การอ้างอิง: รุจิรา ชัยศิริถาวรกุล และ วรวรรณ ประชาเกษม. (2562). หรือจะเป็น “เฮมพ์”? การผลิตเพื่อขับเคลื่อนสังคม…สู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 23 (ฉบับที่ 3).
บทความ: หรือจะเป็น “เฮมพ์”? การผลิตเพื่อขับเคลื่อนสังคม…สู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
รุจิรา ชัยศิริถาวรกุล และ วรวรรณ ประชาเกษม
สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผลิตภัณฑ์ชุมชน (Green Production; GP)
ยุทธศาสตร์การผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนมีทางเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “คุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ คุณภาพชีวิต” ดังนั้น การส่งเสริมสถานประกอบการในกลุ่ม OTOP วิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญต่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีมูลค่าการซื้อขายทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยการสร้างงาน และรายได้ด้วยการนำทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และเพื่อให้ผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าควบคู่ไปกับลดค่าต้นทุนของสถานประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green supply chain) และการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ (Value chain) และให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่การผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green production) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถที่จะพัฒนา และยกระดับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยเน้นการลดมลพิษ ณ แหล่งกำเนิด (Source reduction) หรือเทคโนโลยีสะอาด (Clean techonology) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจํากัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยที่ผ่านมามีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย (พ.ศ. 2562) และผ่านเกณฑ์ระดับดีเยี่ยม (G ทอง) จำนวน 73 ราย ระดับดีมาก (G เงิน) จำนวน 128 ราย และระดับดี (G ทองแดง) จำนวน 237 ราย
ในปี พ.ศ. 2562 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้จัดให้มี “โครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (Green Production; GP)” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กให้เกิดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ และมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดของเสียจากกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และรักษาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสร้าง Green supply chain ให้ผู้ผลิตสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้สินค้าชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เกิดการผลิต และการบริโภคอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับชุมชน จ้างงานในชุมชน และเกิดการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ
โครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมฯ มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน ดังนี้ 1) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 2) เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าจากการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการผลิตที่ได้รับการรับรองจากกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ตั้งแต่สินค้า OTOP ระดับ 3 ดาวขึ้นไป หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือสถานประกอบการที่มีเอกสารจดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้ประกอบการกลุ่มงานหัตถกรรม (Craft) ที่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Startup) โดยรับสมัครสถานประกอบการ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผ้าเครื่องแต่งกายจากผ้าและเคหะสิ่งทอ กลุ่มเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา กลุ่มไม้และจักสาน และกลุ่มสบู่ ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ ได้แก่ 1) สถานประกอบการมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2) สินค้าจากสถานประกอบการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณภาพ และ 3) สร้างรายได้ในชุมชนและท้องถิ่น สำหรับขั้นตอนการดำเนินการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GP) ประกอบด้วย 1) ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำสถานประกอบการให้เกิดการปรับปรุงตามเกณฑ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยผู้เชี่ยวชาญ 2) ประเมินสถานประกอบการตามเกณฑ์โดยคณะกรรมการจากหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา และ 3) มอบตราสัญลักษณ์ “G” ให้กับสถานประกอบการที่ผ่านการประเมิน
เกณฑ์ที่ใช้สำหรับการประเมินสถานประกอบการ ประกอบด้วย 7 หมวดหลัก ดังต่อไปนี้
หมวดที่ 1 นโยบาย แนวคิด การวางเป้าหมายการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 2 การผลิต วัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์
หมวดที่ 3 การจัดการกระบวนการผลิตและการจัดการความเสี่ยง
หมวดที่ 4 การจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
หมวดที่ 5 การจัดการของเสียและผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 6 การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ 7 ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ตราสัญลักษณ์ G และระดับคะแนนสำหรับการประเมินสถานประกอบการ สถานประกอบการที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์จากปี พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 426 ราย โดยแบ่งระดับคะแนนการประเมิน ดังรูปที่ 1
G ทอง (ระดับดีเยี่ยม) จำนวน 84 ราย
G เงิน (ระดับดีมาก) จำนวน 122 ราย
G ทองแดง (ระดับดี) จำนวน 220 ราย
รูปที่ 1 ตราสัญลักษณ์ G และระดับการประเมินการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน (Green Production)
ที่มา: สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GP)
สถานประกอบการที่ผ่านการประเมิน นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายจากการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว ยังได้รับการเชิดชูเกียรติตราสัญลักษณ์ G จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดงานมอบตราสัญลักษณ์ G–Green ระดับประเทศอีกด้วย ดังรูปที่ 2 ภายในงานยังจัดให้มีการออกร้านให้แก่ผู้ประกอบการ ดังรูปที่ 3 เพื่อส่งเสริมการขายของสถานประกอบการให้กับกลุ่มเป้าหมายอื่น ได้แก่ สำนักงาน (Green office) และโรงแรม (Green hotel) มีการเลือกซื้อสินค้าจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปใช้ ขับเคลื่อนให้เกิดการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากนี้ยังจัดให้มีการออกร้านขายสินค้าภายในงาน OTOP ประจำปีในพื้นที่ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย ดังรูปที่ 4
รูปที่ 2 งานมอบตราสัญลักษณ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มา: สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
รูปที่ 3 กิจกรรมภายในงานมอบตราสัญลักษณ์การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มา: สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
แนวทางการพัฒนาการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน...นำไปสู่การปฏิบัติ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GP) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้มีการส่งเสริมการผลิต และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) โดยให้ความสำคัญใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1) ส่งเสริมการผลิตในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องมือ “เกณฑ์การประเมินการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวล้อม” โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ลดมลพิษ และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักการเทคโนโลยีที่สะอาด พัฒนาการจัดระบบข้อมูล และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าชุมชน สนับสนุนการออกแบบ และสร้างนวัตกรรมของสินค้า และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ สร้าง Green supply chain ระหว่างผู้ประกอบการต้นน้ำ เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบหรือเส้นใย กลางน้ำ เช่น การออกแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และปลายน้ำ เช่น การออกร้านจำหน่ายสินค้า หรือการขยายเครือข่ายกลุ่มผู้บริโภคภายในกลุ่ม G–Green ส่งเสริมให้ใช้สินค้าฉลากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต ตลอดจนสนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การวางแผนการผลิต เพื่อลดของเสียไปจนถึงการนำวัสดุเหลือใช้มาทำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างมูลค่า
2) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ และให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
รูปที่ 4 การออกร้านขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในงาน OTOP
ที่มา: สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
“เฮมพ์” กับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใย...สิ่งทอ
การส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถผลิตวัตถุดิบหลักใช้เองภายในชุมชน เป็นการส่งเสริมให้เกิดรายได้ เกิดการสร้างอาชีพให้คนในชุมชน อีกทั้งยังสามารถสร้างวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเฮมพ์ที่มีคุณภาพเส้นใยจากธรรมชาติ “เส้นใย…สิ่งทอ” สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยเส้นใยธรรมชาติที่ผู้ประกอบการประเภทสิ่งทอนิยมใช้ ได้แก่ ฝ้าย และไหม และเส้นใยจากพืชประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ใยกัญชง (เฮมพ์) ป่านศรนารายณ์ ใยสับประรด หรือจากพืชเส้นใยประเภทอื่น ซึ่งคุณสมบัติเส้นใยจากธรรมชาติที่นำมาใช้ประโยชน์ และส่งเสริมอาชีพในประเทศ สามารถแสดงรายละเอียดได้ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 คุณสมบัติเส้นใยจากธรรมชาติที่นำมาใช้ประโยชน์และส่งเสริมอาชีพ
ประเภทเส้นใย | คุณสมบัติ/ประโยชน์ | การส่งเสริมอาชีพ |
ฝ้าย | 1) ทนต่อด่างได้ดี แต่ไม่ทนต่อกรด และทนต่อความร้อน และแสงแดดได้ดี 2) เสื้อผ้าจากผ้าฝ้ายมีความนุ่ม ใส่สบาย ระบายความร้อนได้ดี |
1) ฝ้ายสายพันธุ์ที่เพาะปลูกต้องปรับปรุงให้ทนต่อศัตรูพืช และลดการใช้สารเคมี ในกระบวนการปลูก 2) ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกฝ้ายสลับกับพืชเศรษฐกิจอื่น 3) ส่งเสริมให้มีแหล่งรับซื้อที่เป็นธรรมสำหรับฝ้ายที่มีคุณภาพ |
ไหม | 1) ทนต่อกรด แต่ไม่ทนต่อด่าง 2) ยืดหยุ่นได้ดี ระบายความร้อน และมีความเงางาม 3) มีความทนต่อการเกิดเชื้อราได้ดี |
1) หนอนไหมต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิด จึงจะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ 2) ต้นหม่อนที่เป็นแหล่งอาหารของหนอนไหม สามารถใช้ลูกหม่อนมาแปรรูปอาหาร 3) กาวไหมที่ลอกโดยวิธีธรรมชาติ สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 4) ดักแด้จากการสาวไหม เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง |
เส้นใยจากพืชอื่นๆ ได้แก่ เฮมพ์ (กัญชง) | 1) เป็นเส้นใยคุณภาพสูง มีความอ่อนนุ่ม เหนียว และป้องกันแสง UV 2) ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมยา เป็นต้น 3) ประเทศญี่ปุ่น มีการปลูกต้นกัญชง เพื่อกำจัดกัมมันตภาพรังสีให้สลายตัวที่จังหวัดฟุกุชิมะ และสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียที่ระเบิดจากสึนามิซึมลงดินจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ |
1) พัฒนาสายพันธุ์ให้มีปริมาณ THC น้อยกว่า 0.3 % เพื่อเกิดอาชีพในท้องถิ่น เนื่องจากเฮมพ์เป็นพืชที่ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง 2) เป็นพืชโตไว ให้ผลผลิตไว ไม่มีศัตรูพืช 3) สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการผลิตเฮมพ์มากที่สุด จัดเป็นหนึ่งในห้าพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจีน รองลงมา คือ ประเทศในแถบยุโรป ซึ่งได้มีการจัดตั้ง European Industrial Hemp Association (EIHA) ด้วย โดยมีการใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ได้อย่างหลากหลายในทุกส่วนของเฮมพ์ เช่น ใช้ในเชิงเกษตร โดยนำไปเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ เป็นต้น 4) เส้นใยจากเฮมพ์มีราคา และเป็นที่ต้องการของตลาด |
ที่มา: ดรรชนี พัทธวรากร (2555); กองควบคุมวัตถุเสพติด (2561)
ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ถูกกำหนดด้วยปัจจัยต่าง ๆ (การดี เลียวไพโรจน์ และ ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช, 2559) ประกอบด้วย
1) แรงงานที่มีการเปลี่ยนอาชีพ และคนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำงานเป็นผู้ปฏิบัติในโรงงาน และไม่มีความรู้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แรงงานฝีมือที่มีทักษะสูงมักเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากมีประสบการณ์ และความชำนาญในการทำงานฝีมือ ทั้งนี้ยังขาดการสืบทอดสู่คนรุ่นใหม่
2) วัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ตั้งแต่ผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากเส้นใยในประเทศมีจำกัด และความหลากหลายของเส้นใยมีน้อย ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนการผลิตจากวัตถุดิบ การส่งเสริมให้เกิดการผลิตเส้นใยในประเทศ จึงยังขาดการสนับสนุนเชิงบูรณาการที่ต้องการแก้ไข โดยเฉพาะข้อจำกัดทั้งทางกฎระเบียบ การวิจัย และพัฒนา
3) การจัดการธุรกิจ และการตลาดของผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม ขาดความเข้าใจทางการตลาด และไม่สามารถวิเคราะห์การขายได้ จึงเน้นผลิตเฉพาะสิ่งที่ชำนาญเป็นหลัก ทำให้สินค้าไม่มีจุดขายที่โดดเด่น
4) ระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรม และข้อมูลการวิจัยพัฒนาของประเทศไทย ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอหลายหน่วยงาน หากแต่ขาดการบูรณาการด้านข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้ข้อมูลที่จัดเก็บก็ไม่ได้นำมาวิเคราะห์
5) การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างต่อเนื่อง หากแต่มีความซ้ำซ้อน และล่าช้ามาก จึงไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ
“เฮมพ์” อนาคตอุตสาหกรรมสิ่งทอในยุค 4.0
การพัฒนาอุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแนวคิดจาก เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) เป็นการสร้างมูลค่าสินค้า หรือบริการที่เกิดจากความคิดของมนุษย์ ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรม SMEs ไทยให้สามารถแข่งขันกับความก้าวหน้าของระบบอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้ (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, 2560) ดังนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เรียกว่า S-Curve ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญด้านนวัตกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต ได้แก่
1) อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, medical and wellness tourism) อุตสาหกหรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and biotechnology) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the future)
2) อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical hub)
แนวทางส่งเสริมการผลิต “เฮมพ์” เพื่อเส้นใยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการจากการวางเป้าหมายอุตสาหกรรม ทั้ง 3 กลุ่ม คือ First S-Curve, New S-Curve และ Second Wave S-Curve ทำให้หน่วยงานต้องบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการในส่วนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดนวัตกรรมจากการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ประกอบการชุมชน OTOP หรือ SMEs เป็นส่วนใหญ่ สามารถปรับตัวให้ดำเนินธุรกิจไปในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น เช่น เครื่องนุ่งห่มเพื่อสุขภาพ เป็นต้น กลุ่มพัฒนาวัสดุผสม (Composite material) หรือการพัฒนาวัสดุให้ทนทาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable material) เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างวัสดุจากธรรมชาติให้เป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปทดแทนวัสดุเดิม เป็นต้น และเพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชนเข้าสู่อุตสาหกรรมในกลุ่มต่าง ๆ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง 2) อุตสาหกรรมอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 3) อุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์
สำหรับเส้นทางการส่งเสริมการผลิต “เฮมพ์” เพื่อเส้นใยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนากระบวนการผลิต “เส้นใย” ให้สามารถเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมในอนาคตได้ ทั้งการเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าสู่อุตสาหกรรมที่สามารถจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติได้ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในโครงการ Green Production มีโอกาสแสดงสินค้าให้กับผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่ม G-Green ได้แก่ Green hotel และ Green office ซึ่งเป็นลูกค้าที่ให้ความสำคัญในการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขยายโอกาสการขายสินค้าให้กว้างขวาง โดยเริ่มจากสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, culture & high values services) ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่จะสามารถเลือกซื้อสินค้าในระดับชุมชนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความยั่งยืน และเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างจุดขายสินค้าจากชุมชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และพัฒนาวัสดุในการผลิตไปพร้อมกัน (ดังรูปที่ 5)
“เฮมพ์” จึงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่สามารถผลิต เพื่อประโยชน์ของการนำมาใช้ซึ่ง “เส้นใย” ได้เป็นอย่างดี และจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้สูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บนพื้นฐานของการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคสูงสุด
รูปที่ 5 ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มา: สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กิตติกรรมประกาศ
บทความฉบับนี้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากโครงการวิจัย เรื่อง “การปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ที่ปลูกในดินปนเปื้อนแคดเมียม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (RDG62T0053)” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช เป็นหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปีงบประมาณ 2562 อันเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยในครั้งนี้
เอกสารอ้างอิง
การดี เลียวไพโรจน์ และภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช. แผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมราย
สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม. [ออนไลน์]. 2559. แหล่งที่มา :https://issuu.com/
kkkoykoy/docs/group154_6586_20140110154217. [1 พฤษภาคม 2562]
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. 2561. เอกสารโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปี 2561.กรุงเทพมหานคร.
กองควบคุมวัตถุเสพติด. (2561). คู่มือ พนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ (Hemp). กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
ดรรชนี พัทธวรากร. เอกสารประกอบการสอนเทคโนโลยีสิ่งทอ (Textile Technology). [ออนไลน์]. 2555. แหล่งที่มา :http://www.inc.science.cmu.ac.th/thai/upload/article/file/12-11-05-37a74.
pdf. [3 พฤษภาคม 2562]
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สิบสอง พ.ศ. 2560-2564.[ออนไลน์]. 2559. แหล่งที่มา: https://www.nesdb.go.th/ewt_dl_ link.php?nid=6422. [29 เมษายน 2562]
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม. 2560. 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Enging of Growth). 1,000 เล่ม, พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: กลุ่มประชาสัมพันธุ์และบริหารห้องสมุด สำนักบริหารกลาง