การอ้างอิง: สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ, แคทรียา แซ่จิว, พิเชษฐ์ มูลปา, สิทธิศักดิ์ สุขใสสาคร. (2564). มุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทิศทางการดำเนินงานในประเทศไทย. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 4).
บทความ: มุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทิศทางการดำเนินงานในประเทศไทย
สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ 1,2, แคทรียา แซ่จิว 2, พิเชษฐ์ มูลปา 1,3, และ สิทธิศักดิ์ สุขใสสาคร 1,4
1 หลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความยั่งยืน (Environment Development and Sustainability) บัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 ACT Alliance Thailand
4 British Embassy Bangkok
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัคราชฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมกับ ACT Alliance และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม หลักสูตรสาขาวิชาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความยั่งยืน (นานาชาติ) (สหสาขาวิชา) (Environment Development and Sustainability: EDS) บัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “Multi-stakeholder Dialogue on Climate Change in Thailand” ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย รวมไปถึงมุมมองของภาคประชาสังคมที่มีต่อข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Intended Nationally Determined Contribution: INDC) และเพื่อระดมสมองหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการดำเนินมาตรการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้และความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการหาแนวทางการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่เหมาะสม
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมฟังเสวนาทั้งสิ้น 46 คน โดยประมาณ ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมทั้งชาวไทยและต่างประเทศจากหลายภาคส่วนงาน อาทิ ผู้แทนจาก UK Embassy, French Embassy, Stockholm Environment Institute (SEI), UNDP Asia-Pacific, Asia Climate Change Consortium (ACCC) เป็นต้น โดยมีวิทยากรบรรยายมาจากหลายภาคส่วนในสังคม ได้แก่ ผู้แทนจากภาครัฐ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากภาคการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน บริษัท PTT Global Chemical จำกัด และ ผู้แทนจากภาคประชาชน Climate Watch Thailand ทั้งนี้ สาระและประเด็นสำคัญที่สรุปได้จากงานสัมมนาดังกล่าวมีดังนี้
(1) หน่วยงานภาครัฐ
ได้เสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยซึ่งเน้นการบูรณาการงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับนโยบายและแผนระดับชาติ ประกอบด้วย แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานในระดับสากลทั้ง UNFCCC และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล (SDGs) ขณะเดียวกัน ยังมีการกำหนดแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 - 2593 ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานระยะยาวของประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและมีการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” อาศัยแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่
1. การปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และ
3. การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะเดียวกัน การลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยยังได้ดำเนินงานตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี พ.ศ. 2564 - 2573 แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี พ.ศ. 2564 - 2573 รายสาขา ได้แก่ สาขาพลังงาน คมนาคมขนส่ง กระบวนการทางอุตสาหกรรม และของเสีย เป็นต้น และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศชาติ (National Adaptation Plan: NAP) โดย NAP จัดทำขึ้นเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการบูรณาการประเด็นด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและมีแผนการดำเนินงานด้วยกันทั้งสิ้น 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ท่องเที่ยว สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งถิ่นและความมั่นคงของมนุษย์
นอกจากนี้ สำหรับประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจกได้มีการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ เป้าหมายก่อนปี ค.ศ. 2020 หรือเรียกว่า ดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) ซึ่งเป็นการดำเนินงานแบบสมัครใจ โดยที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 7 - 20 จากภาคพลังงานและภาคขนส่งให้ต่ำกว่าการดำเนินงานปกติ (Business as Usual: BAU) ซึ่งผลจากการดำเนินงาน NAMA นั้นสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ในปี ค.ศ. 2018 ประเทศไทยนั้นสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานได้ทั้งสิ้น 57.84 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์เทียบกับการดำเนินงานกรณีปกติ
และเป้าหมายหลังปี 2020 ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงปารีสหรือที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) มีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 ถึง 2030 ซึ่งประเทศไทยได้ทำการจัดส่ง NDC ฉบับแรกเมื่อปี ค.ศ. 2015 โดยแสดงเจตจำนงที่จะลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 - 25 จากกรณีปกติภายในปี ค.ศ. 2030 ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงกลไกการสนับสนุนทางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพ โดยจะเป็นการดำเนินงานของทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ (Economy Wide) ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในระยะต่อไปภายหลังปี พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลักคือ
♦ จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อส่งเสริมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (แผนปี พ.ศ. 2563): สืบเนื่องจากข้อตกลงปารีสได้กำหนดให้ทุกประเทศจัดทำและสื่อสารยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแผนงานและกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยัง UNFCCC ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส รวมถึงการศึกษาเพื่อหาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระยะยาว เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการจัดทำการมีส่วนร่วมที่ประเทศจะกำหนดในฉบับถัดไป ทั้งนี้ การดำเนินงานของประเทศไทยด้านการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะต่อไป มีดังนี้ ในปี พ.ศ. 2563 ไทยวางแผนกำหนดแนวทางและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ (Long Term Strategy: LTS) สำหรับปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยพิจารณาจากทั้งเป้าหมายการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส (Well Below 2 °C) และมุ่งพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 °C ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
♦ ศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม (แผนปี พ.ศ. 2565) โดยวางแผนศึกษาผลกระทบของเศรษฐกิจและสังคมต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ NDC ฉบับที่ 2
♦ การประเมินผลการดำเนินการและศึกษาศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับ NDC ฉบับที่ 2 (แผนปี พ.ศ. 2566) อาศัยการศึกษาศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจัดทำเป้าหมาย NDC ฉบับที่ 2 ซึ่งในข้อตกลงปารีสได้กำหนดให้ทุกประเทศจัดทำและแจ้งเป้าหมาย NDC ต่อ UNFCCC ในปี พ.ศ. 2568
กล่าวโดยสรุป กลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ประกอบด้วย 4 กลไกหลักคือ การสนับสนุนทางการเงิน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งในประเทศ/ต่างประเทศ และการเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานตามแผนและนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
(2) นโยบายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเอกชน
ผู้แทนจากภาคเอกชนได้นำเสนอประเด็นการดำเนินงานเพื่อสนองต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและภาคเอกชนเองควรมีมาตรการและนโยบายสนับสนุนการดำเนินงาน เนื่องจากในประเด็นความเสี่ยงจากผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากในปัจจุบันทั้งในเชิงของความเสี่ยงทางกายภาพที่สามารถเห็นได้ชัดเจน ในขณะเดียวกัน เริ่มมีนโยบายหรือทิศทางระดับสากลที่แต่ละประเทศพยายามดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามและบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส จากที่กล่าวมาทั้งหมดจึงนับเป็นแรงขับเคลื่อนการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
สำหรับบทบาทของภาคเอกชนนั้น ภารกิจสำคัญของภาคอุตสาหกรรมยังครอบคลุมการลงทุนธุรกิจที่ให้คุณค่าต่อมิติสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ส่งผลให้มีการปรับทั้งวิธีการทำงานหลัก กระบวนความคิด รวมไปถึงการตั้งเป้าหมายที่บริษัทจะทำต่อไปในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายโดยยึดหลักการตามข้อตกลงปารีส รวมทั้งหารือถึงแผนการดำเนินงาน/แผนกิจกรรมในแต่ละปี รวมไปถึงเป้าหมายของประเทศว่าบริษัทได้ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ที่กำหนดว่าในปี ค.ศ. 2030 จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 จากการดำเนินงานปกติ (BAU) และได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 52 ภายในปี ค.ศ. 2050 จึงต้องขยายผลสู่การดำเนินงานร่วมกับกิจกรรมที่มีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและสินค้าให้มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตทั้งหมดเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการนำพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานบริหารจัดการด้านการลงทุนเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานในอนาคตจะสอดคล้องกับเป้าหมายที่มีส่วนร่วมด้วย กล่าวโดยสรุป การดำเนินงานโดยตรงของบริษัทจะเน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียน อาศัยการดำเนินงานทั้ง 3 แผนงานได้แก่ แผนงานหรือกิจกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต แผนงานหรือกิจกรรมการบริหารจัดการไอน้ำ และแผนงานหรือกิจกรรมด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมีการศึกษาและวิเคราะห์การดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกโดยจำลองและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อตัดสินใจลงทุนโครงการต่าง ๆ ร่วมกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในแต่ละระยะ
(3) มุมมองจากภาคการศึกษา
ผู้แทนจากภาคการศึกษานำเสนอว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในอันดับที่ 10 จากการจัดอันดับของ Global Climate Risk Index ปี ค.ศ. 1996 – 2015 ซึ่งการจัดอันดับนี้อ้างอิงจากผลกระทบที่เกิดจากคลื่นความร้อน (Heat Wave) ฝนตกหนัก (Extreme Precipitation) เช่น การเกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่ม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร จากการศึกษาขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะทำให้ GDP ของประเทศลดลงร้อยละ 3.04, 5.41 และ 7.60 ในปี ค.ศ. 2030, 2040 และ 2050 ตามลำดับ และส่งผลกระทบมากที่สุดในด้านของอุตสาหกรรม อันดับสองคือการท่องเที่ยว รองลงมาเป็นสุขภาพ และสุดท้ายคือภาคการเกษตร
สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยมีแหล่งทุนจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กองทุนจากต่างประเทศ เช่น สถานทูตอังกฤษ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เป็นต้น งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยช่วงแรกจะเกี่ยวกับการให้ความรู้และการจัดทำโมเดลแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งแนวทางการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนงานวิจัยช่วง พ.ศ. 2551 - 2563 จะเน้นด้านผลกระทบและแนวทางการลดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว และการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของชุมชนต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน ได้แก่ การเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การใช้ทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง ด้านการขนส่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ แนวปะการัง ด้านโรคและสุขภาพ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนั้นสาขาการเกษตรจะได้รับทุนวิจัยมากที่สุดเมื่อเทียบกับด้านอื่น ๆ เช่น การปรับกระบวนการผลิตพืช ผลไม้ ข้าว ปาล์ม มัน รองลงมาเป็นสาขาวิทยาศาสตร์
ในภาพรวมพบว่า แนวทางการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมาย NDC ของประเทศไทย โดยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สาขาพลังงานและการขนส่ง สาขาการจัดการของเสีย และสาขากระบวนการอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นสาขาที่มีศักยภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกัน ภาคการศึกษานั้นมีบทบาทต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. บทบาทส่งเสริมการให้ความรู้ในกิจกรรมการเรียนการสอนในเรื่องของ Climate Change ซึ่งอาจจะสอดแทรกไว้ในวิชาต่าง ๆ เช่น วิชาความยั่งยืน เมืองคาร์บอนต่ำ การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น และ 2. บทบาทด้านงานวิจัย มีหลากหลายด้านซึ่งงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมีเพิ่มขึ้นมากตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 - 2019)
(4) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อมาตรการการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ภาคประชาสังคมนั้นมีความสนใจและการตื่นตัวทั้งในเรื่องของการลดโลกร้อนและเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มภาคประชาสังคมของประเทศไทยและทั่วโลกนั้นมีความประสงค์ที่จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไปถึง 1.5 องศาเซลเซียส แม้ว่าภาคประชาสังคมอาจมิได้รับรู้หรือเข้าใจในเรื่องของก๊าซเรือนกระจก/ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็สามารถรับรู้ได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นจากประสบการณ์ตรงด้วยตนเองในหลายพื้นที่ของประเทศ ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก เนื่องจากการดำเนินชีวิตของประชาชนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพลม ฟ้า ดิน และฝน โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไม่สามารถคาดการณ์รูปแบบและความรุนแรงของผลกระทบจากโลกร้อนได้ ภาคประชาสังคม พลเมือง ชุมชน รวมถึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ควรสร้างและส่งเสริมช่องทางการเรียนรู้และความตระหนักเรื่องโลกร้อน รูปแบบการปรับตัว การลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับสาระของข้อตกลงปารีสเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างความตระหนัก มีการอภิปรายว่าภาคส่วนใดที่ควรจะรับผิดชอบโดยตรงในการลดก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากเป็นผู้ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นโดยเฉพาะภาคพลังงาน
นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมเองก็มีการสร้างมาตรการในการปรับตัวขึ้น โดยสร้างแบบจำลองสเกลขนาดเล็กที่สามารถคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในพื้นที่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน รวมถึงการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวของสังคมและชุมชน ขณะเดียวกัน เสนอแนะให้มีการสนับสนุนกลไกทางการเงินและงบประมาณ ซึ่งควรเข้าถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนและกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มเกษตรกร หรือผู้ประกอบอาชีพปศุสัตว์หรือประมง เพื่อสร้างรูปแบบการปรับตัวระดับชุมชนได้ด้วย ขณะเดียวกัน ความเป็นธรรมในการจัดการปัญหาและผลกระทบของปัญหาโลกร้อนก็เป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรมีการคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนรอบทุกด้านครอบคลุมทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและประชาชน อย่างเป็นองค์รวม โดยไม่ละเมิดสิทธิของชุมชน สิทธิของมนุษยชน หรือขัดกับความต้องการของกลุ่มคนหรือมีการละเมิดพื้นที่อนุรักษ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าภาคส่วนชุมชนเองมีการริเริ่มสร้างมาตรการในการปรับตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงหาแนวทางในการแก้ไขและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่าง ๆ ในระดับชุมชนหรือประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาระดับท้องถิ่น เช่น การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในชุมชน การจัดแปลงที่นาเพื่อให้มีการประหยัดทรัพยากรน้ำ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เช่น การปลูกพืชลอยน้ำเพื่อที่เวลาน้ำท่วมพืชผลจะได้ไม่เสียหาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชุมชนร่วมมือกันและลงทุนกันเอง จึงมีข้อเสนอแนะให้มีการส่งเสริมกลไกและการสร้างมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนเหล่านี้ด้วยทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยี การผลักดันนโยบายทุกระดับเพื่อนำไปสู่รูปแบบการปรับตัวภายใต้ความเป็นธรรมในการจัดการและรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
ตารางที่ 1 สรุปประเด็นและคำสำคัญของการเสวนาเรื่องมุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทิศทางการดำเนินงานในประเทศไทย ดังนี้
ตารางที่ 1 คำสำคัญที่ได้จากงานเสวนาวิชาการ