การอ้างอิง: สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ. (2563). เรื่องจากปก: “Single use plastic” มีค่ามากกว่าที่เรารู้. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 1).
พลาสติกจากกระสอบปุ๋ยตัดละเอียดสำหรับนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล
29 ต.ค. 2562 โดย ภุมรินทร์ คำเดชศักดิ์
เรื่องจากปก: “Single use plastic” มีค่ามากกว่าที่เรารู้
สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อุตสาหกรรมพลาสติกมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีการใช้พลาสติกเป็นสารตั้งต้นของกระบวนการผลิต ด้วยเหตุที่ พลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อง่าย ราคาถูก ใช้งานสะดวก และเมื่อสิ้นสุดการใช้งานแล้วมักถูกกำจัดโดยการทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยประเภทอื่น ไทยจึงถูกจัดลำดับเป็นประเทศต้น ๆ ในระดับโลกที่เป็นแหล่งกำเนิดของขยะพลาสติกทั้งบนบกและในทะเล ปัจจุบัน กรมควบคุมมลพิษได้รายงานสถานการณ์ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นภายในประเทศทั้งสิ้นร้อยละ 12 (ประมาณปีละ 2 ล้านตัน) ในจำนวนนี้มีเพียง 0.5 ล้านตันถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง หากแต่ขยะส่วนใหญ่ (1.5 ล้านตัน) เป็นพลาสติกจำพวกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastic; SUP) ได้แก่ ขยะจำพวกกล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ถุงร้อน ถุงเย็น เป็นต้น ซึ่งมักพบตกค้างในสิ่งแวดล้อม แตกตัวและหลุดลอกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ สะสมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหากได้รับสัมผัสมลสารเหล่านั้น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy จึงเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (SDG12: Responsible consumption and production) อาศัยการเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบตรง (Linear economy) ที่เป็นการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง (Make-use-dispose) สู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอันมีส่วนในการลดรอยเท้านิเวศ (Ecological footprint) และเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมครอบคลุมการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ สังคมและธรรมาภิบาล อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนทัศนคติวิถีการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคของภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมนับเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิด Circular economy สู่วิถีการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน