การอ้างอิง: เบญจวรรณ ชัยศรี, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ (2564). แนวทางการใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 2).
บทความ: แนวทางการใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง
เบญจวรรณ ชัยศรี 1, พัชชาพันธ์ รัตนพันธ์ 1, อาทิตย์ เพ็ชร์รักษ์ 2, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ 1
1 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
ความแห้งแล้งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไทยและส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่และวิถีอาชีพของประชาชนและชุมชนในหลายมิติ ทั้งนี้ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ ปัญหาปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอและการกระจายของฝนไม่ทั่วถึง การทิ้งช่วงของน้ำฝน พื้นที่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำเพียงพอและความสามารถที่จะอุ้มน้ำของดินต่ำ ตลอดจนแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่มีอยู่ตื้นเขิน ทำให้น้ำไหล่บ่าลงสู่แม่น้ำสายหลักต่าง ๆ หรือไหลลงทะเลรวดเร็วจนไม่สามารถนำน้ำเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ ด้วยเหตุนี้ การนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาทำการศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งนับเป็นเครื่องมือสำคัญเครื่องมือหนึ่งในการกำหนดขอบเขตและระบุพื้นที่เสี่ยงภัยอันจะนำไปสู่ข้อมูลเบื้องต้นและเป็นแนวทางประกอบการวางแผนป้องกันการเกิดภัยแล้งได้อย่างถูกต้องและตรงกับสภาพปัญหาในพื้นที่จริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งสูง โดยจะเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังและติดตามพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อลดและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยแล้งได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ปัจจัยในการระบุพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางธรรมชาติของสภาพพื้นที่มีความสำคัญต่อการเกิดภัยแล้งมาก เช่น ลักษณะทางธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวยให้พื้นที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้งมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาศึกษาและวิเคราะห์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งมากขึ้น ครอบคลุมปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา ธรณีวิทยา ภูมิประเทศ การเกษตรและลักษณะของพืชพรรณ ระยะทาง การใช้ประโยชน์พื้นที่และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรายละเอียดของปัจจัยแสดงดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง
ปัจจัยหลัก | รายละเอียดของปัจจัย |
ด้านอุตุนิยมวิทยา | ดัชนีความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝน จำนวนวันที่ฝนตก อุณหภูมิ ความชื้นสัมพันธ์ ลม โอกาสที่ฝนตก |
ด้านอุทกวิทยา | ขนาดของลุ่มน้ำ ความหนาแน่นของลำน้ำในลุ่มน้ำย่อย แหล่งน้ำผิวดิน ปริมาณน้ำใต้ดิน พื้นที่ชลประทาน |
ด้านธรณีวิทยา | การระบายน้ำของดิน ความสามรถในการอุ้มน้ำของดิน ความสามารถในการให้น้ำของบ่อบาดาล |
ด้านภูมิประเทศ | สภาพภูมิประเทศ ลักษณะของดิน ความลาดชันของพื้นที่ |
ด้านการเกษตรและลักษณะของพืชพรรณ | ประเภทของพืชพรรณ การคายน้ำของพืช |
ด้านระยะทาง | ระยะห่างจากทางน้ำ ระยะห่างจากพื้นที่ชลประทาน |
ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ | การใช้ประโยชน์ที่ดิน |
ด้านอื่น ๆ | พื้นที่ภัยแล้งในอดีต สิ่งกีดขวางทางน้ำ ความสูงจากระดับน้ำทะเล |
แนวทางการใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง
สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยง อาศัยการซ้อนทับข้อมูล (Overlay Analysis) ด้วยตัวแปรทั้งหมดที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ โดยการนำคะแนนผลคูณมาคำนวณผล และแผนที่ความเสี่ยงภัยแล้งจะถูกคาดการณ์โดยคำนวณค่าคะแนนรวมแบบถ่วงน้ำหนักของตัวแปรด้วยสมการที่ (1) (Gemitzi et al., 2010) ตัวอย่างเช่น หากความลาดชันเป็นตัวแปรที่หนึ่งจะมีการคำนวณค่าคะแนนรวมแบบถ่วงน้ำหนักด้วยผลคูณระหว่างค่าคะแนนความสำคัญของความลาดชัน (W1) และคะแนนความสำคัญของแต่ละระดับของความลาดชัน (R1) เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว การกำหนดค่าคะแนนความสำคัญของแต่ละปัจจัยมักอาศัยกระบวนการวิเคราะห์การตัดสินใจด้วยวิธีการวิเคราะห์ตามลำดับชั้น (AHP) จากการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อการจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยแบบรายคู่ที่สัมพันธ์กับโอกาสการเกิดภัยแล้งในพื้นที่กรณีศึกษา จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ข้อมูลและซ้อนทับข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แล้วจึงทำการตรวจสอบความถูกต้องของการวิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภัยแล้งจำแนกตามระดับความเสี่ยง เช่น พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งน้อย พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง เป็นต้น
แหล่งรวบรวมข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์
สำหรับข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์อาศัยการรวบรวมข้อมูลลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ที่แสดงในรูปของภาพ (Graphic) แผนที่ (Map) เชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงบรรยาย (Attribute Data) หรือฐานข้อมูล (Database) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละปัจจัยจะมีการเก็บข้อมูลดังกล่าวทั้งในรูปของ Shape File และรูปของตารางข้อมูล (Excel) ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา แหล่งข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ปัจจัยด้านอุทกวิทยา แหล่งข้อมูลกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมควบคุมมลพิษ ปัจจัยด้ายสภาพภูมิประเทศ แหล่งข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน ด้านการเกษตร แหล่งข้อมูลกรมพัฒนาที่ดินและกระทรวงเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ดี เป็นที่สังเกตว่าระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทที่สำคัญในการบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และใช้สำหรับติดตาม วางแผนคาดการณ์ล่วงหน้า ตรวจสอบ และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยแล้งได้อย่างมีความเหมาะสมกับพื้นที่ อย่างไรก็ดี ควรมีการแปรผลโดยการวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจควบคู่กับข้อมูลแผนที่อื่นประกอบกัน เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ภูมิประเทศ ข้อมูลธรณีวิทยา เป็นต้น ดังนั้นการเลือกใช้ข้อมูลและการให้ความสำคัญของข้อมูลในแต่ละปัจจัยจึงต้องเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และการแปรผลที่สอดคล้องกับแนวโน้มและพื้นที่ประสบภัยในอดีตด้วย จึงจะทำให้การแปรผลและการวางแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นไปอย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
กิตติกรรมประกาศ
โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ส่งเสริม ววน.)
เอกสารอ้างอิง
Gemitzi, A., Tsihrintzis, V. A. and Petalas C. Multimedia Services in Intelligent Environments, Use of GIS and Multi-Criteria Evaluation Techniques in Environmental Problems, 2010, Volume 3
UNESCO Bangkok. (2021, May). Geographical Information System (GIS) for Culture. Retrieved from https://bangkok.unesco.org/content/geographical-information-system-gis-culture