การอ้างอิง: นาดียา กูโน, ภัทรพร อุดมทรัพย์, วรางคณา ตันฑสันติสกุล. (2563). การรับรู้ข่าวสารและทัศนคติที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 2).


บทความ: การรับรู้ข่าวสารและทัศนคติที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา

นาดียา กูโน, ภัทรพร อุดมทรัพย์, วรางคณา ตันฑสันติสกุล

คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง


1. ความสำคัญและที่มาของปัญหา
ปัจจุบันปัญหาขยะโดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก กำลังเป็นวิกฤตของสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่คนทั่วไปให้ความสนใจ และประเทศไทยกำลังประสบปัญหานี้เช่นกันจากเหตุการณ์พบวาฬนำร่องเกยตื้นตายที่จังหวัดสงขลา ซึ่งตรวจพบว่าในตัววาฬมีพลาสติกตกค้างอยู่  เป็นการตอกย้ำว่าปัญหาขยะพลาสติกคือวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องช่วยกันแก้ไข (วารสารเครือข่ายกรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, 2561 หน้า 2) สาเหตุของปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากการที่คนขาดความรู้ในเรื่องของการกำจัดขยะ เนื่องมาจากประชาชนใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย โดยขาดความตระหนัก ขาดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะและขาดนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การลดขยะพลาสติก (วารสารเครือข่ายกรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2561 หน้า 5)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการสื่อสาร รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ชวนเชิญให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในการลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม ภายใต้ 4 มาตรการ คือ 1. เลิก เลิกใช้ถุงพลาสติกในพื้นที่หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย ตลาดสดที่มีความพร้อม 2. ลด ลดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 3. ใช้นวัตกรรมใหม่ ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และ 4. คัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดการรีไซเคิลพลาสติกอย่างคุ้มค่า (สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่, 2561)

ปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสาร เป็นปัจจัยที่ทำให้ประชากรได้รับข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วน มีการรับรู้ทั้งในเรื่องของโทษจากถุงพลาสติก การใช้ซ้ำ และการใช้บรรจุภัณฑ์ทดแทน เป็นต้น ทำให้ประชากรมีความคิดและทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิมว่าการใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องปกติ เริ่มมีการจัดโครงการ และกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ที่ชักชวนกันลดใช้ และหันไปใช้บรรจุภัณฑ์ทดแทน กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เห็นว่า ทัศนคติของประชากรได้เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง (สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่, 2561)

ในปัจจุบันคนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสงขลา จัดกิจกรรม “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” ภายใต้โครงการทำความดี ด้วยหัวใจ ลดปัญหาขยะสิ่งแวดล้อม ที่ตลาดนัดหน้าอำเภอและตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ และจิตอาสา ร่วมกันทำกิจกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นถึงความสำคัญในการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกโดยเฉพาะในตลาดสด ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการใช้ถุงพลาสติกสูงสุดถึง 18,000 ล้านใบต่อปี มีการแจกถุงผ้า ถุงกระดาษให้กับพ่อค้าแม่ค้า และผู้ที่มาซื้อสินค้าในตลาด เพื่อสร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสำนึกในการลดใช้ถุงพลาสติกให้กับพ่อค้าแม่ค้า ตลอดจนประชาชนผู้บริโภค กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมาย คือการใช้ถุงพลาสติกในตลาดสดลดลงร้อยละ 20 (เทศบาลสงขลา, 2561)

จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีปัญหาขยะมูลฝอยสะสมเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ถึง พ.ศ.2559 เนื่องจากจังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวโดยมีพื้นที่ประมาณ 4.6 ล้านไร่ ประชากร 1.42 ล้านคน (สำนักงานสถิติจังหวัดสงขลา, 2560) มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนประมาณ 1,624 ตันต่อวัน โดยสามารถจัดการอย่างถูกหลักจํานวน 528 ตันต่อวัน และจัดการไม่ถูกหลักจํานวน 145 ตันต่อวัน ทำให้มีปริมาณขยะตกค้างถึง 2.472 ล้านตัน (กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2559)

ด้วยเหตุนี้ผู้ทำวิจัยได้ทำการศึกษา เรื่องการรับรู้ข่าวสารและทัศนคติที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก ของประชากรในจังหวัดสงขลา เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด) นำผลไปใช้ในการหาแนวทางในการแก้ปัญหาขยะถุงพลาสติกในชุมชน

2. วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสารและทัศนคติ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา

3. แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสารและทัศนคติของประชากรในจังหวัดสงขลา มีการใช้พื้นที่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และเขตอำเภอเมืองสงขลา มีแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องดังนี้

3.1 แนวคิด ทฤษฏีเกี่ยวกับการรับรู้ข่าวสาร
กิติมา สุรสนธิ (2533, หน้า 46) กล่าวว่า การรับรู้ข่าวสาร คือการที่บุคคลเปิดรับข่าวสารผ่านช่องทางที่หลากหลาย หากข่าวสารมีประโยชน์ต่อผู้รับและผู้รับสนใจข่าวสารนั้นก็จะก่อให้เกิดความสำเร็จในการสื่อสาร

Klapper (1960, หน้า 19) กล่าวว่า การรับรู้ข่าวสาร เป็นกระบวนการการเลือกรับข่าวสารหรือเปิดรับ
ข่าวสารที่เปรียบเสมือนเครื่องกรองโดยแต่ละบุคคล การกลั่นกรองข่าวสารสามารถกลั่นกรองได้ทั้งหมด 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. การเปิดรับ (Selective Exposure) บุคคลจะเลือกเปิดรับสื่อและข่าวสารจากแหล่งข่าวสารที่ต่างกันออกไป 2. การเลือกให้ความสนใจ (Selective Attention) บุคคลจะเปิดรับข่าวสารโดยเลือกตามความสนใจ เพื่อไปสนับสนุนทัศนคติเดิมที่มีอยู่และมักจะหลีกเลี่ยงข่าวสารที่ไม่สอดคล้องกับ หรือเป็นข่าวสารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง 3. การเลือกรับรู้และตีความ (Selective Perception and Interpretation) เมื่อบุคคลเปิดรับข้อมูลข่าวสารแล้ว บางครั้งผู้รับอาจไม่ได้ตีความข่าวสารนั้นเหมือนที่ผู้ส่งสารจะสื่อออกไป ขึ้นอยู่ที่บุคคลจะตีความหมายของสาร ในการตีความหมายก็มาจากทัศนคติ ประสบการณ์ สถานการณ์ ณ ตอนนั้น 4. การเลือกจดจำ (Selective Retention) บุคคลเลือกจดจำเฉพาะข่าวสารที่ตรงกับความต้องการ ความสนใจ ทัศนคติ ของตนเอง ข่าวสารที่บุคคลจดจำจะมีเนื้อหาที่ช่วยสนับสนุนความคิด หรือความเชื่อเดิมที่บุคคลมีอยู่

3.2 แนวคิดเกี่ยวกับทัศนคติ
สุพานี สฤษฎ์วานิช (2552, หน้า 71) กล่าวว่า ทัศนคติ คือ ความรู้สึกและความเชื่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือความคิดเห็นที่มีต่อเหตุการณ์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เกิดขึ้นได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ชอบหรือไม่ชอบ 

ฉัตรยาพร เสมอใจ (2550, หน้า 106) กล่าวไว้ว่าทัศนคติประกอบด้วยองค์ประกอบที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1. ปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) เกิดจากการได้รับความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ กระทั่งได้เกิดเป็นความรู้และความเข้าใจในสิ่งนั้น 2. ความรู้สึก (Affective) มีทั้งก่อนที่จะมีความรู้หรือประสบการณ์ต่อสิ่งต่าง ๆ จะแสดงออกมาในแบบของความชอบ ความกลัว ความโกรธ หรือความรู้สึกอื่น ๆ มากมาย เป็นการสะท้อนความรู้สึกของบุคคลที่อยู่ภายใน 3. พฤติกรรม (Behavior) เกิดขึ้นเมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้นต่อสิ่งต่าง ๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลที่จะตอบสนองกลับ

3.3 แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ชัยพร วิชชาวุธ และ ธีระพร อุวรรณโณ (2525) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นการประยุกต์หลักการเรียนรู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล

ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Transtheoretical Model) ใช้ตัวย่อว่า TTM ถูกพัฒนาโดย Porchaska และ DiClemente (1983) เป็นโมเดลที่อธิบายความตั้งใจหรือความพร้อมของบุคคลที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง โดยเน้นที่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการตัดสินใจ (Decisional Making) ของบุคคล ผู้วิจัยได้นำทฤษฎี TTM มาประยุกต์ใช้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก โดยใช้องค์ประกอบแรก คือ ขั้นความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีกระบวนการทั้งหมด 6 ขั้นตอน  ได้แก่ ขั้นไม่สนปัญหา ขั้นลังเล/ชั่งใจ ขั้นตัดสินใจและเตรียมตัว ขั้นลงมือปฏิบัติ ขั้นกระทำต่อเนื่อง และขั้นกลับไปมีปัญหาซ้ำ  เนื่องจากตรงกับวัตถุประสงค์และความสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบสามารถนำมาอธิบายในเรื่องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลดการใช้ถุงพลาสติกได้

การศึกษาวิจัยนี้เพื่ออธิบายถึง การรับรู้ข่าวสารและทัศนคติของบุคคลที่มีผลกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา

4. วิธีการดำเนินการวิจัย
โดยการสุ่มตัวอย่างจะเป็นแบบ Non-Probability Sampling เลือกกลุ่มตัวอย่างที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ (Purposive Sampling) สำหรับการกำหนดกลุ่มตัวอย่างกำหนดให้ความเชื่อมั่นเป็นร้อยละ 95 และเพื่อความสะดวกในการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยจึงมีการใช้ประชากรกลุ่มตัวอย่าง 400 คน เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการเก็บแบบสอบถาม ประชากรที่ศึกษาอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และเขตอำเภอเมืองสงขลา ใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ซึ่งมีทั้งหมด 4 ส่วน คือ 1. แบบสอบถามเกี่ยวกับลักษณะทางประชากรศาสตร์  2. แบบสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร “ถุงพลาสติก” มีลักษณะคำถามที่เป็นคำถามปลายปิด (Close Ended Question)  3. แบบสอบถามเกี่ยวกับทัศนคติของบุคคล 4. แบบสอบถามเกี่ยวกับระดับของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความสัมพันธ์ด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Analysis)

5. สรุปผลการวิจัย
5.1 ผลการวิจัย ข้อมูลประชากรศาสตร์ของผู้ตอบแบบสอบถาม 
เพศของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.0 และเพศชาย ร้อยละ 41.0
อายุของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 20-30 ปี ร้อยละ 55.5 รองลงมาคืออายุ  31-40 ปี ร้อยละ 22.3 และ อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 14.0
สถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีสถานภาพโสด ร้อยละ 60.0 รองลงมาคือสถานภาพสมรส  ร้อยละ 34.8 และสถานภาพหม้าย/หย่าร้าง/แยกกันอยู่ ร้อยละ  5.3
ระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ อยู่ในระดับปริญญาตรี ร้อยละ 59.5 รองลงมาคือ  ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 35 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 5.5
อาชีพของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คืออาชีพนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 25.8 รองลงมาคืออาชีพรับจ้างอิสระ ร้อยละ 18.3 และอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 17.5
รายได้ของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10,000 บาท ร้อยละ 45.5 รองลงมาคือ รายได้ระหว่าง 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 34.0 และรายได้ระหว่าง 20,2001-30,000 บาท ร้อยละ 17.5

5.2 ผลการวิจัย การรับรู้ข่าวสารที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา
พบว่าระดับการรับรู้ข่าวสารที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก ของประชากรในจังหวัดสงขลา โดยภาพรวมอยู่ในระดับที่เห็นด้วยปานกลาง (Mean = 3.0891) (S.D. = 1.00635) พบว่าหัวข้อที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมาก คือ เมื่อท่านเห็นสื่อเกี่ยวกับปัญหาสัตว์น้ำตาย ท่านตีความได้ทันทีว่าสาเหตุของการตายเกิดจากปัญหาขยะใต้ท้องทะเล (Mean = 3.78) (S.D. = 4.862) รองลงมา ได้แก่ เมื่อนึกถึง “ตูน บอดี้สแลม” ท่านจะนึกถึงโครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ที่ซีพีออล์ได้จัดแคมเปญขึ้นให้ 7-11 (Mean = 3.70) (S.D. = 1.037) ท่านเคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับถุงพลาสติกตามสื่อโซเชียลมีเดีย (Mean=3.62) (S.D.=1.170) ท่านเคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับถุงพลาสติกตามสื่อโทรทัศน์ (Mean=3.57) (S.D.=1.081) เมื่อท่านรับรู้ข่าวสารเรื่องการรณรงค์เกี่ยวกับถุงพลาสติก ท่านจะมีการตีความถึงปัญหาและผลกระทบที่ตามมา (Mean = 3.42) (S.D. = 1.114) เมื่อท่านนึกถึงโครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ท่านจะนึกถึงการบริจาคเงินเพื่อสบทบทุนในการซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลศิริราช (Mean = 3.32) (S.D. = 1.037) ท่านเคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับถุงพลาสติกตามสื่อโฆษณา ณ จุดขาย (Mean = 3.31) (S.D. =1.082) เมื่อท่านได้รับข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาขยะท่านจะนึกถึงผลกระทบที่เกิดจากถุงพลาสติก (Mean = 3.16) (S.D. = 0.886) ท่านเคยกดติดตาม Facebook Fanpage เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น แฟนเพจรักษ์โลก แฟนเพจคุณลุงซาเล้ง เป็นต้น (Mean = 3.10) (S.D.=4.940) เมื่อท่านใช้ถุงผ้าในวันที่เข้าร้านสะดวกซื้อ ท่านจะไม่รับถุงพลาสติกจากร้าน (Mean = 3.08) (S.D. = 1.121) ท่านเคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับถุงพลาสติกตามสื่อวิทยุ (Mean = 3.01) (S.D. = 4.925) ท่านเคยกดติดตาม Web Site เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลได้เผยแพร่ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (Mean = 2.76) (S.D. = 1.292) ท่านเคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับถุงพลาสติกตามสื่อหนังสือพิมพ์ (Mean = 2.71) (S.D. = 4.957) ท่านเคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับถุงพลาสติกตามป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ (Mean = 2.68) (S.D. = 1.077) ท่านเคยกดติดตาม Instagram เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น Greenpeace Thailand เป็นต้น (Mean = 2.63) (S.D. = 4.970) ท่านเคยกดติดตาม Twitter เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น #ลดการใช้พลาสติก #เปลี่ยนโลก #อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น (Mean = 2.54) (S.D. = 1.193) ท่านเคยกดติดตาม Web Site เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เอกชนได้เผยแพร่ เช่น มูลนิธิสืบนาคะสเถียร เป็นต้น (Mean = 2.12) (S.D. = 1.183) ตามลำดับ

5.3 ผลการวิจัย ทัศนคติที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา
พบว่าระดับความคิดเห็นด้านทัศนคติ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา โดยภาพรวมอยู่ในระดับที่เห็นด้วยมาก  (Mean = 3.5278) (S.D. =  0.99513)  และพบว่าหัวข้อที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมาก คือ การเข้าใจถึงประโยชน์ของการลดการใช้ถุงพลาสติกมากขึ้นทำให้ท่านอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกให้ดีขึ้น (Mean = 3.85) (S.D. = 4.882)  รองลงมา ได้แก่ ภาครัฐและเอกชนที่ทำโครงการลดการใช้ถุงพลาสติกเป็นการกระตุ้นว่าควรให้ความสำคัญกับปัญหาขยะ (Mean = 3.70 ) (S.D. = 0.981 ) การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นการสร้างจิตสำนึกในการแก้ปัญหาขยะ (Mean = 3.67 ) (S.D. = 1.037 ) การลดใช้ถุงพลาสติกเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากช่วยลดขยะในสังคมให้น้อยลง (Mean = 3.62 ) (S.D. = 1.036 ) การใช้สิ่งของทดแทนถุงพลาสติกเมื่อซื้อสินค้าเป็นสิ่งที่ดี (Mean = 3.56 ) (S.D. = 1.05 ) ท่านเห็นด้วยว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้จัดโครงการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาขยะถุงพลาสติก (Mean = 3.51 ) (S.D. = 1.106 ) การลดใช้ถุงพลาสติกเพื่อจะเป็นแบบอย่างแก่บุตรหลานในครอบครัวและเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน (Mean = 3.49 ) (S.D. =0.989 ) การลดใช้ถุงพลาสติกก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อตัวท่าน (Mean = 3.25 ) (S.D. = 1.054 ) และรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกิจกรรมที่ภาครัฐหรือเอกชนได้จัดขึ้น (Mean = 3.11 ) (S.D. = 1.097 ) ตามลำดับ

5.4 ผลการวิจัย ระดับของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา
พบว่าระดับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก ของประชากรในจังหวัดสงขลา ภาพรวมอยู่ในระดับที่เห็นด้วยปานกลาง (Mean =  2.89) (S.D. =  0.866) โดยขั้นลงมือปฏิบัติมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือขั้นตัดสินใจและเตรียมตัว ขั้นกลับไปมีปัญหาซ้ำ ขั้นลังเลและชั่งใจ ขั้นกระทำต่อเนื่อง และขั้นไม่สนใจปัญหา ตามลำดับ

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ข่าวสารกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา

5.5 ผลการวิจัย การรับรู้ข่าวสารส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา
จากตารางที่ 1 ผลการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ข่าวสารกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 พบว่าด้านการเปิดรับส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขั้นลงมือปฏิบัติ รองลงมาคือ ด้านการเลือกให้ความสนใจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขั้นลงมือปฏิบัติ และด้านการเปิดรับส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขั้นกระทำต่อเนื่อง ตามลำดับ

5.6 ผลการวิจัย ทัศนคติส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกของประชากรในจังหวัดสงขลา
จากตารางที่ 2 ผลการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ระหว่างทัศนคติกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 พบว่าทัศนคติด้านปัญญาส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขั้นไม่สนใจปัญหา รองลงมาคือ ทัศนคติด้านพฤติกรรมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขั้นลงมือปฏิบัติ และทัศนคติด้านความรู้สึกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขั้นกลับไปมีปัญหาซ้ำ ตามลำดับ

6. สรุปผลการทดสอบ
จากผลงานวิจัยที่ได้ศึกษาพบว่าการรับรู้ข่าวสารและทัศนคติ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก เมื่อบุคคลเห็นถึงโทษของการใช้ถุงพลาสติก จะทำให้บุคคลเข้าใจถึงโทษและประโยชน์ของการใช้ถุงพลาสติก จะทำให้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลดใช้ถุงพลาสติกได้มากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับงานวิจัยของ ปาลิดา สามประดิษฐ์ (2560) ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การรับรู้ข่าวสาร ทัศนคติ และความรับผิดชอบทางสังคม ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้ถุงผ้าบรรจุสินค้าที่ซื้อจาก  Tops Market ของคนในกรุงเทพมหานคร พบว่าปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสาร เชื่อว่าการใช้ถุงผ้าจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้จริง จะเลือกใช้ถุงผ้าเพราะจะช่วยให้ประหยัดทรัพยากรได้ เชื่อว่าการใช้ถุงผ้าดีกว่าการใช้ถุงพลาสติก และจะเลือกใช้ถุงผ้าเพราะตระหนักถึงภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อระดับการตัดสินใจใช้ถุงผ้าบรรจุสินค้าที่ซื้อจาก Tops Market ของคนในกรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลงานวิจัยที่ได้ศึกษามีความสอดคล้องกับงานวิจัยของ นิโลบล ตรีเสน่ห์จิต (2553) ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเรื่อง แรงจูงใจ และทัศนคติด้านผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตัดสินใจใช้ถุงผ้าในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าปัจจัยด้านทัศนคติ ถุงผ้ามีความทนทานและใช้ซ้ำได้มากกว่าถุงพลาสติก มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการตัดสินใจใช้ถุงผ้าในด้านจำนวนครั้งในรอบปีที่ซื้อถุงผ้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการรับรู้ข่าวสารทำให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนบางกลุ่มได้  ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นว่าหากองค์กรเอกชนและภาครัฐมีการให้ขัอมูลข่าวสารที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังการรับรู้ เช่น ปัญหาการเสียชีวิตของสัตว์ทะเล การเข้าใจถึงประโยชน์ของการลดการใช้ถุงพลาสติก มีการสื่อสารถึงผลที่จะได้รับจากการจัดแคมเปญ ใช้ดาราที่มีอิทธิพลต่อประชาชน สื่อสารผ่านช่องทางที่ประชาชนส่วนใหญ่เปิดรับข่าวสาร เช่น สื่อโซเชียลมีเดีย Facebook Fanpage เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสื่อโฆษณา ณ จุดขาย ด้วยวิธีการนี้จะส่งผลกระทบให้ประชาชนบางกลุ่มหันมาลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังและสามารถลดขยะถุงพลาสติก ที่สุดแล้วการรับรู้จะส่งผลให้แต่ละบุคคลมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงต่างกันออกไป อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือไม่มีการแปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมใด ๆ เลย  เช่น บางคนยอมรับถึงประโยชน์และโทษของการลดใช้ถุงพลาสติก บางคนอาจพกถุงผ้าเพื่อเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและบางคนอาจจะเฉย ๆ กับการลดใช้ถุงพลาสติกและยังคงจะใช้ต่อไป แต่หากใช้ข้อเสนอแนะจากการวิจัยข้างต้นในขั้นตอนของการเปิดรับและการเลือกให้ความสนใจข่าวสาร จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขั้นลงมือปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขั้นกระทำต่อเนื่องได้ในที่สุด



บรรณานุกรม
กิติมา สุรสนธิ. (2533). ความรู้ทางการสื่อสาร. กรุงเทพฯ: ธรรมศาสตร์.
กรมควบคุมมลพิษ. (2559). รายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559. สืบค้นจาก http://www.pcd.go.th/
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. (2561 พฤศจิกายน 1). วารสารเครือข่ายกรมส่งเสริมสุขภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสื่งแวดล้อม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ.
ฉัตยาพร เสมอใจ. (2550). พฤติกรรมผู้บริโภค. กรุงเทพฯ: เอ็ดยูเคชั่น.
ชัยพร วิชชาวุธ และธีรพร อุวรรณโณ. (2525). แนวคิดและการพัฒนาใหม่ในการปลูกฝังจริยธรรม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธนิกา เนาวรัชต์. (2561 กรกฎาคม 8). จังหวัดแพร่เตรียมจัดกิจกรรม “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้  ถุงพลาสติก”. สืบค้นจาก http://thainews.prd.go.th/th/website_th/news/news_detail/TNSOC6107190010100
ปาลิดา สามประดิษฐ์. (การรับรู้ข่าวสาร ทัศนคติ และความรับผิดชอบทางสังคม ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้ถุงผ้าบรรจุสินค้าที่ซื้อจาก Tops Market ของคนในกรุงเทพมหานคร.2560). (วิทยานิพนธ์ ปริญญา มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.)
สำนักงานสถิติสงขลา. (2562). รายงานสถิติจังหวัดสงขลา. สืบค้นจาก http://songkhla.nso.go.th/
สุพานี สฤษฎ์วานิช. (2552). พฤติกรรมองค์การสมัยใหม่:แนวคิดและทฤษฎี (พิมพ์ครั้งที่7). กรุงเทพฯ: ธรรมศาสตร์.