การอ้างอิง: กองบรรณาธิการวารสารสิ่งแวดล้อม. (2564). บทบรรณาธิการ. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1).
บทบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการวารสิ่งแวดล้อม
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนึ่งปีที่ผ่านมา วารสารสิ่งแวดล้อมปีที่ 24 ได้นำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการนำเสนอบทความกึ่งวิชาการที่มีความหลากหลายและมีความเป็นปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการขยะมูลฝอยและเครื่องมือการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาการสะสมตัวของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม และการศึกษาการบำบัดมลพิษที่ปนเปื้อนในน้ำ อากาศและดิน และยังมีบทความที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการจัดการมลพิษในสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นบทความที่ให้ความรู้ และให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านทั้งในเชิงของการศึกษาเพื่อเป็นความรู้ และนำไปใช้เพื่อการอ้างอิงได้ เนื่องจากบทความเหล่านี้ล้วนเกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้จากแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ เพื่อสะท้อนปัญหา ผนวกกับการวิเคราะห์เพื่อหาทางออกสำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทางวารสารสิ่งแวดล้อมต้องขอขอบพระคุณผู้แต่งทุกท่านที่ได้ให้ความกรุณาส่งบทความของท่านมาเผยแพร่ยังวารสาร และได้ให้วารสารของเราเป็นช่องทางส่งต่อความรู้ที่ท่านอุตสาหะเรียบเรียงและวิเคราะห์ได้ไปสู่สายตาของผู้อ่าน
สำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 ของวารสารสิ่งแวดล้อมในปี พ.ศ. 2564 นี้ เราขอเริ่มต้นปีด้วยการนำบทความที่ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และอดีตผู้อำนวยการสถาบันสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ท่านได้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยบทความนี้ยังไม่ได้มีการเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ซึ่งงานเขียนของท่านได้อ้างอิงงานเขียนและการอภิปรายของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายท่านในมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก กับการพัฒนาของโลกที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งบทความนี้ให้มุมมองที่น่าสนใจและยังคงสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่ทิศทางการพัฒนาประเทศและโลกในปัจจุบัน ทางวารสารสิ่งแวดล้อมจึงขอใช้โอกาสแห่งการเริ่มต้นปี พ.ศ. 2564 นี้นำบทความนี้มาลงเผยแพร่ เพื่อเป็นข้อคิดและให้ผู้อ่านได้เห็นมุมมองและแนวคิดของนักสังคมศาสตร์ในการนำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์กับทิศทางการพัฒนาในบทความ “อนาคตของการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง : การเมืองแบบเดิมนำพาเราก้าวล้ำเส้นอันตรายแห่งพิภพไปแล้ว” เป็นบทความต้อนรับใหม่นี้
สุดท้ายนี้ทางวารสารสิ่งแวดล้อมต้องขอขอบพระคุณผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของบทความทุกท่าน ที่ให้ความอนุเคราะห์ส่งบทความมายังวารสาร รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนร่วมในการพิจารณาบทความ ให้ทุก ๆ บทความมีความสมบูรณ์ที่สุด และที่สำคัญที่สุดทางวารสารขอขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้การสนับสนุน ให้ความสนใจ และให้คำแนะนำ เพื่อการพัฒนางานของวารสารต่อไป
ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่านมา ณ โอกาสนี้