช้ประโยชน์ของประเภทแหล่งน้ำ ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (2535) โดยเฉพาะแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 และ 4 มีรายละเอียดดังนี้ แหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 คือ แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภทและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน และใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร ส่วนแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 4 นั้น คือ แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภทและสามารถเป็นประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน และใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรม
ผลการประเมินค่าดัชนีคุณภาพน้ำผิวดินของแม่น้ำสายหลักทั้ง 3 สายนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คุณภาพน้ำของแม่น้ำทั้ง 3 สายนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพตามธรรมชาติ เมื่อพิจารณาถึงดัชนีคุณภาพน้ำแต่ละพารามิเตอร์ พบว่า โดยภาพรวมแล้วดัชนีคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์คุณภาพต่ำและก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ประกอบไปด้วย DO, BOD และ NH3-N ทั้งนี้การปนเปื้อนของแหล่งน้ำด้วย BOD และ NH3-N นี้ ทำให้สามารถระบุแหล่งที่มาของการปนเปื้อนได้ว่าอาจจะเกิดจากน้ำเสียชุมชนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และการประกอบอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ตารางที่ 1 ค่าดัชนีคุณภาพน้ำผิวดิน (WQI) ของแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ EEC ระหว่าง พ.ศ. 2558–2562
หมายเหตุ: ค่า WQI 91-100 คุณภาพน้ำดีมาก ค่า WQI 71-90 คุณภาพน้ำดี ค่า WQI 61-70 คุณภาพน้ำพอใช้
ค่า WQI 31-60 คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ค่า WQI 0-30 คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก
สำหรับการประเมินความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ดำเนินการโดยการนำค่าดัชนีคุณภาพน้ำผิวดิน (WQI) รายลุ่มน้ำมาปรับเทียบให้เป็นรายจังหวัด แล้วจึงจัดแบ่งตามเกณ์คุณภาพน้ำตามค่าดัชนีคุณภาพน้ำผิวดิน (WQI) ให้เป็น 5 ระดับ เช่นเดียวกันกับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ผลการประเมินความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม รายจังหวัด (ตารางที่ 2) นั้น แสดงให้เห็นว่าความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในด้านคุณภาพน้ำของจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดระยองนั้น มีค่าอยู่ในระดับเกณฑ์คุณภาพน้ำ ระดับที่ 4 หรือสามารถจัดได้ว่าเป็นระดับที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมทั้ง 2 พื้นที่
ตารางที่ 2 ค่าดัชนีคุณภาพน้ำผิวดิน (WQI) และค่าคะแนนการประเมินความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม รายจังหวัด ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำของแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ EEC ระหว่าง พ.ศ. 2558–2562
5. บทสรุป
ผลการประเมินการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและการประเมินความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดระยองนั้น กำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำซึ่งอาจมีสาเหตุหลักมาจากการปล่อยน้ำเสียชุมชนจากกิจกรรมของมนุษย์และการประกอบอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำสายหลักทั้ง 3 สายดังกล่าว เมื่อประกอบกับการคาดการณ์ต่อการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปล่อยน้ำเสียชุมชนเพิ่มมากขึ้นแล้ว จึงคาดการณ์ได้ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำและความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำในพื้นที่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์จึงควรได้รับการบำบัดก่อนถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ นอกจากนั้นแล้วยังควรเพิ่มขีดความสามารถในการเก็บรวบรวม รองรับและบำบัดน้ำเสียชุมชนของพื้นที่ให้มากขึ้น พร้อมทั้งมีแผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำของแม่น้ำสายหลักและมีการควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดที่มิได้ผ่านการบำบัดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อลดระดับความวิกฤติของปัญหาคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมที่อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
กิตติกรรมประกาศ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำในภาวะภัยแล้งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในส่วนของกิจกรรมย่อยที่ 2 “การศึกษาผลกระทบของภัยแล้งต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ” ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ส่งเสริม ววน.) ปีงบประมาณ 2564 (CU_FRB640001_01_21_6)
เอกสารอ้างอิง
Chaowiwat, W., Likitdecharote, K. 2009. Effect of climate change on potential evapotranspiration case study: Lower Chaopraya basin. Proceeding of the 1 NPRU Academic Conference: 75-83.
Global Water Partnership. 2010. Water security for development: Insights from African partnerships in action. GWP, Stockholm, Sweden.
Grey, D. Sadoff, C. 2007. Sink or swim? Water security for growth and development. Water Policy, 9(6): 545–571.
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2559. ค่าคะแนนรวมของคุณภาพน้ำ 5 พารามิเตอร์. http://iwis.pcd.go.th/module/wqi_calculate/wqi.pdf [24 กุมภาพันธ์ 2564]
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2561. (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, การประชุมแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111, ตอนที่ 16 ง (24 กุมภาพันธ์ 2537): 234.
ศิริรัตน์ สังขรักษ์, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์, อาทิตย์ เพ็ชรรักษ์, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ. 2563. ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อทรัพยากรน้ำและการจัดการ. วารสารสิ่งแวดล้อม 24(1) มกราคม-มีนาคม 2563. http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6133/264 [22 กุมภาพันธ์ 2564]
สุจริต คูณธนกุลวงศ์, เปี่ยมจันทร์ ดวงมณี, ปิยธิดา ห้อยสังวาลย์. 2556. แนวคิดความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำประเทศไทยกับนานาชาติ. คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย