การอ้างอิง: วราวุฒิ มณีสุวรรณ, วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์, ภัทรสุดา จบแล้ว, อุไรวรรณ ถือพัฒน์, ธนัชพร หิรัญกุล และ บัวหลวง ฝ้ายเยื่อ. (2564). “ไผ่” ทางเลือกสำหรับทดแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1).


บทความ: “ไผ่” ทางเลือกสำหรับทดแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

วราวุฒิ มณีสุวรรณ 1, วิไลลักษณ์ นิยมมณีรัตน์ 2,3, ภัทรสุดา จบแล้ว 2, อุไรวรรณ ถือพัฒน์ 2, ธนัชพร หิรัญกุล 2 และ บัวหลวง ฝ้ายเยื่อ 2,3,*
1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 หน่วยปฏิบัติการวิจัยการขับเคลื่อน BCG สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
* Email: Bualuang.F@chula.ac.th


1. บทนำ
ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ ข้อมูลจาก UN Environment Programme (2020) ระบุว่า มนุษย์สร้างขยะพลาสติกประมาณ 300 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีปริมาณมากเทียบเท่ากับน้ำหนักของประชากรมนุษย์ทั้งหมดบนโลกรวมกัน ขยะพลาสติกดังกล่าวมีแค่เพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิล (recycle) เพื่อการใช้ประโยชน์ อีกประมาณ 12% ถูกกำจัดโดยกระบวนการเผา ส่วนที่เหลืออีกมากถึง 79% นั้นถูกฝังกลบ (landfills) ทิ้งกองรวมกัน (dumps) หรือถูกทิ้งให้ปนเปื้อนและก่อให้เกิดมลพิษอยู่ในสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกต่อปีประมาณ 2 ล้านตัน โดยมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพียง 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1.5 ล้านตัน ยังรอการจัดการต่อไปซึ่งประมาณ 1.2 ล้านตันเป็นถุงพลาสติก เช่น ถุงบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว และอีก 0.3 ล้านตันเป็นพลาสติกอื่น ๆ เช่น แก้วน้ำ (กรมควบคุมมลพิษ, 2560; ศักดิ์สิทธิ์ อิ่มแมน, 2562) ซึ่งถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติกจัดเป็นพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ที่นำไปสู่ปัญหาขยะพลาสติกและมลพิษขยะมากมาย ดังนั้น บทความนี้จึงได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพืชชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ทดแทนพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เป็นอย่างดีซึ่งพืชชนิดนั้นก็คือ “ไผ่”

พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 
พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้นแต่ใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 200 ปี โดยส่วนมากถูกออกแบบให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งสามารถพบพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้จากห่อบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น หลอด แก้วน้ำ ขวดน้ำ ถุงหูหิ้ว กล่องอาหาร ถุงห่อขนม ภาชนะใส่อาหาร เช่น จาน ชาม ช้อน (นริศรา เพชรพนาภรณ์, 2562; Natural Resources Defense Council, 2020) เรียกได้ว่า พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์และนำไปสู่ปัญหาขยะพลาสติกและมลพิษขยะที่ตามมาในปัจจุบัน ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้เชิญชวนผู้ประกอบการได้แก่ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และผู้ผลิตพลาสติกเข้าร่วมมาตรการ (campaign) ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยงดการให้ถุงพลาสติกกับผู้ที่มาซื้อสินค้าซึ่งเริ่มกิจกรรมเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ในแผนงานการจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ. 2561 - 2573 ยังระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2565 จะเลิกใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก (กาญจนา งามกาหลง, 2562; นริศรา เพชรพนาภรณ์, 2562) ดังนั้น เพื่อให้การดำรงชีวิตประจำวันยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีอุปสรรค พร้อมกับการลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผลิตภัณฑ์จากไผ่จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์เช่นนี้ได้เป็นอย่างดี


รูปที่ 1 ตัวอย่างขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ทำความรู้จักไผ่
ไผ่ (bamboo) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (monocotyledons) ที่อยู่ในวงศ์ Gramineae มีลำต้นเหนือดิน ความสูงประมาณ 5 - 20 เมตร และยังมีลำต้นใต้ดิน (rhizome) จึงทำให้ลำต้นสามารถแตกออกเป็นกอที่มีขนาดเล็กจนถึงกอขนาดใหญ่ได้โดยภายในหนึ่งกอของไผ่จะมีประมาณ 20 - 50 ต้น ลักษณะของลำต้นไผ่จะเห็นข้อ-ปล้องอย่างชัดเจน ลำต้นมีผิวเกลี้ยง สีเขียวอ่อน เขียวเข้ม หรือสีเหลืองแถบเขียว โดยที่รูปร่าง ขนาด ความยาวและสีของลำต้นจะขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของไผ่ ใบของไผ่เป็นใบเดี่ยว (simple leaf) ยาวแคบลักษณะคล้ายรูปหอก ขอบใบเรียบ ผิวใบสีเขียวมีขนอ่อน ๆ ปกคลุม แผ่นใบมีความกว้างประมาณ 1 - 2 นิ้ว ความยาวประมาณ 5 - 12 นิ้ว หรือขึ้นกับชนิดพันธุ์ ดอกไผ่จัดเป็นดอกช่อออกตามปลายยอดและบริเวณข้อ เมื่อดอกแห้งต้นไผ่ก็จะตายไป ผลหรือลูกมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสาร ไผ่สามารถถูกขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด การแยกเหง้า การชำลำ การชำกิ่งแขนง และการตอน จากการสำรวจชนิดพันธุ์ไผ่ในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีไผ่จำนวน 17 สกุล (genera) 80 - 100 ชนิด (species) กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง (สราวุธ สังข์แก้ว และคณะ, 2554) ตัวอย่างของพันธุ์ไผ่ ได้แก่ ไผ่ซางหวาน ไผ่ซางหม่น ไผ่ซางนวล ไผ่หม่าจู ไผ่เลี้ยง ไผ่ตง และไผ่ข้าวหลาม


รูปที่ 2 ลักษณะของลำต้นไผ่ (ก, ข)


รูปที่ 3 ลักษณะการตอนไผ่ (ค, ง)

ไผ่กับวิถีชีวิตของคนไทย
คนไทยได้มีการนำไผ่มาใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยอ้างอิงหลักฐานในแหล่งโบราณคดีบริเวณช่องประตูผา ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งได้ขุดพบโครงกระดูกที่ถูกห่อด้วยเสื่อซึ่งสานจากไม้ไผ่ บางโครงกระดูกถูกฝังในโลงไม้ที่ปูรองด้วยฟากไม้ไผ่ และยังพบสิ่งของที่อุทิศให้แก่ศพ เช่น เครื่องจักสานประเภทตะกร้าและกระบุงไม้ไผ่อีกด้วย (สุรีย์ ภูมิภมร, 2557; ปริเชต ศุขปราการ, 2559) ซึ่งไผ่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในหลาย ๆ ด้าน (สุรีย์ ภูมิภมร, 2557) ได้แก่

1.ไผ่กับพิธีกรรมและความเชื่อ
ในอดีตเมื่อเด็กคลอดคนไทยจะใช้ผิวไม้ไผ่รวกลนไฟแล้วใช้ตัดสายสะดือของทารก และเรียกการคลอดว่า “ตกฟาก” เนื่องจากบ้านของคนไทยสมัยก่อนจะปูพื้นด้วยฟากซึ่งทำมาจากไม้ไผ่ รวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การนำเส้นตอกไม้ไผ่มาสานให้เป็นเฉลวหรือตะแหลวสำหรับใช้ป้องกันสิ่งชั่วร้าย นอกจากนี้งานประเพณีและงานบุญต่าง ๆ ยังเกี่ยวข้องกับไม้ไผ่ในการทำเป็นโครงสำหรับการทำโคมบูชา และการทำเรือของประเพณีไหลเรือไฟ เป็นต้น


รูปที่ 4 ตะแหลวที่ผลิตโดยวิสาหกิจชุมชนบ้านต้าม (ก) และโคมที่วิสาหกิจชุมชนบ้านโคมคำ จังหวัดน่าน (ข)

2. ไผ่กับปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต
ทุกส่วนของไผ่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รากและใบของไผ่บางชนิดมีสรรพคุณทางยาเพื่อขับปัสสาวะ หน่อไผ่หรือหน่อไม้นำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น หน่อไม้ต้ม หน่อไม้ดอง แกงและผัดหน่อไม้ ใบใช้สำหรับห่ออาหาร เช่น บ๊ะจ่าง ลำต้นยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารหวาน เช่น ข้าวหลาม ซึ่งเป็นของฝากที่มีชื่อเสียงและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจของหลายจังหวัด เช่น ข้าวหลามหนองมน ชลบุรี ข้าวหลามนครปฐม และข้าวหลามเมืองน่าน เป็นต้น ไผ่ยังถูกนำมาใช้ประกอบการสร้างที่พักอาศัย เช่น ใช้ทำเสา ทำพื้น และผนังของบ้าน ลำต้นนำมาผูกรวมกันเพื่อสร้างเป็นแพอาศัยในแม่น้ำ นอกจากนี้ไผ่ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเป็นเฟอร์นิเจอร์พวกเก้าอี้ โต๊ะ ตู้ เตียง หรือแคร่ไม้ไผ่ และยังถูกนำมาใช้สร้างเป็นเครื่องมือเครื่องใช้สอยในครัวเรือนโดยการนำลำต้นไม้ไผ่มาจักหรือผ่าให้บางกลายเป็นเส้นตอกแล้วนำมาสานเพื่อเป็นภาชนะหรือผลิตภัณฑ์ เช่น กระด้ง ตะกร้า ชะลอม สุ่มไก่ กระติ๊บข้าว ซึ่งผลิตภัณฑ์จากไผ่เหล่านั้นหลายชนิดสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันเพื่อลดการใช้พลาสติกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง


รูปที่ 5 สิ่งก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไผ่ (ก, ข)  และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำจากไผ่ (ค, ง)

ประโยชน์ของไผ่ในการลดใช้พลาสติก
เนื่องจากพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งกำลังอยู่ในระหว่างการยกเลิกการใช้ ซึ่งได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ไผ่ที่จะนำมาใช้ทดแทนจึงควรตอบโจทย์ในเรื่องการใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก และอาจเพิ่มในเรื่องของการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความสวยงามลงไปในผลิตภัณฑ์ไผ่ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ไผ่ที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการลดใช้พลาสติก ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์ไผ่เพื่อทดแทนถุงพลาสติกหูหิ้ว
ถุงพลาสติกหูหิ้วถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการบรรจุสิ่งของหรือสินค้าหลังจากการซื้อขาย ส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (high density polyethylene: HDPE) เนื่องจากมีความเหนียว ทนทาน และรับน้ำหนักได้ดี ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ไผ่ที่เหมาะสำหรับใช้แทนถุงหูหิ้วจึงได้แก่ “ตะกร้าไม้ไผ่” ซึ่งข้อดีของการใช้ตะกร้าไม้ไผ่นอกจากจะมีคุณสมบัติครบตามต้องการแล้ว ตะกร้าไม้ไผ่ยังมีรูปร่าง ลักษณะ และขนาดให้เลือกมากมายตามความต้องการของผู้ใช้และขนาดของสินค้าที่ต้องการบรรจุ สามารถทำได้เองหรือหาซื้อได้ในราคาไม่แพง และยังมีอายุการใช้งานยาวนาน


รูปที่ 6 ตะกร้าไผ่จากกลุ่มจักสานวิสาหกิจชุมชนบ้านต้าม (ก) กลุ่มสตรีสหกรณ์จักสานไม้ไผ่บ้านปัวชัย (ข) และกลุ่มจักสานชุมชนบ้านนวราษฎร์ (ค) ของจังหวัดน่าน

2. ผลิตภัณฑ์ไผ่เพื่อทดแทนกล่องโฟมบรรจุอาหาร 
กล่องโฟมบรรจุอาหารถูกนำมาใช้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการกินอาหารสำเร็จรูปซึ่งเรานิยมเรียกว่า “อาหารกล่องหรือข้าวกล่อง” โฟมเป็นพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ทำมาจากโพลีสไตรีน (polystyrene: PS) เมื่อนำไปบรรจุอาหารร้อนหรืออาหารทอด น้ำมันจากอาหารจะทำปฏิกิริยากับโฟมทำให้เกิด สารสไตรีน (styrene) และสารเบนซิน (benzene) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีผลต่อระบบประสาท ระบบหมุนเวียนเลือด และยังเป็นสารก่อมะเร็งจึงจำเป็นที่จะต้องลดและเลิกใช้โฟม (พรรณพิสุทธิ์ สันติภราดร, 2559) ผลิตภัณฑ์จากไผ่ที่สามารถนำมาใช้แทนกล่องโฟม ได้แก่ “จานใส่อาหารว่าง (จานเบรค)” และ “กระด้งขนาดเล็ก” ที่สานจากไม้ไผ่ซึ่งสามารถทำขนาดให้เหมาะกับลักษณะและปริมาณของอาหารที่จะใส่ นอกจากนี้ก่อนใส่อาหารยังสามารถรองด้วยใบตองเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมชาติและเพิ่มสีสันให้กับจานอาหารได้อีกด้วย นอกจากผลิตภัณฑ์จักสานแล้วเรายังสามารถเลือกใช้กล่อง จาน หรือชามที่แปรรูปมาจากเยื่อไผ่เพื่อทดแทนกล่องโฟมได้เช่นกัน


รูปที่ 7 จานใส่อาหารว่างหรือจานเบรค (ก) กระด้งขนาดเล็ก (ข) กล่องอาหารและชามที่ทำจากเยื่อไผ่ (ค, ง)
ที่มา : รูป ค,ง มาจาก https://www.unipakcentershop.com/category/3883/บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม-gracz

3. ผลิตภัณฑ์ไผ่เพื่อทดแทนแก้วพลาสติก 
ผลิตภัณฑ์ไผ่ที่ทดแทนแก้วพลาสติกได้คือ “แก้วน้ำไม้ไผ่” หรือ “กระบอกน้ำไม้ไผ่” ซึ่งเราสามารถทำได้เองโดยการนำไม้ไผ่ขนาดที่เหมาะสมมาตัดบริเวณปล้องให้มีความยาวตามที่ต้องการ จากนั้นทำการขัดบริเวณรอยตัด และทำความสะอาดก็จะได้แก้วน้ำไม้ไผ่หรือกระบอกน้ำไม้ไผ่ที่พร้อมใช้งาน หรือถ้าหากไม่มีไม้ไผ่ที่เป็นวัตถุดิบหรือไม่มีเวลาในการทำใช้เอง ก็สามารถเลือกซื้อแก้วน้ำไม้ไผ่หรือกระบอกน้ำไม้ไผ่ได้จากร้านค้าของวิสาหกิจชุมชนหรือร้านค้าในระบบออนไลน์ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลายให้เลือก ราคาขึ้นอยู่กับลักษณะ รูปร่าง และความสวยงาม ข้อจำกัดของแก้วน้ำไม้ไผ่และกระบอกน้ำไม้ไผ่ คือ หากใช้ซ้ำหลายครั้งอาจเกิดการสะสมของจุลินทรีย์ จึงต้องมีการดูแลรักษาความสะอาดหลังการใช้งาน เช่น การนำไปตากแดดให้แห้ง หรือการอบฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ตาม แก้วน้ำไม้ไผ่หรือกระบอกน้ำไม้ไผ่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น การประยุกต์ใช้เป็นกระบอกไม้ไผ่ปลูกต้นไม้ประดับตกแต่งบ้านเรือนหรืออาคาร และการนำไปเผาเพื่อผลิตเป็นถ่านชีวภาพ (biochar) เพื่อใช้สำหรับปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช (บัวหลวง ฝ้ายเยื่อ และเสาวนีย์ วิจิตรโกสุม, 2563) เรียกได้ว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร


รูปที่ 8 แก้วน้ำไม้ไผ่และกระบอกน้ำไม้ไผ่
ที่มา: รูป ค,ง มาจาก https://web.facebook.com/กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำ-ราคาถูก-543531949355040/photos/?ref=page_internal)

4. ผลิตภัณฑ์ไผ่เพื่อทดแทนหลอดพลาสติก
“หลอดไม้ไผ่” คือผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เราสามารถใช้ทดแทนหลอดพลาสติกได้ โดยส่วนมากนิยมทำมาจากไผ่สายพันธุ์ที่เรียกว่า “ไผ่หลอด” ซึ่งเป็นไผ่ขนาดเล็กมีความสูงประมาณ 3-4 เมตร ปล้องยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ไม่มีหนาม ขึ้นเป็นกอ พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย ที่ผ่านมาไผ่หลอดนิยมปลูกเพื่อตกแต่งสวนและปลูกเป็นรั้วบ้าน จนกระทั่งปัจจุบันเมื่อมีกระแสเรื่องการลดการใช้พลาสติกทำให้ไผ่หลอดได้รับความนิยมมากโดยนำมาใช้เป็นหลอดไม้ไผ่เพื่อทดแทนหลอดพลาสติก สำหรับขั้นตอนการทำหลอดไม้ไผ่นั้นสามารถทำได้เองโดยการตัดไม้ไผ่หลอดซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ไผ่หลอดที่มีอายุการปลูกประมาณ 1 ปี แล้วนำลำไผ่ไปรมด้วยควันเช่นเดียวกับการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ชนิดอื่น ๆ หลังจากนั้นจึงตัดตามความยาวของหลอดที่ต้องการ ขัดรอยตัดให้เรียบ และล้างทำความสะอาดก็จะได้หลอดไม้ไผ่พร้อมใช้งาน ถึงแม้ว่า หลอดไม้ไผ่ยังมีข้อกังวลสำหรับการใช้งานคือ การเกิดเชื้อรา แต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการล้างทำความสะอาดหลังการใช้งาน แล้วตากให้แห้งหรืออบฆ่าเชื้อ (ผู้จัดการออนไลน์, 2562a, b) สำหรับผู้ที่ไม่ได้ปลูกไผ่หลอดไว้ ก็ยังสามารถใช้หลอดไผ่ได้ด้วยการเลือกซื้อหลอดไม้ไผ่จากวิสาหกิจชุมชน บริษัท หรือร้านค้าในระบบออนไลน์ซึ่งมีผลิตภัณฑ์อยู่อย่างหลากหลายให้เลือกตามความต้องการ ดังนั้น การมีหลอดไม้ไผ่ติดกระเป๋าไว้ใช้ส่วนตัวจึงเป็นอีกแนวทางในการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เช่นกัน


รูปที่ 9 หลอดไม้ไผ่
ที่มา : https://web.facebook.com/452958201874978/posts/585668501937280/?_rdc=1&_rdr
https://www.smartsme.co.th/content/223128#!

นโยบายส่งเสริมการปลูกและการใช้ประโยชน์จากไผ่ของรัฐและเอกชน 
เนื่องจากไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และสามารถนำทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ได้ ภาครัฐและเอกชนจึงได้มีนโยบายส่งเสริมการปลูกในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (2557) ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยส่งเสริมการผลิตไผ่ที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ไผ่ให้มีมูลค่าสูง แก้ปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากไผ่ ส่งเสริมด้านการตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ และส่งเสริมการปลูกไผ่เพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์ดินและน้ำและการช่วยลดสภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดน่าน ประจำปี พ.ศ. 2561 - 2564 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตการเกษตรโดยมีโครงการส่งเสริมการปลูกไผ่เพื่อการพัฒนา ฟื้นฟู และรักษาหน้าดิน รวมถึงการเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิดรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรจากการปลูกและจำหน่ายไผ่ (สำนักงานจังหวัดน่าน, 2559) ในขณะที่โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้ไผ่เป็นพืชทางเลือกเพื่อปลูกทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำหรับแก้ปัญหาวิกฤตหมอกควันในภาคเหนือซึ่งมีสาเหตุจากการเผาไร่ข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว เนื่องจากไผ่เป็นพืชที่ไม่ต้องเผาเพื่อการเตรียมพื้นที่ปลูก และยังแก้ปัญหาเขาหัวโล้นในจังหวัดเชียงใหม่โดยการปลูกไผ่แซมในไร่ด้วยรูปแบบวนเกษตรแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว (ณัฏฐวุฒิ ลอยสา, 2563; ธนพร ตั้งตระกูล และคณะ, 2563) และที่สำคัญที่สุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ…….” ที่เสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเปิดทางให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้โดยเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด ซึ่งหนึ่งในต้นไม้ดังกล่าวคือ “ไผ่ทุกชนิด” (เทคโนโลยีชาวบ้าน, 2561; น้าชาติ ประชาชื่น, 2561) ซึ่งจะทำให้ไผ่ได้รับความสนใจในการปลูกเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทดแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน แนวทางการส่งเสริมการปลูกไผ่ของประเทศไทยยังสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการปลูกไผ่ในหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไนจีเรีย (Suzuki and Nakagoshi, 2011; Okokpujie et al., 2020) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไผ่ในระดับสากลต่อการเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชที่สามารถช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้

บทสรุป
จากปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์และสัตว์ซึ่งนำไปสู่การรณรงค์และแนวนโยบายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการใช้ขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก ดังนั้น ผลิตภัณฑ์จากไผ่ เช่น ตะกร้า กระด้งขนาดเล็ก แก้วน้ำไม้ไผ่ และหลอดไม้ไผ่ ซึ่งเราสามารถทำได้เองหรือหาซื้อได้ตามร้านค้า จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ การใช้ผลิตภัณฑ์จากไผ่นอกจากจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม เพราะไผ่เป็นพืชที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน


กิตติกรรมประกาศ 
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยย่อยเรื่อง ยุทธการไม้ไผ่รักษ์โลก: วัสดุท้องถิ่นทดแทนพลาสติก ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเรื่อง เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน: การสรรสร้างเมืองน่านเพื่อยกระดับสู่การท่องเที่ยวสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปีงบประมาณ 2563



เอกสารอ้างอิง
กาญจนา งามกาหลง. (2562). วิกฤติของพลาสติก ถึงเวลาลด-เลิกใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง!. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.thai-german-cooperation.info/th/plastic-crisis-time-to-reduce-stop-your-use-of-single-use-plastics/ สืบค้น 28 ธันวาคม 2563
กรมควบคุมมลพิษ. (2560). (ร่าง) แผนจัดการขยะพลาสติกอย่างบูรณาการ (พ.ศ. 2560-2564). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://infofile.pcd.go.th/law/DraftWastePlan6064.pdf?CFID=2743167&CFTOKEN =64000421 สืบค้น 28 ธันวาคม 2563
ณัฏฐวุฒิ ลอยสา. (2563). ไผ่พลิกฟื้นแม่แจ่ม. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.recoftc.org/thailand/stories/ไผ่พลิกฟื้นแม่แจ่ม สืบค้น 30 มกราคม 2564
เทคโนโลยีชาวบ้าน. (2561). พาไปรู้จัก “ไม้มีค่า” 58 ชนิดที่ใช้ค้ำประกันเงินกู้ได้. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://today.line.me/th/v2/article/og3vnq สืบค้น 30 มกราคม 2564
ธนพร ตั้งตระกูล, ธนพร ดวงเด่น, ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ, สุจิตร์ แก้วน่าน และ พรทิพย์ ติ๊บศรี. (2563). โมเดลความร่วมมือที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อแก้วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ. Regional Letter, ฉบับที่ 3, ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย.
นริศรา เพชรพนาภรณ์. (2562). พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic). รายการ ร้อยเรื่อง…เมืองไทย. สถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภาและสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กรุงเทพฯ.
น้าชาติ ประชาชื่น. (2561). ต้นไม้ 58 ชนิดค้ำกู้เงิน. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_1746949 สืบค้น 31 มกราคม 2564
บัวหลวง ฝ้ายเยื่อ และ เสาวนีย์ วิจิตรโกสุม. (2563). ถ่านชีวภาพ (biochar) วัสดุปรับปรุงดินเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 2) เมษายน-มิถุนายน.
ปริเชต ศุขปราการ. (2559). โครงการพิพิธภัณฑ์ภาพเขียนสีประตูผา. มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://lek-prapai.org/home/view.php?id=929 สืบค้น 28 ธันวาคม 2563
ผู้จัดการออนไลน์. (2562a). กระแส ลดใช้หลอดพลาสติก แจ้งเกิด..หลอดไม้ไผ่ ฝีมือคนไทย. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9620000041218 สืบค้น 30 ธันวาคม 2563
ผู้จัดการออนไลน์. (2562b). ไผ่หลอด สวนลุงโชค ปลูก 1 ปี ตัดทำหลอดขายได้ ออเดอร์ล้นทำไม่ทัน. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9620000074039 สืบค้น 30 ธันวาคม 2563
พรรณพิสุทธิ์ สันติภราดร. (2559). กล่องโฟมบรรจุอาหาร อันตรายอย่ามองข้าม. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/317/ สืบค้น 29 ธันวาคม 2563
ศักดิ์สิทธิ์ อิ่มแมน. (2562). สถานการณ์พลาสติกและพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย. SEEN Leaflet:33/2019 [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://seen.up.ac.th/FileUpload/Journal/J1/s58.pdf สืบค้น 28 ธันวาคม 2563
สราวุธ สังข์แก้ว, อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ และ กิตติศักดิ์ จินดาวงศ์. (2554). ไผ่ในเมืองไทย: Bamboo of Thailand. สำนักพิมพ์บ้านและสวน, 264 หน้า.
สุรีย์ ภูมิภมร. (2557). ไผ่กับวิถีชุมชนท้องถิ่นไทย. ไผ่กับวิถีชีวิตคนไทย: องค์ความรู้และรูปแบบการจัดการของท้องถิ่น. ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า), หน้า 19-27. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.recoftc.org/sites/default/files/public/publications/resources/recoftc-0000255-0001-th.pdf สืบค้น 28 ธันวาคม 2563
สำนักงานจังหวัดน่าน. (2559). แผนพัฒนาจังหวัดน่าน พ.ศ. 2561-2564. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.harvardasia.co.th/wp-content/uploads/2018/01/PlanNan.pdf สืบค้น 30 มกราคม 2564
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน). (2557). ยุทธศาสตร์การจัดการไผ่เชิงพาณิชย์. ไผ่กับวิถีชีวิตคนไทย: องค์ความรู้และรูปแบบการจัดการของท้องถิ่น. ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า), หน้า 134-149. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.recoftc.org/sites/default/files/public/publications/resources/recoftc-0000255-0001-th.pdf สืบค้น 30 มกราคม 2564
Natural Resources Defense Council. (2020). Single-Use Plastics. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.nrdc.org/stories/single-use-plastics101#:~:text=Put%20simply%2C%20single%2Duse %20plastics,wrappers%2C%20straws%2C%20and%20bags สืบค้น 18 สิงหาคม 2563
Okokpujie I.P., Akinlabi E.T., and Fayomi O.O. (2020). Assessing the policy issues relating to the use of bamboo in the construction industry in Nigeria. Heliyon, 6, e04042. https://doi.org/10.1016/j.heliyon.2020.e04042
Suzuki S. and Nakagoshi N. (2011). Sustainable management of Satoyama bamboo landscapes in Japan. S.-K. Hong, et al. (eds.), Landscape Ecology in Asian Cultures, Ecological Research Monographs, DOI 10.1007/978-4-431-87799-8_15.
UN Environment Programme. (2020). Our planet is drowning in plastic pollution. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.unenvironment.org/interactive/beat-plastic-pollution/ สืบค้น 18 สิงหาคม 2563