การอ้างอิง: ภุมรินทร์ คำเดชศักดิ์. (2564). เรื่องจากปก: “แมว กับ สิ่งแวดล้อม” แมวบ้านที่ถูกเลี้ยงในระบบเปิด. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 1).
เรื่องจากปก: “แมว กับ สิ่งแวดล้อม” แมวบ้านที่ถูกเลี้ยงในระบบเปิด
ภุมรินทร์ คำเดชศักดิ์
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เจ้าสีทอง แมวบ้านแห่งร้านก๋วยเตี๋ยว อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 23 ต.ค. 2561 โดย ภุมรินทร์ คำเดชศักดิ์
การเลี้ยงแมวในระบบเปิดส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เจ้าของแมวอยากให้แมวมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติและได้ช่วยลดความเครียดของแมว เจ้าสีทองตัวนี้ ก็เป็นหนึ่งที่ได้พักผ่อน นอนเล่น สัมผัสบรรยากาศภายนอกบ้าน ได้เดินสำรวจและมองดูความเคลื่อนไหวภายนอกได้อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่มีแมวในระบบเปิดและแมวจรจำนวนมากจะทำให้ นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก และสัตว์เลื้อยคลาน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ [1] การติดตามแมวบ้านที่เลี้ยงในระบบเปิดจำนวน 144 ตัว พื้นที่หนึ่งในประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อรวบรวมข้อมูลประเภทและจำนวนสายพันธุ์ของเหยื่อ พบว่า แมว 83% จับนกเป็นเหยื่อแล้วนำกลับมาบ้าน เนื่องจากแมวหนึ่งตัวสามารถจับเหยื่อได้หลากหลายชนิด การศึกษาจึงพบอีกว่า แมว 39% จับหนูพุกเป็นเหยื่อ อีก 39% จับหนูบ้าน และอีก 17% จับจิ้งแหลน [1] ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของจำนวนประชากรบางชนิดในระบบนิเวศ แมวที่เลี้ยงในบ้านไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศส่วนใหญ่ แมวจึงถือเป็นสายพันธุ์ที่รุกรานและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) อื่น ๆ แมวมักล่าและฆ่าแม้ว่ามันจะไม่หิวก็ตาม [2] สิ่งนี้สร้างความไม่ปลอดภัยต่อประชากรพันธุ์พื้นเมือง และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักโดยเฉพาะเจ้าของผู้เลี้ยงแมวทุกท่าน
บรรณานุกรม
[1] van Heezik, Y., Smyth, A., Adams, A., & Gordon, J. (2010). Do domestic cats impose an unsustainable harvest on urban bird populations? Biological Conservation, 143(1), 121-130.
[2] Duffy, D. C., & Capece, P. (2012). Biology and impacts of Pacific island invasive species. 7. The domestic cat (Felis catus). Pacific Science, 66(2), 173-212.